รีวิว: Ridley Fenix SL 2015

จักรยานเสือหมอบคันแรกที่ Ducking Tiger เคยรีวิวคือ Ridley Fenix ตั้งกะปี 2013 ที่เว็บเพิ่งจะเปิดใหม่ๆ ตอนนั้นเราคิดว่ามันเป็นจักรยานที่คุ้มค่ามากครับ ประสิทธิภาพดี พุ่งติดเท้าดีระดับหนึ่ง ซับแรงสะเทือนใช้ได้ น้ำหนักไม่แย่นัก geometry ไม่ซิ่งเกินไป เหมาะสำหรับนักปั่นที่อยากจะเริ่มขยับจากเสือหมอบอลูมินัมไปเป็นเฟรมคาร์บอน แน่นอนว่าเมื่อทาง Asia Bike ตัวแทนจำหน่าย Ridley ประเทศไทยส่งเวอร์ชันใหม่ของ Fenix มาให้ลอง เราก็จับไปเทสต์ทันที

Ridley เป็นแบรนด์จักรยานจากเบลเยี่ยม ประเทศที่มีจักรยานเป็นกีฬาแห่งชาติ! Jochim Aerts ผู้ก่อตั้งก็เริ่มบริษัทมาจากการเป็นนักแข่งและกลายมาเป็นนักทำสีเฟรมและออกแบบเฟรมสำหรับแข่งขันจนเกิดเป็นแบรนด์ Ridley ในที่สุดDT เคยพูดถึงประวัติแบรนด์นี้กันไปแล้วลองไปอ่านได้ที่ ลิงก์นี้ แต่มั่นใจได้ว่าทุกเฟรมที่ออกแบบมานั้นเขาทำมาให้โปรแข่งขันจริงๆ Ridley สปอนเซอร์โปรทีมจากเบลเยี่ยมสองทีมคือ Lotto-Soudal และ CULT Energy ซึ่งเป็นนักทดสอบผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม

จำได้ว่าตอนโปรใช้ Ridley Fenix รุ่นแรกแข่งในสนาม Paris-Roubaix นั้นเป็นอะไรที่น่าทึ่ง เพราะตัวเฟรมราคาไม่ถึง 50,000 บาท และเป็นเฟรมรุ่นเดียวกับที่มีขายในท้องตลาด เทียบกับแบรนด์อื่นที่ใช้เฟรมรุ่นท็อปราคาเหยียบแสนกันทั้งหมดในสนามแข่งแล้วก็พอจะบอกได้ว่า Ridley มั่นใจกับประสิทธิภาพของเฟรม Fenix จริงๆ

 

2015 Ridley Fenix SL

Ridlet Fenix SL Review-1

เช่นเดียวกับแบรนด์จักรยานอื่นๆ Ridley แบ่งไลน์เสือหมอบเขาไว้ 3 แบบ: เฟรมแอโร่ลู่ลม (Noah), เฟรมน้ำหนักเบา (Helium), เฟรมที่ขี่ได้ทุกสภาพเส้นทางหรือที่เาเรียกว่าเฟรมเอนดูรานซ์ (Fenix / Fenix SL)

Ridley ใช้เวลาพัฒนา Fenix รุ่นใหม่มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2014 และมาเปิดตัว (อย่างลับๆ) ในสนามคลาสสิคปี 2015 ให้โปรในทีมที่เป็นตัวเต็งสนามคลาสสิคได้ลองใช้แข่งจริงตลอดฤดูกาล นอกจากจะให้โปรได้ลองใช้แข่งเพื่อนำฟีดแบ็คมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์แล้ว Ridley ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเพื่อปรับปรุงเรื่องอากาศพลศาสตร์ของเฟรมด้วย

 

การออกแบบ

จุดเด่นที่สุดของ Fenix คือ มันไม่ใช่เฟรมเอนดูรานซ์แบบที่เราคุ้นเคยครับ (geometry ขี่สบาย ท่อคอสูง ฐานล้อยาว ซับแรงสะเทือนดี น้ำหนักมากเล็กน้อย) Ridley ตั้งใจออกแบบให้เฟรม Fenix SL รวมเอาจุดเด่นทั้งหมดของเสือหมอบรุ่นอื่นๆ ไว้ในคันนี้คันเดียว: น้ำหนักเบาและสติฟคล้ายๆ Helium SL, แอโร่คล้าย Noah และแข็งแรงอย่างเฟรม Cyclocross X-Night

เริ่มจากบริเวณท่อคอ Fenix SL ใช้ท่อคอแบบ Tapered เหมือนเฟรม NOAH ซึ่งสอดรับกับตะเกียบใหม่และท่อล่างรูปทรงเพชรที่เป็นเอกลักษณ์ของเฟรม Fenix

New sculpted headtube
New sculpted headtube

ตะเกียบใหม่กว้างกว่าเดิมบริเวณที่รับกับท่อคอซึ่งช่วยเรื่องความลู่ลมและรองรับยางหน้ากว้างขึ้นด้วย เฟรม Fenix SL ใส่ยางได้กวางถึง 30mm ส่วนท่อล่างทรงเพชรนั้นขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรงและความสติฟ ความแข็งแรงในที่นี้หมายถึงความทนทานครับ Ridley พยายามชูโรงว่าเฟรม Fenix นั้นแข็งแรงและทนต่อความเสียหายกว่าเฟรมรุ่นอื่นๆ จากรูปทรงของท่อต่างๆ และส่วนผสมเนื้อคาร์บอนที่ไม่ได้เน้นความเบาเพียงอย่างเดียว เพราะ Ridley รู้ว่าเฟรมนี้โปรของเขาต้องใช้แข่งในสภาพเส้นทางวิบากและอาจจะล้มกระแทกได้ตลอดเวลา

ตะเกียบใหม่หนัก 370g สังเกต fork crown ที่เชื่อมกับ headtube ออกแบบมาให้สอดรับกันไม่กวน flow ของลมปะทะ
ตะเกียบใหม่หนัก 370g สังเกต fork crown ที่เชื่อมกับ headtube ออกแบบมาให้สอดรับกันไม่กวน flow ของลมปะทะ
Diamond Downtube
Diamond Downtube

ปกติแล้วเฟรมคาร์บอนจะแข็งแรงมากเมื่อรับแรงกระแทกจากทิศทางที่มันออกแบบมาให้รับ (เช่นแนวตั้ง vertical แรงกระแทกจากถนนจะไม่มีผลต่อความแข็งแรงของรถเลย) แต่ถ้ามีอะไรมากระแทกในแนวที่มันไม่ได้ออกแบบมา ไม่ตรงกับลายเนื้อไฟเบอร์ อย่างกระแทกด้านข้างแรงๆ เฟรมมีสิทธิแตกหักทันที รูปทรงเพชรที่ Ridley ใช้ใน Fenix SL ก็ออกแบบมาให้รถทนทานเป็นพิเศษในกรณีอุบัติเหตุลักษณะนี้

Fenix SL ใช้กระโหลกแบบ Pressfit BB86 เปลี่ยนจากรุ่นก่อนที่ใช้ Pressfit 30 ซึ่ง Ridley เชื่อว่าช่วยถ่ายแรงกดของนักปั่นได้ดีกว่าเดิม

Ridlet Fenix SL Review-12

บริเวณท่อนอน (top tube) ก็เปลี่ยนรูปทรง จากเดิมที่เป็นท่อสโลปตรงๆ Fenix SL ใช้ท่อทรงโค้งเหมือนคันธนู ซึ่ง Ridley อ้างว่าช่วยกระจายแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดีกว่าเดิม

Ridlet Fenix SL Review-20

บริเวรหางหลังก็เปลี่ยนจากเดิมเช่นกัน แต่ก่อนที่ใช้ seat stay และ chainstay ขนาดอ้วนปั้ก Fenix SL เปลี่ยนมาใช้หางหลังแบบเฟรม Helium ซึ่งท่อขนาดเล็ก บางกว่าเดิม ช่วยซับแรงสะเทือนดีกว่าเดิม

Ridlet Fenix SL Review-13

หลักอานก็เปลี่ยนเช่นกัน รุ่นแรกใช้หลักอานขนาด 31.2mm แต่รุ่นนี้เปลี่ยนมาเป็น 27.2 ซึ่งซับแรงได้ดีกว่าเดิมเช่นกันครับเนื่องจากมัน flex ได้มากกว่า และช่วยลดน้ำหนักลงจากเดิมด้วย

Ridlet Fenix SL Review-27

รวมฟีเจอร์ใหม่ทั้งหมดแล้ว เฟรม Fenix SL ก็ลดน้ำหนักจากเดิมได้พอสมควร เฟรมเซ็ตเบากว่ารุ่นก่อนประมาณ 170 กรัม เฟรม Fenix SL ไซส์ M น้ำหนัก 1,060g ตะเกียบ Fenix SL น้ำหนัก 370g

โดยรวมแล้วก็เป็นเฟรมที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจนทีเดียว สิ่งที่อยากบอกคือเฟรม Fenix SL ไม่ใช่เฟรมเอนดูรานซ์ในสไตล์ Trek Domane, Specialized Roubaix หรือ Bianchi Infinito CV ครับ ต่างกันตรงที่ Fenix SL ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับแรงสะเทือนเหมือนจักรยานรุ่นที่กล่าวถึงเลย เพราะงั้นเฟรมตัวนี้ฟีลเหมือนเสือหมอบแข่งขัน เพียงแค่ปั่นสบายกว่าเล็กน้อยด้วย geometry ที่รีแลกซ์กว่า แต่จะไม่นิ่มสบายเหมือนพวกรถเอนดูรานซ์อื่นๆ

ท้ายสุด เช่นเดียวกับเฟรมสมัยใหม่ Fenix SL รองรับกรุ๊ปเซ็ตทั้งเมคานิคัลและไฟฟ้าครับ

 

ฟีลลิ่งเป็นยังไง?

Ridley Fenix SL ที่ DT ทดสอบมากับกรุ๊ปเซ็ต Shimano 105 11 Speed, แฮนด์ หลักอาน และสเต็ม 4ZA ซึ่งเป็นแบรนด์ In house ของ Ridley, ล้อ Fulcrum Racing 7 ซึ่งเป็นล้อรุ่นเริ่มต้นของ Fulcrum และยาง Continental Ultrasport ขนาด 25mm สนนค่าตัว (ราคาตั้ง — 83,000 บาท) รีวิวนี้เราใช้เทสเตอร์สองคน เป็นแอดมิน (คูน) เองและอีกคนคุณกุ๊ก แมวทองครับ รีวิวเวอร์ประสบการณ์ปั่นหลายสิบปีครับ

Kook’s view

Ridlet Fenix SL Review-10

การควบคุม: ความรู้สึกแรกที่ได้จากการกดลูกบันไดปั่นคือความหนักแน่นในการทรงตัวด้วยตัวถังทรงเพชรที่ต้านการบิดตัวขณะส่งแรงขับเคลื่อน การตอบสนองในการส่งแรงขับเคลื่อนบนพื้นที่สูงนั้น ทำออกมาได้อย่างหนักแน่น คงเส้นคงวา ส่วนการพุ่งลงมาจากเนินชันในเส้นทางที่คดเคี้ยวอาจจะะขาดเรื่องความปราดเปรียวว่องไวในการเข้าออกโค้ง แต่ความมั่นคงในขณะที่กำลังเลี้ยวโค้งอยู่นั้น ก็สร้างความมั่นใจให้ผู้บังคับควบคุมได้ดี

เบรค: ผมปั่นเจ้า Ridley Fenix SL เข้าไปยังการจราจรของ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ เบรค ที่จะต้องตอบสนองต่อการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยม เบรค Shimano 105 รุ่นใหม่ทำได้น่าพอใจ ให้พลังเบรคดีทีเดียว

การออกตัว/ ความพุ่ง: ผมซอกแซกผ่านการจราจรมาถึงบริเวณหน้าสัญญานไฟจราจร เมื่อถึง สัญญานไฟเขียว ผมจึงกดลูกบันไดด้วยความหนักหน่วง พุ่งไปด้านหน้า ผมพบว่าเจ้า Ridley Fenix Sl ตอบสนองช้าไปนิดนึง หรือที่พวกเราติดปากกันว่า รอรอบ ด้วยจากชุดล้อติดรถที่ประกอบมาให้คือ Fulcrum Racing ที่น้ำหนักเยอะ (1,750g) กับ ยางขนาด 700×25 c ที่เน้นเรื่องทนทานรั่วยาก อาการ รอรอบ ที่ว่ามาจึงถือเป็นเรื่องปกติ

เมื่อเข้าสู่พื้นที่ทางราบ ผมไม่รอช้าที่จะลองเค้นเอาพลังทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อพุ่งทยานไปข้างหน้า และ ความเร็วระดับ 60 กม./ชม. ขึ้นไป ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถของ Fenix SL  เพียงแต่ว่าเราจะต้องไม่ออกแรงอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เริ่มต้นทำความเร็ว เพราะถึงแม้ตัวรถจะตอบสนองได้ดี แต่ เราจะต้องเข้าใจว่า มีน้ำหนักแฝงของอุปกรณ์อื่นๆ รวมอยู่ด้วย และนั้นคือสิ่งที่คุณจะต้องเรียนรู้ในการปั่นจักรยานที่มีชุดล้อและยางที่มีน้ำหนักครับ

Ridlet Fenix SL Review-26
Tested on pave!

ความสบาย: บนถนนที่ทางไม่เรียบ ถ้าเราส่งแรงปั่นอย่างสม่ำเสมอ เจ้า Fenix SL สร้างความมั่นคงในการส่งถ่ายกำลังลงสู่พื้นถนนได้ดี เบาะ 4ZA ที่ให้มานั่งสบายดี แต่ถ้าคุณสรีระไม่เข้ากับเบาะก็คงต้องเปลี่ยนเป็นชิ้นแรกๆ

หลังจากได้ลองปั่น Fenix SL ยางโต 700x25c มาทั้งวันแล้ว ช่วงเย็นจึงได้เอาขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนัก ทั้งบันไดพร้อมไมล์การ์มิน 510 เพราะไม่อยากำเอาน้ำหนักของจักรยานมาเป็นเป็นเรื่องชี้วัดในประสิทธิภาพก่อนที่จะเริ่มปั่นทดสอบ รวมน้ำหนัก 8.5 กก. (พร้อมปั่น) คงบอกคุณค่าในตัวของมันได้ดีระดับหนึ่งครับ

 

Koon’s View

จากมุมคนที่เคยใช้ Ridley Fenix รุ่นแรกคำถามแรกเลย Fenix SL ต่างจากรุ่นเก่าแค่ไหน? คำตอบคือประสิทธิภาพโดยรวมดีกว่าเดิมแบบรู้สึกได้ครับ ทั้งเรื่องความสติฟ ความสบายในช่วงหลัง และออกตัวได้พุ่งดีกว่าเดิม

เดินสายในท่อเรียบร้อยดี
เดินสายในท่อเรียบร้อยดี

ในส่วนของ geometry ลองดูตัวเลขนี้ครับ เทียบจักรยาน 3 รุ่นที่ไซส์ใกล้เคียงกัน

Trek Domane 50cm : Stack 546mm / Reach  368mm
Canyon Aeroad XS: Stack 512mm / Reach 376mm
Ridley Fenix SL XS: Stack 527mm / Reach 374mm

สังเกตว่า Ridley Fenix SL ถึงจะจัดอยู่ในหมวด endurance แต่ระยะ Stack นั้นไม่ได้สูงเหมือนรถเอนดูรานซ์อย่าง Trek Domane แต่ก็ไม่ต่ำเหมือนรถแข่งซิ่งๆ อย่าง Canyon ช่วงเอื้อม (reach) ก็ไม่สั้นมาก ซึ่งมันก็ถ่ายทอดออกมาในคาแรคเตอร์ของรถด้วย ท่านั่งที่เซ็ตออกมานั้นไม่ได้สูงชัน ขี่ค่อนข้างสบายแต่ก็ยังมีกลิ่นอายความเป็นรถแข่งอยู่เต็มตัว

แม้แต่ฟีลลิ่งของรถก็เช่นกัน Fenix SL ไม่ได้ซับแรงสะเทือนได้แบบนุ่มสบายเหมือนเฟรมขี่สบายยี่ห้ออื่น แต่ไม่แข็งสะท้านเหมือนรถแข่งเพียวๆ บางรุ่น อยู่ตรงกลางๆ ครับ ซึ่งถ้าเอายางหน้ากว้าง 25mm มาช่วยพร้อมหลักอานคาร์บอนก็ทำให้ได้ฟีลที่นุ่มใช้ได้ ที่แน่ๆ ซีทสเตย์บางๆ นั้นทำให้รู้สึกช่วงหลังนิ่มกว่า Fenix รุ่นแรกชัดเจน

ด้วยคาแรคเตอร์ของรถ เรื่องจังหวะพุ่งยังไม่จี๊ดจ๊าดเท่ารถไต่เขาที่น้ำหนักเฟรมเบามากๆ (ซึ่งราคาก็จะกระโดดกว่านี้) รถคอนโทรลง่าย ยางหน้ากว้าง 25 ช่วยให้เข้าโค้งได้หนึบดี

Ridlet Fenix SL Review-24

 

สรุป

โดยรวมแล้วเป็นเฟรมที่ดี ตัวเฟรมส่งถ่ายแรงขับเคลื่อนได้ดี คอนโทรลง่าย มั่นคง เข้าโค้งเยี่ยม ฟีลลิ่งสไตล์เสือหมอบแข่งขันที่ไม่กระด้างกระเทือน แต่เรื่องความพุ่งติดเท้ายังดีไม่สุด ถ้าได้ส่วนประกอบต่างๆที่มีน้ำหนักเบาด้วยแล้ว มันจะเป็น จักรยานสำหรับใช้แข่งที่ดีคันหนึ่งเลยทีเดียวครับ ประสิทธิภาพสอดคล้องกับราคาระดับ Mid-Range

ถ้าดูทีแรกราคาอาจจะแพงกว่าเดิม แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มา “แทนที่” Fenix รุ่นเก่า เพราะรุ่นนั้นก็ยังมีขายอยู่ในระดับราคาเท่าเดิม ส่วน Fenix SL มาเติมเต็มระดับราคาที่สูงกว่าของไลน์เอนดูรานซ์ของ Ridley เป็นโมเดลที่สูงกว่า เบากว่า ประสิทธิภาพดีกว่านั่นเอง

เราอาจเข้าใจว่าเจ้า Fenix SL เป็นรถแนว ซับแรงสะเทือนนุ่มสบาย ด้วยการเปิดตัวในสนามคลาสสิกอย่าง Paris-Roubaix แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นรถแข่งแนว “ไปได้ทุกที่” เสียมากกว่าครับ

ความพุ่ง: 3.5/5

การควบคุม: 4/5

ความสบาย: 4/5

ความคุ้มค่า: 4/5

 

* * *

ราคาตั้ง: 83,000 บาท (completed bike)

ตัวแทนจำหน่าย: Asia Bike ประเทศไทย

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *