100 กิโลเมตรวันนี้ กับ 100 กิโลเมตรเมื่อห้าปีที่แล้ว

สุดสัปดาห์ที่แล้วที่สนามเจริญสุขมงคลจิต มีการนัดดวลสาธารณะระหว่างแบรนด์เสื้อผ้าชุดปั่นดัง Concept Speed และ Babici พร้อมมีทีม Woodland อันเลื่องชื่อเรื่องความทรงพลังมาช่วยลาก เรียกว่าต้องมีตายกันไปข้าง เมื่อจะได้เสียกันแบบนี้มีหรือเราจะพลาด!?

เขานัดกันว่าจะปั่นสามรอบ รอบแรกวอร์มๆ หน่อย (แต่ทำไมไมล์ขึ้นเลข 40+ ตลอดเลย!?) รอบสองและรอบสามถึงจะรบราฆ่าฟันกัน ผมก็ขี่ไปด้วย ไม่ได้ขึ้นไปช่วยนำอะไรหรอก ไม่มีแรง แค่ตามก็เหนื่อย แล้ววันนั้นลมแรงทุกทิศช่วงลมส่งมีนิดเดียว ปั่นกันจบสามรอบไม่ถึงสองชั่วโมงดี แต่วันนั้นแดดไม่แรง ผมเลยออกไปปั่นรอบที่สี่กับเพื่อนอีกคน รวมๆ ระยะทางก็ 94 กิโลเมตร ไม่ได้ขี่ช้ามากประมาณโซน 3 พอตึงๆ จนถึง 5 โลสุดท้าย รู้ตัวว่าพลังหมดแล้ว หิว ก็ผ่อนคูลดาวน์ไป

เป็นวันที่ใช้พลังงานไปเยอะอยู่เหมือนกัน ผมไม่รู้ว่ากี่แคลอรีเพราะพาวเวอร์มิเตอร์แบตหมด (SRM จะเปลี่ยนแบตทีต้องส่งไปต่างประเทศ วุ่นวายมาก) แล้วไมล์ SRM PC8 นี่มันคำนวนแคลอรีจากวัตต์อย่างเดียว แต่ก็น่าจะเยอะแหละ ถึงจะอยู่ในกลุ่มแต่ก็ปั่นกันเร็วอยู่ พี่แจ็คทีม Woodland ขึ้นมาลากทำเซ็ตทีละ 10 นาที ช่วงทำเซ็ตตามลมนี่ความเร็วไหลไปเกือบ 50 เราก็นึกได้ว่าเออ ก่อนปั่นวันนี้เรากินขนมปังแผ่นเดียว เฮ้ยนี่ปั่นมาเกือบร้อยโลเลยเหรอ น้ำเปล่าสองขวดที่ติดรถไปก็กินไม่หมด

มันทำให้นึกถึงร้อยโลเมื่อห้าปีก่อน ที่รู้สึกจะกินข้าวไปสามจานก่อนจะปั่นจบและเครื่องดื่มอีกมากมาย กลับมาบ้านยังกินต่ออีก แล้วพักไปอีกสามวันถึงจะกลับมาปั่นใหม่

จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคนที่ปั่นมานานก็น่าจะเห็นจุดนี้ทุกคน แต่เป็นเรื่องที่ผมไม่เคยสังเกตมากกว่า ถ้าเราปั่นไปเรื่อยๆ ร่างกายมันก็เรียนรู้ที่จะใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ แล้วปีนี้ผมปั่นน้อยมากรวมๆ แล้ว 3,000 กิโลเมตรได้ ปกติจะเฉลี่ยปีละ 7,000-8,000 โล ประสิทธิภาพโดยรวมน่าจะตกกว่านี้ แต่กลับไม่รู้สึกว่าฟิตน้อยลง ทรงๆ ตัวแต่ไม่มากขึ้น (ซึ่งก็สมเหตุสมผลกับที่ไม่ค่อยได้ปั่น)

เรื่องการใช้พลังงานได้ประหยัด มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือเราสนิทกับร่างกายตัวเองมากขึ้น ผมพอจะจับได้ว่าที่ความหนักที่กำลังปั่นอยู่ ร่างกายเรามันใช้รอบขาประมาณไหน ความเร็วน่าจะสักเท่าไร และหัวใจเต้นกี่ตุบ พอชำเลืองไปมองไมล์ก็ใกล้เคียงกับที่คิดไว้ทุกครั้ง ถึงตอนนี้ไมล์จะไม่โชว์รอบขา แต่ก็ไม่ได้สนใจมากนัก เพราะพอจะเดาได้ว่ามันใช้กี่รอบ มันเยอะไปหรือน้อยไป นี่คือในบริบทของคนที่ไม่ได้ซ้อมจริงจังอะไรนะครับ ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องขี่เป็นเซ็ตล็อกรอบ ความเร็ว วัตต์หัวใจ เลยไม่ได้ไปใส่ใจข้อมูลมากนัก

สิ่งที่ดีที่สุดคือพอร่างกายมันรู้จักตัวเองดีระดับหนึ่งแล้ว ผมเริ่มมองออกไปข้างนอกมากขึ้น ผมสนุกมากขึ้น ผมสังเกตคนรอบข้างมากขึ้น นึกภาพตัวเองแต่ก่อนที่เรามองแต่ตัวเอง ระแวงรถข้างหลัง กลัวหัวใจเต้นเกินโซน กลัวหลุด กลัวคนมาปาดล้อ กลัวกินไม่พอ คงเหมือนถ้ากำลูกไก่ไว้คงตายคามือ เดี๋ยวนี้ลูกไก่คงออกมาเดินเล่นบนแขนบนหัวได้สบายๆ

เราไม่ได้แข็งแรงมากนักแต่เราปั่นมานานพอจะสนุกได้กับการขี่ทุกๆ รูปแบบ เดี๋ยวนี้ใครจะชวนไปไหนก็ไป ขึ้นเขา ลงเขา ปั่นสั้น ปั่นยาว ครึ่งวัน ครึ่งชั่วโมง หรือทั้งวัน ก็ไม่ค่อยถามเรื่องเส้นทางละ ว่างก็ไปหมด มันเป็นจุดที่มีความสุขดีนะ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!