[dropcap letter=”สิ้”]นสุดเดือนตุลาคม วงการแข่งจักรยานก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงปิดฤดูกาล Off-Season ที่นักปั่นเขาจะได้กลับไปพัก อยู่กับครอบครัว หรือถ้าทีมไหนโหดหน่อยอย่างทีม Sky ก็อาจจะเริ่มเข้าค่ายเก็บตัวฝึกซ้อมกันเลย อย่างไรก็ดี แฟนๆ จักรยานคงไม่ได้ดูแข่งไปถึงต้นเดือนมกราคมที่เขาเริ่มเปิดสนามฤดูกาล 2015 จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมารีวิวฤดูกาล 2014 กันสักหน่อยครับ
อันดับแรกขอเปิดด้วยกราฟนี้ เป็นสถิติชัยชนะทั้งหมดของโปรทีมดิวิชัน 1
กราฟค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว และไม่น่าแปลกใจสักเท่าไร Omega Pharma-Quickstep เป็นทีมที่ทำผลงานได้เยอะที่สุด คุณอาจจะคิดว่าก็แหงหละสิเพราะมีมาร์ก คาเวนดิชอยู่ด้วย ก็ถูกอยู่ แต่ถูกแค่ 20% เพราะว่า ปีนี้คาเวนดิชชนะ “แค่” 11 สนาม อีก 51 ชัยชนะนั้นเป็นผลงานของนักปั่นในทีมรวมกันทั้งหมด 18 คน! (ลองเทียบกันกับ Lotto ซึ่งมี 30 ชัยชนะ แต่ 16 ชัยชนะมาจากอังเดร ไกรเปิลคนเดียว) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “คุณภาพ” ของทีม OPQS ได้เป็นอย่างดีครับ
แต่ก่อนทีมนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “The Spring Classic Team” คือพอหมดฤดูสนามคลาสสิคที่ทอม โบเนนกวาดรางวัลจนอิ่มแล้ว ก็เจอกันอีกทีปีหน้า… แต่ปีนี้เปลี่ยนไปเยอะ ทั้งการเข้ามาของคาเวนดิช การเติบโตของเควียทคอฟสกี และโทนี มาร์ตินที่ผูกขาดแชมป์ Time Trial ยังไม่รวมเทิร์ปสตราที่ขึ้นมานำทีมคลาสสิค แม้แต่เด็กหน้าใหม่ของทีมที่อายุยังไม่ถึง 20 ก็ยังสปรินต์ชนะทีมอื่นๆ ถ้าไม่นับเรื่องแชมป์แกรนด์ทัวร์แล้ว OPQS คือทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็ว่าได้ครับ ชนะทั้งปี ชนะแทบทุกสนาม
อันดับสอง Giant-Shimano เป็นทีมที่น่าสนใจ เพราะทีมนี้เป็นเพียวสปรินเตอร์ ผลงานหลักๆ มาจากเดเกนโคลบ์ (Vuelta 4 สเตจ), และ Kittel (แชมป์สเตจ TDF, Giro และสนามอื่นๆ) คู่นี้เป็นท๊อปสปรินเตอร์ทั้งคู่ (เดเกนโคลบ์ได้ที่สองถึง 16 ครั้ง!) แต่ทำงานร่วมกันได้ดีกับคิทเทล เพราะสปรินเตอร์คนละ “สาย” เมื่อถึงเส้นทางที่คนหนึ่งถนัด อีกคนก็พร้อมจะขึ้นมาช่วยเป็นลีดเอาท์ให้ ไม่แย่งกันเหมือนในทีม FDJ ที่เนเซอร์ บูฮานี ต้องถอยไปอยู่กับ Cofidis เพราะแย่งผลงานกับอาร์นอร์ดเดอแมร์
อย่างไรก็ดี ตัวเลขชัยชนะนั้นไม่ได้ระบุถึงคุณภาพของทีมเสมอไป ลองดู Astana, Tinkoff และ AG2R สองทีมแรกได้แชมป์แกรนด์ทัวร์คนละรายการ (ตูร์และวูเอลต้า) แต่ชนะน้อยกว่า OPQS ถึงสองเท่าสำหรับบางทีแค่ชนะแชมป์ตูร์ก็ถือว่าคุ้มพอที่จะแลกกับชัยชนะสนามอื่นๆรวมกันด้วยซ้ำ
Movistar ก็ถือว่าไม่ธรรมดาครับ อาจจะไม่ใช่ทีมที่ติดปากคนไทยนะ แต่ทีมนี้ทำผลงานได้ระดับแนวหน้าต่อเนื่องมา 3 ฤดูกาลแล้ว อย่าลืมว่าปีนี้วาวเวอเด้คือนักปั่นที่ทำคะแนนสะสมได้เยอะที่สุดในโลกในตาราง UCI แถมคินทานาก็ชนะจิโร และนักปั่นชาวสเปนคนอื่นๆ ที่เราจำชื่อไม่ได้ก็ชนะกันเรื่อยๆ ตลอดทั้งปีเหมือนกัน ผู้จัดการทีมอูเซบิโอ้ อันซึ เป็นหนึ่งในบอสที่ประสบการณ์เยอะที่สุดในวงการก็ว่าได้ และผลงานของเขามันก็แสดงให้เห็นชัดเจน
ทีมที่แผ่วๆ หน่อยคงเป็น Europcar เป็นทีมเดียวที่ไม่ชนะสนามระดับดิวิชัน 1 เลยแม้แต่รายการเดียว, Trek เองก็เปลี่ยนไปพอสมควร คนที่พึ่งได้จริงๆ ตอนนี้มีแค่แคนเชอลารา ตอนนี้แอนดี้ ชเล็คก็อำลาวงการไปแล้วด้วย ต้องรอดูกันว่าเด็กใหม่ที่ทีมกำลังปั้นอยู่ และบอเค โมเลมม่าที่ย้ายมาจาก Belkin จะเป็นยังไงบ้าง
พูดถึงทีมกันไปแล้วมาดูนักปั่นที่คว้าชัยได้เยอะที่สุดกันบ้างแน่นอนว่ามันจะเป็นสปรินเตอร์เกือบทั้งหมดครับ
ไกรเพิลยังคงเป็นนักปั่นที่ไว้ใจได้สำหรับ Lotto ไม่ใช่คนที่ชนะรายการใหญ่บ่อยเหมือนแต่ก่อน แต่เรื่องเก็บแต้มนี่ต้องยกให้แก ตามมาติดๆ ด้วยเดอแมร์ คริสทอฟ คิทเทล และบูฮานี คาเวนดิชหลุดไปอยู่ท้าย เพราะปีนี้เจ็บหลายหน แต่เช่นเดียวกับยอดชัยชนะของทีม ตัวเลขในกราฟไม่ได้บอกถึง “คุณภาพของชัยชนะ” นิบาลิและคินทานาอาจจะชนะไม่กี่สนาม เพราะเขาไม่ใช่สปรินเตอร์ แต่ผลงานนั้นก็เป็นระดับแชมป์แกรนด์ทัวร์ ซึ่งแค่ชัยชนะเดียวนั้นก็เกินพอแล้ว
ในกราฟยังมีสถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ ลองกดดูแท็บอื่นๆ เช่นอัตราส่วนการขึ้นโพเดี้ยมต่อชัยชนะ อย่างคิทเทลนี่อยู่ที่ 93% หมายความว่าแทบทุกครั้งที่เขาขึ้นโพเดี้ยม เขาจะได้อันดับ 1 ในขณะที่เดเกนโคลบ์เพื่อนร่วมทีมอยู่ที่ 34% ชนะน้อย แต่ขึ้นโพเดี้ยมมากที่สุดถึง 29 ครั้ง!
สถิติสุดท้ายก็น่าสนใจครับ เป็นจำนวนวันแข่งของนักปั่น ปีนี้ทอม วีลเลอร์ ลีดเอาท์จาก Giant ได้แชมป์ไปครอง ส่วนใหญ่แล้วนักปั่นที่ลงแข่งเยอะๆ เลยจะเป็นโดเมสติกผู้ช่วยของทีมที่ต้องลงช่วยตัวเต็งหลายสนาม ในขณะที่หัวหน้าทีมนั้นจะลงไม่เยอะมาก แต่จะเน้นลงสนามที่สำคัญจริงๆ ที่เหลือก็คือเข้าค่ายฝึกซ้อม สังเกตวันแข่งของนิบาลิ ฟรูม และคอนทาดอร์ จะน้อยกว่าโดเมสติกในชาร์ททุกคน โดยเฉพาะฟรูมที่แข่งแค่ 54 วันเพราะป่วยและบาดเจ็บหลายครั้ง
สังเกตยอดวันแข่งของอดัม แฮนเซ็น นักปั่นคนเดียวใน peloton ที่ลงแข่งครบทั้ง 3 แกรนด์ทัวร์ต่อกันสามปีซ้อน ถึงจะไม่ใช่คนที่แข่งเยอะที่สุดแต่ก็ได้รางวัลปลอบใจเป็นแชมป์สเตจในวูเอลต้าหนึ่งครั้ง
ในตอนที่สองเราจะมาดูกันถึงไฮไลท์ยอดเยี่ยมและยอดแย่ของฤดูกาลนี้ครับ