รีวิว: รองเท้า Rapha Climber’s Shoes

Rapha แบรนด์เสื้อผ้าจักรยานออนไลน์จากอังกฤษกำลังจะอายุครบ 11 ปีเต็ม แต่ใครจะรู้ว่าแบรนด์ที่เริ่มต้นด้วยพนักงานไม่ถึง 5 คนจะมีรายได้หลักร้อยล้านบาท และเป็นสปอนเซอร์โปรทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในตอนนี้อย่างทีม Sky?

สาเหตุที่ Rapha ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้างไม่ใช่แค่การตลาดเพียงอย่างเดียว แต่คุณภาพสินค้าก็เป็นที่ยอมรับในวงการ นอกจากเสื้อผ้าแล้ว Rapha แตกไลน์สินค้าสำหรับนักปั่นออกมาหลายอย่าง เมื่อปลายปี 2014 Rapha เปิดตัวรองเท้าปั่นรุ่นที่สองของแบรนด์ในชื่อ Climber’s Shoes ครับ

Rapha Climber’s Shoes

แพคเกจจิ้งอลังการงานสร้าง
แพคเกจจิ้งอลังการงานสร้าง

ขึ้นชื่อว่า Climber’s Shoes คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นรองเท้าสำหรับนักไต่เขาโดยเฉพาะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ เป็นรองเท้าปั่นธรรมดานี่แหละ จุดเด่นของ Climber’s Shoes คือมีน้ำหนักเบาข้างละ 215 กรัมเท่า (เบอร์ 43) ไม่ใช่รองเท้าที่เบาที่สุดในตลาดแต่ก็เบาใช้ได้ทีเดียว รูพรุนรอบรองเท้าช่วยระบายอากาศได้ดีกว่ารองเท้าจักรยานทั่วๆ ไป

เหตุผลที่ Rapha ทำรูมาเยอะซะขนาดนี้ไม่ใช่เพราะให้มันเบาหรือมันเย็นซะทีเดียว แต่ทำเลียนแบบสไตล์ Polka Dot Jersey เสื้อรางวัลที่มอบให้เจ้าภูเขาในรายการ Tour de France (หรืออาจจะย้อนไปถึงสมัยที่นักปั่นชอบเจาะรูทั้งจักรยานทั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อพยายามลดน้ำหนัก) ก็สไตล์ Rapha ที่ออกแบบสินค้าสมัยใหม่แต่ใช้เรื่องราวและสไตล์จากโลกนักปั่นสมัยก่อน (จำรองเท้าปั่น Adidas ของเมิร์กซ์ที่มีรูเต็มไปหมดได้มั้ย? หรือถ้านึกไม่ออกลองเสิร์ช Specialized ’74 ครับ)

Rapha ให้ Giro เป็นผู้ผลิตรองเท้าให้ Climber’s Shoes ก็ใช้วัสดุจากรองเท้าของ Giro แทบทั้งหมดเลย พื้นรองเท้าคาร์บอนใช้ Easton EC90 SLXII และใช้ Footbed แบบเดียวกัน หนังด้านบน (Upper) ก็ใช้หนังแบบเดียวกับ Giro Prolight SLXII และน้ำหนักของทั้งสองรุ่นก็เท่าๆ กันด้วย ต่างกันที่หน้าตาและราคา (Giro ถูกกว่านิดหน่อย) ทรงเท้า (Last) ก็เป็นทรงเดียวกันครับ

 

ฟิต + ความสบาย ●●●●●

รองเท้า Climber’s Shoes ใส่สบายมากเป็นอันดับต้นๆ ของรองเท้าที่เคยลองทั้งหมด ยิ่งถ้า break in ใส่ไปสักพักแล้วหนังก็จะนิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก จุดเด่นคือวัสดุหุ้มด้านในและตัวหนังนิ่มสบายกว่าใส่รองเท้าปั่นทั่วไป

รองเท้าใช้ระบบสายรัด 3 เส้น ไม่มีปุ่ม BOA หรือกลไกควบคุมความแน่นพิสดาร แต่ก็ใช้งานได้ดีมากและดูแลง่ายไม่ต้องกังวลว่าจะพังหรือหาอะไหล่เปลี่ยนไม่ได้ ตัวหนังสายรัดดู (บอบ) บางแต่ใช้มาหลายพันกิโลเมตรก็ยังไม่มีปัญหาอะไรครับ สายรัดด้านบนสุดวางไว้ห่างตำแหน่งกระดูกบนหลังเท้าไม่น่ารำคาญเหมือนรองเท้าบางรุ่นที่วางจุดรัดไว้เหนือกระดูกเลย (รัดแน่นก็เจ็บสิครับ!) สายรัดอาจจะรัดเท้าได้ไม่แน่นเท่าระบบหมุนอย่าง BOA แต่ก็แน่นเกินพอ ตัวตีนตุ๊กแก (velcro) รัดเท้าได้ไม่เลื่อนตำแหน่งถึงจะออกแรงยก กด กระชาก สปรินต์

ข้อดีของรองเท้าที่ใช้สายรัดทั้งหมดคือหนังด้านบน (Upper) จะให้ตัวเข้ากับรูปเท้าได้ดีเพราะหนังด้านบนไม่ต้องมีกลไกรัดมาขวาง ไม่ใช่ว่ารองเท้าที่ใช้กลไกรัดจะฟิตไม่ดีนะครับ แต่ความรู้สึกส่วนตัวผมชอบรองเท้าที่ใช้สายรัดมากกว่าเพราะมันให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เหมือนใส่รองเท้าหนังดีๆ มากกว่ารองเท้าปั่นจักรยาน ทำให้ปั่นได้นานโดยไม่รู้สึกรำคาญเหมือนรองเท้าบางรุ่นที่เคยลอง

Rapha Climber Shoes Review (11 of 12)

เพราะ Giro เป็นคนผลิตให้เราเลยได้ของแถมแบบที่มากับรองเท้า Giro ด้วย นอกจากจะมีถุงรองเท้าแล้ว เราได้แผ่นรองอุ้งเท้า (Sole Inserts) 3 คู่ 3 ขนาด การติดตั้งก็แค่เลือกไซส์ที่เหมาะกับความโค้งอุ้งเท้าเรา (ของผมโค้ง arch เยอะ เลยใช้ขนาดใหญ่สุด) แล้วแปะติดกับแถบ velcro ด้านใต้แผ่นรองเท้า ถ้าเลือกถูกขนาดก็จะทำให้ใส่แล้วรู้สึกกระชับครับ เหมาะกับคนเอเชียที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเท้าแบน

สำหรับเรื่องฟิต ถึงจะไม่มีประเภท “หน้ากว้าง”​ ให้เลือก แต่ทรงรองเท้า Climber’s Shoes รองรับเท้าหน้ากว้างได้ดีพอสมควร ปกติผมไซส์ Shimano / Bont รุ่นหน้ากว้าง แต่ใส่ Rapha ที่ไม่มีรุ่นหน้ากว้างให้เลือกก็ฟิตได้ไม่มีปัญหาหรือรู้สึกรองเท้าบีบครับ

 

ความสติฟ ●●●●○

เวลาพูดถึงความสติฟของรองเท้าปั่นต้องดูทั้งพื้นรองเท้า (sole) และหนังด้านบน (Upper) ครับ

Rapha Climber Shoes Review (1 of 1)

จากข้อดีที่บอกข้างบนนี้ว่า Upper ของ Climber’s Shoes ที่ให้ตัวดีก็ใช่ว่าจะถูกใจทุกคน เพราะคนที่ชอบรองเท้าสติฟ แข็งๆ ชอบความรู้สึกถ่ายทอดแรงกดเราลงลูกบันไดเต็มที่ คงไม่ชอบฟีลลิงของ Climber’s Shoes เท่าไร การที่หนังมันให้ตัวได้อาจจะทำให้เรารู้สึกเสียแรงไปบ้างในจังหวะยกลูกบันได

ส่วนพื้น (Sole) นั้นแข็งเหลือใช้ ในความรู้สึกผมไม่แข็งเท่า Specialized S-Works และ Bont Vaypor Plus / Riot แต่สองคู่นี้ก็จัดว่าแข็งเป็นอันดับต้นๆ ของวงการแล้ว ตำแหน่งยึดคลีทก็ไม่มีอะไรหวือหวา ใช้ตำหน่งมาตรฐานทั่วไป

 

ระบายอากาศ ●●●●●

Rapha Climber Shoes Review (12 of 12)

รูที่เราเห็นจากด้านนอกจะมีแผ่น mesh เป็นตาข่ายเล็กๆ สานติดกันอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาในรองเท้า ด้วยรูจำนวนมหาศาล รองเท้าคู่นี้ระบายอากาศดีมาก ดีกว่ารองเท้ารุ่นอื่นที่เคยลองทั้งหมด ใช้ตอนอากาศร้อนๆ สี่สิบกว่าองศา จะขึ้นเขาหรือทางราบเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็ไม่รู้สึกร้อนรำคาญ แต่ข้อเสียคือถ้าต้องปั่นผ่านแอ่งน้ำหรือเจอฝน น้ำก็เข้าเต็มๆ เหมือนกัน

 

สรุป ●●●●○

Climber’s Shoes เป็นรองเท้าคู่โปรดของผมไปแล้ว ด้วยความที่มันสบายและใส่ได้ทุกสภาพสนาม ให้ความรู้สึกเหมือนใส่รองเท้าหนังมากกว่า “รองเท้าปั่น” หน้าตาดูดี เรียบง่ายไม่หวือหวา ลุกคลีนๆ สีขาวที่เห็นอาจจะดูเลอะ แต่รักษาไม่ยากครับ เคยจับลุยโคลนตม จนแห้งเกรอะกรังมาแล้วก็ล้างออกด้วยน้ำเปล่า ขัดด้วยน้ำยาสระผมหรือสบู่เบาๆ ผึ่งให้แห้งแล้วใช้ครีม conditioner หนังลงทับก็ออกมาเหมือนใหม่

Rapha Climber Shoes Review (9 of 12)

ตอนแรกเห็นหนังมันบางๆ นึกว่าจะไม่ทนมาก แต่เคยล้มแรงๆ ทีนึงด้านข้างรองเท้าสไลด์กับพื้นลูกรังเต็มๆ ก็มีรอยถลอกนิดหน่อยแต่ไม่เยอะเท่าที่คิด ก็สรุปว่าหนังทนใช้ได้คครับ ส่วนที่ไม่ชอบคือพื้นรองเท้าที่เป็นรอยง่าย ขูดง่าย จนเห็นรอยสีลอก ก็แน่หละมันคือรองเท้าปั่นเราคงไม่หงายพื้นขึ้นมาเชยชมครับ ถ้าถนอมหน่อยก็คงไม่เป็นรอยมาก

ข้อเสียอีกอย่างคือลองไม่ได้ และต้องเสียค่าส่ง + ภาษี จะซื้อรองเท้า Rapha ต้องสั่งออนไลน์เท่านั้นที่เว็บ rapha.cc ยกเว้นว่าคุณจะได้ไปร้าน Rapha ที่มีอยู่ไม่กี่ประเทศทั่วโลก ถ้าไซส์ผิดก็เรื่องยาวต้องส่งกลับไปกลับมา Rapha มีนโยบายเปลี่ยนได้ฟรี หรือจะเลือก refund ก็ได้ภายใน 90 วัน — แต่ Rapha ส่งของเร็วมาก บางทีสั่งไม่ถึงสองวันได้ของถึงประตูบ้านแล้ว เร็วกว่า EMS อีกครับ

โดยรวมแล้วเป็นรองเท้าปั่นที่ดีมาก ไม่ต้องเป็นนักไต่เขาก็ใส่ได้ (ถ้าจะติดว่าไม่ชอบตรงไหนก็ชื่อมันนี่แหละ) คงไม่ใช่รองเท้าสำหรับคนที่เน้นการเค้นประสิทธิภาพ อบพื้นไม่ได้เหมือน Bont และ Lake และหนังด้านบนไม่แข็งเท่า แต่ถ้าโชคดี เท้าเข้ารูปกับทรงรองเท้าก็น่าจะใส่ได้สบายครับ ส่วนตัวถ้าเอาไปแข่งไครทีเรียม สปรินต์หรือสนามระยะสั้นที่เน้นหวดระเบิดพลังกัน Bont/ Spe / Shimano ได้ฟีลแน่นติดเท้าดีกว่า แต่ถ้าให้ใส่ทุกวันใส่ไปไหนก็ได้ Climber’s Shoes ตอบโจทย์ได้ดีครับ

ถ้างบไม่ถึง ไม่อยากเสี่ยงสั่งออนไลน์​แต่อยากลองรองเท้าที่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ก็ลองดู Giro หลายๆ รุ่น เพราะใช้วัสดุและทรงรองเท้าแบบเดียวกันครับ

 

Model Year: 2014/2015
ระยะเวลาทดสอบ: 2,200 กิโลเมตร
ราคา: 400 USD (ไม่ร่วมค่าส่งและภาษี)
ข้อดี: ใส่สบายมาก / สวย / ประสิทธิภาพดี / น้ำหนักเบา
ข้อเสีย: ราคาสูงกว่ารองเท้าคู่แข่งเกือบทุกรุ่นในตลาด / ลองไม่ได้ / เสียค่าส่งและภาษีนำเข้า

เว็บไซต์: www.rapha.cc

◆◆◆

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *