สรุป 14 เทคนิคประหยัดวัตต์ด้วยแอโรไดนามิกที่โปรใช้ล่าสุดตอนนี้

ผมไม่แน่ใจว่ามีใครฟัง Podcast เกี่ยวกับเรื่องจักรยานและการฝึกซ้อมบ้างหรือเปล่า แต่หลังจากที่ติดตาม Podcast ในวงการมาหลายปี ผมว่ามีความรู้หลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการแข่งขัน อุปกรณ์ และเทคนิคต่างๆ ที่เราสามารถหยิบมาใช้ได้ เพราะเนื้อหาของ Podcast มักเป็นการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงสุดในวงการ เช่นวิศวกรผู้ออกแบบจักรยานหรืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงโค้ช นักโภชนาการ นักวิจัยที่กำลังทำงานร่วมกับนักปั่นอาชีพกันตอนนี้

แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้มีใครพูดถึงในบทความหรือวิดีโอสักเท่าไร เลยอยากจะลองทำซีรีย์ที่สรุปถอดความเนื้อหาใน Podcast ต่างๆ เก็บไว้ใช้อ้างอิงกันครับ

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Podcast มันเป็นเหมือนรายการวิทยุออนไลน์ที่เราสามารถไปตาม subscribe ช่องต่างๆ ได้ เมื่อคืนผมได้ฟัง Podcast ของช่อง Trainerroad ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโปรแกรมการฝึกซ้อมออนไลน์ใช้คู่กับเทรนเนอร์ เขาไปสัมภาษณ์คริส ยู หัวหน้าวิศวกรของ Specialized และทีมเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic)

อย่างที่หลายๆ คนทราบกัน Specialized เป็นผู้ผลิตจักรยานแบรนด์เดียวในโลกที่สร้างอุโมงก์ลมของตัวเองทำให้สามารถทดลองอุปกรณ์และนักปั่นเพื่อทดสอบความลู่ลมได้ตลอดเวล และมีประสบการณ์ด้านนี้สูงกว่าอีกหลายๆ แบรนด์

รวมๆ แล้วบทสนทนาที่เรากำลังจะดูกันคือสูตรการลดแรงต้านอากาศที่เราสามารถเอามาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งทีม Trainerroad และ Specialized อธิบายหลายประเด็นได้น่าสนใจทีเดียว ลองตามไปฟังได้ที่วิดีโอนี้ หรืออ่านสรุปได้ข้างล่างครับ

Note: เนื้อหาที่เราจะพูดถึงกันกล่าวในบริบทของการแข่งขันจักรยานที่เราต้องการเค้นเอาประสิทธิภาพจากอุปกรณ์ ถ้าเราไม่ได้ใช้จักรยานในบริบทนี้ก็ข้ามไปได้ครับ

1. ทำไมแอโรไดนามิกถึงสำคัญกับนักปั่น?

เพราะในการปั่นจักรยาน แรงต้านลมคิดเป็น 80%+ ของแรงที่เราต้องเอาชนะเพื่อให้จักรยานเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เรารู้สึกได้เวลาเราปั่นตามรถยนต์หรือคนข้างหน้าที่มีวัตถุบังลมให้เรา จะรู้สึกได้ทันทีว่าเราออกแรงน้อยลง

2. เทียบกับนักปั่นอาชีพแล้วคนธรรมดาเสียเปรียบเรื่องแอโรไดนามิกประมาณกี่วัตต์?

คำถามนี้เทียบระหว่างนักปั่นสมัครเล่นที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์แอโรแบบเต็มยศ เช่นใช้จักรยานทรง all around ชุดปั่นไม่ฟิตนัก หมวกกันน็อคไม่ได้ลู่ลม ล้อขอบต่ำเป็นต้น คริส ยูตอบว่ามองได้สองแบบ

a.) ด้านอุปกรณ์ b.) ด้านร่างกาย ซึ่งโปรได้เปรียบคนธรรมดาทั้งสองด้าน เพราะทางด้านอุปกรณ์โปรใช้อุปกรณ์รุ่นล่าสุดตลอดเวลา

และในด้านร่างกายนักปั่นอาชีพมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถปั่นในท่าที่ลู่ลมแต่ยังออกแรงต่อเนื่องได้โดยไม่รู้สึกไม่สบายตัว (ท่าปั่นลู่ลมต้องการร่างกายที่ยืดหยุ่นและแข็งแรง) รวมๆ แล้วโปรได้เปรียบด้านแอโรคนธรรมดาประมาณ 40-50+ วัตต์

3. ท่าก้มจับดรอป, ความสูงคอแฮนด์, ความกว้างแฮนด์มีผลต่อความลู่ลมขนาดไหน?

คริสตอบว่าเวลาปรับท่าปั่น มันบอกยากว่าจะประหยัดพลังได้เท่าไรแบบชัดๆ เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นสำหรับนักปั่นบางคนที่ Specialized ทดสอบ การปรับความสูงคอแฮนด์ (ระยะ stack) มักให้ผลต่างกันไป บางคนกดคอแฮนด์ต่ำก็ไม่ได้แอโรกว่าเดิม เพราะมันทำให้เขาปั่นในท่าลู่ลมสบายๆ ไม่ได้

ท่าก้มจับดรอปจะทำให้เราลู่ลมขึ้น (ประหยัดแรง) กว่าจับฮู้ดเสมอ การก้มลงจับดรอปช่วยประหยัดแรง 20-50 วัตต์เทียบกับการจับฮู้ด มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับท่าปั่นพื้นฐานของคุณ ถ้าอยู่บนฮู้ดแล้วตัวก้มต่ำลู่เป็นระนาบกับจักรยานและขี่ท่านี้ได้นานๆ เวลาก้มลงจับดรอปก็อาจจะไม่ได้ลดวัตต์ได้มากนัก

สิ่งสำคัญคือถ้าเราอยากปั่นเร็วขึ้นแบบฟรีๆ ควรจะหัดปั่นในท่าจับดรอปให้สบาย (ทำร่างกายให้แข็งแรงขึ้นและยืดหยุ่นขึ้น) ก็จะขี่เร็วกว่าปกติได้ตลอดเวลา

ส่วนการปรับความกว้างของแฮนด์ก็อาจจะไม่ช่วยลดวัตต์เสมอไป โปรนิยมใช้แฮนด์แคบกว่าความกว้างของไหล่ (ซึ่งทำให้หน้าตัดปะทะลมเล็กลง) แต่จากการทดลองของ Specialized คริสกล่าวว่าสำหรับบางคนใช้แฮนด์แคบกลับทำให้ต้องใช้วัตต์มากขึ้น เพราะมันเปลี่ยนตำแหน่งศีรษะและกระดูกสะบัก ซึ่งอาจจะขวางลมมากกว่าเดิม สิ่งสำคัญคือถ้าเราจะลดความกว้างของแฮนด์ก็ต้องปั่นได้ตำแหน่งนั้นได้สบายด้วย

4. ศีรษะเป็นอวัยวะที่กินแรงที่สุดในเชิงแอโรไดนามิก

ศีรษะของคนเราเป็นทรงกลมรี ซึ่งเป็นรูปทรงที่ความลู่ลมห่วยสุดๆ เช่นนั้นแล้วถ้าเราสามารถทำให้รูปทรงศีรษะเราลู่ลมขึ้นได้ (มันเป็นส่วนแรกที่ปะทะลม) เราก็จะประหยัดพลังในการปั่นได้มากกว่าการปรับอย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหมวกแอโรจึงประหยัดวัตต์ได้มากกว่าการเปลี่ยนมาใช้จักรยานแอโรเสียอีก คริสกล่าวว่าการก้มหัวลงต่ำให้ระนาบกับจักรยานมากขึ้นแค่นิ้วเดียวก็ประหยัดแรงได้ 10-20 วัตต์แล้ว (อธิบายว่าทำไมท่าปั่นโปรจึงลู่ลมกว่าคนธรรมดามาก)

ทรงกลมเป็นรูปทรงที่สร้างลมมปั่นป่วน (turbulent) หลังจากที่ลมปะทะกับตัววัตถุ ลมปั่นป่วนนี้ทำให้เกิด drag ที่ทำให้เราปั่นได้ช้าลง / Animation: NASA
รูปทรงกลมมีความลู่ลมแย่แทบไม่ต่างกับแผ่นกระดานสี่เหลี่ยม / Credit: Howthingsfly

คริส ยกตัวอย่างทอม โบเน็น (อดีตเอซทีม Quickstep) ที่สูง 192cm ซึ่งสูงกว่านักปั่นหลายๆ คนในเปโลตอง เวลาแข่งขันทอมเป็นนักปั่นที่เพื่อนร่วมทีมจะปกป้องตลอดเวลาอยู่แล้ว (คือบังลมให้) ระหว่างแข่งที่ความเร็วสูงๆ 50-60kph ทอมมักจะชูคอขึ้นดูสถานการณ์หน้ากลุ่ม ซึ่งเขาบอกว่ารู้สึกได้ทันทีว่าเวลาชูคอบ่อยๆ จะเมื่อยและชะงักเพราะหัวมันปะทะลมเต็มๆ (จากที่ตำแหน่งหัวเขาสูงกว่าดราฟต์ที่เพื่อนบังลมข้างหน้าให้ และหัวเป็นรูปทรงที่ไม่ลู่ลมเลย) แต่พอเปลี่ยนมาใช้หมวกแอโรปัญหานี้หายไปทันที

5. ถ้าหมวกแอโรประหยัดแรงเราได้อย่างน้อย 8-10 วัตต์ ทำไมเราไม่ใส่หมวกแอโรตลอดเวลาล่ะ?

คริส: สองเหตุผลที่โปรไม่ใช้หมวกแอโรในบางครั้งคือ 1. น้ำหนัก 2. การระบายความร้อน แต่ก่อนหมวกแอโรน้ำหนักเยอะแต่ปัจจุบันหมวกแอโรรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้หนักไปกว่าหมวกธรรมดาที่รูระบายอากาศเยอะๆ เท่าไร เรื่องการระบายความร้อนสำคัญกว่า

ส่วนเรื่องการเลือกหมวกว่าจะเป็นแอโร หรือหมวกธรรมดา (ที่เย็นกว่า) Specialzied จะคุยกับนักปั่นว่า จุดอ่อนของเขาคือตรงไหน คริสกล่าวว่าโปรส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องพลังการปั่นอยู่แล้ว ยังไงก็ปั่นได้จบการแข่งขันทุกคน

แต่นักปั่นอย่างนักไต่เขาที่ปกติมีจุดอ่อนในช่วงทางราบที่ลมแรงๆ มักโดนทิ้งให้หลุดกลุ่มได้ง่ายๆ ก็จะพยายามจูนแอโรไดนามิก เพื่อลดข้อเสียเปรียบในสถานการณ์แบบนี้

กลับกันนักปั่นอย่างปีเตอร์ ซากานที่ที่ไม่ใช่ pure climber มีจุดอ่อนเวลาขึ้นเขา ร้อนหัวง่ายกว่า ก็อาจจะเลือกหมวกที่ไม่ใช่รุ่นแอโร เพื่อให้ปั่นในช่วงที่เขาคิดว่าท้าทายที่สุดได้สบายกว่าคนอื่น

DT Note: ประเด็นนี้จริงๆ แล้วสะท้อนถึงแนวคิดการเลือกอุปกรณ์สำหรับการแข่งขัo ว่าเราจะเลือกอุปกรณ์เพื่อลดข้อเสียเปรียบ หรือเพื่อเพิ่มจุดแข็งของเราเอง เช่นในการแข่งที่เส้นทางมีทั้งทางราบและขึ้นเขา ถ้าเราขึ้นเขาช้ากว่าคนอื่น แต่ปั่นทางราบได้เร็วและอึด เราจะเลือกใช้ล้อขอบสูงที่น้ำหนักเยอะเพื่อเสริมข้อได้เปรียบในทางราบ แต่จะถ่วงเราเวลาขึ้นเขา หรือจะใช้ล้อขอบต่ำเพื่อช่วยให้การขึ้นเขาได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะเสียเปรียบในทางราบเล็กน้อย?

6. เมื่อไรที่เราควรเลือกจักรยานน้ำหนักเบา vs จักรยานแอโร?

ข้อนี้เป็นคำถามที่ต่อมาจากข้อด้านบน คริส กล่าวว่าด้วยเทคโนโลยีที่เรามีทั้งหมดตอนนี้ ยังไม่สามารถผลิตจักรยานแอโรที่ประกอบแล้วน้ำหนักรวมออกมาต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์น้ำหนักขั้นต่ำของ UCI (ที่ 6.8 กิโลกรัม) โดยใช้อะไหล่ของสปอนเซอร์ทีมได้ (ถ้าคุณซื้อมาใช้เองแน่นอนว่าทำให้เสือหมอบแอโรน้ำหนักต่ำกว่า 6.8kg ได้แต่อาจจะต้องจ่ายเยอะหน่อย)

เช่นนั้นแล้วโปรจะเลือกอุปกรณ์ที่ช่วยให้เขามีโอกาสชนะมากที่สุด เช่นในสเตจภูเขาโปรจะเลือกเสือหมอบ all around มากกว่าแอโร เพราะมันเป็นจุดที่ทำเวลาห่างกันได้เยอะที่สุด และจักรยานที่เบากว่าก็ได้เปรียบเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้เสือหมอบ all around ที่ปรับจูนความแอโรให้ดีกว่าดีไซน์ในยุคก่อนๆ ความต่างกับหมอบแอโรก็จะลดลงไปอีก แต่เมื่อไรที่เสือหมอบแอโรทำน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ UCI ก็น่าจะเห็นโปรหันมาใช้หมอบแอโรในทุกสถานการณ์มากขึ้น

เช่นสมมติโปรแข่งในสเตจความยาว 150 กิโลเมตรที่เป็นทางราบเกือบทั้งหมด แต่ดันมีเนินความยาว 500 เมตรที่ชัน 18%+ ที่หน้าเส้นชัย Specialzied จะแนะนำให้โปรใช้เฟรมและล้อน้ำหนักเบามากกว่าแอโรถ้าโปรคนนั้นคิดว่าเนินสั้นๆ นั้นจะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเขาและจะทำให้เขาหลุดกลุ่มจนหมดโอกาสชนะ

โปรส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการออกแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน (ใช้รถไม่แอโรในการปั่นระยะทางไกลหมายความว่าคุณต้องออกแรงมากกว่าคนอื่นเล็กน้อย) พูดง่ายๆ คือยังไงโปรก็ปั่นจบการแข่ง แต่ปัญหาของโปรและนักปั่นส่วนใหญ่คือ ความสามารถในการสร้างพลังเทียบกับน้ำหนักตัว หรือ วัตต์ต่อกิโลกรัม (Watt per kg) ซึ่งจะเห็นผลชัดที่สุดเวลาขึ้นเขาครับ

จักรยานน้ำหนักเบาจะช่วยตรงนี้ได้ เพราะมันลดน้ำหนักรวมของระบบที่เราต้องออกแรงแบก (คน+จักรยาน) เทียบกับเสือหมอบแอโรที่หนักกว่า เราอาจจะเห็นสปรินเตอร์หลายคนใน Tour de France ใช้เสือหมอบ all around ในสเตจภูเขา เพราะมันช่วยให้เขาปั่นข้ามภูเขาซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดได้ง่ายกว่า แต่วันที่เขามีโอกาสชนะสปรินต์ก็จะกลับมาใช้เฟรมแอโรเหมือนเดิม อย่าลืมว่าโปรชนะกันตอนสปรินต์เฉือนกันแค่ไม่กี่เซนติเมตร

6. นักปั่นที่จูนด้านแอโรเต็มที่ 100% จะมีสลิปสตรีมที่เล็กลงกว่าคนที่ไม่จูนแอโรหรือเปล่า? (คนข้างหลังตามดราฟต์ได้ยากขึ้น)

มีผลบ้างเล็กน้อย เพราะอุปกรณ์แอโรส่วนใหญ่ถูกปรับจูนให้อากาศแยกตัวออกจากพื้นผิววัสดุช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลก็คือทำให้เกิดลมปั่นป่วนด้านหลังตัวนักปั่นน้อยลง หรือพูดง่ายๆ คือกินวัตต์น้อยลงนั่นเอง การปั่นตามคนที่แอโรจูน 100% แล้วก็อาจจะทำให้เราปั่นได้ไวขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย

7. ถ้าอุปกรณ์แอโรดีช่วยประหยัดพลังมากกว่า ทำไมโปรจำนวนมากถึงไม่ใช้?

Specialized อธิบายว่าวงการจักรยานอาชีพในมุมของนักแข่งและฝ่ายจัดการบริหารทีมยังยึดติดกับความเชื่อเก่าๆ อยู่มาก เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ตัวนักกีฬาเองเรียนรู้และเชื่อฟังผู้อาวุโส นั่นคือโปรในอดีตที่ปัจจุบันผันตัวมาบริหารทีมแข่ง ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีอุปกรณ์จักรยานยังไม่พัฒนา สิ่งที่ขาดหายไปคือการศึกษา และการอธิบายให้โปรเข้าใจถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่ามันจะช่วยให้เขาประหยัดแรงหรือชนะได้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Specialized สร้างอุโมงก์ลมก็เพื่อให้โปรเข้าใจถึงประโยชน์ของการลดแรงต้านลมได้ชัดเจนด้วยตัวเอง

เวลาวิศวกร Specialized เห็นนักปั่นชนะหรือแพ้สปรินต์แบบเฉือนกันแค่ไม่กี่มิลลิเมตร สิ่งแรกที่เขาสังเกตคือ อุปกรณ์ชิ้นไหนที่ทำให้นักปั่นของเขาแพ้/ชนะ? ยกตัวอย่างในสนาม Tour of California สเตจ 7 ปีนี้ที่เฟอร์นันโด กาวิเรีย (Quickstep) เฉือนเอาชนะแม็กซ์ วาลชีด (Sunweb) ทีมเชื่อว่าอุปกรณ์เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้กาวิเรียชนะสปรินต์ครั้งนั้น

8. ทำไมแว่นกันแดดแทบไม่มีผลต่อแอโรไดนามิกเลย?

a.) เพราะแว่นส่วนใหญ่ไม่ได้กว้างไปกว้าใบหน้าของเรา (ไม่ดักลม)
b.) เพราะศีรษะเราดักลมเยอะกว่าส่วนอื่นๆ อยู่แล้ว ต่อให้เพิ่มแว่นเข้ามาก็ไม่ได้ทำให้ช้าลงเท่าไร

9. เวลาปั่นเสือหมอบเราควรวางตำแหน่งศีรษะยังไง?

ใช้หลักการเดียวกับการปั่น Time Trial หรือไตรกีฬานั่นคือ ต่ำเป็นระนาบเดียวกับลำตัวให้ได้มากที่สุดโดยที่ยังสามารถมองเห็นถนนและนักปั่นคนอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย จุดนี้เป็นอะไรที่คนธรรมดาอาจจะทำตามโปรไม่ได้ เพราะเวลาโปรแข่งมีคนคอยวิทยุบอกตลอดเวลาว่าทางข้างหน้าเป็นยังไง ทำให้ก้มปั่นได้เต็มที่ และแข่งในถนนปิดด้วย

10. ทำไมชุดปั่นที่ลู่ลมถึงเป็นอุปกรณ์ที่คุ้มราคาที่สุด?

คริสกล่าวว่า ชุดปั่นจักรยานที่ลู่ลมเช่นพวกสกินสูทหรือชุดปั่นเข้ารูปที่ใช้เนื้อผ้าที่มีพื้นผิวลดแรงต้านลมอาจจะดูแพง แต่ถ้าเราต้องการรีดเค้นประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะสำหรับการแข่งขันหรือว่าเหตุผลอื่นก็ตาม มันจะเป็นอุปกรณ์ที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเทียบกับเงินที่จ่ายแล้วประหยัดพลังเราได้เยอะที่สุด

Quickstep ให้นักแข่งใส่ speed suit แข่งสนามคลาสสิคอย่าง Paris-Roubaix ที่ความเร็วการแข่งเฉลี่ยสูงเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดระยะทาง 250 กิโลเมตร

คริสยกตัวอย่างชุดปั่นแบบเข้ารูปแข่งขัน (แยกเสื้อกับเอี๊ยม) ก็ยังช้ากว่าชุดสกินสูทดีๆ ถึง 20-30 วัตต์ การจะประหยัดวัตต์ให้ได้เท่ากันด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์อื่นเช่นเฟรมจักรยานหรือล้อแอโรนั้นต้องจ่ายแพงกว่าหลายสิบเท่า

ถึงจะเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงมาก ชุดสกินสูทก็ยังช่วยได้ไม่น้อยอยู่ดี ไม่นานมานี้ Specialized ทดสอบแอโรไดนามิกของนักแข่งจักรยานเสือภูเขาครอสคันทรีและพบว่าถ้าใส่สกินสูทแข่งก็ช่วยประหยัดพลังได้มาก และเป็นทีมเสือภูเขาทีมแรกๆ ที่ใช้สกินสูทลงแข่งในสนามใหญ่อย่าง Leadville

จริงว่าคนธรรมดาไม่สามารถซื้อชุดปั่นสั่งตัดแบบที่โปรใส่ (โปรหลายๆ ทีมมีคนมาวัดตัวตัดชุดปั่นให้ใช้ทุกฤดูกาล) แต่ให้เลือกชุดปั่นที่ใส่แล้วมีรอยยับย่นน้อยที่สุด เพราะมันคือตัวแปรที่ทำให้เกิด drag หรือกินพลังการปั่นเรามากที่สุดในระบบทั้งหมด

11. สกินสูทแขนสั้นหรือแขนยาวแบบไหนเร็วกว่ากัน?

คริสกล่าวว่าในการทดลองของ Specialized มีน้อยครั้งมากที่ชุดสกินสูทแขนยาวจะเร็วกว่าแขนสั้น เนื่องจากชุดแขนยาวมีโอกาสเกิดรอยยับย่นได้ง่ายกว่าตามข้อพับแขนนักปั่น ซึ่งต่อให้ผ้าสกินสูทจะคลุมหน้าแขนช่วยลดแรงต้านลม แต่ถ้าเกิดรอยย่นที่ข้อพับขึ้นมาก็เสียประโยชน์นั้นไปหมด

โปรเริ่มเข้าใจถึงประโยชน์ของสกินสูท ซึ่งถ้าสังเกตในสนามแข่งสมัยนี้จะเห็นว่านักแข่งแทบทุกคนใส่ชุดปั่นที่เข้ารูปยิ่งกว่าเดิม สปรินเตอร์หลายๆ คนใส่สกินสูท (ที่ไม่ได้รัดเท่ากับรุ่นที่ใช้แข่ง Time Trial) ในการแข่งสเตจเรซ​

12. ในการแข่ง Downhill ที่นักปั่นต้องใช้ความเร็วสูง คุณปรับเรื่องแอโรให้นักกีฬาหรือเปล่า?

Specialized กล่าวว่าต้องระวังมากถ้าจะเปลี่ยนอุปกรณ์หรือท่าปั่นของนักแข่งดาวน์ฮิลล์เพราะมันเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะสูง จริงว่าสนามอย่าง World Cup อาจจะแพ้ชนะกันหลักเสี้ยววินาทีแต่ถ้าเปลี่ยนท่าปั่นหรืออุปกรณ์แล้วนักปั่นไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกของถนนได้เหมือนเดิม ก็จะควบคุมรถได้แย่ลง อาจจะล้มหรือเสียเวลาจนประโยชน์ด้านแอโรไดนามิกหมดไป

เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ปรับให้นักปั่นกลุ่มนี้ก็คือเรื่องที่ไม่มีผลต่อการบังคับรถแต่ช่วยประหยัดพลังได้ เช่นการเดินสายเบรคหรือเกียร์ให้ต้านลมน้อยที่สุด ปรับชุดปั่นให้ต้านลมน้อย หรือปรับองศาแว่นที่สวมใส่ จุดเล็กๆ น้อยพวกนี้รวมๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้เสียเปรียบแม้แต่เสี้ยววินาที ถึงแม้จะมองไม่เห็นความต่างจากภายนอกก็ตาม

13. แฮนด์แอโร vs แฮนด์กลมธรรมดากินแรงต่างกันกี่วัตต์?

แฮนด์แอโรประหยัดแรงได้ 4-5 วัตต์ เทียบกับแฮนด์กลม

14. ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนกฏ UCI ได้หนึ่งข้อ ที่จะทำให้คุณพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น คุณอยากเปลี่ยนอะไร?

คริส: หลายคนถามเราว่า เฮ้ Tarmac ใหม่หรือ Venge ใหม่จะมีหน้าตาเป็นยังไงถ้าคุณไม่ถูกบังคับด้วยกฏ UCI? (กฏ UCI โดยพื้นฐานแล้วกำหนดว่าจักรยานต้องมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมสองชิ้นประกบกัน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่รวมๆ แล้วคือมันบังคับให้จักรยานแข่งขันมีหน้าตาและรูปทรงแบบที่เราเห็นตอนนี้ครับ)

จริงๆ แล้วถึงจะไม่มีกฏมันก็จะไม่ต่างจากตอนนี้มากนัก หัวใจของจักรยานแข่งก็ยังเป็นเหมือนเดิม คือมันต้องเป็นจักรยานที่พาคุณไปถึงเส้นชัยได้เร็วที่สุด ไม่ว่าทางจะยาก ซับซ้อนหรือชันแค่ไหนก็ตาม

สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ รูปทรงสามเหลี่ยมสองชิ้นประกบกันนั้นเป็นรูปทรงที่ประสิทธิภาพสูงมากในเชิงวิศวกรรม ทั้งในด้านน้ำหนักและความแข็งแรงครับ ที่จะบอกก็คือกฏของ UCI มันช่วยให้เรามีกรอบในการพัฒนา จริงว่ามันมีข้อจำกัดบ้าง แต่ผมไม่คิดว่ามันแย่ขนาดนั้นนะ

เดฟ: ถ้าคุณย้อนดูสมัยก่อน วงการเราทดสอบจักรยานมาหลายรูปแบบมากนะครับโดยเฉพาะก่อนที่ UCI จะตั้งกฏสากลในปี 1996 เรามีจักรยานหน้าตาล้ำสมัยอย่าง Lotus หรือ GT และมีจักรยานดีไซน์แย่ๆ จำนวนมากเช่นกัน มันอาจจะดีสำหรับสมัยนั้นแต่ผมบอกได้เลยว่าจักรยานรูปแบบใหม่ในสมัยนี้เร็วกว่า เบากว่า และลู่ลมกว่าครับ

สมัยนี้ผมเห็นหลายคนบ่นในอินเทอร์เน็ตฟอรัมหรือในโซเชียลว่า “จักรยานไหนๆ ก็ดูหน้าตาเหมือนกันไปหมด น่าเบื่อ” แต่สมัยที่จักรยานทำจากเหล็ก ใช้ท่อกลมเหมือนกันหมด ไม่ยักจะมีคนบ่น

ส่วนถ้าไม่มีกฏ UCI ผมว่าเราน่าจะทำเฟรมจักรยานที่ไม่มีแรงต้านลม (zero drag) ได้ในทางทฤษฏีนะ

อย่างในไตรกีฬาที่ไม่มีกฏ UCI ผมว่าเรายังพัฒนาได้อีกเยอะ สองเดือนก่อนที่เราเปิดตัว S-Works Shiv รุ่นใหม่ก็มีคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ก็มีอีกหลายเสียงที่บอกเราว่า ทำไมไม่ออกแบบให้มันล้ำกว่านี้ แต่อย่าลืมว่าจักรยานแข่งไม่ได้มีไว้ทดสอบในแล็บอย่างเดียว โดยเฉพาะจักรยานไตรที่มันต้องแข็งแรง ปลอดภัย บังคับควบคุมได้ดี มีที่บรรจุเสบียงให้นักกีฬา และสู้ลมได้ในหลายทิศทาง

ถ้าให้ลองคิดแบบล้ำๆ ผมว่าจักรยานเปอร์ซูตควรใช้ล้อหน้าขนาดเล็กกว่านี้ ตำแหน่งแฮนด์คนที่ปั่นตามหลังจะได้อยู่เหนือล้อหลังคันหน้านิดเดียว ซึ่งท่าปั่นนี้ช่วยให้คนหน้าบังลมคนหลังได้มิด และจะทำให้ไปได้เร็วขึ้นทั้งขบวน!

แต่สรุปสั้นๆ ตรงนี้ จักรยานแอโรที่คุณซื้อได้ในยุคนี้เร็วกว่าจักรยานแอโรเมื่อสองเจอเนอเรชันก่อนทุกรุ่น เบากว่าและปลอดภัยกว่าครับ


ติดตาม Podcast ของ TrainnerRoad ได้ที่ ลิงก์นี้ ครับ ในอนาคตเราคงพยายามทำสรุปเนื้อหาจาก Podcast อื่นๆ อีกที่เกี่ยวกับการฝึกซ้อมที่น่าสนใจ คล้ายๆ นักเรียนแชร์โน้ตติวสอบนั่นหละครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *