พรีวิว: 2015 Paris-Roubaix

[dropcap letter=”1″]2 เมษายนนี้จะเป็นวันส่งท้ายฤดูกาลแข่งสนามคลาสสิค ปิดฉากกันด้วยสนามที่ขลังที่สุด และน่าชมที่สุดในรอบปีกับรายการแข่ง Paris-Roubaix ครั้งที่ 113 ถามว่าทำไม Roubaix ปีนี้ถึงน่าดูกว่าปีอื่นๆ ? นั่นก็เพราะว่าตัวเต็งสองคนที่ผลัดกันครองแชมป์มาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ไม่มาลงแข่งทั้งคู่ นั่นคือทอม โบเน็น (EQS) และเฟเบียน แคนเชอลารา (Trek) ที่บาดเจ็บฟื้นตัวมาลงไม่ไหว ทำให้นักปั่นดาวรุ่งคลาสสิครุ่นใหม่ๆ มีลุ้นชิงแชมป์รางวัลใหญ่มากกว่าปีทีผ่านมา วันนี้เรามาดูเส้นทาง และตัวเต็งกัน

2015 Paris-Roubaix (UCI World Tour)
ระยะทาง 253.5 กิโลเมตร
ออกเสียง: พารี-รูเบ
ถ่ายทอดสด: Eurosport 17:45-22:00
ลิงก์ถ่ายทอดสดที่ duckingtiger.com/live

เส้นทาง

PROFIL

ผิดกับที่หลายๆ คนเข้าใจ Paris-Roubaix ไม่ใช่ทางราบ 100% ช่วงควอเตอร์แรกของการแข่งขันเป็นทางโรลลิ่งพอให้เบรคอเวย์มีโอกาสฟอร์มทีมกระชากหนีกลุ่ม แทบทุกปี 100 กิโลเมตรแรกของ Roubaix จะปั่นกันด้วยความเร็วสูงถึง 50 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมงก่อนที่นักปั่นจะเริ่มเจอช่วงถนนหินโหดๆ

รายการนี้มีช่วงถนนหิน หรือ Cobbled Road ที่เป็นไฮไลท์ของรายการมากถึง 27 ช่วง แต่ละช่วง (เรียกว่า Sector) จะแบ่งความยากด้วย “ดาว” ช่วงที่ดาวเยอะ ถนนก็จะสภาพแย่เป็นพิเศษ เสี่ยงต่อยางรั่ว รถเสีย หรือลื่นล้ม ตัวเต็งจะพยายามแย่งกันสปรินต์เข้าช่วงถนนหินในตำแหน่งหน้าขบวนเพื่อลดความเสี่ยงทุกทางเท่าที่จะทำได้ เช่นอาจจะเกิดอุบัติเหตุนักปั่นล้ม ขวางทาง ถ้าอยู่ด้านหลังกลุ่ม ตัวเต็งทีมอื่นก็อาจจะอาศัยช่วงโกลาหลชิงหนีไปก่อน ถึงขั้นแพ้กันได้เลยทีเดียว

The 27 Sectors

27. Troisvilles (km 98,5 – 2200 m) +++
26. Viesly (km 105 – 1800 m) +++
25. Quievy (km 108 – 3700 m) ++++
24. Saint-Python (km 112,5 – 1500 m) ++
23. Vertain (km 120,5 – 2300 m) +++
22. Verchain-Maugré (km 130 – 1600 m) +++
21. Quérénaing – Maing (km 133,5 – 2500 m) +++
20. Monchaux-sur-Ecaillon (km 136,5 – 1600 m) +++
19. Haveluy (km 149,5 – 2500 m) ++++
18. Trouée d’Arenberg (km 158 – 2400 m) +++++
17. Wallers – Hélesmes, dit ” Pont Gibus ” (km 164 – 1600 m) +++
16. Hornaing (km 170,5 – 3700 m) ++++
15. Warlaing – Brillon (km 178 – 2400 m) +++
14. Tilloy – Sars-et-Rosières (km 181,5 – 2400 m) ++++
13. Beuvry-la-Forêt – Orchies (km 188 – 1400m) +++
12. Orchies (km 193 – 1700 m) +++
11. Auchy-lez-Orchies – Bersée (km 199 – 2700 m) ++++
10. Mons-en-Pévèle (km 204,5 – 3000 m) +++++
9. Mérignies – Avelin (km 210,5 – 700 m) ++
8. Pont-Thibaut (km 214 – 1400 m) +++
7. Templeuve – Moulin de Vertain (km 220 – 500 m) ++
6. Cysoing – Bourghelles (km 226,5 – 1300 m) +++
Bourghelles – Wannehain (km 229 – 1100 m) +++
5. Camphin-en-Pévèle (km 233,5 – 1800 m) ++++
4. Le Carrefour de l’Arbre (km 236,5 – 2100 m) +++++
3. Gruson (km 238,5 – 1100 m) ++
2. Hem (km 245,5 – 1400 m) ++
1. Roubaix (km 252 – 300 m) +

arenberg forest
ป่าอาเรนเบิร์ก เซกเตอร์ที่แย่ที่สุดในการแข่ง Paris-Roubaix

รวมระยะทางถนนหินทั้งหมดได้ 53 กิโลเมตร คิดเป็น 20% ของเส้นทางทั้งหมด ช่วงที่ยากจริงๆ (ระดับ 5 ดาว) คิดเป็นแค่ 10% ของเส้นทาง 250 กิโลเมตร เช่นนั้นแล้วกว่า 90% ของทางแข่ง จะแข่งกันบนถนนที่ “ค่อนข้างดี” ครับ อย่างไรก็ดี ถึงช่วงถนนทีแย่จริงๆ จะมีแค่ 10% แต่ 10% นั้นมีความเสี่ยงที่จะดับโชคผู้เข้าแข่งขันมากกว่าจุดอื่นหลายเท่า

Sector 18 Trouée d’Arenberg หรือป่าอาเรนเบิร์กมักจะเป็นจุดที่ตัวเต็งเริ่มชงเกมออกกระชากหนีกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นช่วงที่ยากและไล่ตามกันได้ยาก ถ้าจุดนี้ยังทิ้งกันไม่หลุดก็จะเล่นกันอีกทีที่ Sector 10 และ 4 โดยเฉพาะเซคเตอร์ Le Carrefour de l’Arbre ที่มักจะตัดสินการแข่งได้แทบทุกปี

ถ้านักปั่นรอดพ้นเส้นทางทรดหดมาได้ทั้งหมด ที่กิโลเมตรสุดท้ายเขาต้องเจอเวโลโดรม Roubaix ที่ต้องปั่นให้ครบหนึ่งรอบครึ่ง การที่สนามแข่งจบในเวโลโดรมทำให้พลวัตรการแข่งขันรายการนี้ไม่เหมือนรายการคลาสสิคไหนๆ เลยตรงที่หากมีตัวเต็งหลุดเข้ามาพร้อมกันมากกว่าสองคน สนามลู่จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่แต่ละคนต้องชิงไหวชิงพริบหาทางเอาชนะคู่แข่ง จะหนีก่อน? หรือจะลองเชิงเปิดสปรินต์ในจังหวะที่คนอื่นเผลอ? นักปั่นที่ขาดประสบการณ์ในเวโลโดรมจะเสียเปรียบตรงนี้ และนักปั่นที่แข็งแกร่งกว่าก็ใช่ว่าจะมีโอกาสชนะเหมือนการสปรินต์หน้าเส้นเสมอไป

ถามว่าทาง Cobble มันโหดขนาดไหน ลองดูวิดีโอ recon ride ของ BMC ข้างล่างนี้

 

♦♦♦

ใครมีลุ้น? (Startlist)

1. Alexander Kristoff (Katusha)

Tour of Flanders 2015 (1 of 6)

คริสทอฟพิสูจน์ตัวเองหลายครั้งแล้วว่าเขาเป็นมากกว่าแค่สปรินเตอร์ เป็นทั้งแชมป์ Milan-San Remo และแชมป์ Tour of Flanders ที่เขาเอาชนะนิกี้ เทิร์ปสตราด้วยการเบรคอเวย์หนีกลุ่ม peloton หลายสิบกิโลเมตร คริสทอฟให้สัมภาษณ์ว่าถึงเขาจะฟอร์มดีและมีเพื่อนร่วมทีมชั้นยอดอย่างลูคา พาวลินี แต่ Roubaix ไม่ใช่ “ถิ่น” ของเขาเพราะที่ผ่านมาเขาทำผลงานในสนามนี้ได้ไม่ค่อยดี อันดับที่ดีที่สุดคือที่ 9 ในปี 2013 ส่วนปีที่แล้วก็ยางรั่วและจักรยานเสียจนหมดสิทธิท้าชิงอันดับ ถ้าดูจากฟอร์มตัวเต็งทั้งหมดแล้ว คริสทอฟอาจจะมีโอกาสที่สุด แต่อย่างที่เรารู้แชมป์ Roubaix ไม่ได้ชนะกันด้วยพละกำลังและสมองอย่างเดียว แต่ “โชค” ก็มีส่วนไม่น้อยครับ

2. Etixx-Quickstep

Tour of Flanders 2015 (3 of 6)

นี่คือโอกาสสุดท้ายในการแก้ตัวของทีมเจ้าพ่อสนามคลาสสิค Etixx-Quickstep ปีนี้ถึงทีมจะมีผลงานโพเดี้ยมสนามคลาสสิคหลายรายการ แต่ก็ยังไม่ชนะสักรายการ จะบอกว่าเพราะทอม โบเน็นบาดเจ็บไปทำให้ทีมขาดหัวหน้าก็คงใช่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมนี้เป็นศูนย์รวมนักปั่นคลาสสิคที่มีประสบการณ์มากที่สุดในโลก DT เดาว่าตัวเต็งคงไม่พ้นนิกี้ เทิร์ปสตราและชเน็ค สตีบาร์ โดยเฉพาะคนแรกที่เป็นแชมป์รายการคนล่าสุด เอาชนะคู่แข่งด้วยการกระชากหนีกลุ่มในช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน สตีบาร์และแวนเดนเบิร์ก็แสดงให้เห็นตลอดฤดูกาลว่าทั้งคู่มีทั้งความเก๋าและความแกร่งที่จะเกาะอยู่ในกลุ่มตัวเต็งทุกๆ สนามแต่ก็ยังขาดหมัดฮุคที่จะใช้น็อกคู่แข่งอยู่ ถ้ารายการนี้ EQS เดินเกมดีๆ ไม่โจมตีกันเอง เหมือนในสนามที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นทีมที่มีหมากเด็ดเยอะที่สุดในรายการครับ

3. Sky

Paris - Roubaix 2014

ถึง Sky จะบอกว่านี่เป็นสนามสุดท้ายของเซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์ แต่ DT เชื่อว่าคนที่ฟอร์มดีกว่าวิกโก้คือเอียน สแตนนาร์ด และเกอเรนท์​ โทมัส จุดอ่อนของวิกกินส์คือเขาแทบไม่ได้ลงแข่งสนามคลาสสิคเลยในปีนี้ ประวัติศาสตร์การแข่งขันที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า การเตรียมตัวสนามคลาสสิคที่ดีที่สุด ก็คือการลงแข่งสนามเล็กเพื่อเก็บประสบการณ์และไหวพริบ วิกกินส์เลือกที่ะจะซ้อมเองกับทีม แทนที่จะลงแข่งเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้เขาขาดไหวพริบ การตัดสินใจเฉียบพลันในวินาทีคับขัน ในสนาม Flanders ทีผ่านมา รถเขามีปัญหา ก็ต้องเปลี่ยนรถจนหลุดกลุ่ม ในสนามเล็กสนามอื่น วิกกินส์ก็ดูไม่มีฟอร์มตัวเต็งเลยแม้แต่นิดเดียว

ใน Tour of Flanders Sky คิดว่าทีมจะคุมเกมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เลยขึ้นนำตลอด แต่แผนก็ไม่เวิร์กเพราะสุดท้ายทีมขาดโดเมสติกมาช่วยลากไล่เก็บเทิร์ปสตราและคริสทอฟในจังหวะสำคัญจริงๆ เพราะออกแรงลากกันมาเกิน 200 กิโลเมตรแล้ว โทมัสซึ่งฟอร์มดีก็เลยกินแห้วไป ถ้า Roubaix ครั้งนี้ Sky คุมแผนได้ดีๆ ไม่บ้าจี้ลากกระจายตั้งแต่กิโลเมตรแรก ก็อาจจะมีโอกาสส่งตัวเต็งออหนีหรือไล่ตามคู่แข่งในจังหวะที่สำคัญจริงๆ (Sky ให้สัมภาษณ์ว่าทีมจะไม่ลากกลุ่มอยู่ทีมเดียวเหมือนใน Flanders แล้ว)

อย่างไรก็ดี ย้อนกลับมาถึงวิกกินส์เขาเป็นคนที่ถ้าทุกอย่างไปได้สวยตามแผน ก็ยากที่ใครจะเอาอยู่เหมือนกัน ถ้าเขาชนะรายการนี้ เขาจะเป็นแชมป์ Tour de France คนแรกในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีที่ได้แชมป์ Roubaix (คนสุดท้ายคือเบอร์นาร์ด อินอลท์ในปี 1980)

สำหรับทีมนี้ผมว่าลองจับตามองหลังเซคเตอร์ 18 ป่าอาเรนเบิร์กว่ายังจะเหลือใครอยู่บ้าง แล้วค่อยมาลุ้นกันตอนนั้น สื่ออังกฤษดูจะโหมประโคมวิกกินส์กันเอิกเกริก แต่ผมว่ามันออกจะ overrated ไปนิดนึง กับฟอร์มที่เขามีตอนนี้ โทมัสยังดูน่าลุ้นกว่า แต่นั่นแหละวิกโก้ก็คือวิกโก้ เอาแน่เอานอนไม่ได้ เวลาฟอร์มและความมั่นใจมาจริงก็หวดซะจนทีมอื่นทำอะไรไม่ได้เลยเหมือนกัน

4. GVA – เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC)

Flanders F GVA

สายบู๊สุดที่รักของใครหลายๆ คน ปีนี้โชคก็ยังดูจะไม่เข้าข้าง GVA สักเท่าไรในสนามคลาสสิค GVA มีทั้งฟอร์มและความมุ่งมั่น แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีความเด็ดขาดเหมือนตัวเต็งคนอื่นๆ สนามนี้เขาได้แดนเนียล ออส โดเมสติกชั้นดีมาช่วย พร้อมกับสตีเฟน คุง ซึ่งเป็นดาวรุ่งสนามคลาสสิคของทีมอีกคนครับ ในสนามอื่นๆ BMC เดินเกมได้ดุนดันและมีโดเมสติกแรงเหลือเยอะที่สุดในช่วงสำคัญทุกครั้ง ทำได้ดีไม่แพ้ Quickstep แต่ก็พลาดเบรคอเวย์ตัดสินแทบทุกครั้งเหมือนกัน หวังว่าใน Roubaix จะไม่เกิดสถานการณ์เดียวกันอีก

5. SVM – เซป ฟานมาร์ค (LottoNL)

2015 e3  (3 of 7)

อีกคนที่ดูจะออกมาพิมพ์เดียวกับ GVA ในฤดูกาลนี้ – โชคไม่ช่วย แต่ใจสู้สุดชีวิต – ด้วยอายุ 26 ปี SVM เป็นตัวเต็งที่อายุน้อยที่สุด (แต่มีผลงานโดดเด่นที่สุด) ในสนามคลาสสิค ที่ผ่านมาเขาเป็นแชมป์ Omloop Het Nieuwsblad เมื่อหลายปีก่อน และได้อันดับ 2 Paris-Roubaix ในปี 2013 รองจากเฟเบียน แคนเชอลารา จุดอ่อนของ SVM คือทีม Lotto ซึ่งเป็นทีมเดียวในปีนี้ที่ยังไม่มีชัยชนะเลยสักรายการเดียว และดูอ่อนกว่าทีมอื่นๆ ในสนามคลาสสิคอย่างเห็นได้ชัด เช่นนั้นแล้ว ถ้าตัวเต็งทีมคู่แข่งทำเกมตั้งแต่เริ่ม SVM จะเป็นคนที่เสียแรงต้องคอยออกตาม (เหมือนสนามอื่นๆ ในปีนี้) จนเขาไม่เหลือกำลังสู้ในจังหวะสำคัญจริงๆ

ม้ามืด

นอกจาก 5 คน (ทีม) ที่กล่าวถึงแล้วยังมีอีกหลายคนที่มีโอกาสลุ้นครับ จับตามอง จอห์น เดเกนโคลบ์ (Giant-Alpecin) ที่ติดโพเดี้ยมในปีที่แล้ว น่าสนใจว่าถ้าเขาหนีไปได้พร้อมคริสทอฟ ใครจะมีลุ้นชนะ เมื่อทั้งสองคนเป็นนักปั่นสไตล์คล้ายๆ กัน? หรือจะเป็นปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff-Saxo) ที่ถึงจะยังไม่ชนะรายการไหนๆ ในปีนี้แต่ก็ทำผลงานอันดับโพเดี้ยมได้ดีตลอด

Milano Sanremo 2015

Lotto-Soudal มีเยอร์เกนท์ โรแลนท์ ที่โชว์ฟอร์มเบรคอเวย์ได้น่าประทับใจในสนาม Flanders มาพร้อมกับทีจ์ เบนูทส์ ดาวรุ่งคลาสสิคคนใหม่ของทีม อย่าลืมอังเดร ไกรเปิ้ลที่คอยช่วยชงเกมให้ทีมได้ดีไม่แพ้โดเมสติกคนไหนๆ ด้วย

Trek ไม่มีแคนเชอลาราแต่ก็ยังไม่สไตน์ ดีโวลเดอร์ Lampre มีฟิลลิปโป โพซาตโต้ ที่ได้อันดับ 12 Flanders สัปดาห์ก่อน FDJ มีอาร์นอร์ด เดอแมร์ที่เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่ามั่นใจมากว่าจะทำผลงานได้ดีในรายการนี้ (ได้อันดับ 12 ปีที่แล้ว) IAM มีซิลเวน ชาวาเนล ลูกหม้อเก่า Quickstep และจอมเบรคอเวย์มาร์ติน เอลมิเกอร์

สรุป

Roubaix ปีนี้เป็นเกมที่เปิดกว้างครับ ปกติก็เดาได้ยากอยู่แล้วเพราะ “ดวง” ของนักปั่นมักจะทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไปเสมอในรายการนี้ ยิ่งไม่มีตัวเต็งแชมป์ 3-4 สมัยอย่างโบเน็นและแคนเชอลารา ด้วยแล้วยิ่งเดาฟอร์มทีมได้ยาก EQS กลยุทธ์ยังไม่นิ่ง Sky ยังไม่เคยมีผลงานที่น่าไว้ใจได้ในรูเบ (ถึงจะโม้ไว้เยอะก็ตาม) BMC/ Lotto ก็ยังดูจะขาดดาบตัดสิน ทำให้ดูท่าว่า สปรินเตอร์สายอึดอย่าง คริสทอฟ เดเกนโคลบ์ ซากาน น่าจะมีโอกาสลุ้นที่สุด เป็นสนามเดียวในรอบปีที่ DT ไม่เคยฟันธง

แต่ที่อยากรู้มากกว่าคือคุณเชียร์ใคร เพราะอะไร? คอมเมนต์คุยกันครับ

♦♦♦

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *