คินทานา: “ดิสก์เบรคมันหนัก ไม่แอโร และอันตราย”

เป็นนักกีฬาจักรยานอาชีพนั้นรับความเสี่ยงขนาดไหน? อาจพูดได้ว่ามันเป็นหนึ่งในบรรดากีฬาประเภทไม่ปะทะที่อันตรายที่สุดกีฬาหนึ่งก็ว่าได้ครับ ว่ากันตามตรงนักจักรยานมีเครื่องป้องกันเพียงแค่หมวกกันน็อคใบเดียวที่ใช้เซฟส่วนสำคัญของร่างกาย ผิดกับกีฬายานพาหนะประเภทอื่นๆ ที่นักกีฬาต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันหลายชิ้น

ในการแข่งจักรยานอาชีพนักปั่นต้องขี่กันเป็นกลุ่มตามรูปเกม เวลาส่วนใหญ่ในการแข่งขันนั้นอยู่ชิดกับเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งร่วมสองร้อยชีวิตแบบไหล่ชนไหล่ บนจักรยานที่พุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่า ยิ่งช่วงใกล้เข้าเส้นชัยที่แข่งกันทำความเร็ว ความเร็วอาจขึ้นไปสูงถึง 60–70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว โอกาสที่จะปะทะชนกันโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นมีสูงมาก เรียกได้ว่าถ้าเป็นนักจักรยานอาชีพแล้วไม่เคยล้มในกลุ่มความเร็วสูงก็ยังถือว่ายังลงไม่ถึงสนาจริง

ไหนจะมีกรณีที่ต้องปั่นลงเขาสูงชันระดับโลกต่อเนื่องหลายสิบกิโลเมตรในรายการใหญ่ ทุกวินาทีบนจักรยานนั้นมีค่า จะขี่ช้าคู่แข่งก็แซง เช่นนั้นแล้วหลายคนเสี่ยงอันตรายด้วยการตัดโค้ง ชิงทำเวลาทำเกมกันทุกเม็ดทุกวินาที แน่นอนว่าถึงฝนจะตกถนนลื่น การแข่งขันก็ไม่หยุด นักปั่นยังต้องทำหน้าที่อยู่ มีนักปั่นเคยหลุดโค้งหัวกระแทกขอบปูนเสียชีวิตคาสนามแข่งเมื่อหลายปีก่อน ส่วนการล้มในกลุ่มจนบาดเจ็บสาหัสนั้นมีให้เห็นทุกฤดูกาล

รวมๆ แล้วจะเห็นว่าเป็นกีฬาที่ไม่เซฟเอาซะเลยครับ นอกจากความเสี่ยงในการล้มตลอดเวลาแล้วยังมี ความเสี่ยงจากการปั่นในสภาพอากาศเลวร้าย ซึ่งด้วยประเภณีหรือวัฒนธรรมการแข่งอะไรก็แล้วแต่ ผู้จัดมักไม่หยุดแข่งถึงหิมจะตก ลมจะแรง ฝนจะกระหน่ำ ผู้ชมและผู้จัดแข่งกลับมองว่าเป็นสีสันของสนามที่จะได้เห็นนักปั่นทรมาน!

เพราะงั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เมื่อมีปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาให้นักปั่นต้องเผชิญ อย่างกรณีเสือหมอบติดดิสก์เบรคที่ผู้ผลิตหลายรายพยายามยัดเยียดให้นักแข่งใช้ นักแข่งจึงรวมนามเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอา”
สัปดาห์ที่แล้วมีกรณีอุบัติเหตุเกือบจะรายแรงอีกหนึ่งครั้งเมื่อนักปั่นทีม Sky ถูกของมีคมบางอย่างซึ่งดูเหมือนจะเป็นดิสก์เบรคที่เฉือนทะลุรองเท้าปั่นจนได้แผล ร่องรอยรองเท้านั้น ถ้าเปลี่ยนเป็นเนื้อหนังมนุษย์แทนแผลที่เกิดขึ้นอาจจะไม่สวยอย่างบนรองเท้า

คินทานาไม่เอาดิสก์

ล่าสุดเป็นเอซชื่อดังทีม Movistar — ไนโร คินทานา ที่ออกให้สัมภาษณ์ต่อต้านดิสก์เบรคอีกหนึ่งเสี่ยง ระหว่างการแข่งสเตจสุดท้ายในรายการ Abu Dhabi Tour

“สปอนเซอร์เรา (Canyon) มีจักรยานดิสก์เบรคให้เลือกใช้ทุกรุ่น แต่ผมมองว่าเราไม่ควรใช้ครับ”

“อย่างแรกเลย คือมันเบรคไม่ได้ดีขนาดนั้น ผ้าเบรคชอบสีใบดิสก์ มันได้ยินชัดเลยเวลาขี่ในกลุ่ม อย่างที่สองมันหนักกว่าเดิม และอย่างที่สาม มันไม่ลู่ลม”

“สำคัญที่สุดคือ มันอันตรายกับเพื่อนร่วมกลุ่ม มันดีกับนักปั่นสไตล์ทัวร์ริ่ง หรือที่ปั่นกันระดับสมัครเล่นในกลุ่มเล็กๆ แต่การแข่งขันมันคนละเรื่องเลยครับ”

“ระบบเบรคที่ทีมเรามีใช้นั้นทำงานได้ดี ไม่มีใครเคยมีปัญหากับมัน ไม่เคยมีใครบ่น (หมายถึงริมเบรค) แล้วฟีลลิ่งการเบรคก็ดีกว่านะ”

“สงสัยต้องรอให้มีอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้น หรือมีคนเสียชีวิต จนกว่า UCI และผู้ผลิตสินค้าจะสำนึก”

 

แฮนเซ็นโทษผู้ผลิต

ไม่ใช่แค่คินทานาที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ดิสก์เบรคในสนามแข่ง อดัม แฮนเซ็น (Lotto-Soudal) ตัวแทนนักปั่นอาชีพจากสมาพพันธ์นักจักรยานอาชีพ (CPA) ก็กล่าวต่อต้านอย่างชัดเจน

“ความเห็นส่วนตัวของผมนะ ผมเชื่อว่าบริษัทอย่าง Specialized พยายามผลักดันดิสก์เบรคเข้าตลาด คืออย่างทอม โบเน็น (Quickstep Floors) ฤดูกาลที่แล้วเขาไม่ชอบดิสก์ แต่ปีนี้เขากลับมารักมันซะอย่างนั้น

“ในทีมอื่นๆ ก็มีตัวเลือกให้ใช้หรือไม่ใช้ดิสก์เบรค แต่ไม่มีใครเลือก ผมไม่อยากจะจู่โจทสปอนเซอร์ทีมไหนนะ แต่มีแค่นักปั่น Specialized ที่ใช้ดิสก์”

“แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุใหญ่ขึ้นเพราะดิสก์ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ? นักปั่นบอกแล้วว่าต่อต้านแต่ UCI ยังดึงดันและบอกว่ามันปลอดภัยทั้งๆ ที่ไม่ตกลงตามข้อเสนอของเรา (ให้มีตัวกันใบดิสก์ก่อนใช้ลงสนามได้จริง) ผมว่า UCI ต้องรับผิดชอบ”

“ไม่ใช่ว่าผมต่อต้านเทคโนโลยีหรืออะไรนะ แค่มีอะไรป้องกันใบดิสก์พวกเราก็พอใจแล้ว”

คิทเทลเลิกใช้ดิสก์ชั่วคราว

ถึงจะเป็นคนที่สนับสนุนดิสก์เบรคมากกว่านักปั่นคนอื่นๆ แต่มาร์เซล คิทเทล (Quickstep Floors) ก็เปลี่ยนความคิดกลับไปใช้เบรคธรรมดาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม Abu Dhabi (เขาเป็นคนเดียวที่ใช้ดิสก์เบรคในรายการนี้)

“ผมว่านักปั่นควรมีสิทธิตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะใช้หรือไม่ใช่ เพราะพวกเราคือคนที่เสี่ยงที่สุด เราควรเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ”

“ผมยังสนับสนุนเทคโนโลยีนะ แต่ผมก็เข้าใจเพื่อนนักปั่นคนอื่นที่กลัว ผมพร้อมจะชักจูงให้ทุกคนหันมาใช้ แต่ผมก็ต้องเรียกร้องให้มีวิธีการป้องกันที่รัดกุมกว่านี้”

“ผมไม่ได้ถูกจ้างหรือจ่ายเงินเป็นพิเศษเพื่อให้ใช้ดิสก์เบรค ผมไม่ได้ทำการตลาดให้บริษัทไหน ผมอยากให้มีการพัฒนาดิสก์เบรคต่อไปเพื่อดูว่ามันจะดีขึ้นได้ยังไงบ้างครับ”

Via: Cyclingnews, Road.cc, Velonews

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *