Sarto Bicycles จิตวิญญาณของจักรยานอิตาลี

โพสต์นี้ได้รับการสนับสนุนโดย CYCAM Bike

ถ้าคุณกวาดสายตามองไปรอบๆ อุตสาหกรรมจักรยาน เราอาจจะพอแบ่งแบรนด์ผู้ผลิตจักรยานและชิ้นส่วนต่างๆ ได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามคาแรคเตอร์ของแบรนด์ ในมุมหนึ่งเรามีแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรปที่เป็นแบรนด์ระดับแมส ออกแบบรถในประเทศต้นกำเนิด แต่ส่งไปผลิตในไต้หวันหรือจีน บริษัทระดับนี้มีเงินทุนมากมายในการทำมาร์เก็ตติ้ง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สวยหรูพร้อมวิดีโอแคมเปญไปจนถึงการสปอนเซอร์นักปั่นอาชีพในการแข่งขันระดับโปรทัวร์ กลุ่มนี้เป็นผู้ผลิตแถวหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีจักรยานใหม่ๆ ตลอดเวลา

ประเภทที่สองเป็นแบรนด์จักรยานสไตล์นอกกรอบที่ออกแบบจักรยานและผลิตเองในโรงงานของตัวเองหรือที่เราเรียกว่า Independent Builder กลุ่มนี้มีทั้งหน้าเก่าที่อยู่มานานหลายสิบปีในยุโรป และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจและชื่นชอบศาสตร์แห่งการผลิตเฟรมจักรยาน นึกถึง Independent Builder ไฟแรงในอเมริกาอย่าง Speedvagen, Firefly หรือ Indendent Fabrication เราอาจจะรวม House Brand เล็กๆ จากเยอรมันที่ผลิตเฟรมและของแต่งน้ำหนักเบาไว้ในกลุ่มนี้ก็ได้

กลุ่มสุดท้ายคือแบรนด์จักรยานอิตาเลียนที่ผ่านช่วงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาหลายยุคหลายสมัย เป็นกลุ่มผู้ผลิตจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดในวงการ บางแบรนด์ปรับตัวเป็นแบรนด์จักรยานร่วมสมัยที่ผสมผสานชื่อเสียงในอดีตเข้ากับการการตลาดสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว บ้างยึดติดกับความสำเร็จเก่าๆ จมอยู่กับอดีตและล้มหายตายจากไป

นอกจากผู้ผลิตจักรยานทั้ง 3 แบบแล้ว เรายังมีแบรนด์จักรยานอีกประเภทที่คุณอาจจะเคยเห็นจักรยานของเขาแต่ไม่ได้อยู่ในชื่อเขา นั่นคือการเป็นมือปืนรับจ้าง สิ่งที่คนเหล่านี้ค้าขายไม่ใช่จักรยานพะชื่อตัวเอง แต่มันคือทักษะการสร้างและผลิตจักรยานให้ลูกค้าในแบบที่เขาต้องการ (Custom bicycle) เรื่องราวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักปั่นอาชีพสมัยก่อนหลายคนไม่พอใจกับรถจักรยานที่สปอนเซอร์ทีมจัดให้ ทำให้เขาต้องออกไปหา Frame builder ชื่อดัง ทำเฟรมให้เขาเป็นพิเศษ (แล้วมาพ่นสีให้เหมือนรถสปอนเซอร์ทีมอีกที) เหมือนซามูไรในอดีตที่ต้องหานักตีดาบระดับตำนาน! ตัวอย่างช่างทำเฟรมชื่อดังก็ไม่พ้นคนอย่างดาริโอ้ เพโกเรตติ (Dario Pegoretti) และแอนโทนิโอ้ ซาร์โต้ (Antonio Sarto) ซึ่งวันนี้เราจะมารู้จักแบรนด์ Sarto จากอิตาลีกัน

I. เรื่องของครอบครัวจักรยาน

ก่อนที่ Sarto จะมาสร้างแบรนด์ของตัวเองแอนโทนิโอ้ ซาร์โต้ผลิตจักรยานให้แบรนด์อื่นมาเป็นเวลากว่า 70 ปี และยังคงทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้จะสร้างจักรยานใต้ชื่อตัวเองออกมาขายตั้งแต่ปี 2010 Sarto ยังคงทำจักรยานให้แบรนด์ใหญ่ๆ หลายเจ้า

สมัยนี้คนที่อยากมีแบรนด์จักรยานของตัวเอง สามารถไปเลือกรุ่น เลือกแบบจากแคตาล็อกจากโรงงานไต้หวันหรือจีนที่รับผลิตเฟรมจักรยานคาร์บอนแบบ OEM แล้วเจ้าของแบรนด์ก็รับสินค้ามาสร้างแบรนด์ ต่อยอดกันเอง ในมุมนี้ โรงงานที่ผลิตสินค้าออกมาไม่ได้จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือประวัติศาสตร์ขอแค่ทำสินค้าที่ดีมีคุณภาพก็เพียงพอ เจ้าของแบรนด์อาจจะอุ่นใจได้ว่าโรงงานนี้ทำให้แบรนด์ระดับโลก X Y Z ที่เราเห็นกันในโปรทัวร์ แต่ในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต และผู้สั่งผลิตก็ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ฟังดูละม้ายคล้ายกับสิ่งที่ Sarto ทำ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างกับแอนโทนิโอ้ ซาร์โต้มาจากความเชื่อใจและความภูมิใจที่ได้ใช้บริการของซาร์โต้ให้เป็นผู้ผลิตและออกแบบเฟรมให้

จุดขายของจักรยานซาร์โต้ยังคงเป็นการทำเฟรมคัสต้อมที่ผู้สั่งสามารถระบุขนาดที่วัดตามสรีระของเจ้าของรถ ฟีลลิ่งการปั่น และสีสันอย่างที่ต้องการได้ทั้งหมด
จุดขายของจักรยานซาร์โต้ยังคงเป็นการทำเฟรมคัสต้อมที่ผู้สั่งสามารถระบุขนาดที่วัดตามสรีระของเจ้าของรถ ฟีลลิ่งการปั่น และสีสันอย่างที่ต้องการได้ทั้งหมด

ถ้าถามว่าสิ่งที่ Sarto ทำคืออะไร มันก็คงคล้ายกับช่างตัดชุดสูท ที่คุณเข้าไปหาเพราะอยากจะใช้บริการฝีมือการตัดเย็บและสไตล์ของเขา ในมิตินี้ซาร์โต้ให้บริการทั้งคนที่อยากมีแบรนด์จักรยานของตัวเอง และลูกค้าธรรมดาที่อยากได้จักรยานที่ไม่เหมือนใครทำให้เขาเป็นพิเศษ (นามสกุล Sarto ในภาษาอิตาลีแปลว่า ‘Tailor’ หรือ “ช่างตัดเสื้อ”) ถ้าเราเปิดดูแคตตาล็อกจักรยาน Sarto สิ่งที่เห็นจะมีแค่จักรยานเสือหมอบ หรือเสือภูเขาหลายรูปแบบ แต่ไม่มีคันไหนที่มีชื่อ Sarto ติดอยู่เลย เป็นรูปจักรยานคาร์บอนเปลือยๆ นั่นก็เพราะเฟรมคาร์บอนที่ออกจากบ้านซาร์โต้ปีละ 2500 คันนั้น จะถูกจัดจำหน่ายในชื่อแบรนด์อื่น

จากงานเล็กสู่งานใหญ่ ภายในระยะเวลา 20 ปี พี่น้องซาร์โต้ยังคลุกคลีกับอุตสาหรกรรมจักรยาน กลายมาเป็นผู้ผลิตเฟรมจักรยานมีชื่อเสียง ภาวะวิกฤติน้ำมันในปี 1970 ทำให้ชาวยุโรปหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น ตลาดจักรยานก็คึกคักขึ้นด้วย โรงงานซาร์โต้ขยายขนาดจนมีพนักงานร่วม 40 คน ผลิตจักรยานออกสู่ตลาดวันละร่วม 250 คัน จักรยานส่วนใหญ่เป็นรุ่นเริ่มต้นที่ส่งออกไปขายในตลาดอเมริกาภายใต้ชื่อแบรนด์ Sarto Mariella และเป็นช่วงเวลาที่ Sarto เติบโตถึงขีดสุด

ช่วงปี 1990s จัดว่าเป็นยุครุ่งเรืองของจักรยานอิตาเลียนในวงการนักปั่นอาชีพ ในสนามแข่งแกรนด์ทัวร์ทุกรายการ จักรยานกว่าครึ่งของนักปั่นอาชีพผลิตโดยแบรนด์อิตาลี นักปั่นคนไหนไม่พอใจรถสปอนเซอร์หรือต้องการรถสั่งทำพิเศษก็จะออกตามหาช่างทำเฟรม เมาริซิโอ้ ฟอนดริเอสต์ (Maurizio Fondriest), แลนซ์ อาร์มสตรอง และทีมใหญ่หลายทีมอย่าง Cofidis และ Lampre ใช้ Sarto เป็นผู้ผลิตจักรยานให้

Sarto Frame 8
Sarto Dinamica

 

III. สู่ยุคคาร์บอน

ซาร์โต้เริ่มใช้วัสดุคาร์บอนทำจักรยานในปี 1995 และผลิตจักรยานคาร์บอนด้วยตัวเองได้สำเร็จครั้งแรกในปี 2002 แต่เขาไม่เชื่อในกระบวนการผลิตเฟรมคาร์บอนของโรงงานเอเชีย

โรงงานจักรยานคาร์บอนแทบทั้งหมดใช้กระบวนการผลิตเฟรมแบบ Monocoque พูดอย่างง่ายๆ คือใช้แม่พิมพ์ขนาดใหญ่ขึ้นรูปโครงเฟรมแล้วอบในเตาความร้อนความดันสูง ข้อดีของวิธีการนี้คือผลิตใช้เวลาผลิตน้อยกว่าการทำเฟรมคาร์บอนด้วยมือในลักษณะ Tube-to-tube ข้อเสียคือเจ้าของแบรนด์ส่วนมากสั่งผลิตจำนวนไซส์น้อยลงเพราะโมลด์คาร์บอนแต่ละไซส์มีราคาสูง

จุดเด่นของการทำเฟรมแบบ Tube-to-Tube

  • แบรนด์จักรยานอิตาเลียนขึ้นชื่อว่ามีไซส์ให้เลือกสำหรับคนทุกเพศทุกไว เพราะหากเราผลิตด้วยกระบวนการ Tube-to-Tube ก็สามารถสั่งตัดจักรยานตามขนาดและสรีระของผู้ใช้ได้ทั้งหมด ไม่ถูกจำกัดอยู่ที่แค่ไซส์ S M L XL
  • แต่เมื่อช่องทางในการลดต้นทุนย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในเอเชียเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น หลายๆ แบรนด์ก็ย้ายไปใช้โรงงานเอเชีย ซึ่งทำให้จุดเด่นเรื่องไซส์ของแบรนด์อิตาเลียนหายไป
  • ความเชี่ยวชาญในการสร้างเฟรมแบบ Tube-To-Tube ของ Sarto กลายมาเป็นจุดขายที่โรงงานคาร์บอนจากเอเชียทำให้ลูกค้าไม่ได้ แบรนด์จักรยานชั้นพรีเมี่ยมที่ใช้ Sarto เป็นผู้ผลิตบางรายยังต้องการตัวเลือกที่จะเสนอขายเฟรมคัสต้อมให้กับลูกค้าที่ต้องการจักรยานพิเศษสำหรับเขาโดยเฉพาะ
  • Sarto ตอบโจทย์นี้ได้ สร้างตลาดพรีเมี่ยมและฐานลูกค้าชุดใหม่ขึ้นมาในยุคที่แบรนด์อิตาเลียนอื่นๆ เริ่มล้มหายตายจากเพราะปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ไม่ทัน
col6_sartoantonio_test-
การผลิตเฟรมแบบเชื่อมท่อเข้าด้วยกัน (tube-to-tube) ทำให้ผู้ผลิตสามารถทำจักรยานไซส์ไหนก็ได้สำหรับลูกค้าที่อยากจะได้จักรยานไซส์ตัวเองจริงๆ  

 

 

IV. The Sarto Bike – The best of tube-to-tube

ประสบการณ์การผลิตเฟรม custom คาร์บอนให้กับลูกค้าแบรนด์ช่วยให้พ่อลูก Sarto ต่อยอดมาทำแบรนด์ของตัวเองในปี 2010 โดยยังคงจุดเด่นเป็นการบริการและตัวเลือกไซส์จักรยานที่นักปั่นไม่สามารถหาจากแบรนด์ตลาดได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจักรยานไซส์พิเศษ แต่ก็เหมือนกับการสั่งตัดชุดสูท บางครั้ง การสั่งตัดสูทให้เฉพาะเข้ากับเราจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ว่าเราอยากได้สูทที่สวมใส่พอดีตัว แต่เรายังมองถึงคุณภาพ รายละเอียดงาน สไตล์ของช่างตัดสูทส่วนตัวด้วย

จักรยานอิตาลีในยุคสมัยนี้ขึ้นชื่อว่า “ล้าหลัง” ปั่นได้ไม่ดี น้ำหนักมาก ไม่สติฟถูกใจ จักรยาน “แอโร่” ก็ไม่ได้ทดสอบในห้องแล็บหรืออุโมงค์ลมเพราะขาดทุนวิจัยพัฒนาเหมือนแบรนด์ coporate ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา จริงว่ามีหลายผู้ผลิตเก่าแก่ที่ตามยุคไม่ทัน ทำเฟรมคาร์บอนราคาแพง Made in Italy ที่ไม่สติฟและหนักราวกับเป็นจักรยานโลหะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายไป

m.danesin©img_8147
การทำเฟรมแบบ Tube-To-Tube ที่ไม่ได้ใช้โมลด์แม่พิมพ์เหมือนการทำเฟรม Monocoque อาจจะดูไม่ทันสมัย แต่มันก็มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะผู้ผลิตสามารถกำหนดไซส์ต่างๆ ได้อย่างอิสระ และไม่ได้แปลว่าจะมีประสิทธิภาพแย่กว่าเฟรม Monocoque เสมอไป

ในช่วงเวลาที่เราหลงไหลไปกับเทคโนโลยีแอโรไดนามิกล่าสุด ผู้ผลิตจักรยานรายย่อยที่ยังใช้กระบวนการ Tube-To-Tube ทั้งในอิตาลีและนอกประเทศก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ทำเฟรมคาร์บอนด้วยการเสียบเชื่อม lug เหมือนสมัยก่อน แต่เขาพัฒนาสานต่อศาสตร์ตัวเองจนได้จักรยาน tube-to-tube ที่ทั้งสติฟ เบาและปั่นได้ดีไม่แพ้เฟรม Monocoque ในการทดสอบของนิตยสาร Tour Magazine จากเยอรมันซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนิตยสารที่รีวิวจักรยานได้เป็นกลางและมีมาตรฐานที่สุดในโลก(ฉบับมกราคม 2015) แบรนด์อินดี้อย่าง Argonaut, Calfee, Cyfac และ Parlee จากอเมริกา Festka จากสาธารณรัฐเช็ค หรือ Sarto และ Scappa จากอิตาลี ล้วนทำคะแนนได้ดีไม่แพ้เฟรม Monocoque รุ่นล่าสุดที่ใช้ในการแข่งขันอาชีพ

Sarto Frame 6
เฟรม Sarto ทุกรุ่นใช้ break bridge รูปทรงตัว Y ซึ่ง Sarto อ้างว่าช่วยซับแรงสะเทือนได้ดีกว่า break bridge รูปทรงอื่นๆ 

สำหรับเอ็นริโคและแอนโทนีโอ้ ถึง Sarto จะหันมาทำแบรนด์จักรยานภายใต้ชื่อตัวเองที่มีคุณภาพทัดเทียมกับคู่แข่ง แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้าง Sarto ยังคงเป็นเวิร์กช็อปจักรยานเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 30 คน และยังดำเนินการแบบธุรกิจครอบครัว การกระจายสินค้ายังเป็นปัญหาบ้าง และการตลาดก็ยังไม่ทัดเทียมแบรนด์ระดับโลก แต่ เอ็นริโค ท่ขึ้นมากุมบังเหียนในฐานะประธานบริษัทก็ตระหนักดีว่าการที่ Sarto จะก้าวไปข้างหน้าต่อได้ เขาต้องไม่ลืมรากของตัวเอง Sarto ยังคงทำเฟรมคัสต้อมทั้งสีและขนาดพิเศษให้ลูกค้า และยังรับจ้างทำเฟรมให้แบรนด์อื่น เขายังเชื่อมั่นในจิตวิญญาณการทำจักรยานแบบช่างฝีมือ (Craftman) แต่ก็ไม่ลืมที่จะต่อยอดความรู้การใช้เทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

V. ให้ทันคู่แข่ง

แทบทุกวงสนทนานักปั่น คำถามที่ว่า “จักรยานผลิตที่ไหน” มักจะเป็นประเด็นถกเถียงเสมอ เหตุผลที่แบรนด์จักรยานอิตาลีที่เติบโตมาจากยุครุ่งเรืองอย่าง Colnago, Pinarello, De Rosa และ Bianchi ย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียไม่ใช่เพราะเรื่องต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศผู้ผลิตชั้นนำอย่างไต้หวันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเทคโนโลยีการผลิตจักรยานคาร์บอนก้าวล้ำไปไกลกว่าประเทศไหนๆ จุดแข็งของ Sarto ไม่ได้มาจากที่เขาเป็นบริษัทจักรยานอิตาลีเจ้าเดียวที่ยังทำจักรยานทั้งคันในอิตาลี แต่เป็น “วิถี” ของบริษัทที่ทำให้ Sarto เรียนรู้และใช้งานวัสดุสมัยใหม่อย่างคาร์บอนไฟเบอร์ได้ไม่แพ้ใคร

การที่ Sarto เลือกจะผลิตเฟรมให้บริษัทอื่นๆ หมายความว่าตัวพนักงาน Sarto เองต้องเรียนรู้เทคโนโลยีการออกแบบผลิตจักรยานคาร์บอนร่วมสมัยเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของแบรนด์ลูกค้า ยิ่งบริษัทมีพนักงานน้อย ฝ่ายเทคนิคของ Sarto แทบทุกคนต้องทำหน้าที่แทนกันได้ในทั้งด้านการออกแบบ จนไปถึงการผลิตจักรยานตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย

m.danesin©img_7884
บริเวณ Head tube หรือท่อคอของจักรยานคาร์บอนขึ้นชื่อว่าเป็นส่วนที่เลย์อัปได้ยากและซับซ้อนที่สุดในกระบวนการผลิตจักรยานทั้งคัน ต้องใช้ทั้งความละเอียดและประสบการณ์ พนักงานของ Sarto ทุกคนในโรงงานต้องสามารถจัดเรียงชั้นคาร์บอนของจักรยานได้ไม่ว่าจะทำงานในฝ่ายไหนก็ตาม 

แทนที่จะสั่งท่อจักรยานคาร์บอนสำเร็จจากผู้ผลิตชั้นนำอย่าง Enve ที่แบรนด์จักรยาน custom นิยมใช้ Sarto ลงทุนซื้อเครื่อง autoclave ที่ใช้สร้างท่อคาร์บอนจักรยานด้วยตัวเอง เพื่อคุมคุณภาพและต้นทุนการผลิต นอกจากจะได้ชิ้นงานที่ Sarto กำหนดประสิทธิภาพและฟีลลิงการใช้งานแล้ว มันยังช่วยให้ Sarto สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการออกแบบท่อจักรยาน custom เพื่อตอบโจทย์การออกแบบเฟรมที่ต่างกันไป

Sarto ใช้คาร์บอนซีรีย์ M46J High Modulus Unidirectional จาก Torayca ผู้ผลิตคาร์บอนไฟเบอร์ชั้นนำจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาขึ้นท่อคาร์บอน หลังจากที่ได้ท่อรูปทรงตามที่ต้องการ ช่างจะนำท่อไปทำความสะอาดและตัดให้ได้ขนาดตามสัดส่วน geometry ของลูกค้า กระบวนการต่อไปคือการเชื่อมท่อคาร์บอนเข้าด้วยกันที่บริเวณ joint เพื่อให้ออกมาเป็นรูปทรงจักรยาน วิธีการเชื่อม joint ของแต่ละแบรนด์ก็ต่างกันไป อาจจะมีการโชว์รายละเอียดการเลย์อัพที่ joint แต่ Sarto เลือกที่จะใช้ลายคาร์บอนปิดทับเลย์อัพ เพราะแบรนด์เชื่อว่าเทคนิคการเชื่อม joint ของเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จักรยาน Sarto มีฟีลลิ่งการปั่นที่เป็นเอกลักษณ์ ในด้านความสวยงาม joint ต่างๆ ของ Sarto ทั้งคันเชื่อมเนียนเป็นเนื้อเดียวกันถ้าไม่สังเกตจริงๆ อาจจะคิดว่าเป็นเฟรม monocoque ก็ได้

เฟรม Sarto ที่เบาที่สุดในตลาด (รุ่น Seta ) ไซส์ 56 หนักเพียง 700 กรัม ซึ่งใกล้เคียงกับเฟรมจักรยานเสือหมอบคาร์บอนที่เบาที่สุดในโลก

ถ้าไม่พอใจกับตัวเลือกเฟรมรุ่นต่างๆ ที่ Sarto มี ลูกค้าสามารถ “สั่งตัด” เฟรมได้ตามความต้องการ ทั้ง geometry, สไตล์การปั่น ฟีลลิ่งที่อยากได้ รูปทรงที่ชอบ สีสันหน้าตา หลักอานก็สามารถเลือกได้ทั้งแบบ integrated และแบบเสียบอานธรรมดา ดีเทล์สมัยใหม่อย่างกระโหลกแบบ Pressfit, ท่อคอ Tapered และ Chainstay แบบ oversized ก็มีให้เลือกเช่นกัน

VI. Show case: Sarto Dinamica

van
Sarto Dinamica เป็นเฟรม all-round น้ำหนักเบา โจทย์ของ Sarto คือการออกแบบเฟรมที่ “สมดุล” เหมาะกับการแข่งขันและการปั่นหลากหลายจุดเด่นคือความสติฟที่สูงถึง 130 N/mm และน้ำหนักเฟรม 880g
Downtube and Clamp
ท่อนอนมีขนาดอ้วนใหญ่ บวกกับรูปทรง seat stay และ chainstay ที่ออกแบบมาให้ตอบสนองแรงกดเพื่อให้คาแรคเตอร์รถมีความพุ่งสูง ในขณะที่ยังให้ตัวได้ไม่กระเทือนผู้ปั่นจนเกินไป
Top Tube and Butterfly chainstay
Dinamica ใช้เนื้อคาร์บอน M46J จาก Torayca ใช้กระโหลก Pressfit 86.5 เดินสายเกียร์และเบรคด้านใน และออกแบบท่อในลักษระ asymetric ให้ด้านขวาของรถ (Driveside) มีความสติฟและความแข็งแรงมากกว่า
Sarto Frame 2
นอกจากเฟรมแบบสต็อกแล้ว Sarto ยังมีออปชันในการสั่งทำเฟรมทุกรุ่นแบบ Custom ซึ่งผู้สั่งสามารถเลือกสีและ Geometry ตามที่ต้องการ เปลี่ยนมาตรฐานกระโหลกที่ใช้ได้ตั้งแต่ BB30 – BSA หรือ Pressfit 386 และสามารถเลือกได้ว่าจะใช้หลักอานแบบ Integrated หรือแบบธรรมดา เฟรม Dinamica ทุกรุ่นรองรับระบบเกียร์ไฟฟ้าจากทั้ง Shimano, Campagnolo และ SRAM

original_sartoantonio_lavorazioni.2-7a86247585fe20d374445a973d508098

VII. In Closing

ในสายตาคนนอก Sarto อาจจะดูเป็นแบรนด์จักรยานอิตาเลียนเก่าๆ ที่รอวันตายจากไปจากวงการ เหมือนกับแบรนด์จักรยานที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีจักรยานและวัสดุสมัยใหม่

คนที่เคยเป็นเซียนเชื่อมเฟรมเหล็กใช่ว่าจะทำจักรยานคาร์บอนเป็น และน้อยคนยิ่งกว่าที่จะทำจักรยานคาร์บอนได้ดีจนแบรนด์ชื่อดังเลือกเป็นพาร์ทเนอร์ ถึง Sarto จะมาร์เก็ตตัวเองเป็น Traditional Italian Brand แต่ความเป็นจริงคือเรื่องประสิทธิภาพและ know-how ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าแบรนด์คู่แข่งเลย

ไม่ใช่ว่าจักรยานคัสต้อมจะโดดเด่นหรือประสิทธิภาพดีกว่าจักรยาน Monocoque จากโรงงานไต้หวันในทุกอณูการปั่น พ่อลูก Sarto รู้ดีและยึดมั่นกับตลาด niche ของเขาที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้จักรยานพิเศษ

มีผู้ผลิตจักรยานไม่กี่แบรนด์ในโลกที่พร้อมจะทำจักรยานคาร์บอนเองด้วยท่อที่เขาขึ้นรูปเอง ให้ลูกค้าสามารถเลือกขนาด ประสิทธิภาพและหน้าตาได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ — ในราคาที่ถูกกว่าจักรยาน mass produced ของอีกหลายๆ แบรนด์ คุณค่าของ Sarto คงไม่ใช่จักรยานที่ลู่ลมที่สุดในโลกหรือเบาที่สุดในโลก แต่การที่เรารู้ว่าเฟรมที่เรากำลังควบอยู่นั้นทำมาจากไหน กว่าจะมาเป็นรูปร่างนี้มันมีที่มายังไง ใครเป็นคนออกแบบ เชื่อมท่อ ลงสี และวัดไซส์ ก็มีคุณค่าทางจิตใจไม่แพ้กันครับ

Sarto Lampo & Sarto Dinamica
ตัวแทนจำหน่าย: CYCAM Co. Ltd.,

www.sartoantonio.com

* * *

[/vc_column_text][vc_column_text]
[/vc_column_text][/vc_column][vc_column width=”1/6″][vc_column_text]
[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row][vc_row][vc_column][vc_separator style=”dashed”][/vc_column][/vc_row]

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *