ประเทศไทยมีทีมจักรยานอาชีพระดับ Continental แล้ว

ข่าวดีสำหรับแฟนๆ จักรยานชาวไทยครับ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีทีมจักรยานอาชีพระดับ Continental ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการถึงสองทีมแล้ว ทั้งทีมชายและทีมหญิง

เมื่อวานนี้โค้ชจักรยานทีมชาติไทยคุณวิสุทธิ์ กสิยะพัท หรือโค้ชตั้ม ได้ประกาศในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ไทยมีทีมระดับ UCI Continental Team หรือที่เราเรียกกันว่าทีมดิวิชัน 3 แล้ว Ducking Tiger เลยโทรไปสัมภาษณ์ขอรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งโค้ชตั้มก็ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปของทีม เป้าหมาย และอนาคตของทีม:

ทำไมไทยถึงไม่มีทีมจักรยานอาชีพก่อนหน้านี้?

โค้ชตั้มกล่าวว่า ที่ผ่านมา ถ้าเราสังเกตประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ประเทศพวกนี้ล้วนมีทีมอาชีพที่ขึ้นทะเบียนกับสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ในระดับ UCI Continental อย่างเป็นทางการอยู่หลายทีม ไม่ได้มีแค่ทีมเดียว  (ทีม UCI Continental จัดเป็นระดับล่างสุดในระดับอาชีพ สูงกว่านี้คือ UCI Pro Continental และ สูงสุดคือ UCI ProTeam หรือทีมอาชีพอย่าง Sky, BMC, Astana ที่เราเห็นลงแข่งขันในสนามใหญ่ๆ นั่นเองครับ)

แต่ในประเทศไทย การขึ้นทะเบียนทีมจักรยานให้เป็นทีมอาชีพกับ UCI นั้นทำได้ยาก เพราะกฏหมายของประเทศยังไม่เอื้อ  ประเทศไทยเพิ่งออกพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ นั่นคืออนุญาตให้สมาคม/สโมสรกีฬาสมัครเล่นทำเรื่องจดแจ้งเป็นกีฬาอาชีพได้ตามกฏหมาย  อย่างเป็นทางการก็เมื่อ พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมานี้เท่านั้น และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557

11 ชนิดกีฬาอาชีพตามประกาศในพรบ. ประกอบด้วย ฟุตบอล, กอล์ฟ, เจ็ตสกี, วอลเล่ย์บอล, ตะกร้อ, แข่งจักรยานยนต์, จักรยาน, แข่งรถยนต์, สนุกเกอร์ และแบดมินตัน

 

จุดประสงค์การตั้งทีม

เมื่อกฏหมายเอื้ออำนวยแล้ว ทางสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยก็ได้เดินเรื่องจัดตั้งทีมอาชีพของไทยขึ้นมา โดยโค้ชตั้มกล่าวว่า ทีมที่จดชื่อ Thailand Continental Cycling Team มีสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 8 คน

Thailand continental Cycling Team

สมาชิกในทีมส่วนใหญ่เป็นนักจักรยานทีมชาติไทยอยู่แล้ว มีคุณ Loh Sea Keong คนเดียวที่เป็นนักแข่งสัญชาติมาเลเซีย (ทีมอาชีพไทย ไม่ได้แปลว่ามีนักปั่นชาติอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเลือกจดทะเบียนในประเทศนั้นๆ ก็ต้องมีนักปั่นสัญาชาตินั้นเกินครึ่งของสมาชิกในทีม)

เป้าหมายของการตั้งทีมคือ

  1. เปิดโอกาสให้นักปั่นมากความสามารถและนักปั่นทีมชาติได้มีโอกาสลงแข่งในสนาม UCI นานาชาติมากขึ้น:  ข้อนี้โค้ชตั้มบอกว่า การเป็นทีมชาตินั้น ผู้จัดสนาม UCI มักจะไม่ให้โอกาสทีมชาติร่วมลงแข่งเท่ากับทีม UCI Continental นักปั่นไทยฝีเท้าดีหลายๆ คนก็เลยไม่ได้ไปลงแข่งในสนามต่างชาติสักเท่าไร เสียโอกาสและไม่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในระดับที่สูงขึ้น การเป็นทีม Continental นั้นก็ทำให้ทีมมีโอกาสถูกเชิญไปลงแข่งมากขึ้น และทางผู้จัดก็จะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการไปร่วมแข่งมากกว่าการเป็นทีมชาติอีกด้วย
  2. เปิดช่องทางอาชีพให้นักกีฬาไทย: เป็นโอกาสให้นักกีฬาเยาวชนสามารถเดินตามเส้นทางการเป็นนักปั่นอาชีพได้หลากหลายกว่าเดิม จากปกติหากเป็นนักปั่นเก่งๆ แล้วอยากปั่นเป็นอาชีพ ลู่ทางในการทำมาหากินด้วยการปั่นแบบมั่นคงอาจจะถูกจำกัดแค่การเข้ารับราชการในโควต้านักกีฬา แต่ไทยยังไม่มีทีมสโมสรอาชีพที่ยั่งยืนพอจะเลี้ยงดูนักกีฬาได้ Thailand Continental Cycling Team ก็จะพยายามเป็นช่องทางหนึ่งที่นักปั่นจะได้มีอนาคตและช่องทางในการค้าแข่งในต่างประเทศครับ  ซึ่งหากทีมพัฒนาไปได้ดี เริ่มมีผลงาน นักปั่นไทยที่ฟอร์มดีก็มีโอกาสถูกทีมใหญ่ๆ ทาบทามซื้อตัวไปลงแข่งในดิวิชันที่สูงกว่าได้เช่นกัน และนักปั่นก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยอย่างอุปกรณ์ การฝึกซ้อม เพราะทีมจะต้องดูแลตามมาตรฐานการเป็นทีมอาชีพโค้ชตั้มเสริมว่าทีมนี้จะเน้นการ “รดน้ำพรวนดิน” นั่นคือไม่ซื้อนักกีฬาสำเร็จรูปมาช่วยทีม แต่จะพยายามปั้นและค้นหานักกีฬาไทยให้ได้ขึ้นสู่เวทีนานาชาติ เน้นเป้าหมายระยะยาว ค่อยเป็นค่อยไป
  3. เป็นแบบอย่างให้ทีมสมัครเล่น: เมื่อกฏหมายเอื้อให้เราจดทะเบียนเป็นทีมอาชีพแล้ว โค้ชตั้มกล่าวว่า มันน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทีมสโมรสรสมัครเล่นอื่นๆ ได้ลองขึ้นมาลงทะเบียนเป็นทีม Continental ค้าแข่งในต่างแดนกันมากขึ้น ยิ่งมีเยอะยิ่งดีเพราะเป็นการส่งเสริมวงการจักรยานไทย ให้มีช่องทางทำอาชีพในสายกีฬานี้กันมากขึ้น ทั้งนักปั่น โค้ช ผู้จัดการทีม และธุรกิจต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในวงการ

นอกจากทีมชายแล้ว ก็ยังมีทีม Continental หญิงไทยด้วยเช่นกันครับ เบื้องต้นมีนักปั่น 8 คนเช่นกัน

Thailand Women's Cycling team

จะลงแข่งสนามไหนบ้าง?

โค้ชตั้มกล่าวว่าถ้าเรื่องพร้อมทุกอย่าง ทีมชายน่าจะได้ลง Tour de Langkawi (มาเลเซีย) Tour of Thailand และ Tour of Taiwan ในช่วงต้นปีนี้

ใครเป็นสปอนเซอร์ทีม?

เบื้องต้นทีมยังไม่มี title sponsor ในแบบโมเดลที่โปรทีมอาชีพใช้กัน โค้ชตั้มออกความเห็นว่ามันอาจจะเป็นโมเดลที่ไม่ยั่งยืนที่ให้ธุรกิจใหญ่มาเป็นสปอนเซอร์ เพราะก็มีการเปลี่ยนแปลงสปอนเซอร์กันตลอด เมื่อสปอนเซอร์เปลี่ยน แล้วทีมหาสปอนเซอร์ใหม่ไม่ได้ นักปั่นก็อาจจะตกงานเหมือนที่เราเห็นในวงการโปรทัวร์ทุกปี  ไม่เหมือนสโมสรฟุตบอล ที่มีชื่อสโมสรชัดเจน ไม่เปลี่ยนไปตามสปอนเซอร์  ซึ่งมีหน้าที่เข้ามาอัดฉีดทีมเฉยๆ มีความยั่งยืนกว่าทั้งทางอัตลักษณ์และธุรกิจของทีม

อย่างไรก็ดี ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทีมจักรยานอาชีพต้องเจอเหมือนกันทั้งโลกครับ เป้าหมายคือตอนนี้ปั้นทีมไปก่อน เบื้องต้นทีมมี Specialized เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์

ในอนาคตก็ยังคงต้องหาผู้สนับสนุนทีมต่อไป แต่ตอนนี้อยากโฟกัสไปที่การจัดการทีมให้เรียบร้อยและส่งนักปั่นลงแข่งขันก่อนเลยตั้งชื่อทีมเป็นกลางๆ ไว้

โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับวงการนักปั่นไทยครับ ติดตามผลงานทีม Thailand Continental Cycling Team กันต่อไป ถ้ามีข้อมูลคืบหน้าอย่างไร Ducking Tiger จะรายงานให้ฟังแน่นอนครับ

* * *

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *