เรื่องควรรู้: มือสมัครเล่น VS เสือหมอบติดดิสค์เบรค

โพสต์นี้เขียนโดยอาจารย์หนก Lucifer ครับ

ทันทีที่มีประกาศว่าตั้งแต่ต้นปี 2016 ทาง UCI อนุญาตให้สามารถใช้ดิสค์เบรคกับการแข่งขันในระดับโปร  ความ “พลุ่งพล่าน” ในหมู่ชาวจักรยานที่จะมองและขยับตามโปรก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่โปรฯใช้ย่อมมีผลทางจิตใจ  แถมทางค่ายผู้ผลิตจักรยานก็คาดการณ์การตัดสินใจของ UCI ไว้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว  รูปแบบของการตลาดของรถในปี 2016 จึงมีoptionที่ใช้ดิสค์เบรคให้เลือกกันหลากหลายรุ่น

ก่อนที่เราจะขยับตามโปรนั้น อย่างน้อยก็ควรทำความเข้าใจกับข้อดีและข้อเสียของดิสค์เบรคกันสักนิดดีกว่าครับ

 

1. ประสิทธิภาพในการเบรค

สิ่งที่ดิสค์เบรคเหนือกว่าริมเบรคอย่างชัดเจนก็คือ การควบคุมแรงเบรคหรือที่เรียกว่า modulation  ดิสค์เบรคจะไล่ลำดับของแรงเบรคสัมพันธ์กับแรงที่กำมือเบรคได้อย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน  เพิ่มแรงเบรคตั้งแต่เบรคเบาๆ ค่อนข้างเบา กลางๆ ค่อนข้างแรง และหนักๆได้อย่างต่อเนื่อง  ถึงแม้จะกำเบรคด้วยความตกใจ ล้อก็จะไม่ถึงกับล้อคในทันที ยังเหลือเวลาให้ตั้งสติและคลายมือออกได้ก่อนที่จะสูญเสียการควบคุม  ซึ่งผิดกับริมเบรคที่สัดส่วนของแรงเบรคจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  การกำเบรคเบาๆอาจจะไม่พอสำหรับการชะลอรถ เมื่อออกแรงกำมากขึ้นและมากขึ้นอีกหน่อยก็อาจจะเลยจุดที่กำลังดี จนอาจจะข้ามจุดที่เหมาะสมจนเกิดอาการล้อล้อคตาย โดยเฉพาะการเบรคด้วยความตกใจ

ริมเบรคและดิสค์เบรคอาจจะไม่ให้ความแตกต่างกันในเรื่องของระยะเบรคนักเมื่อใช้บนพื้นทางแห้งและเรียบ  แต่สำหรับในผิวทางร่วน เปียกชื้น ฝนตก  ดิสค์เบรคจะสามารถควบคุมรถได้ดีกว่า รวมถึงมีระยะเบรคที่สั้นกว่าริมเบรคอย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะขอบล้อคาร์บอนกับริมเบรคที่เรารู้ๆกันว่า กลางสายฝนนั้น  ความรู้สึกที่ว่า”มี”กับ”ไม่มีเบรค” ดูเหมือนจะแตกต่างกันน้อยเหลือเกิน

แต่ดิสค์เบรคเองก็ยังมีประสิทธิภาพในการเบรคที่แตกต่างกันไปตามชนิดของมัน ดิสค์เบรคแบบไฮดรอลิคส์เป็นดิสค์เบรคที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับมากที่สุด ในขณะดิสค์เบรคแบบใช้สายสลิงเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่สร้างความประทับใจ

2. ทักษะในการเบรค

ทักษะในการใช้ริมเบรคเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการลงเขายาวๆ หรือบนเส้นทางอุปสรรค  แต่สำหรับคนที่เพิ่งปั่นจักรยานไม่นานนัก ดิสค์เบรคจะทำให้การเบรคเป็นเรื่องง่ายขึ้น เรียนรู้ได้ไวขึ้น  ไม่ต้องกังวลว่าความร้อนที่เกิดจากการเบรคอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จะทำให้ขอบล้อคาร์บอนเสียหาย หรือ ขอบล้ออลูมิเนียมร้อนจัดจนยางในละลายจนลมรั่วออกมา

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เลยนะครับ  เพราะใบดิสค์เบรคเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาด เพราะถูกคุมไว้ที่รัศมีไม่เกิน 160mm  เมื่อถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องใบดิสค์เบรคจะร้อนอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่การระบายความร้อนก็ไม่ได้ดีมากมายนักเพราะพื้นที่ผิวน้อยกว่าขอบล้อมาก  การใช้งานดิสค์เบรคหนักเกินไป จะทำให้ใบดิสค์เบรคร้อนจัด ส่งผลต่อผ้าเบรคโดยตรงทำให้สัมประสิทธิการเบรคด้อยลง เมื่อเบรคไม่ค่อยจะอยู่ก็ย่อมต้องกำเบรคให้หนักขึ้น ยาวนานขึ้น ก็จะทำให้ผ้าเบรคไหม้ จานเบรคร้อนจัดจนอาจจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำเงิน รวมถึงหากติดตั้งใบจานดิสค์ไว้ไม่ดีพอ ก็อาจจะเกิดการบิดเบี้ยวของใบจานได้

 

3. ความยุ่งยาก

ดิสค์เบรคอาจจะใช้งานง่าย แต่การดูแลและบำรุงรักษากลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าริมเบรคมากมาย โดยเฉพาะดิสค์เบรคไฮดรอลิคส์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดตั้ง การเดินสายน้ำมันเบรค การไล่ฟองอากาศออกจากระบบ  รวมไปถึงช่องว่างระหว่างผ้าเบรคกับใบดิสค์เบรคที่น้อยมาก ซึ่งจะสร้างปัญหาในเวลาที่มีการบิดตัวของใบดิสค์เบรค ทำให้เกิดอาการเบรคติด หรือเบรคสะดุดได้ง่ายๆ  ยังไม่นับเรื่องความยุ่งยากในการถอดและประกอบล้อคืน โดยเฉพาะล้อหลังที่เดิมอาจจะเพียงแค่ทะเลาะกับโซ่+ตีนผีทางขวามืออย่างเดียว  คราวนี้ต้องมารบกับช่องว่างระหว่างผ้าเบรคที่แคบๆทางซ้ายมือเพิ่มขึ้นอีก   ซึ่งปัญหานี้จะน้อยลงเมื่อเปลี่ยนเป็นดิสค์เบรคที่ใช้สายสลิง เพราะจะมีช่องว่างเพิ่มขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะปัญหาจะหมดไปเสียทีเดียวนะ เพียงแค่ปัญหามันเล็กลงเท่านั้น  แถมยังต้องยอมลดประสิทธิภาพในการเบรคลงไปบ้างเมื่อเทียบกับดิสค์เบรคแบบไฮดรอลิคส์

ยังไม่พูดถึงปัญหาอมตะของดิสค์เบรคบางยี่ห้อ คือ เสียงช้างร้องเวลากำเบรค !!!

Road Disc -3

 

4. ใบดิสค์เบรค อาจจะแปลงร่างเป็นกงจักรนรก

ใบดิสค์คมพอจะบาดนิ้วและตัดเนื้อปลายนิ้วได้  และสามารถขูดเฟรมที่แสนรักให้เป็นริ้วรอยได้ง่ายๆ  นอกจากนี้ใบดิสค์ที่ร้อนจัดสามารถลวกเนื้อได้เช่นกัน

 

5. น้ำหนักโดยองค์รวมของจักรยาน

จริงอยู่ที่เทคโนโลยี่การผลิตในปัจจุบัน  ทำให้น้ำหนักรวมของระบบดิสค์เบรคไฮดรอลิคส์รุ่นไฮเอนด์ไม่ได้แตกต่างไปจากระบบริมเบรครุ่นไฮเอนด์เท่าไหร่นักก็ตาม  แต่ส่วนของจักรยานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตะเกียบหน้าด้านซ้าย ตะเกียบโซ่ด้านซ้ายก็จะต้องมีการเพิ่มมวลสารเพื่อเสริมความแข็งแรงและลดการบิดให้ตัวที่เกิดจากการทำงานของดิสเบรค  รวมไปถึงชุดล้อต้องมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อลดปัญหาซี่ลวดบิดให้ตัวในขณะที่ดิสเบรคทำงาน  ซึ่งจะทำให้ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  ตรงนี้กลุ่มสายแต่งรถเบา gram counter หรือ weight weenies คงไม่ปลื้มอย่างแน่นอน

Road Disc -2

 

6. มาตรฐานที่ยังไม่ค่อยจะลงตัว และคงต้องรอเวลาที่เหมาะสม

ถึงแม้ว่าความกว้างของดุมล้อหลังเริ่มจะลงตัวกันที่135mm กันบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าผู้ผลิตจักรยานทุกค่ายจะลงเอยกับตรงนี้  ยังไม่นับขนาดของแกนปลด แกนล้อ วิธีการยึดใบดิสค์ มาตรฐานการยึดของตัวcaliperกับตะเกียบ  ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาสำหรับการทำความเข้าใจกันระหว่างผู้ผลิตและผู้กำหนดมาตรฐานด้วยกัน  สำหรับคนใจร้อนอยากใช้ ก็อาจจะมีปัญหากับการเลือกล้อเลือกดุมในอนาคตในยามที่เบื่อกับล้อชุดเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย

 

สรุป

ถ้าคุณชอบก็ซื้อมาใช้ได้เลย แต่ถ้าคุณลังเลจะรอก่อนก็ได้ และถ้าคุณพอใจกับริมเบรคอยู่แล้วก็ไม่เห็นต้องเปลี่ยนเลย  เงินเป็นของคุณ  เอาที่สบายใจนะครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

  1. เป็นไปได้ไหมครับ ที่จักรยานจะทำเบรคคล้ายๆมอไซด์ คือดิสค์เบรคเฉพาะล้อหน้า ล้อหลังเป็นริมเบรค

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *