ทอม ซิมพ์สัน แชมป์อังกฤษผู้เสียชีวิตบนยอดวองตู

เรื่องราวของนักกีฬาชื่อดังระดับตำนานแทบทุกคน ถูกจารึกไว้ด้วยความสำเร็จและผลงานการแข่งขันมากมายในเวทีระดับโลก แต่จะมีสักกี่คนที่โลกจดจำเขามิใช่ด้วยความสำเร็จ แต่เป็นความตายและการสูญเสีย

“แบกผมขึ้นจักรยานเดี๋ยวนี้” คือคำสั่งของทอม ซิมพ์สันฮีโร่นักปั่นชาวอังกฤษที่โด่งดังในยุค 1960s 13 เขากำลังแข่งอยู่ในรายการ Tour de France ในวันที่ 13 กรกฏาคม 1967 ระหว่างทางขึ้นเขา มอง วองตู หนึ่งในภูเขาที่สูงชันที่สุดในการแข่งขันที่สูงกว่า 2,000 เมตร

เขาหมดสติล้มลงจากจักรยาน ท่ามกลางแสดงแดดแผดเผาและอุณหภูมิที่สูงกว่า 45 องศาเซลเซียส

ซิมพ์สันเป็นเสมือนเสาหลักของนักปั่นอังกฤษในแวดวงการแข่งขันจักรยานที่เต็มไปด้วยชาวยุโรป และผิดกับยุคสมัยนี้ที่นักปั่นอังกฤษโด่งดังมากความสามารถ ห้าสิบปีก่อน นักปั่นชาวอังกฤษเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในเวทีการแข่งขันระดับโลก

ด้วยหัวใจนึกสู้และนิสัยดื้อไม่ยอมแพ้ ถึงโชคชะตาและสถานการณ์จะไม่เข้าข้าง เขาท้าทายคำปรามาสของเพื่อนนักปั่นอาชีพด้วยการคว้าแชมป์สนามใหญ่หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นมิลานซานเรโมและทัวร์ออฟแฟลนเดอร์ ซึ่งเป็นรายการใหญ่และทรงเกียรติที่สุดในแต่ละปีการแข่งขัน และยังเป็นชาวอังกฤษคนแรกที่คว้าเสื้อเหลืองในตูร์ เดอ ฟรองซ์ จนได้รับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปีจากสำนักข่าว BBC ซ้ำยังเป็นแชมป์โลกจักรยานถนนในปี 1965 อีกด้วย

ไม่ใช่แค่ชาวอังกฤษที่ชื่นชมในตัวซิมพ์สัน แต่ชาวฝรั่งเศสก็หลงไหลความดันทุรัง ดื้อดึงอยากจะเอาชนะคู่แข่งของเขาจนยกย่องให้เป็นฮีโร่นักปั่นอีกคนของประเทศ

แต่ซิมพ์สันเคลื่อนตัวไปได้อีกเพียง 500 เมตร เขาก็ล้มลงอีกครั้ง หลายคนเชื่อว่าเขาเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนตัวจะล้มถึงพื้น แพทย์ประจำสนามรีบเข้าตรวจอาการ แต่ก็ดูจะสายเกินไป เขาเสียชีวิตกลางสนามแข่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก บนภูเขาที่ท้าทายที่สุดในการแข่งขันด้วยวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น

mort-de-tom-simpsontom-simpson-

มันคือเรื่องราวการเสียชีวิตกลางสนามแข่งที่โด่งดังที่สุดจนถึงทุกวันนี้ ซิมพ์สันเป็นเสมือนผู้บุกเบิกยุคแรกของนักปั่นอาชีพอังกฤษที่ออกไปค้าแข่งในยุโรปแผ่นดินใหญ่ และเป็นนักปั่นอังกฤษที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้

แต่ชีวิตของซิมพ์สันก็เป็นกระจกสะท้อนถึงด้านมืดของวงการจักรยานอาชีพได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่เขาเสียชีวิตนั้นไม่ใช่เพราะร่างกายอ่อนแอหรือดันทุรังแข่งจนเหนื่อยเกินขีดจำกัดของร่างกาย แพทย์ตรวจพบสารแอมเฟตามีนและแอลกอฮอล์ในร่างกายของเขาเป็นปริมาณมากหลังการเสียชีวิต ซึ่งเมื่อรวมเอาสารเคมีทั้งสองกับเส้นทางสุดหฤโหดและอากาศร้อนจัดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้นักกีฬาคนหนึ่งเสียชีวิต

เรื่องการใช้สารโด้ปของนักปั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ ยุค 60 และ 70s เต็มไปด้วยข่าวฉาวและข่าวลือเกี่ยวกับใช้สารกระโด้ปของนักปั่นชื่อดังหลายคน ด้วยเพราะยังไม่มีหน่วยงานที่จริงจังกับการตรวจจับสารโด้ปและเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ดีพอจะเช็คได้ การตายของซิมพ์สันเป็นอุทาหรณ์ให้นักปั่นรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะแข่งอย่างไม่ซื่อ

มันไม่ใช่แค่ความต้องการจะเป็นที่หนึ่งในสนามอย่างเดียวที่ทำให้เขาโด้ป แต่ซิมพ์สันแบกรับความกดดันหลายด้าน ในปี 1962 เขากลายเป็นชาวอังกฤษที่มีผลงานใน Tour de France ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าอันดับ 6 แต่อาการบาดเจ็บและป่วย ทำให้เขาแข่งได้ไม่เต็มที่ในปีต่อๆ มา ซิมพ์สันตั้งใจไว้ว่าปี 1967 ที่เขาเสียชีวิตจะเป็นปีชี้ชะตา เพราะในอีกด้านหนึ่ง เขาต้องแบกรับภาระการเงินที่เพิ่งจะดาวน์บ้านหรูในเมืองคอร์ซิก้าและรถเมอร์เซเดสขั้นใหม่ ด้วยหวังว่าผลงานแข่งยอดเยี่ยมจะนำมาซึ่งรายได้ที่จะมาชำระสมบัติเหล่านี้

tom-simpson-tdf

ซิมพ์สันไม่ใช่นักปั่นที่ร่ำรวย เขาเป็นลูกชาวเหมืองจากเมืองเดอรแรม เขาเติบโตท่ามกลางความยากจนและชีวิตที่แร้นแค้น

ก่อนซิมพ์สันจะเริ่มไต่ภูเขามง วองตูในปี 1967 สัญญาณไม่ดีเริ่มปรากฏชัด แพทย์ประจำทีมบอกเขาว่าเขาควรจะถอนตัวจากการแข่งขัน เหมือนกับสองปีก่อนหน้าที่เขาไม่สามารถแข่งได้จนจบ นอกจากเขาจะอยู่ในสภาวะขาดน้ำจากอาการท้องเสียในสเตจก่อนหน้าแล้ว หน้าตาเขายังดูอิดโรย ไม่พร้อมจะลงแข่ง

ซิมพ์สันที่แบกรับความกดดันหลายอย่างตัดสินใจลงแข่งต่อ และถึงแม้เขาจะล้มระหว่างทางขึ้นเขาไปหนึ่งครั้ง แต่นักปั่นคนอื่นๆ กลับคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติ เพราะซิมพ์สันโด่งดังด้วยการผลักดันตัวเองไปจนถึงขีดจำกัด เขาไม่ใช่คนที่จะยกธงขาวยอมแพ้ หลายครั้งที่เขาแข่งจนหมดแรงล้มไป แล้วลุกขึ้นมาแข่งต่อ ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างอะไรกับครั้งก่อนๆ

Simpson-1962-time-trial-TdF2

แต่แอมเฟตามีนที่ซิมพ์สันแอบทานเข้าไปก่อนนั้นไม่ได้ช่วยให้เขาปั่นได้ดีขึ้น กลับกัน มันปิดบังความเหนื่อยล้าและทำให้ผู้เสพคิดว่าตัวเองสามารถต่อสู้ได้มากกว่าที่ร่างกายทนไหว เมื่อรวมกับบรั่นดีและโค้กที่เขาดื่มเข้าไปล่วงหน้า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทำให้เขาหมดสติ เส้นทางขึ้นเขา 21 กิโลเมตรและความชันเฉลี่ยอย่างน้อย 8% ตลอดระยะการไต่ยิ่งทำให้สถนการณ์ย่ำแย่

เรื่องราวชีวิตของซิมพ์สันเป็นบทเรียนสำคัญให้นักปั่นรุ่นหลังได้ระลึกถึงอันตรายจากความโลภ แรงกดดันและแน่นอนที่สุด การใช้สารต้องห้าม ถึงเขาจะเป็นนักปั่นความสามารถสูง และมีความอดทนยิ่งกว่าใคร แต่มันก็บ่งบอกถึงสังคมการแข่งขันจักรยานอาชีพในยุโรปสมัยก่อนที่ไม่ต่างอะไรกับบ้านป่าเมืองเถื่อน ไร้ซึ่งการคุมกฏ และเดิมพันกันด้วยชีวิต

ปัจจุบันมีอนุสรณ์สถานที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของซิมพ์สัน อยู่ไม่ไกลจากจุดที่เขาล้มเสียชีวิตบนมอง วองตู ซึ่งนักปั่นที่ได้ไปท้าทายตัวเองบนเขาลูกนี้ก็แวะไปเยี่ยมเยียนทำความเคารพอยู่เรื่อยๆ ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *