รีวิว: Knight Composite 35 Clincher

Knight เป็นแบรนด์ใหม่จากอเมริกาที่เกิดจากการรวมตัวของอดีตวิศวกรจาก Reynolds, Enve, และ Cervelo เรียกได้ว่ารวมดาววงการแอโรได้นามิกกันสุดๆ และทีมเชื่อว่าพวกเขาสามารถผลิตล้อคาร์บอนขอบสูงที่ประสิทธิภาพดีไม่แพ้ใครแน่นอน

ต้องเกร่ินก่อนว่าในการรีวิวล้อที่ไม่มีอุโมงค์ลมนั้น สิ่งที่ DT จะอธิบายก็เป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ นะครับ ถึงจะลองเทสแบบจับวัตต์เทียบกับล้ออื่น margin of error มันก็เยอะและตัวแปรคุมยาก แต่ก็จะพยายามบรรยายประสบการณ์การใช้เจ้าล้อตัวนี้ให้ละเอียดที่สุดครับ

1. สเป็คล้อ

อันดับแรกเลยเจ้าล้อตัวนี้ขอบสูงแค่ 35mm เท่านั้น สูงกว่าล้อขอบต่ำนิดเดียวครับ เพราะงั้นจะคาดหวังให้มันไหลคงความเร็วได้ดีเหมือนล้อขอบ 50mm++ นั้นเป็นไปไม่ได้ ขอบล้อจะโปรไฟล์ซิ่งแค่ไหนก็ไม่มีทางฉีกกฏฟิสิกส์ได้ครับ

ล้อ Knight 35 Clincher หรือยางงัดเป็นล้อคาร์บอนขอบสูงที่ขอบต่ำที่สุดที่ Knight ผลิต (ในไลน์อัปมี Knight 35, 65, 95) มีให้เลือกทั้งแบบยาง tubular และ clincher ครับ

เมื่อเป็นขอบ 35mm ก็แน่นอนว่าเป้าหมายการใช้งานจะเป็นสไตล์ all round คู่เดียวเที่ยวทั่วโลกมากกว่าทำความเร็วสูงต่อเนื่องยาวนาน เอาเป็นว่าอย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ไหลเบาขากว่าล้ออลูขอบต่ำรูปทรงไม่แอโรทั่วไป ผสมผสานน้ำหนักที่กำลังดีไต่เขา เร่งสปรินต์ได้ไม่เป็นตัวถ่วงเหมือนล้อขอบสูงๆ ครับ

ขอบล้อด้านนอกกว้าง 25.5mm และด้านในกว้าง 17mm เหมาะกับการใช้ยางกว้าง 25mm เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุดในเรื่องแอโรไดนามิกและความสบายครับ

 

2. ดุม/ ซี่

ดุมล้อเป็น Chris King R45 และซี่ล้อ Sapim CX Ray หน้า 20 ซี่ หลัง 24 ซี่ ชั่งออกมาแล้วหนักอยู่ที่ 1,505 กรัม เกินกว้าที่เคลมมาเล็กน้อย และไม่ได้เบาที่สุดที่ระดับราคานี้ครับ แต่ก็ไม่น่าเกลียด (ตัวเปรียบเทียบ: Enve 3.4 ยางงัดหนัก 1,405g, Campy Bora Ultra 35 ที่ 1,370g และ Zipp 202 Firecrest ที่ 1,395g)

ซี่ลวดที่ใช้นั้นเป็นแบบ J Bend ครับ ซึ่งอาจจะไม่ร่วมสมัยเท่าไรแต่ข้อดีคือเซอร์วิสง่ายและรองรับดุมหลายประเภทหลายรุ่น แต่ล้อนี้ใช้ nipple แบบฝังในครับ (เพื่อความแอโร) เพราะงั้นเวลาตั้งล้อก็ต้องรื้อถอดยางกันทั้งชุด ก็ยังดีที่เป็นล้องัด ไม่วุ่นวายเหมือนล้อยาง tubular ครับ

 

3. ขอบล้อ

รูปลักษณ์ภายนอกมาแบบล้อคาร์บอนเปลือยนู้ดสีด้านแบบ unidirectional พ่นเคลียร์โค้ท งานออกมาดิบๆ ไม่นิ้งๆ วิ้งๆ เหมือน Enve ให้อารมณ์ดิบๆ ล้อมากับสติกเกอร์ Knight สีดำดุดัน โดยรวมภาพลักษณ์หน้าตาและความเนี้ยบน่าจะดีได้กว่านี้ในราคานี้ครับ

โปรไฟล์ล้อไม่ใช่ล้อขอบตัว ‘U’ ตามสมัยนิยมเสียทีเดียว Knight ทดสอบขอบล้อหลายประเภทในอุโมงค์ลมแล้วพบว่ารูปทรงพาราโบลิคหรือระฆังคว่ำนั้นได้ประสิทธิภาพดีที่สุด รวมเอาข้อดีของทั้งล้อขอบ V และขอบ U เข้าด้วยกัน ซึ่งเขาอ้างว่ามันช่วยให้โฟลว์ของลมไหลราบรื่นไม่ก่อแรงฉุด (drag) ตลอดความยาวของขอบล้อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือล้อที่เร็วกว่ารูปทรงอื่นนั่นเอง

 

4. การตอบสนองแรง: 4.5/5

สัมผัสแรกเลยสำหรับล้อนี้ที่ประทับใจคือเรื่องการตอบสนองแรงครับ ถึงขอบล้อจะไม่สูงมากแต่ตอบสนองแรงกดได้ทันทีทันใจมาก ไม่แพ้ล้อขอบสูงทุกรุ่นที่เคยลองหละ (อาจจะยกเว้น Lightweight ไว้หนึ่งราย แต่นั่นก็คนละระดับราคา) ซึ่งจุดเด่นตรงนี้น่าจะมาจากขอบล้อที่ใช้เนื้อคาร์บอนเกรดดี และสำคัญสุดคือจำนวนซี่ล้อที่ 20/24 ซี่ครับ ปกติล้อ 35mm สมัยใหม่ที่เน้นน้ำหนักเบามักจะมากับซี่ล้อแค่ 16/20 ซึ่งก็ทำให้น้ำหนักเบาจริงแต่ก็จะเสียความสติฟไปนิดนึงด้วยเหมือนกัน ซี่ล้อที่มากขึ้นก็ช่วยเรื่องความแข็งแรงด้วย

จะยกสปรินต์ ยืนโยกขึ้นเขา ล้อ Knight ก็ตอบสนองแรงได้ดีไม่มีอาการย้วยโยกสีขอบเบรคครับ แต่ผมหนัก 64kg และแรงกดไม่ได้เยอะมหาศาลนะครับ ฟีลลิงของคนที่น้ำหนักตัวเยอะหรือแรงกดดีๆ อาจจะออกมาอีกแบบ แต่เรื่องสติฟนี่ต้องยกนิ้วให้ครับ

 

5. การซับแรงสะเทือน: 4/5

ตอนเทสล้อคู่นี้ผมใช้ยาง Vittoria Corsa G+ 25mm ซึ่งเป็นยางประจำที่เราใช้ทดสอบล้อทุกคู่ครับ ใส่ยางออกมาแล้วขอบล้อยังล้นออกมานิดนึงจากความอ้วนของมัน แต่ไม่เยอะ ผมว่าขอบล้อด้านในมันน่าจะกว้างกว่านี้สัก 19mm ซึ่งใส่ยาง 25mm รูปทรงยางบนล้อจะสวยฟิตกันกำลังดีและทำให้เราไม่ต้องเติมลมยางเยอะมาก ช่วยเรื่องซับแรงสะเทือนพื้นถนนได้ดีกว่านี้ครับ

โดยรวมแล้วล้อ Knight ซับแรงสะเทือนได้ดีครับ ผมลองขี่รูดหลุมตามถนนในเมืองและทางลูกรังบ้าง ไม่สะท้านทรวงเหมือนล้ออลูมิเนียม (ขอบล้อด้านในกว้าง 17c เป็นต้นไปช่วยตรงนี้เยอะเพราะมันทำให้เราใส่ยางหน้ากว้างที่ไม่จำเป็นต้องเติมลมแข็งๆ แตะ 100psi เหมือนล้อขอบในกว้าง 15c แล้ว) ผมเติมลม 85/90psi ซึ่งไหลเกาะถนนกำลังดีครับ ขี่นานๆ บนถนนแย่ๆ ไม่ล้า เรื่องความสบายให้ผ่าน

 

6. ไหลมั้ย? สู้ลมข้างเป็นยังไง?

ข้อนี้เป็นฟีลลิ่งล้วนๆ ละครับเพราะเราไม่มีอะไรจะมาวัด

  • ความเร็ว 25-30kph – ไม่ต่างจากล้ออลูขอบต่ำนัก
  • ความเร็ว 32-35kph – เริ่มไหล รู้สึกล้อคงความเร็วดีกว่าล้อขอบต่ำอย่าง Zonda/ C24 ไหลได้เรื่อยๆ ไม่ต้องเติมเยอะ
  • ความเร็ว 35-42kph – ยังไหลอยู่ เติมพลังน้อยกว่าล้อขอบต่ำอย่างเห็นได้ชัด
  • ความเร็ว 42kph ขึ้นไป – ถ้าเทียบกับล้อขอบสูง 45mm+ ก็ยังไหลสู้ไม่ได้ครับ แต่จุดเด่นคือถ้าจะเติม ยัด กระชากที่ความเร็วสูง เรียกว่ากดแล้วมาเลยหละ ตรงนี้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่า ENVE 3.4/ 4.5 ครับ

เรื่องลมข้างอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่ขอบล้อมันก็สูงแค่ 35mm น่ะนะ อย่างไรก็ดี ถ้าไม่เจอรถบรรทุกเฉี่ยวข้างจริงๆ ล้อตัวนี้สู้ลมได้ดีไม่แพ้อลูขอบต่ำครับ

 

7. เบรค: 4/5

ล้อ Knight ไม่ได้ใช้ขอบเบรคพิเศษหรือมีลวดลาย texture เหมือนล้อไฮเอนด์แบรนด์อื่นๆ จุดเด่นของเขาคือพอกขอบเบรคมาหนาซึ่งอ้างว่ากันความร้อนสะสมได้ดี ล้อไม่บวมง่ายๆ ซึ่งผมก็ไม่ได้กล้าเอาไปรูดลงเขาเพื่อดูว่ามันจะทนได้แค่ไหนอะนะ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ล้อขึ้นลงเขาบ่อยจริงๆ จะยี่ห้อไหนก็ไม่แนะนำให้ใช้ล้อคาร์บอนขอบงัดอยู่ดีครับ เซฟไว้ก่อนดีกว่าเพราะคู่นึงราคาไม่ถูก

ความหนาขอบเบรคล้อ Knight อยู่ที่ 3mm​ ซึ่งมากกว่าล้ออื่นๆ ถึงสองเท่า (น้ำหนักก็มากขึ้นด้วย)
ที่สภาพแห้ง ล้อเบรคพอๆ กับล้อคาร์บอนอื่นๆ แต่ไม่เท่าล้อที่ทำขอบเบรคแบบมี texture (ซึ่งกินผ้าเบรคไวกว่าเยอะ)

ผ้าเบรคของ Knight ยางค่อนข้างแข็ง เวลาผ้าเบรคกัดขอบฟีลมันจะไม่นุ่มเท่าไร แต่ก็ให้การหยุดที่ไวทันใจอยู่ curve การเบรคค่อนข้างนิ่งและแน่นอนครับ ไว้ใจได้

เบรคเวลาฝนตกนั้นก็พอๆ กับล้อคาร์บอนยี่ห้ออื่น คือดี แต่ไม่ดีเท่าล้ออลู แต่ก็เซฟพอจะไม่ผวาว่าจะเบรคไม่อยู่เวลาลงเขาครับ อ้ออีกอย่างคือเบรคแล้วไม่ร้องโหวยหวนเหมือนล้อ Mavic

 

8. สรุป: 4/5

Knight 35 เป็นล้อที่ดีมากคู่นึงครับและมาในราคาที่ประหยัดกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกันเล็กน้อย (ราคาอยู่ที่ดุมที่คุณเลือกด้วย) เป็นล้อรอบด้านที่เล่นได้ทุกสภาพสนาม ออกจะแนวเป็ดนิดนึง เหมาะกับคนที่ไม่อยากมีล้อหลายคู่ ตัวเดียวเปรี้ยวทุกเส้นทาง ขึ้นเขาไม่เลว ทางราบคงไม่สู้ล้อขอบ 45mm+ แต่ก็ใช้งานได้หลายย่านความเร็ว และที่เจ๋งสุดคือความสติฟครับ ตอบสนองแรงดีที่ความเร็วสูง ตั้งก้ามเบรคชิดๆ เวลาโยกก็ไม่ติดให้เห็น และเบรคหยุดรถได้โอเค งานวิจัยเชื่อได้จากวิศวะผู้คร่ำหวอดในวงการ

ไม่เหมาะกับสายหัวลาก สาย Time Trial/ ไตรกีฬา/ ไครทีเรียม ที่เน้นความเร็วต่อเนื่องระดับปีศาจ

ข้อด้อยคงเป็นความเป็ดของมัน เพราะไม่ได้เบาที่สุด แอโรที่สุด สวยที่สุด เอาจริงๆ หน้าตาก็จัดว่าธรรมดาครับ ไม่ได้ดึงดูดมากนัก (ส่วนตัวนะ) มาแนวล้อนอกกระแสเพราะเพิ่งทำตลาดครับ

ถามว่าถ้ามีล้อระดับ Zipp Firecrest / ENVE / Campy Bora Ultra อยู่แล้วน่าเปลี่ยนมาลองมั้ย? ผมว่าไม่ต่างอย่างเป็นนัยสำคัญครับ ล้อตัวนี้ให้ฟีลใกล้เคียง ENVE มากกว่า Zipp

  • Zipp เบรคดีกว่า แต่ไม่ให้ฟีลสติฟเท่า
  • ENVE งานสวยกว่า ENVE รุ่นใหม่เบรคดีกว่า แต่แพงกว่า
  • Knight อยู่ตรงกลางระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้ ก็ถือว่า position ตัวเองได้ดีครับ อาจจะขาดเรื่องภาพลักษณ์และความคุ้นเคยไปบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยซื้อล้อตัวท็อปและไม่อยากเหมือนใคร ก็เป็นทางเลือกที่โอเคเลยทีเดียว

ขอบคุณบริษัท Cycle Boutique สำหรับล้อทดสอบครับ

และสุดท้ายรีวิว DT ไม่มีการรับเงินเหมือนเดิมครับ ปั่นแล้วเป็นยังไงก็ว่ากันตามนั้น เคนะ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *