ลุยหลังร้าน: เสือหมอบพันธ์ุไทย Nich Cycling

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการจักรยานในบ้านเราเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด และมีร้านจักรยานใหม่ๆ เปิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สำหรับคนที่พึ่งหันมาสนใจปั่นจักรยานนั้น โจทย์แรกคือจะซื้ออะไร และซื้อที่ไหนดี? การออกไปตามหาซื้อรถคันโปรดไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าได้ร้านจักรยานที่คุยดี รู้งาน ไม่งอแง อัธยาศัยดี ลูกค้าก็สบายใจ เราซื้อรถจากร้านไหนก็เหมือนเราเริ่มต้นความสัมพันธ์กับร้านนั้น เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ไว้ใจดูแลจักรยานสุดที่รักของเราจริงไหมครับ? ความสัมพันธ์ระหว่างร้านและเจ้าของรถมันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการปั่นจักรยานที่เราหาในกีฬาอื่นไม่ค่อยจะได้

Ducking Tiger เองก็เลยอยากจะรู้จักร้านจักรยานให้มากกว่านี้ เราเลยตั้งเป้าหมายออกไปพูดคุยสนทนากับร้านจักรยานต่างๆ ในประเทศไทย (และต่างประเทศ!) แล้วเรียบเรียงออกมาเล่าให้เพื่อนผู้รักการปั่นฟังกันครับ จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ “ลุยหลังร้าน” นั่นเอง และในตอนแรกของลุยหลังร้าน DT ก็ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับคุณชินธิป บุญโชคหิรัญเมธา หรือคุณชินแห่ง Nich Cycling จักรยานและล้อคาร์บอนแบรนด์ไทยที่หลายๆ คนรู้จักกันดี  เราคุยกับคุณชินเรื่องความเป็นมาของจักรยาน Nich และสอบถามถึงประเด็นที่เป็นข้อกังขาอย่างเรื่องคุณภาพเฟรมและล้อคาร์บอนจากจีน สินค้าก๊อปปี้ และ OEM ว่าจริงๆ แล้วมันมีที่ไปที่มาอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ไปอ่านบทสัมภาษณ์กันครับ!

 

An Interview with Nich Cycling

A Humble Beginning 

DT: ทำไมถึงมาทำแบรนด์จักรยาน ทราบมาว่าพี่ชินชอบปั่นจักรยานแต่แรกอยู่แล้ว
ชิน: เคยปั่นเสือภูเขามาก่อนอยู่แล้ว ตอนนั้นอายุ 25 ปี ซื้อมาใช้ปั่นไปทำงาน เพื่อลดการใช้น้ำมัน จริงๆ แล้วเป็นคนชอบเสือหมอบครับ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้เรื่องจักรยานมาก ก็เลยซื้อเสือภูเขามาใช้

DT: แล้วทำไมถึงมาเริ่มขายล้อจักรยานคาร์บอนได้ครับ?
ชิน: จริงๆ แล้วตอนแรกเราเริ่มจากขายเสื้อผ้าจักรยาน พอปั่นจริงจังขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากจะอัปเกรดล้อ มีล้อดีๆ ใช้กับเขาบ้าง แต่การที่เราไม่ได้มีเงินเยอะ แล้วเราก็ทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนธรรมดา ก็เลยคิดว่ามันต้องมีทางที่เราจะมีล้อดีๆ ใช้โดยที่ไม่ต้องจ่ายแพงมาก ก็เลยหาข้อมูลดู บังเอิญว่ารู้จักกับพ่อค้าที่อยู่ในวงการทางจีนและไต้หวันอยู่แล้ว เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ใช้คอนเนคชันที่มีหาเรื่องข้อมูลแหล่งผลิต

พอเราเอามาลองใช้เองแล้วก็พบว่าคุณภาพมันไม่ได้แย่อย่างที่เขาลือกัน เราซื้อมาเป็นพาร์ทแยกชิ้นส่วนมาประกอบเอง มันเลยลดต้นทุนไปพอสมควร พอเราทำเสร็จปุ๊บ ก็ด้วยความที่เรามีร้านในเว็บไซต์ก็เลยลองเสนอขายดู แรกๆ ก็จะมีพวกพี่ๆ ที่เขาสนใจเริ่มทยอยสั่ง เราก็ได้เรียนรู้ว่าเออมันทำขายได้นะ ก็เลยจริงจังกับมัน

DT: ระหว่างนั้นก็ทำควบกับงานบริษัทอยู่?
ชิน: ใช่ เราทำงานสองกะ ทำแบบนี้มาตั้งแต่ขายเสื้อผ้าแล้ว ตอนเช้าผมนั่งทำงานออฟฟิส ตอนเย็นเลิกงานก็เริ่มทำงานจักรยาน จากช่วงแรกก็แค่แพคเสื้อผ้าส่งเฉยๆ ไม่ได้วุ่นวายอะไร แต่พอเริ่มทำล้อเราก็ต้องจัดการอะไหล่ต่างๆ ที่จะเอามาประกอบเป็นล้อไปให้ช่างเขาขึ้นเป็นล้อ วันรุ่งขึ้นก็ไปรับของ เป็นวัฏจักรแบบนี้ ใช้เวลาทำงานเยอะเหมือนกันในหนึ่งวัน

DT: แล้วจุดไหนที่ทำให้คิดอยากออกจากบริษัทแล้วมาเปิดร้านจักรยานเต็มตัว?
ชิน: ช่วงทำล้อก็ยังทำงานบริษัทอยู่ แต่พอเราเริ่มทำเฟรม Legend รุ่นแรก ของที่สั่งมาก็เยอะขึ้น งานก็เยอะขึ้น จากที่เคยทำงานถึงห้าทุ่ม เที่ยงคืน มันกลายเป็นตี 3 ตี 4 จากที่เคยแพคล้อ ก็ต้องมาแพคเฟรมด้วย เสร็จแล้วตื่นไปทำงาน 8 โมงทุกวัน ก็เริ่มหนักไป ทำแบบนี้ไปได้อีกปีนึงก็ลาออกจากงานมาเปิดร้านเต็มตัว

DT: ที่ทำดึกดื่นได้ทุกวันแสดงว่าชอบจักรยานมาก?
ชิน: แน่นอนว่าชอบอยู่แล้ว แต่อีกเหตุผลที่เราทำก็เพราะว่าต้องการรายได้เสริม ต้องวางรากฐานครอบครัว ชีวิตมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ด้วยที่เรารักจักรยานอยู่แล้วมันก็เลยทำได้ไม่เหนื่อย เพราะเรารักในสิ่งที่ทำ

 

ช่างประจำร้านกำลังประกอบรถอย่างขะมักเขม้น
ช่างประจำร้านกำลังประกอบรถอย่างขะมักเขม้น
เฟรมอลูมินัม KEM ของคุณชิน
เฟรมอลูมินัม KEM ของคุณชิน

ว่าด้วยเรื่องโรงงานจักรยานในจีน

DT: สินค้า Nich มีอะไรบ้าง?
ชิน: มีล้อ เฟรม เสื้อผ้า อะไหล่เล็กๆ น้อยๆ อย่าง ดุมล้อ ขากระติก และก็ทริปปั่นและ Cyclist Camp ที่จะเชิญโค้ชมาสอนผู้เข่าร่วมฝึกเก็บประสบการณ์จากมืออาชีพ

สินค้าใหม่ตอนนี้ก็มีล้อขอบอ้วน ATEM และเฟรมอลูมินัม KEM ให้คนที่ยังรักเฟรมอลูหรือคนที่ต้องการมีรถคันที่สองในราคาย่อมเยาว์ หรืออยากเริ่มต้นด้วยรถที่ performance สูงในท้องตลาดทั่วไป ราคาปรหยัดกว่าอลูมินัมเกรดท๊อปของค่ายอื่นบางค่าย

DT: งั้นเราเข้าประเด็นที่เป็นเรื่องตะขิดตะขวงใจ และอาจจะยังสับสนอยู่กันดีกว่าครับ คือเรื่องจักรยาน OEM, Copy, และแบบแบรนด์ยี่ห้อชื่อดังที่มีขายทั่วไป อยากให้พี่ชินช่วยอธิบายว่ามันต่างกันยังไง และ Nich ถือว่าเป็นแบรนด์ลักษณะไหน เพราะผมเห็นว่ายังมีนักปั่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจจักรยาน เรียกสับกันไปมาอยู่ครับ

ชิน: เรื่องนี้จริงๆ อยากจะอธิบายให้ชัดเลย เพราะเราเคยให้ข้อมูลตรงนี้ไปกับหลายๆ สื่อแล้ว แต่แน่นอนว่าก็มีทั้งคนที่เคยและไม่เคยอ่าน หรือบางคนที่พึ่งเริ่มปั่น ก็อาจจะยังมีความสับสนอยู่ สินค้าจักรยานเนี่ยเราพอจะแบ่งได้เป็นสามแบบครับ

1. International Brand

อันดับแรกแบรนด์สินค้าที่เราเห็นกันในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทีวี คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้เป็นแบรนด์ระดับโลก มันก็เหมือนธุรกิจจักรยานครับ แน่นอนว่าสินค้านั้นแบรนด์ต่างๆ อาจจะไม่ได่มีโรงงานผลิตเอง เขาก็ต้องจ้างโรงงานที่รับผลิตสร้างสินค้าให้ ไม่ว่าจะเป็นเฟรม หรือล้อ หรืออะไรก็ตาม โรงงานเหล่านี้เรียกว่า OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือ ODM (Original Design Manufacturer) โรงงานเหล่านี้มีหน้าที่ผลิตและดีไซน์สินค้าให้ลูกค้าตามเสป็ค จากนั้นเจ้าของแบรนด์เขาก็จะรับสินค้ากลับไป แล้วกระจายไปตามผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ทั่วโลก ทำให้บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเขาผลิตเองในประเทศนั้นๆ ((DT Note – หลายๆ แบรนด์ก็เน้นโปรโมตว่าผลิตในประเทศอย่างอิตาลี หรือฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจจะแค่ลงสีในประเทศนั้นๆ การกระทำเช่นนี้ไม่ถือว่าผิดกฏหมายครับ เพราะกฏหมายบางประเทศอนุญาติให้ผู้ผลิตสามารถตีตรา made in ประเทศนั้นๆ ได้ถ้ากระบวนการผลิตส่วนนึงอยู่ในประเทศดังกล่าว เช่นการลงสี การออกแบบและบรรจุภัณฑ์เป็นต้นครับ ไม่ผิดกฏหมาย ไม่เข้าข่ายหลอกลวง แต่อาจจะดูไม่ซื่อสักเท่าไร เป็นกลยุทธ์การตลาดที่สินค้าหลายๆ ประเภทนิยมทำกัน รวมถึงจักรยานด้วย)) มี่อยู่ไม่กี่บริษัทในโลกที่ยังคงผลิตจักรยานเองในโรงงานในประเทศของเขาเอง ส่วนที่เหลือก็ย้ายฐานการผลิตไปให้โรงงาน OEM และ ODM เป็นผู้ผลิต ไม่ต่างกับสินค้าอื่นๆ อย่างเสื้อผ้า กางเกงยีนส์แบรนด์ใหญ่จากอเมริกา ก็ผลิตที่ประเทศไทย โรงงานใช่ของเขาไหม? ก็ไม่ใช่เพราะผลิตให้ยี่ห้ออื่นๆ เหมือนกัน อุตสาหกรรม รถยนตร์ อิเล็คทรอนิคส์ก็เช่นกัน ประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ให้หลายๆ ยี่ห้อครับ

2. Local Brand

ทีนี้ลองมามองถึงแบรนด์ที่เราไม่ค่อยรู้จักดีกว่า ในที่นี้หมายถึงแบรนด์โลคัล หรือเฮ้าส์แบรนด์ ซึ่งถ้ามองจากมุมกว้างแล้ว แทบทุกประเทศก็มีแบรนด์ลักษะนี้ และ Nich ก็วางตำแหน่งธุรกิจอยู่ใน position นี้ครับ เราไม่ได้ผลิตเอง เราจ้างโรงงาน OEM ที่มีคุณภาพและมาตรฐานการผลิต นำกลับมาประกอบและพ่นสีในประเทศไทย และนำมาจัดจำหน่ายในนามของ Nich

Nich ก็คือแบรนด์ๆ นึง แต่ยังอยู่ในระดับ Local หรือ House แบรนด์อยู่ ถ้าวันนึงเราขายไปทั่วโลกแล้ว เราก็จะกลายเป็น International Brand เหมือนกันครับ

3. Copy / ของปลอม

ส่วนที่ล่างลงไปกว่านั้นคือพวกเฟรมและล้อก๊อปปี้ ก็จะเป็นพวกที่ทำเหมือน หรือทำให้คล้าย (ลอกเลียนแบบ) แบรนด์ยี่ห้อดัง ซึ่งสินค้าพวกนี้คุณภาพก็จะต่ำลงไป ขายในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ คุณภาพการผลิตก็จะไม่เหมือนกัน ของก๊อปปี้นั้นผิดกฏหมาย ผู้ซื้อก็ต้องดูให้ดีด้วยว่าความหมายและที่มาของสินค้าแต่ละชิ้นมันเป็นยังไง

4. OEM

ส่วนคำว่า OEM จริงๆ แล้วเนี่ยมันมีความหมายที่ดี แต่ในบ้านเราเอาคำว่า OEM มาใช้แทนสินค้าก๊อปปี้ ทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป คำว่า OEM เลยกลายเป็นชื่อแทนของก๊อป ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย

โรงงานที่ผลิตให้กับแบรนด์ยี่ห้อต่างๆ เขาก็จะมีแบบจักรยานของเขาหลายแบบ บางแบบก็เปิดขายให้บริษัทจักรยานอื่นๆ มาซื้อไปทำยี่ห้อขายเอง ซึ่งเรียกว่า Open Mold หรือ Open Model เราอาจจะเคยเห็นเฟรมยี่ห้อนึง เหมือนกับอีกยี่ห้อแบบเป๊ะๆ เลยนั่นก็เพราะว่าเขาใช้เฟรมรุ่นเดียวกันนั่นเอง อย่างตัวเฟรม Nich Legend เองนั้นเราก็บอกได้เลยว่ามีแบรนด์ local ในยุโรปซื้อไปทำตลาดเหมือนกัน แต่ทีนี้มันก็มีเรื่องของเสป็คให้เลือกอีก จะเป็นเนื้อคาร์บอนแบบไหน ตะเกียบแบบไหน กะโหลกแบบไหน? ตัวเฟรมอาจจะเหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพ รายละเอียดก็ต่างกันไปตามแต่เจ้าของแบรนด์จะเลือก

ล้อเองก็เช่นกัน หลายๆ ยี่ห้อก็ใช้ขอบล้อคาร์บอนแบบเดียวกับเราเป๊ะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางแบรนด์นั้นๆ ว่าเขาจะเอาไปประกอบแบบไหน โม่อะไร ดุมอะไร ซี่ลวดอะไร มันก็จะต่างกันไป

DT: นอกจากที่พี่ชินอธิบายมาสามประเภท Inter Brand/ Local Brand / และก๊อปปี้แล้ว เราก็ยังมีพ่อค้าอีกประเภทที่สั่งอะไหล่เช่นล้อ และซี่ลวด มาประกอบเอง แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นแบรนด์เหมือนอย่าง Nich หรือ local brand อื่นๆ ขายในอินเตอร์เน็ตทั่วไป อย่างนี้ก็ไม่ใช่ก๊อปปี้ และก็ไม่ใช่แบรนด์ด้วย มันต่างกันยังไงครับ?

ชิน: ก็ไม่ใช่ทั้งแบรนด์และก๊อปปี้ พ่อค้าลักษณะนี้ก็จะขายได้ในราคาประหยัดลง เพราะไม่ต้องลงทุนเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เรื่องค่าพนักงาน ค่าเช่าห้างร้าน และค่าใช้จ่ายโสหุ้ยต่างๆ ในบริษัท เรื่องการเซอร์วิสหลังการขายก็ขึ้นอยู่กับพ่อค้าแต่ละคนว่าเค้าเตรียมพร้อมจะช่วยลูกค้าขนาดไหน

 

Nich

 

ธุรกิจร้านจักรยานในไทย

DT: ในตอนนี้ตลาดเสือหมอบบ้านเราก็ค่อนข้างบูมทีเดียว มีพ่อค้าหลายคนหันมาทำแบรนด์ local คล้ายๆ กับ Nich แล้วร้าน Nich มีจุดเด่นกว่าจ้าวอื่นยังไงครับ?

ชิน: จุดเด่นอันแรกเลยคือเรื่องคุณภาพครับ ความต่างของเรากับพ่อค้าจ้าวอื่นที่สั่งสินค้ามาขายจากโรงงานในไต้หวันและจีนก็คือ เขาอาจจะรับต่อมาจากดีลเลอร์จีนอีกทอดนึง ดีลเลอร์เหล่านี้เป็นคนที่ซื้อสินค้ามาจากโรงงาน แต่พ่อค้าไทยอาจจะรับสินค้าจากดีลเลอร์มาขายต่อโดยที่ไม่รู้เลยว่าแหล่งผลิตเป็นยังไง คุณภาพดีหรือเปล่า ดีลเลอร์บอกว่าอาจจะได้มาตรฐานนั้นนี้ แต่เราก็ไม่มีทางรู้ สำหรับ Nich เราผ่านเข้าไปจนถึงโรงงานผู้ผลิตจริงๆ นี่คือคุณภาพที่เรายืนยันว่าสินค้าที่คุณเห็นในแบรนด์ต่างประเทศระดับ Inter brand ที่แพงกว่าเรา 2-3 เท่านั้นคุณภาพไม่หลุดกับเรา เพราะแหล่งที่มาคือโรงงานเดียวกัน ((DT Note: พี่ชินบอกหลังไมค์ว่า เฟรมและเสป็คคาร์บอนที่ดีลเลอร์จีนขายตามอินเตอร์เน็ตนั้น ผู้ซื้อต้องระวังพอสมควร เพราะบางทีเสป็คก็เกินจริง หรือไม่ตรงกับที่บอก บางจ้าวบอกเนื้อคาร์บอนของญี่ปุ่น Torayca 700 แต่จริงๆ แอบใช้เนื้อคาร์บอนเกาหลีซึ่งราคาถูกกว่า ส่วนเฟรมของ Nich คุณชินยืนยันว่าเป็นคาร์บอน Mitsubishi Made in Japan 100%))

DT: จุดเด่นพวกแบรนด์ต่างประเทศใหญ่ๆ อย่างพวกล้อแพงๆ คู่ละ 5-6 หมื่นคือเขามีการวิจัย พัฒนา ทดสอบผ่านอุโมงก์ลม เมื่อเทียบกับล้อจากโรงงานในไต้หวันที่อาจจะรับผลิตตามเสป็ค ล้อแบบหลังก็อาจจะดูด้อยกว่าในความรู้สึกของผู้ซื้อ ที่คุณชินเข้าไปถึงตัวโรงงานเห็นสายการผลิตและ R&D แล้ว ทาง DT อยากทราบว่าเทคโนโลยีล้อระหว่างแบรนด์ใหญ่และแบรนด์เล็กๆ มันพอจะเทียบกันได้มั้ย

ชิน: เรื่องคุณภาพการผลิตนั้นค่อนข้างเหมือนกัน ยกเว้นบางแบรนด์ที่ผลิตในยุโรปหรือเมริกานั้น แน่นอนว่าเขามีต้นทุนสูงกว่าและปัจจัยบางอย่างเขาอาจจะดีกว่า เพราะฉะนั้นเราก็ตอบไม่ได้เสมอไปว่าเราดีกว่า หรือด้อยกว่าของเขา แต่ที่แน่ๆ คุณภาพโรงงานผลิตล้อ Nich อยู่ในระดับมาตรฐานสากล มี ISO รองรับทั้งหมดและแบรนด์ระดับโลกหลายๆ แบรนด์ก็ไม่ได้คิด R&D ล้อเอง เขาก็มีซื้อโมเดลไปตีตราขายเหมือนเราก็มี

DT: 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสจักรยานทั่วโลกดูจะเติบโตมากขึ้นเป็นพิเศษ มีคนจากหลายวงการหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น มันสะท้อนให้เห็นในยอดขายของจักรยานเราหรือเปล่า?
ชิน: ใช่ ก็มากขึ้นจริงๆ ร้านจักรยานก็เปิดเยอะขึ้น การรณรงค์ก็มากขึ้น ทางรัฐบาลก็ให้ความสนใจผู้ใช้จักรยานมากขึ้น ไม่ใช่พวกที่ปั่นแฟชันต่อไปแล้ว แต่เป็นคนที่หันมาปั่นจักรยานไปทำงานจริงๆ คนรักจักรยานอย่างเราก็ดีใจครับ

DT: Nich เป็นแบรนด์ที่เน้นการปั่นไสตล์ Performance DT อยากทราบว่ากลุ่มลูกค้า Nich มีแบบไหนบ้างครับ เป็นคนรักเสือหมอบหมดเลยหรือเปล่า?
ชิน: กลุ่มลูกค้าเราขยายขึ้นมาก และอายุผน้อยลงเรื่อยๆ ย้อนไปสักห้าปีที่แล้ว สมัยที่ผมอายุราวๆ 27-28 เนี่ย ผมถือว่าเป็นคนที่อายุน้อยมากในวงการเสือหมอบ แต่ตอนนี้ลูกค้าของ Nich เอง เห็นเด็กที่สุดอายุประมาณ 15-16 ที่มาซื้อล้อและรถ ส่วนระดับสูงอายุนี่มากไปถึง 60 ปีเลยทีเดียว

ลูกค้าจากต่างประเทศก็มีครับ จากทางยุโรป อเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน ติดต่อมาทาง Facebook มีทั้งอยากซื้อไปใช้เองและนำไปขายต่อ ที่ใกล้ๆ หน่อยก็มีมาเลเซีย เวียดนาม ลาว…

DT: แล้วชาวต่างชาติรู้จักร้าน Nich ได้ยังไง?
ชิน: ส่วนใหญ่มาจากทางอินเตอร์เน็ตอย่าง Facebook Fanpage ทั้งหมด และในอนาคตเราจะมีเว็บไซต์ต่างหากด้วยครับ ต้องขออนุญาตคนไทยด้วยที่อาจจะเปิดเว็บหน้าแรกด้วยภาษาอังกฤษ เพราะเรามีแผนที่จะ go inter ออกสู่สากลครับ แน่่นอนว่ามีรองรับภาษาไทยด้วย

DT: มองว่า 5-10 ปี เป้าหมายระยะยาวร้าน Nich วางแผนไว้ยังไงบ้างครับ?
ชิน: ใน 5-10 ปีเราอยากให้ Nich เป็นที่รู้จักในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมือนที่ตอนนี้คนไทยก็รู้จักคุ้นชินกับล้อและจักรยาน Nich แล้ว เมื่อมีฐานลูกค้ามากขึ้นและกำไรมากขึ้น เราก็อยากจะเอาเงินส่วนนี้มาสนับสนุนทีมและนักกีฬาคนไทยบ้านเรา

DT: ที่พูดถึงนี่คือจะตั้งทีมจักรยาน? แบบที่แข่งกันในระดับ UCI Continental?
ชิน: ใช่ เป็นความฝันเลย แต่เราก็ต้องไปทีละก้าว อย่างน้อยก็ต้องทำในระดับประเทศก่อน

Nich-8

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

8 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *