มีเงินแต่ไม่มีไอเดีย? Top 10 อุปกรณ์เสือหมอบที่น่าอัปเกรด!

เชื่อว่าทุกคนที่หลงรักการปั่นจักรยานเสือหมอบไม่ได้ชอบแค่ด้านการออกกำลังกายอย่างเดียวแน่ๆ ครับ เรื่องการแต่งเติม อัปเกรดจักรยานก็เป็นจุดสำคัญที่มีผลต่อทั้งความรู้สึกและประสิทธิภาพ ใครๆ ก็อยากปั่นจักรยานรุ่นใหม่ที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินซื้อรุ่นล่าสุดกันได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้นมาดูกันดีกว่าว่าอัปเกรดอุปกรณ์ส่วนไหนบนเสือหมอบคันเก่าของเราจะช่วยให้มันกลับมาปั่นได้ดีเหมือนเพิ่งถอยออกจากร้าน

1. ล้อ

ใครที่ซื้อจักรยานแบบ completed bike ประกอบเสร็จทั้งคันมาแล้วคงพอรู้ว่าล้อที่ติดมากับรถนั้นมักจะเป็นรุ่นเริ่มต้นที่มีน้ำหนักมาก และความสติฟ การตอบสนองแรงอาจจะไม่ดีเท่ารุ่นที่แพงกว่าเท่าไร แน่นอนว่าในตลาดล้อมีตัวเลือกเยอะ ทั้งล้ออลูมินัม ล้อคาร์บอน ขอบสูง ขอบต่ำ ขอบปานกลาง จนเลือกยากไปหมด มีตั้งไม่กี่พันบาทไปจนถึงหลายแสนบาท แล้วเราจะเลือกยังไงดี?

4. Wheel

ถ้ายังไม่แน่ใจก็ควรเริ่มจากกำหนดงบประมาณก่อน แล้วดูประเภทการใช้งานของเราเป็นหลัก งบจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะซื้อล้อวัสดุประเภทไหนได้ ถ้าเน้นปั่นขึ้นเขาบ่อยๆ ล้อเบาๆ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะน้ำหนักที่เบาลงก็ช่วยเบาแรงในการสู้กับแรงโน้มถ่วงได้ดีขึ้น ส่วนใครที่เน้นปั่นทางราบ ล้อคาร์บอนขอบสูงราวๆ 50 มิลลิเมตรก็จะช่วยประหยัดพลัง ตัดลมได้ดีทีเดียว

แต่ถ้าสองจิตสองใจก็ยังมีออปชันล้อขอบสูงปานกลางหรือ Medium Profile ที่สูงราวๆ 35–40 มิลลิเมตร ก็จะน่าจะใช้งานได้ครอบคลุมทุกสภาพสนาม

ล้อคาร์บอนหรืออลู? เป็นคำถามโลกแตก แต่โดยส่วนตัวผมแนะนำว่าถ้าเพิ่งจะเริ่มปั่น ให้มองล้ออลูดีๆ ราคาไม่สูงมากก่อน เพราะอะไร? ล้ออลูมินัมทน ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องห่วงมากว่าจะแตก ร้าวเวลาตกหลุม และการเบรคทำได้ดีกว่าล้อคาร์บอนทุกประเภท ในทุกสภาพอากาศโดยเฉพาะเวลาที่ฝนตก ขอบเบรคอลูมินัมจะทำงานดีกว่า ล้อดีๆ จะขายต่อราคาก็ไม่ตก

Shamal Mille ได้ลุคสีดำเหมือนล้อคาร์บอนเลยทีเดียว (คลิกเพื่อดูรูปใหญ่)

เมื่อเก็บประสบการณ์ได้สักหน่อย อยากจะเริ่มแข่งจริงจัง เริ่มหาความได้เปรียบจากอุปกรณ์แล้วจะอัปเกรดไปล้อคาร์บอนก็ยังไม่สายเกินไปครับ ผมเชื่อว่าล้ออลูมินัมดีๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่นการเบรค การออกเร่ง และการบังคับรถ (ไม่ต้องห่วงเรื่องลมตีข้าง) ได้ดี ซึ่งทักษะเหล่านี้จะมีประโยชน์มากเมื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์เฉพาะทางอย่างล้อคาร์บอนขอบสูงในภายหลัง

2. สายเบรค/ สายเกียร์

3. Cable

เป็นออปชันอัปเกรดที่หลายๆ คนอาจจะมองข้าม แต่มีผลต่อการใช้งานมากกว่าอย่างอื่นแบบเห็นชัด รู้สึกได้จริง โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนมันมานานหลายเดือน สายเบรค/เกียร์มีผลต่อความแม่นยำ และความลื่นไหลในการกดก้ามเบรค บางคนที่ทิ้งไว้นานๆ จนสนิมขึ้นแล้วฟีลลิงการเบรคก็จะฝืด กระด้าง เป็นอัปเกรดที่ราคาไม่แพงแต่ได้ผลดี

3. ใบจาน

ในวิดีโอ GCN แนะนำเรื่องใบจานรี ที่หลายๆ คนนิยมใช้อย่าง Rotor หรือ Osymetric ในทางทฤษฏี ใบจานรีจะช่วยให้เราออกแรงปั่นเฉลี่ยได้ดีขึ้น ช่วยลบจุด deadspot ที่กล้ามเนื้อเราไม่ได้ออกแรงกดหรือดึงบันได แต่ก็มีข้อเสียตรงที่การเปลี่ยนเกียร์และโซ่อาจจะไม่แม่น 100% เหมือนเดิม รวมถึงปัญหาโซ่ตกที่พบเจอได้บ่อย

Osymetric

ใบจานและชุดขาจานบางรุ่นอย่าง Rotor 3D+ ก็อาจจะมีน้ำหนักเบากว่าชุดที่มากับกรุ๊ปเซ็ตด้วย ถ้างบไม่ถึงพร้อมจะจัดทั้งชุดขาและใบจาน บริษัทพวกนี้ก็มีใบจานแยกขายต่างหากในราคาไม่กี่พันด้วยครับ

4. เบาะ

ผู้ผลิตมักจะเลือกเบาะติดรถที่คิดว่าคนซื้อส่วนใหญ่จะนั่งได้สบายที่สุด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะนั่งสบายเพราะสรีระก้นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เบาะเลยเป็นอะไหล่ชิ้นเดียวบนจักรยานที่ราคาแพงกว่าไม่ได้ดีกว่าเสมอไป เพราะรูปร่างมันอาจจะไม่เข้ากับก้นเราก็ได้ ถามว่าจะเลือกยังไง? DT เคยเขียนบทความไว้แล้ว ลองไปอ่านกันได้ครับ ( เลือกเบาะจักรยานอย่างไรให้สบายก้น?)

Fizik-Custom-Saddles-7841-1024x682

เบาะที่แพงก็มักจะมีน้ำหนักเบา ใช้วัสดุที่ดีกว่าอย่างรางไทเทเนียม หรือคาร์บอน หน้าตาก็อาจจะดูดีมีชาติตระกูลกว่าเบาะราคาถูก ถ้างบถึง และเบาะนั่งสบายก็เป็นทางเลือกในการอัปเกรดที่ดีทีเดียว

5. ยางนอก

ยางนอกน่าจะเป็นจุดที่หลายคนมองข้าม แต่อยากบอกว่ามันเป็นส่วนที่มีผลต่อความรู้สึกในการปั่นยิ่งกว่าคุณลักษณะของเฟรมเสียอีก ยางนอกเกรดดีนอกจากจะเกาะพื้นถนนได้ดีเยี่ยมกว่ายางที่แถมมากับล้อติดรถแล้วยังมีน้ำหนักเบากว่าและแอโรกว่าด้วย

gp-4000s

อีกจุดเด่นของยางคุณภาพดีคือค่า Rolling Resistance หรือค่าแรงเสียดทานกับพื้นถนนจะต่ำ ทำให้ทำความเร็วได้ดีขึ้น ยางนอกที่ค่าแรงเสียดทานต่ำๆ บางรุ่นจะมีหน้ายางที่บางมาก (เร็วแต่ไม่ทน รั่วง่าย) เห็นราคายางดีๆ แล้วอาจจะช๊อคเล็กน้อย แต่มันได้ผลดีกว่าเปลี่ยนอุปกรณ์ราคาแพงอย่างอื่นเสียอีก

6. คอมพิวเตอร์จักรยาน

คอมพิวเตอร์ติดจักรยานก็มีให้เลือกตั้งแต่ราคาถูกจนถึงหลายหมื่น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ แต่ถ้าใครอยากจะเริ่มซ้อมจริงจัง อย่างน้อยๆ มีคอมพิวเตอร์ที่รองรับการวัดค่าหัวใจและรอบขาน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ อย่างน้อยก็แม่นยำกว่าวัดด้วยความรู้สึก และทำให้เราพัฒนาการปั่นได้เร็วขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อใช้กับคอร์สฝึกซ้อม

Garmin EDGE 810 & EDGE 510

คอมพิวเตอร์รุ่นที่ราคาสูงขึ้นก็จะมีฟีเจอร์มากตามไปด้วย เช่นรองรับระบบ GPS สามารถนำทาง หรือบันทึกเส้นทางการปั่นของเรา พร้อมความเร็ว หัวใจ กำลังวัตต์ รอบขา อุณหภูมิ ระดับความชันของภูเขาเป็นต้น ซึ่งก็มีประโยชน์ดีเมื่อใช้คู่กับซอฟต์แวร์วิเคราะห์การปั่นอย่าง Strava หรือ Garmin Connect เป็นอีกหนึ่งมิติความสนุกในการปั่นจักรยาน คอมพิวเตอร์แบบนี้ก็มีราคาตั้งแต่ 5 พันไปจนถึง 2 หมื่นบาท

7. รองเท้าและบันได

ถ้าคุณซื้อเสือหมอบได้ไม่นาน บันไดที่ติดมากับรถอาจจะไม่ใช่บันไดแบบคลิปเลสที่ล๊อกรองเท้าเข้ากับบันได ข้อดีของรองเท้าและบันไดประเภทนี้คือจะช่วยให้ออกแรงปั่นได้ดีขึ้น ทั้งจังหวะกดและดึง ถ้าคิดจะปั่นจริงจังยังไงก็เป็นส่วนแรกที่ควรจะซื้อ บันไดมีหลายยี่ห้อหลายประเภท (วันหลังจะมาบอกข้อดี ข้อด้อยของแต่ละยี่ห้ออีกที) แต่อะไหล่ของ Shimano และ Look ก็จะหาซื้อง่ายกว่าแบรนด์เฉพาะกลุ่มอย่าง Speedplay หรือ Time

Comparison_big

บันไดที่ราคาสูงก็จะใช้วัสดุที่เบาและหรูหรากว่ารุ่นถูก และอาจจะใช้ลูกปืนหรือสปริงคุณภาพดีกว่า แต่เรื่องฟังก์ชันการใช้งานไม่ได้ต่างกันมาก เลือกซื้อบันไดที่ใช้ได้ ทนทาน ไม่ต้องหรูหรามาก แล้วแบ่งเงินมาอัปเกรดรองเท้าปั่นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า รองเท้าปั่นที่ดีนอกจากจะมีพื้นรองเท้าแข็ง ตอบสนองการปั่นได้ดีแล้ว ยังนิ่มใส่สบายและทนทาน จะปั่นได้สนุกหรือไม่สนุกก็อยู่ที่ความสบายของรองเท้านี่หละครับ

8. แฮนด์/ สเต็ม

ขนาดและระยะของแฮนด์ และสเต็มที่ติดมากับรถ completed นั้นส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางๆ ไม่สั้นหรือยาวเกินไปเพื่อให้คนส่วนใหญ่ใช้ได้ แต่ถ้าอยากจะปรับให้รถเข้ากับสรีระการปั่นของเราจริงๆ ก็ควรจะเปลี่ยนอะไหล่สองชิ้นนี้เป็นอันดับแรกๆ บางทีแฮนด์อาจจะอ้วนเกินไม่พอดีมือ กว้างเกิน หรือระยะดรอป (แฮนด์ล่าง) ลึกเกิน ก็ทำให้เราต้องก้มมากจนปวดหลังปวดคอ สเต็มก็เช่นกัน ความยาวของสเต็มมีผลต่อท่านั่งปั่นของเราพอสมควร ปรึกษาร้านค้าหรือลองทำฟิตติ้งจะได้รู้ว่าเราต้องใช้แฮนด์ และสเต็มขนาดไหน

Cockpit 3T

เช่นเดียวกับอุปกรณ์จักรยานอื่นๆ แฮนด์และสเต็มรุ่นที่แพงๆ ก็จะมีน้ำหนักเบาและใช้วัสดุคาร์บอน ข้อดีของแฮนด์คาร์บอนคือช่วยซับแรงกระแทกได้ดีกว่าแฮนด์อลูมินัมแต่ก็ต้องแลกด้วยค่าตัวที่สูงกว่าหลายเท่า

9. พาวเวอร์มิเตอร์

สำหรับคนที่ตั้งใจจะปั่นเพื่อแข่งขันอย่างจริงจัง (และงบถึง) พาวเวอร์มิเตอร์ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยวัดขีดความสามารถการปั่นเราได้ชัดเจนที่สุด ข้อดีของมันคือตัวแปรภายนอกอย่างสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความเหนื่อยล้าจะไม่มีผลต่อค่าวัตต์เลย ในขณะที่ค่าหัวใจนั้น บางครั้งถ้าอากาศร้อนมากๆ หัวใจเราก็อาจจะเต้นสูงกว่าปกติ ไม่ได้สะท้อนศักยภาพการปั่นของเราอย่างชัดเจนเหมือนค่าวัตต์ มีแรงปั่นได้เท่าไร พาวเวอร์มิเตอร์ก็จะโชว์ให้เราเห็นชัดเจน

2. SRM

อย่างไรก็ดีพาวเวอร์มิเตอร์มีราคาสูง (อย่างๆ น้อยๆ ก็ 30,000++ ต่อหนึ่งชุด) ถามว่าจำเป็นและคุ้มหรือเปล่าก็อยู่ที่เป้าหมายการปั่นและงบประมาณของคุณ อย่าลืมว่าซื้อพาวเวอร์มิเตอร์มาแล้วก็ควรจะใช้ซ้อมให้เหมาะสม ซึ่งถ้าทำเองไม่มีโค้ชก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมพอสมควร ถ้าซื้อมาแค่ดูเลขวัดพลังเฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์ครับ หนักรถเปล่าๆ

10. ล้างจักรยานสักหนนะ!

เห็นรถสวยๆ ของคนอื่นก็อาจจะก่อกิเลสจนเราอยากจะถอยรถและอุปกรณ์ใหม่ตามไปด้วย แต่เราดูแลจักรยานของเราดีหรือยัง? จักรยานที่สะอาดและได้รับการดูแลเป็นประจำจะทำงานได้ดีกว่ารถเก่าๆ ฝุ่นเกรอะกรัง โซ่ดำปี๋ สายเกียร์สนิมขึ้นแน่นอน เป็นอะไรที่เราไม่ต้องเสียเงินอัปเกรด แถมทำเสร็จแล้วก็เหมือนซื้อรถใหม่ทั้งคันอีกด้วย ☺

DSCF0378

ถ้าไม่อยากจะล้างทำความสะอาดบ่อยๆ ก็หมั่นเช็ดจักรยานหลังใช้งานครับ

Published
Categorized as Machine

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *