แค่เขาอีกหนึ่งลูก

1.

คุณเคยสงสัยไหมครับว่าอะไรคือสิ่งที่กั้นระหว่างความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้?

15 สิงหาคม 2558

ผมอยู่ที่ความสูงราว 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

หน้าจอ Garmin Edge 510 แสดงตัวเลขความชัน 21% อัตราการเต้นหัวใจ 185 ครั้งต่อนาที รอบขา 20 รอบต่อนาที และความเร็ว 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข้างซ้ายมองลงไปเห็นแต่ป่าดิบชื้น ด้านขวาคือสันเขา ก้มมองลงพื้นเป็นถนนขรุขระ มีแต่หลุมบ่อเต็มไปด้วยเศษใบไม้และคราบมอสเขียวชวนลื่น ทีมผมอีก 3 คนหายลิบขึ้นเขาไปกันหมดแล้ว แต่หัวใจผมยังเต้นเร็วราวกับจังหวะกลอง ขาเริ่มแข็งเกร็งกดลูกบันไดไม่ไหว

ผมออกจากจุกสตาร์ทมา 60 กิโลเมตร ยังขาดอีก 60 กิโลเมตรจะถึงเส้นชัย

11885784_1138234926192695_7721081755014726807_o
Photo: Mhonglio Studio

ถ้าตามคำพูดของซี กวง โล นักปั่นอาชีพชาวมาเลเซียคนแรกที่ได้ไปแข่งระดับโลกให้กับทีม Giant-Alpecin เป็นเรื่องจริง เส้นทางที่ผมปั่นวันนี้คือรูทการขึ้นเขาที่ยากที่สุดในประเทศมาเลเซีย

หัวใจเต้นแรงร่วม 190 ครั้งต่อนาทีแล้ว และดูแนวโน้มว่าร่างกายคงพาตัวเองไปไม่ไหวจนถึงที่หมาย แต่ถึงจุดนี้จะขี่กลับไปจุดสตาร์ท กับขี่ไปจนจบเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้แย่ไปกว่ากัน…นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่ผมตัดสินใจว่าจะยอมปั่นไม่จบ

อะไรที่ทำให้คุณเดินหน้าก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ และอะไรทำให้คุณหยุดชะงัก ต้องยอมแพ้ถอยหลังกลับถึงแม้เส้นชัยจะอยู่แค่เอื้อมมือก็ตาม?

ที่นี่คือเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในงานปั่น Rapha Prestige Penang ระยะทางที่เราต้องปั่นให้จบวันนี้คือ 114 กิโลเมตร และความสูงชัน 3,400 เมตรบนเขาชันร่วม 8 ลูก

 

2.

18 ชั่วโมงก่อนหน้า

“นี่ไม่ใช่การแข่งขันจักรยานและเราไม่มีรางวัลให้ผู้ชนะ”

คือคำพูดของคริสโตเฟอร์ เฉิน หนุ่มสิงคโปร์ร่างเล็กที่กำลังพรีเซนต์เส้นทางและกฏกติการในการปั่นสนาม Pretige Penang ให้กับนักปั่นร่วม 20 ทีมจากทั่วเอเชียฟังกันอย่างตั้งอกตั้งใจ

11875199_1137841186232069_534720755399966677_o
Photo: Mhonglio Studio

เราอยู่ในห้องประชุมโรงแรม Vistana Hotel ผมนั่งอยู่กับเพื่อนทีม Ducking Tiger อีก 3 คน มองไปรอบห้องก็เจอนักปั่นหน้าคุ้นหลายคนทั้งทีมไทยและทีมต่างชาติ มีทีมไทยที่เป็นขาประจำงานปั่นของ Rapha อย่าง Holiday Bike Rider (HBR), และ Drag to kill (ปัจจุบัน Singha-DTK) แถมยังมีทีมสาว BG Media มาร่วมแจมด้วย เพราะ Ducking Tiger เคยแข่งสนาม Rapha มาแล้วสองครั้งเราเลยพอจำนักปั่นทีมต่างชาติได้ด้วยมีทั้งทีมจากมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย

ถึงพวกเราจะเคยเจอปั่นสนาม Rapha มาก่อน แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือ พรุ่งนี้จะเป็นหนึ่งในการปั่นที่ยากที่สุดที่เราเคยเจอ

IMG_3210
Route Planning

สำหรับใครไม่คุ้นเคย Rapha คือแบรนด์เสื้อผ้าชุดปั่นจากอังกฤษ และเป็นสปอนเซอร์ชุดปั่นให้กับทีมดัง Sky Pro Cycling นอกเหนือจากการขายเสื้อผ้าแล้ว Rapha ยังจัดทริปปั่นสุดโหดในชื่อ Rapha Gentlemens Race (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Prestige) มาหลายปีแล้ว

คริสบอกกับทุกคนว่า ทีมงาน Rapha ตั้งใจเป็นอย่างมากกว่าจะเลือกเส้นทางนี้ได้ ลองปั่นกันก็หลายรอบจนคิดว่าได้รูทที่สมบูรณ์แบบที่สุด ข้อกำหนดของการเลือกเส้นทางสำหรับ Prestige มีสองข้อง่ายๆ :

  • ต้องมีระยะทางเกิน 200 กิโลเมตร
  • ถ้าระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร ระยะปีนเขา (elevation gain) ต้องมากกว่า 3000 เมตร

ถ้าระยะปีนมากกว่า 3000 เมตร ระยะทางก็จะเหลือราวๆ 120–130 กิโลเมตรเพื่อไม่ให้มันยากเกินไป

เส้นทางการปั่น Prestige นั้นจะกระจายไปทั่วโลก ถ้าในเขตเอเชีย Rapha ก็เคยจัดในญี่ปุ่น (นิเซโกะ) ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย (เชียงใหม่) มาเลเซีย (คาเมรอนไฮแลนด์และครั้งนี้ที่ปีนัง) จะมีทีมงาน Rapha ในแต่ละทวีปเป็นคนดูแลเรื่องการจัดการการปั่น

ถ้าคุณสังเกต จะเห็นว่าผมไม่ใช่คำว่าสนามแข่ง เพราะรายการนี้ไม่ใช่การแข่งขันจักรยานครับ ไม่มีรางวัล ไม่มีมาร์แชล ไม่มีกรรมการ ไม่มีป้ายบอกทาง ไม่มีรถเซอร์วิส ไม่มีประกันชีวิต รถพยาบาลดูแลความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น มีแค่คุณกับเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คนที่ถ้าอยากจะมาปั่น ก็ต้องดูตั้งใจปั่นให้จบตามเส้นทาง ดูแลกันเองจนถึงเส้นชัยให้ได้

IMG_3216

จะมาเข้าร่วมงานนี้ได้คุณไม่ต้องเป็นลูกค้าเสื้อผ้า Rapha ก็ได้ ถ้าส่งใบสมัคร (ซึ่งจะถูกคัดกรองอีกที) แล้วทีมงานเห็นว่าเข้าตา ก็จะได้รับเลือกให้ลงแข่ง หลายทีมถูกปฏิเสธ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดจะคาดเดาได้ ในใบสมัครคุณต้องคำถามเช่น “ทำไมเราถึงต้องเลือกทีมคุณมาปั่นกับเรา ในเมื่อมีอีกหลายสิบทีมที่อยากจะมาปั่นแทนที่คุณ?” หรือ “What is your perfect ride? อธิบายการปั่นที่สมบูรณ์แบบของคุณ”

สิ่งที่ Rapha อยากรู้ ไม่ใช่ว่าคุณต้องเป็นทีมแชมป์ที่กวาดผลงานมาทั่วประเทศ แต่เป็น “ทัศนคติ” หรือ mindset แบบหนึ่ง ที่คุณอยากจะท้าทายตัวเอง อยากค้นหาเส้นทางใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือการปั่นที่คุณคุ้นเคย พร้อมที่จะเจอกับความยากแบบที่คุณต้องถามตัวเองว่าเรากำลังมาทำอะไรที่นี่ โดยที่ไม่ต้องแคร์ว่าจะมีรถเซอร์วิสตามมั้ย หรือคุณจะได้อันดับที่เท่าไร? มันคือสปิริตการปั่นแบบผจญภัยที่หาได้น้อยลงทุกทีๆ ในโลกที่มีสนามแข่งจักรยานให้คุณเข้าร่วมได้แบบรายสัปดาห์

ถ้าคุณสมัครผ่าน คุณต้องเซ็น Waiver form เพื่อยอมรับว่าหากเกิดอันตรายใดๆ ขึ้น จะไม่มีใครรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินคือความรับผิดชอบของคุณและทีมเอง

 

3.

สามครั้งที่ผมได้ปั่นในงาน Rapha Prestige ไม่ต้องสงสัยว่ารูทปีนังคือสนามที่ยากที่สุดที่เคยขี่มาในชีวิต เราเริ่มสตาร์ทไม่ไกลจากโรงแรมที่อยู่ใกล้ๆ George Town แล้ววนครึ่งเกาะ ก่อนจะเจาะผ่านกลางเกาะ เกาะปีนังมีลักษณะภูมิประเทศง่ายๆ ครับ มันคือภูเขาลูกใหญ่หนึ่งลูก ตรงกลางเกาะสูงที่สุด แล้วลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ จนถึงชายฝั่ง ยิ่งเข้าใกล้กางเกาะ ยิ่งสูง ยิ่งชัน

IMG_3225

โจทย์หลักของวันนี้คือ มีภูเขาสามลูก ลูกนึงยาวแค่ 2 กิโลเมตรโดยประมาณ แต่ทั้งสามลูกอยู่ต่อกัน และแต่ละลูกมีความชันเฉลี่ยประมาณ 13–14% ทั้งสามลูกนี้จะมีเช็คพอยท์ที่เราต้องไปถ่ายรูปเซลฟี่กับทีมเพื่อยืนยันว่าเราได้ขึ้นมาจริงๆ แล้วนะ นี่ยังไม่รวมเขาเล็กเขาน้อยระหว่างระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรด้วย

มันเป็นการปั่นที่ยาก แต่ก็ตื่นเต้นครับ ในสภาพเส้นทาง ในภูมิประเทศที่เราไม่รู้จักและคุ้นเคย ไม่มีซึ่ง safety net หรือ comfort zone นี่คือการผจญภัยและการท้าทายตัวเองบนจักรยานสองล้อไปพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกเกือบร้อยชีวิตที่ต้องการจะทำสิ่งเดียวกัน ทีมเราปั่นช่วยกันดี แต่มีผมเป็นจุดอ่อนของทีม เพราะขาดซ้อมต่อกันหลายเดือน

เส้นทางแบบนี้ไม่ใช่ที่ๆ คนอ่อนแอจะมาปั่นได้สำเร็จ

11872279_1138232286192959_2407880394294271494_o
Photo: Mhonglio Studio

ที่กิโลเมตร 60 บนทางขึ้นเขาลูกชันที่สุดลูกแรก ผมปีนมาได้ไม่ถึง 25% ของระยะทางเขาลูกนี้ ขาเริ่มแข็ง กล้ามเนื้อไม่ขยับดั่งใจคิด เกียร์ที่เบาที่สุดไม่พอให้เราควงกดมันจนครบรอบ มองไปหน้าจอคอมพิวเตอร์ หัวใจก็เต้นสูงสุดและไม่มีแนวโน้มว่าจะลงง่ายๆ

นี่คือครั้งแรกที่ผมคิดว่าจะเลิกปั่นกลางทาง

สมองเริ่มสั่งงาน เราจะกลับยังไง จะย้อนกลับทางเดิมหรือ? แล้วเราจะไปถูกหรือเปล่า? แผนที่ไม่มี รถติดตามงานแข่งก็ไม่มี สตาฟ Rapha ขึ้นชื่อว่าไม่แคร์คนเข้าร่วม ถ้าคุณไปไม่จบ ของหายกลางทาง หรืออะไรก็ตาม คุณต้องจัดการชีวิตตัวเอง ผมลงเดินแล้ว ถอดใจแล้ว และผิดหวังกับตัวเองเรียบร้อยแล้ว

คำถามเดิมเกิดขึ้นในใจอีกครั้ง

“อะไรที่ทำให้คุณเดินหน้าก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ และอะไรทำให้คุณยอมแพ้ถอยหลังกลับ”?

ไม่มีเหตุผลที่จะหาความชอบธรรมให้กับความอ่อนแอของตัวเอง เมื่อก้มลองมองจอระยะทางที่จะต้องปั่นอีกครั้ง ได้ข้อสรุปว่า จะไปต่อตอนนี้หรือจะย้อนกลับทางเดิม มันก็ไม่ได้เหนื่อยน้อยกว่ากัน ผมก้มลงนั่งกับพื้น พักหายใจพอเหนื่อย ถอดรองเท้าปั่นและถุงเท้าออก เข็นจักรยานขึ้นจนถึงยอดเขาลูกแรก

11027935_1138234799526041_8811790971004393379_o
Photo: Mhonglio Studio

ทันทีๆ ที่ปั่นลงจากยอดเขาลูกแรก ลูกที่สองก็เริ่ม และชันยิ่งกว่าเดิมเสียอีก เพื่อนนักปั่นหลายคนลงจอดเข็นจูงอย่างไม่อาย เส้นทางนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อคนอ่อนแอ ถึงตอนนี้ มันก็เป็นแค่เขาอีกหนึ่งลูกที่ผมจะต้องปั่นหรือเข็นจักรยานข้ามไปให้ได้…

 

4.

ในการทำลายสถิติ Hour Record ของเซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์ในวันที่ 7 มิถุนายนปีนี้ มีหลายคนถามเขาว่าเขาสู้กับ “หนึ่งชั่วโมงที่ทรมานที่สุดในชีวิต” ได้อย่างไร? ใครๆ ก็รู้ว่าการปั่นให้เร็วที่สุดในระยะทางหนึ่งชั่วโมงเป็นเรื่องยาก ดูเหมือนง่ายๆ แต่มันต้องอาศัยพละกำลังมหาศาลและจิตใจที่แกร่งดั่งหินผา

วิกกินส์ไม่ได้ตอบในสนามแข่ง แต่เขาใช้เวลาร่วมสี่เดือนในการเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เขาต้องเจอในการทำลายสถิติอันศักดิ์สิทธิ์นี้

11879033_1138233926192795_6316570235829801273_o
Photo: Mhonglio Studio

ใน My Hour วิกกินส์กล่าวว่า เขาไม่ได้มองหรอกว่าเขาต้องปั่นด้วยความเร็ว 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเวลา 60 นาที เขายอมรับว่ามันไม่มีใครคิดอย่างนี้แล้วทำได้หรอก มันเกินศักยภาพมนุษย์ แต่สิ่งที่เขาและทีมช่วยกันทำคือการสร้าง “ข้อจำกัด” ให้จิตใจ

แทนที่จะคิดว่าฉันต้องปั่น 60 นาทีด้วยวัตต์เท่านี้ รอบขาเท่านี้ วิกกินส์แบ่งความพยายามในหนึ่งชั่วโมงนี้ออกเป็น 5 ครั้ง ครั้งละ 12 นาที

เมื่อจบ 12 นาทีแรก เขาคิดว่า “ก็แค่ต้องปั่นอย่างนี้อีก 4 ครั้ง” “อีก 12 นาทีเราก็จะเกินครึ่งชั่วโมงแล้วนะ”

 

5.

หลังจากเข็นจักรยานขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ เป็นทางชันตรงแบบไม่มีโค้งให้คุณเลื้อยยาวร่วม 2 กิโลเมตร ผมถึงยอดเขาลูกที่สอง เจอเพื่อนร่วมทีมที่นั่งรอถ่ายรูปเซลฟี่ ถึงจุดนี้ผมเข้าใจแล้วว่า สุดท้ายความยากและอุปสรรคต่างๆ ที่เรา “รู้สึก” กับมัน มันก็เป็นแค่ จินตนาการในใจเรา

วินาทีที่ผมคิดจะเลิกแข่ง จินตนาการในสมองผมมันคือเส้นทางสุดชันโหดหินอีกว่า 60 กิโลเมตรที่ยังไม่ได้ปั่น และไม่รู้จะปั่นได้ถึงแค่ไหน

แต่พอเราเปลี่ยนจินตนาการนี้เป็นแค่ “เขาอีกหนึ่งลูก” และเข็นตัวเองข้ามมันไปได้ สุดท้ายแล้วจะเป็นระยะทางอีกร้อยกิโลเมตรหรือเขาสูงชันระดับดอยอินทนนท์ มันก็เป็นแค่เขาอีกลูกเดียวที่เราต้องข้าม…เพื่อที่จะได้ข้ามลูกต่อไป และลูกต่อๆ ไป

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ความรู้สึกของผมต่อเส้นทางที่เหลือเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ใช่ เราเหนื่อย เราล้า เรากลัว มันไกล มันชัน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างเราจะไปต่อ…แต่มันก็เป็นแค่สิ่งที่ใจเราปรุงแต่งขึ้นมา

ขอแค่เราเชื่อมั่น ก็คงไม่มีเขาลูกไหนที่เราข้ามไปไม่ได้ครับ

ปี 2559 ที่จะถึงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงมีสัญญาใจที่อยากจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ…เช่นเดียวกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สำเร็จสักที

ในใจเราแล้ว มันไม่ต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อลังการที่จะพลิกชีวิตเราจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ครับ อย่างที่เดวิดกล่าวในหนังเรื่อง Prometheus “Big things have small beginnings.” สิ่งใหญ่ๆ เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ เสมอ

ก็แค่เขาอีกหนึ่งลูก ที่เราจะข้ามผ่านมันไป

โชคดีปีใหม่ทุกคนครับ

*  *  *


Prestige Penang Strava (DT)
: รายละเอียดรูทงานที่เล่าให้ฟังนี้
ขอบคุณรูปสวยๆ จากพี่หม่องติดตามผลงานช่างภาพฝีมือเยี่ยมคนนนี้ได้ที่เพจ Mhonglio Studio 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *