แอนดี้ ชเล็ค: ตำนานของความ “เกือบ”

“นักกีฬาหลายคน ฝากชื่อไว้ในสถิติ แต่นักกีฬาบางคน ฝากชื่อไว้ในความทรงจำ”

คือคำพูดที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นของผมพูดไว้เมื่อตอนคุยกันเรื่องนักกีฬาญี่ปุ่น ซึ่งก็คงเป็นความจริงเหมือนกัน นักกีฬาที่ทำลายสถิติหลายต่อหลายคน เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะถูกลงลืม เพราะไม่มีอะไรให้จดจำนอกจากตัวเลข (ตัวอย่างง่ายๆ คือ เดนิลสัน อดีตนักเตะค่าตัวสูงที่สุดในโลก และแชมป์บอลโลกปี 2002 แต่เขากลับอยู่ในเงาของเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นอย่าง โรนัลโด้ โรนัลดินโญ่ และโรแบร์โต้ คาร์ลอส) แต่นักกีฬาหลายคน ที่อาจจะไม่เคยได้แชมป์ หรือได้แค่รองแชมป์แบบฉิวเฉียด กลับทำให้เราจดจำได้ดีกว่าอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องราวดราม่าของความเฉียดจนพลาดได้แชมป์แบบน่าเสียดาย หรือเรื่องราวดราม่าส่วนตัว รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Charisma หรือเสน่ห์ดึงดูดส่วนบุคคล

และในวงการจักรยานเองก็มีหนึ่งคนที่เราจำเขาได้ดีในฐานะของ นักปั่นที่ใกล้เคียงจะเป็นตำนาน แต่กลับไม่เคยประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง เขาคือ แอนดี้ ชเล็ค นักปั่นหนุ่มที่จบชีวิตบนอานจักรยานไวกว่าที่ควรเป็น

 

Rise of the Schlecks

ถ้าหากจะนึกถึงใครซักคน ที่เกิดพร้อมกับคุณสมบัติที่จะเป็นแชมป์ที่ทุกๆ คนจดจำได้ แอนดี้ ก็คงเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกขึ้นมาได้ แม้จะเกิดในประเทศเล็กๆ อย่างลักเซมเบิร์ก แต่เขาก็มีพื้นฐานทางครอบครัวที่พร้อมจะปั้นให้เป็นนักจักรยานอาชีพได้ พ่อของเขาก็เป็นนักปั่นที่เคยลงแข่งระดับแกรนด์ทัวร์มาแล้ว เช่นเดียวกับปู่ของเขา เรียกได้ว่าสัญชาติญาณนักปั่นอยู่ในสายเลือดมาเป็นรุ่นที่สามเลย แม้พี่ชายคนโตของเขาจะไม่ได้เอาดีทางการปั่น และหันไปเป็นนักการเมืองแทน แต่ ฟรองค์ พี่ชายคนรอง กับตัวเขา ก็ได้เดินตามรอยพ่อขึ้นมาเป็นนักจักรยานอาชีพ เพราะคงไม่มีอะไรจะเหมาะไปกับเขาทั้งสองมากไปกว่าเส้นทางนี้แล้ว

ช่วงวัยรุ่น เขาได้เข้าร่วมทีมสมัครเล่น VC Roubaix ในปี 2004 และโชว์ผลงานเด่นจนกระทั่งผู้จัดการทีม Cyrille Guimard ที่เคยปั้นแชมป์ Tour de France มาแล้ว ยังต้องบอกว่า แอนดี้ มีพรสวรรค์ที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เขาเคยเห็นมา และแอนดี้ก็ตอบแทนด้วยการคว้าแชมป์ระดับสมัครเล่น จนผลงานไปเข้าตา บียาร์น รีส อดีตแชมป์ Tour de France ที่หันมากุมบังเหียนทีม CSC (หรือที่เราคุ้นในปัจจบันคือ Tinkoff-Saxo) จนตัดสินใจดึงเข้ามาร่วมทีมหลังจากได้ปรึกษากับฟรองค์ที่ตอนนั้นเป็นนักปั่นอาชีพใน CSC อยู่แล้ว

GIRO D'ITALIA - STAGE 15

แอนดี้ใช้เวลาแค่ปีเดียว เปลี่ยนตัวเองจากนักปั่นทีมสมัครเล่นมาเป็นนักปั่นอาชีพในปี 2005 ดูเหมือนว่าอนาคตอันสวยงามจะรอเขาอยู่ข้างหน้าแล้ว แอนดี้และแฟรงค์กลายเป็นสองพี่น้องในวงการจักรยานที่หลายคนตั้งความหวังไว้ หลังจากที่วงการถูกครอบครองโดยแลนซ์ อาร์มสตรองมาหลายปี ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่หลายคนเคลือบแคลงเรื่องการโด๊ปในวงการกีฬา

การมีเด็กหนุ่มซักคนที่มีพื้นเพสมบูรณ์แบบที่จะขึ้นมาเป็นนักจักรยานชั้นยอด รูปร่างสูงโปร่ง หน้าตาสดใสรื่นเริง บุคลิกเป็นกันเอง เหมือนเจ้าชายน้อยแห่งวงการจักรยานเกิดขึ้น ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการดูดีกว่าเดิมไม่น้อย และชาวยุโรปหลายคนก็อยากจะเห็นเด็กหนุ่มที่ถ่อมตนผู้คนประสบความสำเร็จมากกว่าจะเป็นชาวอเมริกันยะโสโอหังคนนั้น

รีสได้ปั้นให้แอนดี้ขึ้นมาเป็นนักปั่นชั้นดี ในปีแรกเขาก็คว้าแชมป์ Time Trial แห่งชาติไป เรียบร้อย และปี 2007 เขาก็ขึ้นโพเดียมแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกด้วยการคว้าที่สองใน Giro di Italia รวมทั้งได้ครองรางวัลนักปั่นรุ่นเยาว์ในรายการเดียวกัน และปีถัดมาแอนดี้และเพื่อนร่วมทีมก็ได้ช่วยให้ คาร์ลอส ซาสตร์ คว้าแชมป์ Tour de France ให้กับทีม CSC ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งทีม CSC จัดได้ว่าเป็นทีมชั้นเลิศของยุค เพราะนอกจากซาสตร์และพี่น้องชเล็คแล้ว ยังมีฟาเบียง แคนเชลลารา และ เยนส์ โฟกส์ ร่วมทีมอยู่ด้วย เรียกได้ว่าแกร่งทั่วแผ่นและแอนดี้กำลังจะขึ้นมาเป็นผู้นำของทีมในไม่ช้าหลังจากได้รางวัลผู้นำเวลาร่วมรุ่นเยาว์ในปีเดียวกัน จากเจ้าชายน้อย ต้องกลายมาเป็นราชาเต็มตัวแล้ว

ในช่วงต้นปี 2009 เขาชนะรายการใหญ่เป็นครั้งแรก นั่นคือรายการสปริงคลาสสิก ลีแอช-บาสตอง-ลีแอช ทำให้ทุกคนเห็นว่าเขาคือตัวจริงของวงการ แต่ความสนใจของทุกคนไปอยู่ที่การกลับมาของแลนซ์ ซึ่งมาพร้อมกับการเล่นการเมืองกันในทีม Astana ที่มีคอนทาดอร์เป็นผู้นำทีมแต่เดิม การที่เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันก็เป็นข่าวที่ทุกคนสนใจ แต่ใน Tour de France ปีนั้น ทีม CSC นี่นำโดยสองพี่น้องชเล็ค ก็ไม่ได้สนใจอะไร พวกเขาเข้าลุยใส่คอนทาดอร์และแลนซ์แบบไม่เกรงกลัว และแอนดี้ก็คว้าที่สองพร้อมทั้งครองเสื้อขาวอีกครั้ง ตอกย้ำความมั่นใจและทำให้ทุกคนในวงการคาดหวังในตัวหนุ่มน้อยดาวรุ่งพุ่งแรงคนนี้

“I was super strong today and was really motivated. At Amstel Gold we rode for Kroon. I tried to win Fleche-Wallonne but Rebellin was better. Today was my day”

 

Chain Reaction

แน่นอนว่าในปี 2010 โฟกัสของ TDF ก็ต้องตกอยู่ที่การฟาดฟันกันของสิงห์หนุ่ม แอนดี้ ชเล็ค ค่าย ส. แซกโซ่แบงค์ และ อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ จากแอสตาน่ายิม ซึ่งมันก็เป็นการชกที่น่าจะแฟร์ที่สุดแล้ว เพราะทั้งคู่ใช้จักรยานและกรุ๊ปเซ็ตเดียวกันเป๊ะๆ นั่นคือ Specialized S-Works Tarmac SL3 คู่กับกรุ๊ปเซ็ต Sram Red (รวมทั้งล้อยี่ห้อเดียวกันคือ Zipp) ซึ่งทำให้ไม่มีข้ออ้างได้ว่าเสียเปรียบเรื่องอุปกรณ์ แต่กลายเป็นว่าจุดเปลี่ยนของการแข่งก็ยังเกิดจากอุปกรณ์จนได้ หลังจากครองเสื้อเหลืองมา 6 วัน จนในสเตจที่ 15 ขณะที่กำลังขึ้นเขา Port de Bales อยู่ โซ่ของแอนดี้ก็ดันตก ทำให้เขาเร่งไม่ได้ และคอนทาดอร์ก็อาศัยจังหวะนั้น โจมตีและแซงขึ้นไป ซึ่งแม้จะไม่มีกติกาห้าม แต่ก็ถือเป็นการเสียมารยาท

แม้หลังจากปัญหาได้แล้วเขาจะพยายามไล่ตามแค่ไหน สุดท้ายเขาก็แพ้ให้กับคอนทาดอร์และเวลารวมตามหลังมาเป็น 8 วินาที นอกจากความเสียหายครั้งนี้ การที่ต้องเสียพี่ชาย ฟรองค์ ที่ถอนตัวหลังจากล้มในสเตจ 3 ที่เป็นสเตจถนนแบบคลาสสิก จนกระดูกไหปลาร้าหัก ก็ส่งผลต่อแอนดี้เป็นอย่างมาก เพราะพี่ชายของเขาคือเพื่อนร่วมทีมที่เขาไว้ใจที่สุดและทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ทำให้ความมั่นใจของเขาหายไปไม่น้อย สุดท้าย เขาก็แพ้ให้กับคอนทาดอร์ที่เวลา 37 วินาที พร้อมทั้งทิ้งคำถามไว้ในวงการว่า ถ้าเกิดโซ่ของเขาไม่มีปัญหา ถ้าเกิดคอนทาดอร์รักษามารยาท ผลจะเป็นอย่างไร ถ้าฟรองค์อยู่ช่วยได้จนวันสุดท้ายล่ะ กลายเป็นการแข่งที่เต็มไปด้วยคำว่า ถ้า จนเรียกได้ว่าเป็นปีที่ดราม่าเอามากๆ ปีหนึ่งเลยทีเดียว

แม้จะไปไม่ถึงฝัน แต่เขาก็มั่นใจว่าตัวเองมีดีพอ และเมื่อ ฟลาวิโอ เบคค่า เศรษฐีชาวลักเซมเบิร์กต้องการตั้งทีมจักรยานที่มีฐานอยู่ที่ประเทศตนเอง และต้องการให้พี่น้องชเล็คเป็นหัวหน้าทีม มีเหรอครับที่พวกเขาจะปฏิเสธโอกาสดีๆ แบบนี้ ทำให้ทีม CSC แทบจะยกทีมมาตั้งทีมใหม่พร้อมกับ คิม แอนเดอสัน ที่ตามมาเป็นผู้อำนวยการทีม ทิ้งให้รีสต้องไปดึงตัวคอนทาดอร์คู่ปรับเก่ามาแทนที่

ทีมใหม่ของแอนดี้ได้ชื่อทีมว่า Leopard Trek โดยพวกเขาไม่สามารถหาสปอนเซอร์หลักได้ทัน ทำให้จากการสตาร์ทที่น่าจะสวยหรู กลับกลายเป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ไปแทน แต่เป้าหมายของพวกเขาในปี 2011 ก็ยังคงเป็นการพาแอนดี้ไปยืนบนโพเดียมที่ชอง เอลิเซ่เช่นเคย

ซึ่งใน TDF 2011 พวกเขาก็ยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม และแอนดี้ก็คว้าชัยชนะอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในอาชีพของเขา เมื่อเขาตัดสินใจออกหนีคนเดียวในสเตจ 18 และปั่นขึ้นเขากาลิบิเยร์อันเลื่องลือ เป็นชัยชนะที่ใครก็ไม่ลืมความกล้าบ้าบิ่นในการพุ่งออกไปคนเดียวต่อสู้กับภูเขาอันโหดร้าย และในสเตจต่อมา เขาก็ทำเวลาดีพอที่จะชิงเสื้อเหลืองมาจากโทมัส โฟกแลร์ แต่น่าเสียดายที่ เขาปั่น Time Trial ในเสตจที่ 20 ไม่ดีพอ จนต้องเสียเสื้อเหลืองไปให้กับคาเดล อีวานส์ สิงห์เฒ่าผู้ที่ได้ฉายาว่า “ที่ 2 ตลอดกาล” มาก่อน ทำให้แอนดี้พลาดโอกาสคว้าแชมป์ไปอีกครั้ง แต่ก็มีสิ่งปลอบใจอยู่คือ เขาและฟรองค์ได้ลำดับ 2 และ 3 คู่กัน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อันยาวนานของ TDF ที่มีพี่น้องขึ้นไปยืน บนโพเดียมพร้อมกัน

แม้จะทำผลงานได้น่าประทับใจ แต่การพลาดแชมป์ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเจ้าของเงิน ทำให้เศรษฐีใจร้อนคิดเลือกทางลัด ไปควบรวมทีมกับทีม Radioshack ในปี 2012 ทีมเก่าของแลนซ์เมื่อแยกตัวออกมาจาก Astana กลายเป็นทีม Radioshack Nissan Trek และดึงเอา โยฮัน บรูนีล ผู้อำนวยการทีมผู้อื้อฉาวเข้ามา และจากบทสัมภาษณ์ของอดีตเพื่อนรวมทีมในยุคนั้น ทำให้เราได้รู้ว่า มันคือจุดเริ่มต้นของความล่มสลายจริงๆ โยฮันพยายามจับสองพี่น้องแข่งแยกกัน ทั้งๆ ที่พวกเขาจะแกร่งสุดเมื่อได้ร่วมงานกัน และทะเลาะกันออกสื่ออย่างชัดเจน

ลางบรรลัยเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แอนดี้ไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าทีมทำให้การเตรียมตัวของเขาไม่ดีพอ และสุดท้าย เขาก็ต้องถอนตัวจากทีมที่จะลงแข่ง TDF 2012 เพราะอาการบาดเจ็บจากการล้มในการแข่ง คริเทเรี่ยม ดู ดอฟิเน่ และดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรจะเลวร้ายยิ่งขึ้น แม้แคนเชลลาราจะช่วยสร้างผลงานคว้าเสื้อเหลืองในสเตจแรกให้ที แต่ทุกอย่างก็ลงเหว เมื่อฟรองค์ ถูกจับได้ระหว่างแข่งว่าในเลือดของเขามีสาร Xypamide ที่แม้จะไม่ใช่สารกระตุ้น แต่มันก็มีฤทธิ์ช่วยปกปิดการใช้สารกระตุ้น จนต้องออกจากการแข่งขัน รวมไปถึงโยฮัน บรูนีล ที่ต้องถอนตัวจากทีมเพราะไปพัวพันกับการโด๊ปของแลนซ์ ยังไม่นับการแตกความสามัคคีในทีมของ อังเดร โคลเดน กับ ไฮมาร์ ซูเบลเดีย จนเหมือนปั่นแบบตัวใครตัวมัน แต่ยังดีที่ปีนั้นพวกเขายังคว้ารางวัลเวลารวมประเภททีมมาปลอบใจได้ท่ามกลางเสียงยกย่องแบรดลีย์ วิกกินส์ ฮีโร่คนใหม่ของวงการ

แต่สำหรับตัวแอนดี้ การล้มครั้งนั้นส่งผลกระทบกับเขาอย่างใหญ่หลวง เขาไม่สามารถเรียกฟอร์มกลับมาได้ ฟอร์มของเขาลุ่มๆ ดอนๆ แข่งจบบ้างไม่จบบ้าง และไม่มีอะไรโดดเด่นเลย แต่ก็มีเรื่องปลอบใจว่า เขาได้รับตำแหน่งแชมป์ TDF 2010 แทนคอนทาดอร์ที่แพ้คดีการโด๊ป แต่ก็ดูเหมือนไม่มีใครสนใจอีกต่อไปแล้ว เพราะสุดท้ายคนก็จำคนที่ยืนที่โพเดียมได้มากกว่าอยู่ดี และจริงๆ แล้ว ดานิโล ดิ ลูค่า แชมป์ Giro ปี 2007 ที่เอาชนะเขาไป ก็โดนปรับแพ้ไปในภายหลังเพราะการโด๊ปเช่นเดียวกัน ทำให้จริงๆ แล้วเขาครองแชมป์ 2 แกรนด์ทัวร์โดยการเลื่อนอันดับขึ้นมาแทนแชมป์ แต่ ใครจำได้บ้างล่ะครับ

ส่วนสถานการณ์ในทีมก็ดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายพวกเขาก็ไปแข่ง TDF 2013 จนจบแบบไม่มีอะไรน่าจดจำ ยกเว้นแชมป์สเตจของยาน เบเคลันต์ที่ทำให้เขาได้เสื้อเหลืองมาครอง ส่วนแอนดี้ก็จบที่อันดับ 20 ดีที่สุดในทีมแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอสำหรับนักปั่นที่มีศักยภาพระดับเขา จนสุดท้าย ฟลาวิโอ เบคค่า ทนทำทีมต่อไม่ไหว ตั้งใจจะขายใบอนุญาตแข่งทิ้ง (ed. note – ไลเซนส์ UCI ProTour ของทีม)  ยังดีที่ Trek สนใจตั้งทีมของตัวเองเพื่อแข่งในปี 2014 และดึงเอาสมาชิกจาก RSLT ไปร่วมทีมเกือบหมด ไม่ต้องแยกย้ายกันไปคนละทาง ซึ่ง Trek ก็คาดหวังกับตัวสองพี่น้อง และแคนเชลลาราในการนำทีมใหม่ทีมนี้สู่ชัยชนะ

 

ไม่ถึงฝั่ง

แต่สุดท้าย อะไรต่อมิอะไรก็ไม่ลงตัว ผลงานที่ดีสุดของทีมคือการคว้าแชมป์ Tour of Flanders ของแคนเชลลาราแค่สนามเดียว และการความเสื้อลายจุดเจ้าภูเขาของเยนส์ในวันแรกของ TDF ส่วนแอนดี้น่ะเหรอครับ? ตลอดซีซั่น ผลงานของเขาก็ลุ่มๆ ดอนๆ จนชื่อของ แอนดี้ ชเล็ค ไม่ได้เป็นชื่อที่ทุกคนเกรงขามเหมือนเมื่อสามปีก่อนอีกต่อไป จากนักปั่นดาวรุ่งพุ่งแรง กลายเป็นเหมือนบุคคลในอดีตเมื่อมีนักปั่นหน้าใหม่ที่สร้างผลงานโดดเด่นขึ้นมาแทนที่เขาในวงการ ทั้งคริส ฟรูม ไนโร คินตาน่า รวมไปถึงไอ้ตัวแสบ ปีเตอร์ ซากาน ซึ่งทั้งหมดแย่งพื้นที่สื่อไปหมด ส่วนแอนดี้ก็ได้ความสนใจเพียงเพราะว่าผู้คนยังหวังว่าเขาจะกลับคืนฟอร์มได้

แต่สุดท้าย ก็ดูเหมือนว่าเทพีแห่งความโชคดีจะไม่ได้อยู่เคียงข้างเขาเลย ใน TDF 2014 เขาลงแข่งในบทบาทของผู้ช่วยของพี่ชายเขาและเสือเฒ่าซูเบลเดีย แต่กลับกลายเป็นว่า เขาล้มแบบเงียบๆ (ไม่มีกล้องจับภาพให้เห็น) ในสเตจที่ 3 เท่านั้น แม้จะดูไม่ได้รุนแรงมา แต่มันส่งผลกระทบต่อเขาของเขา จนต้องถอนตัวจากการแข่งในสเตจต่อมา และไม่ได้ลงแข่งในรายการอื่นอีกเลย กลายเป็นคำถามสำคัญอีกครั้งว่าอนาคตของเขาจะเป็นเช่นไร

หลังจากจบฤดูกาลแข่ง สุดท้ายแล้ว เขาก็แถลงข่าวว่าจะถอนตัวจากการแข่งจักรยานที่เขารัก เพราะอาการบาดเจ็บของเขามันเรื้อรังเกินกว่าจะฝืนแข่งต่อไป ปิดม่านเวทีการเป็นนักปั่นอาชีพของเขาด้วยวัยแค่ 29 ปีเท่านั้น

ตลอดอาชีพของเขา แอนดี้ เป็นที่จดจำในความ เกือบ ของเขามาตลอด แต่เขาก็เป็นดาวรุ่งที่เราเอาใจช่วยเขามาเสมอ แต่พอเขาต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการเป็นแค่ ดาวรุ่ง เพื่อโชว์ว่าเขาคือ ของจริง เขากลับล้มเหลว บางที การตัดสินใจแยกจาก รีส โค้ชที่ดึงเอาศักยภาพของเขาออกมาได้ดีที่สุด อาจจะเป็นการตัดสินใจที่พลาดอย่างร้ายแรงที่สุดก็ว่าได้ แต่สุดท้าย เราก็ได้แค่เพียงคิดว่า What If… เท่านั้นล่ะครับ เพราะเมื่อแอนดี้หันหลังให้กับวงการ เราก็ทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป นอกจากจะจำภาพความสำเร็จของเขา และเสียดายกับโอกาสที่เขาพลาดไปอย่างฉิวเฉียดทั้งสองครั้งของนักปั่นในความทรงจำคนนี้

แอนดี้คือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผม – อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *