ขอบเขตของคำว่าโด้ป

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการจักรยานต้องเจอมรสุมใหญ่อีกครั้งเมื่อเว็บไซต์ Fancy Bears หรือกลุ่มแฮกเกอร์จากรัสเซียได้เจาระบบเว็บไซต์ขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) แล้วปล่อยข้อมูลการขอใช้สารต้องห้าม (Therapeutic Use Exemption หรือ TUE) ของนักกีฬาชื่อดังหลายคนตั้งแต่แชมป์ตูร์เดอฟรองซ์อย่าง คริส ฟรูม, แบรดลีย์ วิกกินส์, แชมป์สนามคลาสสิคอย่าง เฟเบียน แคนเชอลารา, และแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกเสือภูเขา นีโน ชูร์เตอร์ ไปจนถึงนักกีฬาเทนนิสระดับราฟาเอล นาดาล

เว็บไซต์ Facny Bears กล่าวต่อว่าหลักฐานเหล่านี้เป็นข้อมูลการโด้ปของนักปั่น และกลายเป็นกระแสข่าวฉาวในวงการอีกระลอก แต่จริงๆ แล้วการขอใช้สาร TUE นั้น ว่ากันตามกฎแล้ว ไม่จัดว่าเป็นการโด้ป แต่ก็เป็นพื้นที่สีเทาที่นักปั่นและทีมจะเกมระบบเพื่อให้ใช้สารที่เพิ่มประสิทธิภาพในการปั่นโดยอ้างอาการเจ็บป่วยบังหน้าได้เช่นกัน

โดยหลักการ การขอใช้ TUE นั้นก็จะขอต่อเมื่อนักปั่นมีอาการเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้สารต้องห้ามดังกล่าวในการรักษาอาการป่วยจริงๆ ข้อมูลเหล่านี้มักจะไม่ออกสู่สาธารณะเพราะข้อมูลระหว่างแพทย์และคนไข้จัดว่าเป็นความลับทางวิชาชีพที่จะไม่มีการบอกต่อเป็นธรรมดา

 

แล้วมันเป็นปัญหายังไง?

คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วมันเป็นปัญหาหรือดราม่ายังไง? ก็ถ้าป่วย แล้วขอใช้ยาหรือสารที่ต้องห้ามอย่างถูกต้องตามกฎ ก็ไม่น่าจะเป็นการละเมิดกฎหรือโกงอะไร อย่างแรกต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า นักจักรยานอาชีพขอการใช้สารต้องห้ามไปทำไม

จากข้อมูลการศึกษาของเว็บไซต์ Cyclingweekly พบว่านักปั่นอาชีพในประเทศสหราชอาณาจักรกว่า 20% เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดในชนิดหนึ่ง และจำเป็นต้องใช้ยาพ่นเพื่อลดอาการภูมิแพ้ เหตุผลที่ทำให้นักกีฬาเอนดูรานซ์เป็นภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปก็เพราะว่า นักกีฬาอย่างนักจักรยานนั้นต้องสูดรับอากาศเข้ามากกว่าคนปกติในการแข่งหรือซ้อมกีฬา และจำนวนอากาศที่เข้าไปมากนั้นก็หมายความว่าโอกาสที่สารที่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ (triggers) ก็เข้าไปได้มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง มลภาวะในอากาศ หรือเกสรดอกไม้เป็นต้น

lemond-732_nx2

ปัญหาอยู่ที่ว่าสารระงับอาการภูมิแพ้ส่วนใหญ่นั้นอยู่ในรายชื่อสารต้องห้ามของ WADA เพราะมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังของนักกีฬาอย่างเห็นได้ชัด ถ้าไม่ป่วยจริงและไม่ทำเรื่องขอก็ไม่อาจจะใช้ได้

ความย้อนแย้งมันเลยอยู่ตรงนี้ครับ ยาที่นักปั่นขอใช้มีทั้งเพรดนิโซโลน, ไตรแอมซิโนโลนและคอร์ติโซน โดยเฉพาะคอร์ติโซนที่เมื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยตรงจะช่วยลดอากาศอักเสบของกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญไขมันและเร่งการสร้างฮอร์โมนบางประเภท ซึ่งมีผลยาวต่อเนื่องหลายวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นชัดเจน

ยาที่มีคอร์ติโซนเป็นยาฉาวในวงการจักรยานพอสมควรครับ จากผลลัพธ์ทางบวกของมันต่อประสิทธิภาพการปั่น (จากการศึกษาพบว่าต้องใช้ประมาณ 50mg ขึ้นไปถึงจะเห็นผล) เบอร์นาร์ด เธเนเวท์สารภาพว่าเขาใช้มันเพื่อช่วยให้ได้แชมป์ตูร์สองสมัยในปี 1970s, ลอเรนท์ ฟิณญอง แชมป์ตูร์ก็สารภาพว่าใช้คอร์ติโซนเช่นกันในปี 1980s แลนซ์ อาร์มสตรองเคยโดนแบนเพราะตรวจพบคอร์ติโซนในร่างกายเช่นกันในช่วงปี 90s เอาจริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในสารเพิ่มประสิทธิภาพยอดนิยมของนักปั่นเลยก็ว่าได้

Bernard_ThC3A9venet_-_Tour_1976
เธเนเวต์ แชมป์ตูร์ปี 1975 และ 1977 สารภาพว่าเขาใช้คอร์ติโซนเพื่อช่วยให้ปั่นดีขึ้นจนได้แชมป์ทั้งสองครั้ง

คำถามเลยอยู่ที่ “ปริมาณ” การใช้สารดังกล่าว ต้องจ่ายยาเท่าไรเพื่อเพียงแค่ “รักษาอาการเจ็บป่วย” เพราะถ้าจ่ายมากเกิน ยาดังกล่าวกลับจะไปช่วยให้นักจักรยานปั่นได้ดีเกินขอบเขตความสามารถตามธรรมชาติของตัวเอง

 

กรณีของวิกกินส์

ข้อมูล TUE ที่รั่วออกมามีผลกับอดีตแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์และฮีโร่ชาวอังกฤษอย่างแบรดลีย์ วิกกินส์เป็นพิเศษเพราะเขาเคยเขียนลงหนังสืออัตชีวประวัติว่าตนไม่เคยรับการฉีดยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพร่างกายแต่อย่างใด แต่ข้อมูลที่รั่วออกมาระบุว่าเขาเคยขอใช้ TUE 6 ครั้งเพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ มี 3 ครั้งที่เขาขอใช้ TUE ก่อนหน้าการแข่งตูร์เดอฟรองซ์ในปี 2011 และ 2012 ที่เขาได้แชมป์ รวมถึงก่อนแข่ง Giro d’Italia ในปี 2013 ด้วย ทั้งสามครั้งเป็นการฉีด ไตรแอมซิโนโลน ซึ่งเป็นคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง (ประโยชน์ของมันเหมือนที่เขียนไว้ย่อหน้าข้างบน)

ซึ่งจริงๆ แล้ววิกกินส์สามารถใช้ยาที่มีคอร์ติโคสเตียรอยด์โดยไม่ต้องฉีดก็ได้ เพียงแต่มันจะไม่มีผลระงับอาการได้ไวเท่าการฉีดเข้าร่างกาย ในบทสัมภาษณ์ของเว็บไซต์ Cyclingtips แพทย์ที่เคยทำงานร่วมกับทีม Sky อย่างเจโรน ซวาร์ท กล่าวว่า ไตรแอมซิโนโลนไม่ใช่ยารักษาเบื้องต้น และเขาเอง “ลำบากใจ” ที่จะจ่ายยาดังกล่าวกับคนที่เป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจจะได้รับประโยชน์โดยตรงมากกว่าแค่รักษาอาการบาดเจ็บ แถมยังเป็นการขอใช้ก่อนการแข่งสนามที่ใหญ่ที่สุดในปีอีกด้วย นั่นหมายความว่าวิกกินส์พูดไม่ตรงกับความจริง วิธีการและช่วงเวลาที่เขาขอใช้สารดังกล่าวก็ดูจะจงใจจนเกินไป

ในกรณีของคริส ฟรูมนั้น ไม่ได้มีปัญหาเท่าไร เพราะฟรูมเปิดเผยเป็นสาธารณะไว้นานแล้วว่าในชีวิตการแข่งของเขา เขาเคยขอ TUE สองครั้งในปี 2013 และ 2014 และข้อมูลที่ออกมาก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง

 

การขอ TUE ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป

DT คิดว่ากรณีจริยธรรมการขอ TUE นี่น่าจะดูเป็นเคสไปมากกว่า เพราะหลายคนจำเป็นต้องขอ TUE จริงเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของเฟเบียน แคนเชอลารา ที่ทาง Fancy Bears ก็ปล่อยข้อมูลการขอ TUE ของเขาเช่นกัน แต่ทีม Trek-Segafredo ออกมาตอบโต้ทันที

fabs

Trek แจ้งว่าทีมได้ขอใช้ TUE ให้แคนเชอลาราสองครั้งในปี 2011 และ 2013 สารที่ขอใช้คือเมทิล เพรดนิโซโลน ที่เป็นสเตียรอยด์เช่นกัน แต่เป็นเพื่อการรักษาอาการบวมอักเสบจากที่แคนเชอลาราโดนผึ้งต่อย ซึ่งทีมก็ส่งรูปยืนยันด้วยว่าโดนต่อยจริง

 

Sky ตอบโต้

หลังจากที่เงียบมาเกือบสองอาทิตย์เต็ม ปล่อยให้ข่าว TUE ของวิกกินส์เป็นประเด็นใหญ่โตระดับโลก ผจก.ทีม Sky เซอร์เดวิด เบรลส์ฟอร์ดก็ออกมาตอบโต้ว่าทีมทำถูกขั้นตอนทุกอย่างแล้วและไม่ผิดกฏ การขอ TUE เป็นไปเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยและไม่ใช่เพื่อเพิ่มศักยภาพการปั่น (The Guardian)

และตัวเขาเองก็ยังเชื่อในกระบวนการขอใช้ TUE เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องผ่านแพทย์และหน่วยงานต่อต้านการโด้ป ไม่ใช่กระบวนการที่จะขอผ่านง่ายๆ ต้องมีแพทย์รับรองสามคน ถ้ามีแพทย์คนใดคนหนึ่งปฏิเสธ TUE ที่ขอก็จะไม่ผ่าน

screen-shot-2559-09-28-at-6-49-21-pm
เบรลส์ฟอร์ดชี้แจง BBC เรื่องการขอใช้ TUE ของวิกกินส์ (อ่านเพิ่มเติม: BBC Sport)

แต่เบรลส์ฟอร์ดก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมวิกกินส์ถึงจำเป็นต้องฉีดไตรแอมซิโนโลนเข้ากล้ามเนื้อในเมื่อมีวิธีการอื่นที่รักษาภูมิแพ้ของวิกกินส์ได้โดยที่ไม่ต้องใช้ยาแรงเท่า

กฏของ UCI ในการขอ TUE ให้นักกีฬาต้องผ่านการพิจารณาหลักๆ สามข้อ แต่เคสของวิกกินส์ดูจะไม่ผ่านอย่างน้อยสองข้อ ตามที่ยกมาข้างล่างนี้

B: “The therapeutic use of the prohibited substance or prohibited method is highly unlikely to produce any additional enhancement of performance beyond what might be anticipated by a return to the rider’s normal state of health following the treatment of the acute or chronic medical condition.” (สารที่ขอใช้ต้องไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มศักยภาพของนักกีฬา มากเกินไปกว่าที่สารนั้นจะรักษาอาการเจ็บป่วย)

C: There is no reasonable Therapeutic alternative to the Use of the Prohibited Substance or Prohibited Method. (ไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาอาการเจ็บป่วยของนักกีฬานอกจากการขอใช้สารและวิธีการต้องห้าม)

ข้อ B นั้นไม่ควรจะผ่าน เพราะการใช้ไตรแอมซิโนโลนที่มีสเตียรอยด์ มีหลักฐานต่อเนื่องยาวนานหลายปีว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพนักกีฬาเกินขอบเขตการรักษา (เหมือนที่แชมป์ตูร์ในอดีตสารภาพ) และข้อ C ก็ไม่ผ่าน เพราะวิกกินส์สามารถรับประทานยาได้แทนการฉีด ซึ่งการฉีดนั้นก็อย่างที่แพทย์หลายคนออกความเห็นว่าไม่จำเป็น

สองข้อนี้เป็นเรื่องของ UCI ที่น่าสงสัยว่าปล่อยผ่านมาได้อย่างไร และรัดกุมกับกระบวนการอนุญาต TUE แค่ไหน?

 

สรุป: ถูกกฏแต่สมควรหรือเปล่า?

ไม่ใช่แค่ทีม Sky ที่ขอใช้ TUE นักจักรยานจากอีกหลายทีมก็ได้มีการขอเช่นกัน เพียงแค่ไม่มีใครขอได้ช่วงเวลาเหมาะเจาะก่อนแข่งสนามใหญ่เหมือนวิกกินส์ ทั้งนี้ทั้งนั้นการขอใช้ TUE ก็ไม่ได้แปลว่านักปั่นโด้ป

596055

อย่างร้ายเราอาจพูดได้ว่า นักจักรยานและแพทย์ประจำทีมจงใจขอใช้สารต้องห้ามภายในกรอบของระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนักกีฬาให้ได้มากที่สุดเท่าที่กฏจะอนุญาต แต่ถ้ามองโลกในแง่บวก มันก็อาจจะแค่ว่านักกีฬามีอาการเจ็บป่วยจริงและต้องใช้ยารักษา ไม่เช่นนั้นก็ลงแข่งไม่ได้ตามหน้าที่ของเขา

คำถามที่เราควรจะถามคือถ้านักกีฬามีอาการป่วยจริง เขาควรจะนอนพักอยู่บ้านรอให้หายป่วย หรือควรจะขอใช้สารต้องห้ามเพื่อรักษาอาการป่วยเพื่อให้ลงแข่งได้? นโยบายของทีม Sky ระบุไว้ว่าทีมเลือกที่จะให้นักปั่นพักแทนการขอใช้ TUE แต่ชัดเจนว่าในเคสของฟรูมและวิกกินส์ ทีมไม่ได้ทำอย่างที่บอกสาธารณะไว้ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจากกรณีฉาวนี้คือ Sky และกระบวนการอนุญาต TUE ไม่ได้โปร่งใสอย่างที่เราคิด

จริงว่า Sky ทำถูกต้องตามกฏทุกอย่าง แต่ถึงบางจุด โดยเฉพาะเคสของวิกกินส์ที่ดูหมิ่นเม่จะออกไปทางรับสารต้องห้ามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่ารักษา ก็ดูไม่เหมาะสมเอาเสียเลยและย้อนแย้งกับนโยบายความโปร่งใสและไม่โด้ปของทีมด้วย

ไม่ใช่แค่ทีมและนักกีฬาที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเกมระบบ แต่องค์กรที่ดูแลเรื่องนี้เองก็ต้องปรับปรุงการอนุมัติให้รัดกุมขึ้นด้วย เพราะที่แน่ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้ช่วยใครทั้งสิ้นครับ

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจในคอลัมน์ The Inside Line ประจำวันที่ 27 กันยายน 2559

* * *

ถ้าสนใจประเด็น TUE เพิ่มเติมอ่านเพิ่มได้ที่

Cyclingtips: Jaksche on Sky’s TUE controversy: ‘We used the same excuse in my era.’

Cyclingtips: Team Sky TUE controversy: Why one medical expert has real concerns

BBC: Sir Bradley Wiggins: No unfair advantage from drug

Cyclingnews: WADA cyber-attack raises questions for Sky, cycling and TUE system at large

Cyclingnews: Brailsford insists Team Sky is ‘100 per cent a clean operation’

Cyclingweekly: What’s the deal with asthma and pro cycling?

Guardian: Wiggins and Froome leaks raise familiar questions for cycling but do little else

Guardian: Bradley Wiggins operated within doping rules — but rules may be wrong

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *