TDF แทคติก: ทำไมนักปั่นต้องทำแถวแทยงเมื่อเจอลมตีข้าง?

หลายคนสงสัยว่าทำไมนักปั่นในรายการตูร์เดอฟรองซ์ต้องเรียงแถวเป็นแนวแทยงข้างในบางช่วงของสเตจ มันช่วยอะไร ทำไมไม่ปั่นตามก้นกันเหมือนปกติ?

Drafting: ปั่นตามเพื่อนประหยัดแรงกว่าครึ่ง

เชื่อว่านักปั่นโดยมากรู้อยู่แล้วว่าการปั่นตามหลังคนอื่นใกล้ๆ นั้นประหยัดแรงของเราได้กว่าครึ่ง เราเรียกการปั่นตามกันว่า “ดราฟต์” หรือให้คนข้างหน้าบังลมให้

ในการปั่นจักรยานนั้น สิ่งที่นักปั่นต้องใช้แรงเอาชนะกว่า 85% ของพลังทั้งหมดที่เราออกก็เพื่อเอาชนะแรงต้านอากาศนั่นเอง(อีก 15% คือแรงเสียดทานพื้นถนนและแรงเสียดทานในระบบจุดหมุนของจักรยาน) ถึงเราจะมองไม่เห็นอากาศด้วยตาเปล่า แต่มันก็มีมวล และถ้าอยากจะให้จักรยานเคลื่อนไปข้างหน้า เราก็ต้องแหวกทะลุมวลอากาศนี้

เช่นนั้นแล้ว ถ้ามีคนหรือรถหรือวัตถุมาบังลมข้างหน้าเราระหว่างปั่น ก็หมายความว่า คนข้างหลังจะใช้แรงปั่นน้อยลงเพราะคนข้างหน้าได้ แหวกอากาศให้เราแล้ว (คนเหนื่อยคือคนที่อยู่หน้าสุด)

คนข้างหลังจะอยู่ใน สลิปสตรีม “Slipstream” ของคนหน้า ถ้าสงสัยว่าสลิปสตรีมคืออะไร ลองดูอนิเมชันน่ารักๆ ข้างล่างนี้ประกอบ

แต่ถ้าเจอลมพัดเข้าด้านข้าง คนหน้าจะยังบังลมให้คนหลังได้หรือเปล่า?

คำตอบคือ “ไม่ช่วย” อย่างชัดเจนครับ ถ้าดูวิดีโอข้างบนจนจบจะเห็นว่าเวลานักปั่นเจอลมข้าง แทนที่เขาจะปั่นตามก้นกันเหมือนเดิม เขาจะเปลี่ยนเป็นการปั่นแทยงข้าง ลดหลั่นกันเหมือนขั้นบันได โดยให้ด้านสูงสุดของบันไดเป็นด้านที่ลมเข้า

Screen Shot 2559-07-14 at 1.49.04 PM

การปั่นแทยงข้างแบบนี้เราเรียกว่า “Echelon” (ออกเสียง: เอ-เชอ/เช-ลอน) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่าการจัดรูปขบวนแบบเรียงขั้นบันไดครับ

เมื่อลมเข้าด้านข้างแบบนี้ แน่นอนว่าคนอยู่ด้านหน้าจะไม่ได้บังลมให้คนข้างหลังตรงๆ อีกต่อไป ก็เลยต้องย้ายตำแหน่งจากด้านหลังมาด้านข้าง เพื่อให้กระแสลมปะทะคนข้างหน้าในทิศทางที่คนข้างหลังจะไม่โดนลมนั่นเอง และจะลดหลั่นขั้นกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ

เช่นนั้นแล้ว วิธีการที่ประหยัดแรงที่สุดในการปั่นเวลาเจอลมข้าง คือฟอร์ม echelon ขึ้นมา แล้วให้หมุนเวียนสลับกัน คนที่นำปะทะลมอยู่ก็ผลัดลงไปเป็นคนสุดท้ายแล้วเวียนเป็นบันไดกันขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อช่วยกันเซฟแรง

 

แล้วทำไมกลุ่มถึงขาด?

Screen Shot 2559-06-23 at 12.39.53 AM

ลองจินตนาการตามง่ายๆ ครับ เวลาเราแข่งจักรยาน เราจะเดินทางพุ่งตรงไปข้างหน้าของถนน แต่เวลาลมข้างเข้า มันอาจจะมาจากซ้าย ขวา จะมาจากทางด้านหน้าหรือด้านหลัง หรือด้านข้างเต็มๆ ก็ได้ การวิจัยของบริษัทจักรยาน Trek พบว่า ถ้าลมข้างเข้าปะทะแล้วคุณยังปั่นตามหลังคนข้างหน้าอยู่ คุณจะใช้แรงเยอะยิ่งกว่าปั่นอยู่คนเดียวห่างๆ เสียอีก!

สีของลมในภาพข้างบนนี้บอกถึงความเร็ว (wind speed) ยิ่งสีเข้มไปทางแดง ลมก็ยิงแรง ยิ่งต้องใช้พลังมากในการเอาชนะ

นั่นก็เพราะกระแสลมที่ออกจากการปะทะคันหน้าเป็นกระแสลมแปรปรวน (turbulence) ซึ่งต้องใช้แรงเอาชนะมันมากกว่ากระแสลมปกติ (จะเห็นว่า ลมข้างที่มาปกติเป็นสีส้ม แต่พอปะทะนักปั่นคันหน้า บางส่วนกลายเป็นสีแดงที่มีความเร็วลมมากกว่าลมปกติ) ส่วนลมสีฟ้านั่นคือสลิปสตรีม หรือไลน์ที่ถูกต้องที่ควรจะต่อแถวกันฟอร์ม echelon เพื่อประหยัดแรงครับ

เพราะงั้น ถ้าถนนที่นักปั่นเจอมีโค้งหักไปมาเยอะ และต้องรับลมหลายทิศทาง ลมจะกินแรงคนปั่นมากๆ กลุ่มหน้าสุดที่ฟอร์ม echelon กันได้อย่างสามัคคีและออกแรงถัวกันได้ถูกจังหวะ จะสามารถทิ้งห่างกลุ่มหลังได้ในเวลาไม่กี่วินาทีขอเพียงแค่คนด้านหลังหลุดกลุ่มไปนิดเดียว ก็ยากที่จะไล่เข้ากลุ่มได้ทัน เป็นเหตุผลว่าทำไม กลุ่มหนีในสเตจ 11 ตูร์เมื่อวานนี้ที่มีแค่ 4 คนกลับเอาชนะการไล่ตามของนักปั่นร่วม 190 คนได้ห่างพอสมควรครับ

ในเชิงกลยุทธ์ ถ้าถนนแคบ นักปั่นในกลุ่มหน้าสามารถบล็อกถนนให้เต็มด้วยแถว echelon นักปั่นคนที่อยู่คนสุดท้ายของ echelon ซึ่งจะอยู่ขอบถนนพอดี จะทำให้คนที่อยู่ด้านหลัง ไม่สามารถต่อแถวแทยงเพิ่มออกไปได้อีก (ติดขอบถนน ภาษาอังกฤษเรียก Ride in the gutter) ก็ต้องรับลมเต็มๆ และหลุดกลุ่ม echelon แถวหน้านี้ไป ในสนามคลาสสิคหลายๆ ทีมที่วางแผนจะฉีกกลุ่มก็จะกางออกเต็มถนนแบบนี้ เพื่อไม่ให้ทีมคู่แข่งไล่ประกบได้ทัน ใช้เวลาเพียงนิดเดียวที่กลุ่มหลังเผลอก็สามารถบล็อกถนนได้เต็มที่และทำให้ยากต่อการไล่ตาม

เช่นเดียวกัน หลายๆ ทีมที่มีตัวเต็งอยู่ echelon เดียวกันอาจจะตกลงกันสร้างกลุ่ม แล้วบล็อกคนที่ไม่ต้องการ แล้วไปตกลงผลประโยชน์กันเอาข้างหน้า ก็ได้เหมือนกัน

0fd3639f48b21f11d5c26091c6a3ffc3

แทคติคเอาชนะลมข้าง

ยิ่ง echelon มีขนาดเล็กและทำงานกันได้เหมาะเจาะ ก็อาจจะทำระยะห่างหนีกลุ่มข้างล่างขนาดใหญ่กว่าร้อยคนได้ง่ายกว่า เพราะกลุ่มใหญ่ฟอร์มตัวเวียนตำแหน่งกันยากกว่านั่นเอง

เกม echelon แบบนี้ต้องใช้ไหวพริบ และมีสติตลอดเวลา เมื่อวานนี้ เหตุผลเดียวที่ Sky หนีไปกับซากานได้ก็เพราะเขาวางตำแหน่งนักปั่นไว้หน้ากลุ่มตลอดสเตจ เพราะคาดเดาไว้แล้วว่าสเตจเมื่อวานต้องเจอลมข้างแรงและมีหลายทีมที่พร้อมจะกระชากหนีกลุ่ม เมื่อซากานยิงออกไป ฟรูมก็สามารถขึ้นเกาะได้ทันทีไม่ต้องเปลืองแรงสู้ลมมาก ทีมอย่าง Movistar ที่อยู่กลางเปโลตองก็ยากที่จะออกไล่ตาม ทำให้พ่ายเสียเวลาไปในที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้นการฟอร์ม echelon ในถนนทั่วไปที่เราปั่นกันอาจจะไม่เหมาะและอันตราย เพราะเราไม่ได้ปั่นกันในถนนปิดเหมือนพวกโปร เพราะงั้นถึงเจอลมข้าง สิ่งที่เราทำได้อย่างมากก็แค่เหลื่อมๆ ล้อกัน แต่จะกระจายออกเป็นพัดเต็มถนนคงจะไม่เหมาะครับ ก็ต้องระวังกันด้วย บางอย่างที่โปรทำเราก็ทำตามไม่ได้ทุกอย่าง อาจจะดีซะอีกได้หัดปั่นต้านลมแรงๆ ครับ 555

 * * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *