DT Guide: เลือกเบาะจักรยานอย่างไรให้สบายก้น?

เบาะจักรยาน (Saddle) เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดบนจักรยานของเราก็ว่าได้ จุดสัมผัสหลักๆ ของคนกับจักรยานก็คือเบาะ ถ้ามันใช้ได้ดีคุณอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้ามันไม่เหมาะกับร่างกายก็ปั่นไม่สนุกแน่ๆ แล้วเราจะเลือกเบาะอย่างไรให้เข้ากับก้นของเรา?
มาดูกันครับ

 

เบาะติดรถ

ถ้าคุณซื้อจักรยานแบบสำเร็จรูป แน่นอนว่ารถจักรยานที่เราซื้อมาจะมีเบาะแถมมาด้วย สำหรับคนทั่วไปเบาะจักรยานติดรถนั้นก็ใช้ได้ดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรืออัปเกรด นั่นก็เพราะว่า โดยมากผู้ผลิตจะเลือกทรงเบาะที่เข้าได้กับก้นของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก เบาะมันก็เหมือนกางเกงจักรยานครับ ถ้ามันใช้ได้ดีเราก็จะไม่รู้สึกว่ามันกวนใจอะไรเลย แต่พอมันใช้ไม่ได้ เช่นทำให้เราเจ็บหว่างขา ดันน้องช้าย หรือมีอาการชา เมื่อนั้นหละมันจะกลายเป็นของที่คุณอยากเปลี่ยนให้ไวที่สุด

ลองถามเพื่อนที่ปั่นจักรยานด้วยกันก็ได้ ถ้าใครเจอเบาะที่ถูกใจสบายก้นแล้วแทบจะไม่อยากไปลองรุ่นอื่นอีกเลย เป็นธรรมดาที่นักปั่นมืออาชีพ นักปั่นสายทัวร์ริ่ง ไบค์เมสเซนเจอร์จะเลือกใช้เบาะเดิมๆ ที่เข้ากับสรีระที่สุด ถึงแม้จะต้องเปลี่ยนรถหรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ตาม อย่างไรก็ดี ของแพงก็ใช่ว่าจะเข้ากับสรีระเราเสมอไป เบาะมีหลายรูปทรงและระดับราคา ผู้ชนะ Tour de France ในอดีตยังเคยใช้เบาะใบละพันกว่าบาทมาแล้ว จะเลือกซื้อเบาะใหม่ทั้งที คุณต้องดูอะไรบ้าง?

 

1. รูปทรง

Fizik-Custom-Saddles-7841-1024x682

สิ่งสำคัญที่สุดในการซื้อเบาะใหม่ก็คือต้องดูว่ารูปทรงเบาะมันเข้ากับร่างกายและท่าปั่นของเราหรือเปล่า

– ถ้าคุณชอบนั่งปั่นแบบก้มต่ำและชอบปั่นไวๆ สักหน่อย (ไสตล์โปร / แข่งขัน) เบาะแคบๆ จะใช้ได้ดีกว่าเบาะกว้างงๆ
– ในทางกลับกัน ท่าชอบนั่งตัวตรงๆ ยืดๆ และปั่นช้าๆ (ไสตล์ทัวร์ริ่ง กินลมชมวิว จักรยานแม่บ้าน) เบาะกว้างๆ จะใช้ได้ดีกว่าเบาะแคบๆ

นั่นก็เพราะว่าถ้าเราชอบนั่งปั่นในท่าที่ aggressive เหมือนนักแข่ง น้ำหนักตัวเราจะไม่กดลงไปบนเบาะมากนัก ในขณะที่ท่าเรานั่งตัวยืดๆ ตรงๆ น้ำหนักเราจะกดลงบนเบาะค่อนข้างเยอะ เบาะไสตล์แข่งขันในตลาดเลยค่อนข้างเรียวแหลม ในขณะที่เบาะทัวร์ริ่งอย่างจะอ้วนๆ กลมๆ สักหน่อย

ผู้ผลิตเบาะต่างยี่ห้อก็มีวิธีการเลือกเบาะให้เข้ากับร่างกายลูกค้าได้ต่างๆ กันไปครับ บางยี่ห้ออาจจะแบ่งจากท่าทางการปั่น บางเจ้าก็แบ่งตามความยืดหยุ่นของร่างกาย หรือเจ้าไหนละเอียดหน่อยก็อาจจะมีระบบการวัดระยะห่างระหว่างกระดูกเชิงกราน (Sit bones) เพื่อหาเบาะที่เหมาะกับสรีระของลูกค้าที่สุด

 

กว้างหรือแคบ?

เบาะที่ดีควรจะซัพพอร์ทกระดูกเชิงกราน ไม่ใช่ก้นทั้งลูก จุดสำคัญที่สุดคือ จุดที่กระดูกเชิงกรานเราสัมผัสกับเบาะครับ แต่ละคนมีระยะกระดูกเชิงกรานไม่เท่ากัน เป็นเหตุที่ทำให้เบาะมีความกว้างหลายขนาด บางคนตูดใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระดูกเชิงกรานเขาจะใหญ่ตามไปด้วย

รูปทรงของเบาะก็มีหลายประเภท บ้างก็แบนราบทั้งเบาะเลย ในขณะที่บางเบาะอาจจะมีส่วนโค้ง เว้า และชันไม่เหมือนกัน เบาะที่กว้างเกินอาจจะทำให้เกิดอาการเสียดสีบริเวณหว่างขา แต่ถ้าแคบเกินไปจะรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนขอนไม้แข็งๆ

 

เบาะนุ่มหรือเบาะแข็ง?

สำหรับบางคนโดยเฉพาะคนที่ขี่เสือหมอบไสตล์แข่งขันทำความเร็วนั้น เบาะที่แข็งที่สุด (ไม่มีบุฟองน้ำ) อาจจะเป็นเบาะที่สบายที่สุดก็เป็นได้ เคยเห็นพวกเบาะที่ทำจากคาร์บอนหรือพลาสติก (เบาะแมงมุม) เพียวๆ มั้ยครับ? จริงๆ มันนั่งสบายเลยนะ นั่นก็เพราะการนั่งปั่นเสือหมอบไสตล์แข่งขัน ก้มต่ำๆ จับดรอปนานๆ หลังขนานกับพื้นเนี่ย น้ำหนักตัวเราจะไม่ทิ้งลงบนเบาะทั้งหมด

กลับกันกับท่านั่งปั่นจักรยานทัวร์ริ่ง จักรยานแม่บ้าน จักรยานพับแฮนด์ตรง ที่น้ำหนักตัวเราจะกดลงบนเบาะตรงๆ ทำให้เบาะนิ่มๆ ที่มีเจลหรือฟองน้ำบุหนาจะนั่งสบายกว่า

 

วัสดุ?

เบาะจักรยานทำจากวัสดุหลายแบบ เวลาพูดถึงเบาะจักรยานอย่าลืมว่ามันมีหลายส่วนทั้งรางเบาะ ตัวโครงเบาะและหนังหุ้มเบาะ ยิ่งเบาะราคาแพงเท่าไร น้ำวัสดุที่ใช้ก็จะน้ำหนักเบามากขึ้นเท่านั้น เบาะที่เบาะจะมีน้ำหนักต่ำกว่า 200 กรัม

วัสดุบนเบาะจักรยานมี 3 ส่วนที่ควรพิจารณาครับ

1. หุ้มเบาะ (Saddle Cover): มีหลายประเภททั้งทำจากหนังแท้ หนังสังเคราะห์ บ้างก็เจาะรูระบายเหงื่อ บ้างก็ใส่เคฟลาร์ (เส้นใยที่ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน) เพื่อความทนทาน เบาะ Time Trial มักจะมีส่วนที่เพิ่มความเหนียวเพื่อล๊อคไม่ให้ก้นเราเลื่อนไปมา

หุ้มเบาะแบบหนังแท้แบบยี่ห้อ Brooks จะใช้หนังสัตว์ผืนเดียวยึดขึงด้วยน๊อตหรือหมุดเข้ากับตังโครงเบาะ และเป็นวัสดุที่นั่งสบายเพราะมันสามารถให้ตัวได้มาก ยิ่งเวลาใช้จน break in แล้วก็จะนิ่มเข้ากับก้นเราเหมือนเวลาใส่รองเท้าหนังดีๆ นั่นหละครับ แต่ต้องดูแลมากกว่าเบาะประเภทอื่นๆ สักหน่อย ส่วนหุ้มเบาะประเภทหนังสังเคราะห์สมัยนี้ก็ค่อนข้างสบายเหมือนกันและทนทานไม่ขูดลอกง่ายๆ ถ้าดูแลดีๆ

2. รางเบาะ (Saddle Rail): รางเบาะแบบคาร์บอนซึ่งน้ำหนักเบาและราคาแพงนั้นจะแข็งกว่ารางเบาะที่ทำจากอลูมิเนียม / ไททาเนียมกลวงเพราะวัสดุประเภทหลังให้ตัวได้มากกว่า ช่วยดูดซับแรงกระเดือนได้ดีครับ น้ำหนักก็ไม่ได้แย่กว่ารางคาร์บอนสักเท่าไรด้วย (เท่าที่ลองเบาะ Specialized รุ่นเดียวกันตัวนึงรางคาร์บอน ตัวนึงราง Hollow Titanium อย่างแรกแข็งกว่าอย่างรู้สึกได้ชัด) แน่นอนว่าเบาะรุ่นที่ใช้รางคาร์บอนมักจะมีราคาสูงเพราะน้ำหนักเบาครับ

3. โครงเบาะ (Saddle base): โครงเบาะเป็นส่วนที่ผู้ผลิตใช้กำหนดรูปทรงของเบาะ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเว้าส่วนโค้ง หรือส่วนนูน บางรุ่นก็อาจจะมีรูตรงกลาง โครงเบาะจะเป็นส่วนที่ผู้ผลิตสามารถกำหนดความยืดหยุ่น (flex) ของเบาะได้มากที่สุด

 

เบาะนุ่มนั่งสบายกว่าเบาะแข็งจริงหรือ?

เบาะที่วางขายกันส่วนใหญ่ (ยกเว้นเบาะคาร์บอน) มักจะมีเจลหรือฟอง (padding) น้ำทำให้เบาะนุ่มไม่แข็งจนเกินไปอยู่ประมาณนึง จะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเบาะนั้นๆ เบาะไสตล์แข่งขันของเสือหมอบก็จะมีน้อยสักหน่อย ในขณะที่เบาะไสตล์ทัวรริ่งปั่นสบายจะมีบุฟองน้ำเยอะครับ แต่อย่าคิดว่าเบาะนุ่มๆ นั้นจะนั่งสบายกว่าเบาะแข็งๆ ทีเดียว อย่างที่กล่าวไว้ สำหรับสิงห์เสือหมอบ เบาะแข็งๆ บางทีอาจจะนั่งสบายที่สุดเลยก็ได้ เพราะน้ำหนักตัวเราไม่ได้กดลงบนเบาะทั้งหมด ท่าปั่นเสือหมอบส่วนใหญ่นั้น ผู้ปั่นจะเอนตัวไปข้างหน้า กระจายน้ำหนักระหว่างจุดสัมผัสที่แฮนด์ บันได และก้น เหมือนกับเรา “พิง”​ อยู่บนเบาะครับ อย่างที่ผมรีวิวเบาะ Specialized Romin Evo Expert ที่ใช้ส่วนตัวอยู่ ก็เป็นเบาะที่แข็ง มีเจลและฟองน้ำบุแค่บางๆ แต่นั่งสบายมากๆ ไม่รู้สึกกวนใจเลย

อย่างไรก็ดีเบาะที่มี padding น้อยๆ นั้นมีจะอายุการใช้งานต่ำสักหน่อย เพราะเจลหรือฟองน้ำบางๆ ที่เขาบุมาจะเริ่มไม่คืนตัวซึ่งเกิดจากการนั่งทับหลายร้อยหลายพันชั่วโมงของเรา มันก็จะแข็งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะนั่งไม่สบายในที่สุด ก็ต้องเปลี่ยนใหม่กันตามสมควร ยิ่งใช้เยอะก็ยิ่งยุบไวครับ อายุการใช้งานเบาะสมัยนี้น่าจะอยู่ที่ 2-3 ปีถ้าคุณปั่นเป็นประจำ

 

เรื่องของเบาะเซาะร่อง

DSCF0651

ในปี 1997 Dr.Irwin Gold Stein อ้างว่าการปั่นจักรยานเป็นประจำจะทำให้นกเขาไม่ขันและมีลูกยากเพราะท่านั่งปั่นจักรยานมักจะกดทับน้องชายส่งผลให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงองคชาติ… การวิจัยของ Dr.Irwin ทำให้เกิดกระแส “เบาะเซาะร่อง” แต่จากการทดสอบในปีถัดๆ มานั้น ปรากฏว่า Dr Irwin อาจจะมั่วครับ เพราผลวิจัยสมัยใหม่รายงานว่าอาการชา การกดทับอวัยวะเพศระหว่างการปั่นจักรยาน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการมีลูกยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือก็คือโปรนักปั่นมืออาชีพ ซึ่งปั่นกันปีละหลายหมื่นกิโลเมตร แต่ก็มีลูกกันได้ไม่มีปัญหา อย่างเสือเฒ่า Jens Voigt วัย 41 ปีนั้นมีลูกถึงหกคนแล้ว!

เพราะฉะนั้นความต่างระหว่างเบาะเซาะร่องและเบาะแบบเต็มรูปนั้นอาจจะอยู่ที่ความเข้ากันได้ของเบาะกับสรีระร่างกายเรามากกว่าครับ บางคนก็ชอบเบาะเซาะร่อง บางคนก็ไม่ชอบเลย บางคนใช้เบาะเซาะร่องแล้วก็อาจจะช่วยลดอาการชา แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่ามันจะช่วยได้ ต้องทดลองกันดูเอง ที่แน่ๆ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้มีลูกยากครับ

 

ฟิตติ้งก็สำคัญ

ปัญหาหลักของคนที่เปลี่ยนเบาะบ่อยๆ เพราะนั่งไม่สบาย มีอาการชา หรือเจ็บก้นนั้นอาจจะไม่ใช่เพราะเบาะไม่ดี แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้ลองฟิตติ้ง ปรับชิ้นส่วนอื่นๆ ไม่ถูกขนาด เช่นระยะเสต็ม แฮนด์ ความสูงของหลักอาน หรือบางทีเบาะอยู่เยื้องหลังเกินไป หรือใกล้แฮนด์เกินไปก็เป็นได้เหมือนกัน ถ้ามีโอกาสแนะนำให้ช่างร้านประจำหรือเพื่อนที่มีความรู้ลองช่วยฟิตติ้งดูก่อน แล้วทดสอบปั่นดูว่าอาการนั่งไม่สบายหายไปหรือเปล่า ถ้าคิดว่าฟิตติ้งเหมาะสมแล้วยังเป็นอยู่ก็อาจจะถึงเวลาเปลี่ยนเบาะครับ เบาะที่ดีนั้นเวลาเรานั่งปั่นมันจะไม่กวนใจเลย จะปั่นยาว 6-7 ชั่วโมงก็น่าจะยังนั่งสบายอยู่ครับ

 

ลองก่อนซื้อ

ถ้าเป็นไปได้ให้ลองเบาะก่อนซื้อจะดีที่สุด ผู้ผลิตหลายๆ เจ้าเดี๋ยวนี้มีเบาะตัวเดโมให้เอาไปลองก่อนซื้อจริงครับ ซึ่งช่วยเราได้มากจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อๆ ขายๆ จนกว่าจะได้ตัวที่ถูกใจ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือยืมเพื่อนมาลอง! ใครมีเพื่อนมากก็ได้เปรียบหน่อย

เบาะเป็นอะไหล่ที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นจุดที่ร่างกายเราสัมผัสกับจักรยานมากที่สุด เป็นตัวตัดสินหลักว่าเราจะปั่นได้สนุกหรือทุกข์ทรมาน ถ้าพึ่งซื้อเบาะใหม่มาแล้วคิดว่าแข็งเกินไปให้ใช้ไปสักหนึ่งอาทิตย์ ให้เวลาร่างกายเราปรับเข้ากับเบาะด้วยครับ ขอให้ได้เบาะที่ถูกใจกัน :)

เพิ่มเติมวิดีโอวิธีเลือกเบาะให้เหมาะกับสรีระและวิธีวัดกระดูกเชิงกรานจากร้านArt’s Cyclery 

Published
Categorized as LEARN

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

10 comments

  1. ขอบคุณมากๆครับ สำหรับความรู้ๆดี กำลังหาเบาะที่เหมาะกับตัวเองอยู่ครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *