Bike Fitting สำคัญแค่ไหน?

2 สัปดาห์ก่อน….

ผมไม่เคยมือชาจากการปั่นจักรยาน….

จะปั่นนานทั้งวัน หรือทางไกลแค่ไหน ถนนแย่ยังไง ก็ยังไม่เคยครับ

จนถึงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา….ที่ผมซื้อจักรยานใหม่

จักรยานคันนนี้คือ Canyon Aeroad CF SLX 8.0Di2 จักรยานแอโรจากค่ายเยอรมัน ได้ของมาปุ๊บ ก็ไม่รอช้า ผมยกจักรยานไปทำฟิตติ้งกับช่างที่คุ้นเคย ถอดระยะต่างๆ จากที่เคยใช้ในรถคันเก่าที่ฟิตติ้งไว้ดีขี่สบายมากแล้วมาใช้กับเจ้า Aeroad ทันที

ฟิตเสร็จก็ลองเอาไปออกปั่นครับ ปั่นซ้อมธรรมดาแถวบ้าน 1-2 ชั่วโมง และปั่นไกลๆ 7-8 ชั่วโมง ลองเช็คอาการ ฟีลลิ่งรถใหม่สักหน่อย (เห่อของใหม่นั่นหละฮะ) แต่แหม่ สื่อต่างประเทศทุกค่ายยกให้ Aeroad CF SLX เป็นหมอบแอโรที่ฟีลลิ่งนิ่มไม่สะเทือนเหมือนเฟรมแอโร generation ก่อนๆ มันต้องขี่ดีสิน่า….

ระหว่างขี่ผมรู้สึกตัวว่าน้ำหนักตัวเราถ่ายมาข้างหน้าค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่ตั้งเบาะองศาเท่าๆ เดิม ระยะ reach / ก็ไม่ต่างจากเดิมนัก ปัญหาที่เกิดคือ เจ็บมือครับ! ขี่จบทริปยาวแล้วมือชาเลย เพราะน้ำหนักกดไปด้านหน้ามาก มือก็รับภาระน้ำหนักเยอะเกินที่มันเคยชิน บวกกับแฮนด์แอโร Integrated ที่ไม่ค่อยจะให้ตัวเท่าไร แฮนด์มันก็กระเทือนมากกว่าที่เคยชิน เป็นภาระให้มือมากเข้าไปอีก ทำให้การปั่นทริปยาวของผมที่กาญจนบุรีมันทรมานตั้งแต่ 60 นาทีแรก! 

นอกจากจะเจ็บมือแล้วการที่น้ำหนักเราไปลงบนแฮนด์มากเกินไปทำให้การคอนโทรลรถไม่นิ่งครับ หน้าไว ลงเขาก็เสียว เข้าโค้งก็ไวเกิ๊น!

 

ทำไม ทำไม ทำไม!

ลองสังเกตรูปเปิดบทความนี้ครับ ภาพที่คุณเห็นคือแฮนด์ Aerocockpit H11 ของจักรยานผม เป็นแฮนด์ / สเต็มแบบชิ้นเดียวทรงแอโร ซึ่ง Canyon โม้ว่าแอโร่ลู่ลมประหยัดแรง ได้ถึง 5.5 watt ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วู๊! ฟังดูดีนะ ซิ่งดี

แต่ปัญหาของแฮนด์ integrate คือ คุณไม่มีตัวเลือกมากนักในการปรับระยะต่างๆ แฮนด์​ H11 ใช้สเต็มองศาเดียวคือ -6 องศา ซึ่งผมไม่เคยขี่แฮนด์มุมกดขนาดนี้มาก่อน….ปกติขี่แต่ +6 องศา

ปัญหาที่สองคือ Canyon Aeroad มีระยะ stack สั้นและให้ระยะซางเผื่อมารองแหวนเต็มที่ได้ 4cm

  • Aeroad: headtube ยาว 110mm / Stack 512mm
  • Nich Signature: XS headtube ยาว 125mm / Stack 534mm
  • Storck Scenero G2 47: headtube ยาว 124mm / Stack 523mm)

Nich และ Storck มีระยะ stack สูงกว่า อย่าง Nich ใส่แหวนรองคอแค่ 1cm ส่วน Storck รอง 2cm (อันนี้ไม่เป๊ะนะครับ รถคืนไปหมดแล้ว)

Nichteamrace_243-2
ตอนนี้ โคตรทรมาน!

ตอนแรกผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเกี่ยวกับองศารถใหม่ คิดว่าแฮนด์มันไม่ให้ตัวเฉยๆ แฮนด์ integrated มันคงสะเทือนจนมือชาแบบนี้สินะ…. แต่ขี่ไปอีกสองสามวัน เริ่มไม่มีความสุขครับ เจ็บมือทุกวันเลยอะ! เราก็พอรู้แหละว่าน้ำหนักมันลงที่มือมากไป เราจะแก้ปัญหายังไงดี? จะเปลี่ยนผ้าพันแฮนด์มันจะช่วยสักแค่ไหนกัน เพราะปกติก็จับแต่ฮู้ดอยู่แล้ว…

เลยตัดสินใจกลับไปแก้ฟิตติ้งอีกครั้ง

 

ทางออก

ถึงร้านฟิตติ้ง ผมก็ชี้แจงปัญหาอาการเจ็บมือ (ผล) และที่น้ำหนักตัวมันดูจะมาอยู่หน้ารถมากเกินไป (เหตุ) มากกว่าที่เคยปั่นคันอื่นๆ มา

ช่างสุดหล่อก็บอกว่า สเต็มองศากดแบบนี้ องศารถแบบ ซิ่งๆ ที่ท่อคอสั้นกุด  มันมีผลทำให้ “สามเหลี่ยม”​ ของเรามันจะกว้างขึ้น (ลองนึกถึงท่านั่งปั่นเป็นสามเหลี่ยมครับ หัวคือยอดสามเหลี่ยม ก้นคือมุมซ้าย และแฮนด์คือมุมขวา) นั่นคือน้ำหนักมันก็จะลงไปที่มือและที่ก้นเราเยอะขึ้นด้วย

แล้วเราจะแก้ไขยังไงดี? อันดับแรกเลย ผมต้องทำให้น้ำหนักตัวถ่ายได้สมดุลกว่านี้ ตอนนี้น้ำหนักอยู่หน้าซะเยอะ เลยปั่นไม่สบาย เจ็บมือ กระเทือน เข้าโค้งหน้าไวชวนแหกมาก!

  • เราเลยเลื่อนเบาะมาด้านหน้านิดนึง
  • หมุนมุมเบาะเชิดขึ้นนิด เพราะตั้งแต่เซ็ตเบาะไป ผมรู้สึกว่าตัวไหลไปด้านหน้าเบาะกว่าแต่ก่อน (น้ำหนักเลยไปลงมือด้วย) ถึงจะเซ็ตเบาะองศาเดียวกับคันเก่าที่เคยขี่ก็ตาม
  • และสุดท้าย ยกหลักอานขึ้นนิดนึง (เซ็ตทีแรกต่ำไป) ทำให้ควงขาได้สบายขึ้น

ผลคือปั่นสบายเหมือนคันก่อนๆ ที่เคยฟิตแล้ว น้ำหนักไม่ได้ลงที่มือเยอะเหมือนทีแรก ก็ปั่นสบายขึ้นเยอะ

* * *

บทเรียนเรื่องฟิตติ้ง

1. ฟิตที่ดีสำคัญมาก: ถ้าจักรยานขี่ไม่สบาย ต่อให้รถคุณจะแพง จะดี จะสวยแค่ไหน เราก็คงไม่อยากขึ้นขี่ บางคนอาจจะโชคดีไม่จำเป็นต้องไปฟิตติ้ง ปรับเล็กๆ น้อยๆ ก็ปั่นได้สบาย ออกแรงได้เต็มที่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคน ส่วนตัวผมเป็นคนไม่อยากยุ่งกับเรื่องฟิตติ้งรถด้วยตัวเอง ถ้ามีคนที่รู้เยอะกว่า ประสบการณ์เยอะกว่า และทำงานฟิตติ้งเป็นอาชีพ ผมอยากใช้บริการเขามากกว่ามางมเองว่าต้องปรับระยะเท่าไรถึงจะขี่สบาย (รู้ไว้บ้างก็ไม่เสียหายน่ะนะ)

DSCF1849

2. ใครเป็นคนฟิตก็สำคัญ: การไปทำ Bike Fitting กับฟิตเตอร์นั้น จริงว่าแต่ละคนอาจจะเรียนจบมาจากสถาบันอบรมเดียวกัน หรือใช้หลักการวิทยาศาสตร์คล้ายๆ กัน แต่แนวคิด และปรัชญาการฟิตของฟิตเตอร์นั้นก็ต่างกันอยู่ครับ (จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเจอ) สิ่งสำคัญคือคุณต้องสื่อสารให้ดีว่าคุณต้องการอะไรจากการมาทำ bike fitting อยากขี่สบายได้นานๆ? อยากได้ท่าปั่นซิ่งๆ แอโร่ เพื่อการแข่งขันแบบรีดเค้นประสิทธิภาพโดยที่ไม่ทำร้ายร่างกายจนเกินไป? อยากแก้ปัญหาอาการบาดเจ็บ ติดขัด หรือเจ็บชาตรงไหนหรือเปล่า? ถ้าไม่บอกตรงนี้ให้ชัดเจนคุณก็จะไม่ได้ฟิตอย่างที่ต้องการ ฟีลลิ่งการปั่นมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ

ยกตัวอย่างเคสของผมเรื่องการตั้งเบาะ เราตั้งองศาเบาะเท่าเดิมกับคันก่อน แต่โดย geometry รถที่ไม่เหมือนกันเป๊ะทำให้น้ำหนักตัวผมถ่ายมาข้างหน้าเยอะ ก้นก็ไหลมาด้วย ฟิตเตอร์ไม่อยากหมุนเบาะขึ้นให้ผมเพราะคิดว่าเบาะมันจะไปดันกระดูก sit bone จนเกินไป ซึ่งจะทำให้ขี่ไม่สบาย แต่ผมบอกฟิตเตอร์ว่า ไม่ดันนะครับ พอเอาขึ้นแล้วผมขี่สบายกว่านะ รู้สึกน้ำหนักกลับมาสมดุลเหมือนคันเก่าแล้ว ถ้าผมไม่สื่อสารตรงนี้แล้วเชื่อฟิตเตอร์อย่างเดียวก็คงยังฟิตได้ไม่ลงตัว สรีระแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะงั้นตัวคนไปรับการฟิตเองก็ต้องหัดสังเกตร่างกายและสื่อสารให้ชัดเจนนะครับ

3. เครื่องมือฟิตติ้งไม่ใช่ทุกอย่าง: สมัยนี้เห็นหลายๆ ร้านจักรยานโฆษณาเครื่องมือทำ Bike Fitting ราคาเฉียดล้านที่อ้างสรรพคุณการปรับแต่งต่างๆ นาๆ แต่สำหรับผู้บริโภค ผมอยากแนะนำว่า เครื่องมือที่เราเห็นมันเป็นครึ่งเดียวของสมการครับ เครื่องมือจะดีแค่ไหนถ้าช่างไม่มีประสบการณ์ ก็ยากที่จะได้ฟิตที่ดี ถ้าต้องเลือกระหว่างร้านที่เปิดใหม่ เพิ่งไปอบรมพร้อมซื้อเครื่องฟิตราคาแพงมา กับร้านที่อาจจะไม่มีเครื่องมือหวือหวา แต่ช่างประสบการณ์มาก มีชื่อเสียง เป็นที่แนะนำต่อๆ กันมา ว่าฟิตแล้วดี ส่วนตัวผมอยากเลือกแบบหลังมากกว่าครับ

เทียบกันง่ายๆ ถ้าผมต้องจ้างช่างกล่องไปถ่ายงานนิตยสาร มีตัวเลือกระหว่างช่างภาพมือสมัครเล่นแต่มีอุปกรณ์ครบราคาแพง กับช่างภาพอาชีพชั่วโมงบินสูง พอร์ทโฟลิโอ้เป็นที่ยอมรับ แต่อุปกรณ์ดีแค่ระดับหนึ่ง ผมก็คงเลือกอย่างหลังโดยไม่ต้องคิดมาก

4. จะซื้อจักรยานใหม่ดู Geometry ให้ดี: Canyon Aeroad เป็นจักรยานแข่งขัน… Canyon บอกชัดเจนว่า คันนี้มัน pro geometry นะยู คอมันต่ำนะ ท่อนอนมันยาวนะ แฮนด์แอโรสเต็มมันองศากดนะ ดรอปก็ลึกด้วย  ยูต้องแข็งแรง ต้องมีความยืดหยุ่นนะถึงจะขี่ได้ดี!

อืมมมม…..

DT ไม่แคร์! ซื้อเลย คอต่ำ สเต็มเกือบขนานพื้น ซิ่ง เท่ห์ดี!

Screen Shot 2558-09-14 at 3.26.30 PM

…ก็เมื่อยหลังเมื่อยคอไปหลายวัน…

ปกติปัญหาของผมที่น้ำหนักมือลงหน้าเยอะ แก้ไม่ยากครับ ใส่แหวนรองคอให้สูงขึ้น หรือพลิกสเต็มก็จบแล้ว…แต่! Canyon ให้ระยะซางมาสั้น ใส่แหวนรองคอจนหมดแล้วก็ยังไม่พอสำหรับร่างกายที่ยังไม่ค่อยยืดหยุ่นและไม่ค่อยแข็งแรงของผม สเต็มกลับด้านไม่ได้ รถแบบนี้มันแก้ไขอะไรมากไม่ได้ (ใครจะซื้อรถที่ integrate อุปกรณ์ต่างๆ เยอะๆ ดูดีๆ นะครับ) เพราะเขาตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานในลักษณะซิ่งๆ แข่งขันทำความเร็ว ถ้าจะให้ซางมายาวๆ ใส่แหวนสูงๆ สมดุลรถ handling ฟีลลิงก็จะเสียไปจากที่ออกแบบ

เช่นนั้นแล้วตอนซื้อรถใหม่ก็ต้องดูให้ดีว่ามันเหมาะกับโจทย์การใช้งานของเรามั้ย ผมยังชื่นชอบการขี่เร็วๆ การแข่งขันอยู่ ก็ยอมรับได้ว่า Canyon มันคงไม่ได้ขี่สบายๆ นักหรอก ก็มันออกแบบมาเพื่อแข่งขัน ให้ไปได้ไวนี่ ไม่ได้ใช้กินลมชมวิว

5. ฟิตใครฟิตมัน: สรีระร่างกายแต่ละคนไม่มีใครที่เหมือนกัน การออกแรงปั่นจักรยานนั้นดูเผินๆ เป็นการออกแรงไม่กี่ส่วน แต่ท่วงท่าทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงกันหมด แม้แต่ส่วนที่เราไม่ได้ใช้ออกแรง ไม่แนะนำให้เซ็ตรถตามคนอื่นหรือตามโปรครับ

สำหรับ Canyon คันนี้ เทสต์เสร็จแล้วเป็นยังไงจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *