2016 Paris-Nice recap: สูตรสำเร็จของทีม Sky?

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกอเรนท์ โทมัส (Sky) ดีเฟนด์เสื้อผู้นำเวลารวมในสนาม Paris-Nice สเตจสุดท้าย ไล่ตามจับอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Tinkoff) ที่ออกโจมตีตลอดทั้งสเตจ 7 ถึงจะเข้าเส้นชัยก่อนแต่ก็พ่ายเวลารวมให้กับโทมัสไป 4 วินาที

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีแค่ปีเดียวเท่านั้นที่ทีม Sky ไม่ชนะรายการ Paris-Nice

แพทเทิร์นคล้ายๆ กันปรากฏในสนามสเตจเรซระดับสูงสุดอย่าง Volta Ao Algarve (Sky ชนะ 2012, 2015, 2016) และ Criterium du Dauphine (Sky ชนะ 2011, 2012, 2013, 2015)

เรียกได้ว่ารายการแบบสเตจเรซแบบ 7 วัน ทีม Sky คว้าแชมป์ได้อย่างน้อย 30% และชัยชนะเหล่านี้ไม่ได้มาจากนักปั่นคนเดียว

ปี 2012 Bradley Wiggins ชนะ Paris-Nice, Tour de Romandie และ Criterium du Dauphine ก่อนที่จะได้แชมป์ Tour de France

ปี 2013 Chris Froome ชนะ Tour de Romandie, Criterium du Dauphine และได้ที่ 2 Tirreno-Adriatico ก่อนที่จะได้แชมป์ Tour de France

ในปี 2015 Chris Froome ชนะ Criterium du Dauphine และได้ที่ 3 Tour de Romandie ก่อนที่จะคว้าแชมป์ Tour de France สมัยที่สอง

ปี 2016, Geraint Thomas ได้แชมป์ Volta ao Algarve เป็นครั้งที่สอง และเป็นแชมป์ Paris-Nice ครั้งแรก ทั้งสองรายการเขาเอาชนะ Alberto Contador ที่ออนฟอร์ม

เรายังไม่พูดถึง Richie Porte ที่ถึงจะย้ายไปอยู่กับ BMC แต่ก็เคยได้แชมป์ Paris-Nice ในปี 2013, 2015 และ Volta Catalunya ปี 2015

PN Thomas 2

ทั้งหมดทั้งปวงนี้หมายความว่าทีม Sky ปั้นนักปั่นที่สามารถพิชิตสเตจเรซได้ราวกับมีสูตรสำเร็จ วิธีการที่ทำให้คนนึงประสบความสำเร็จ สามารถนำมาใช้กับนักปั่นคนถัดๆ ไปก็ได้

Sky จึงไม่จำเป็นต้อง “พึ่ง” กับเอซคนเดียว เหมือนกับที่ Tinkoff พึ่งคอนทาดอร์ และ Astana พึ่งนิบาลิ (และฟาบิโอ้ อารู)

แบรดลีย์ วิกกินส์เข้าใจเรื่องนี้ดีเมื่อเขา (เหมือนจะโดน) ลดความสำคัญในปี 2013 ที่คริส ฟรูมขึ้นมาแทนที่เขาในฐานะหัวหน้าทีมสำหรับสนาม Tour de France

ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดใน Paris-Nice ปีนี้ไม่ใช่แค่ที่โทมัสชนะแชมป์รายการ  ที่เคยเป็นนักปั่น Team Pursuit ในลู่ กลายมาเป็นสายคลาสสิค และปีที่แล้ว เกือบจะติดโพเดี้ยม Tour de France เพียงเพราะช่วยคริส ฟรูม มาสู่ปีนี้ที่เขาเริ่มเข้า แพทเทิร์นเดียวกับเอซของทีม Sky สามคนที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาชนะนักปั่นแกรนด์ทัวร์ที่มีผลงานมากที่สุดในทศวรรษนี้ถึงสองสนามซ้อน – อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ ไม่ใช่เพราะคอนทาดอร์ฟอร์มไม่ถึง เห็นได้ชัดว่าเขาและลูกทีม Tinkoff พยายามทุกวิถีทางที่จะขึ้นนำเวลารวมในสเตจ 6 ออกโจมตี Sky หลายต่อหลายครั้ง แต่โทมัสก็เฉือนคอนทาดอร์ได้ที่หน้าเส้นชัย เข้าสู่สเตจ 7 สเตจสุดท้าย คอนทาดอร์ก็สาดกระสุนหลายครั้ง เกือบจะหนีโทมัสได้สำเร็จในทางลงเขายาว 15 กิโลเมตร (โทมัสหมดแรงระหว่างทางขึ้นเขา) แต่ด้วยความมุ่งมั่นและสกิล downhill โทมัสก็ไล่มาเกือบทันคอนทาดอร์และเซฟเสื้อผู้นำได้อย่างเฉียดฉิว ชนะเวลารวมไปแค่ +4 วินาทีเท่านั้น (ถ้าคอนทาดอร์ปั่น Venge ViAS จะชนะหรือเปล่านะ!?)

 

ย้อนรอย Paris-Nice สเตจ 0-7

สเตจ Prolouge เป็นการเซอร์ไพรส์เปโลตองโดยไมเคิล แมธธิวส์ (GreenEdge) ที่โชว์ฟอร์ม Time Trial แบบเหนือคาด เอาชนะทอม ดูโมลาน (Giant) ไปแค่เสี้ยววินาที เป็นการคอนเฟิร์มอีกครั้งว่าเขาเป็นนักปั่นทีมากกว่าแค่สปรินเตอร์

สเตจ 1: เราเริ่มเห็นฟอร์มทีม Sky ที่ลากแรงจนฉีกเปโลตองขาดที่ 45 กิโลเมตรสุดท้ายก่อนที่จะจบด้วยการสปรินต์และแชมป์สเตจครั้งแรกของอาร์นอร์ด เดอแมร์ (FDJ) เกือบจะลืมไปแล้วว่าคนนี้เคยสปรินต์ชนะกับเขาด้วย – คริสทอฟ (Katusha) ที่ฟอร์มดีตลอดช่วงต้นปีหลุดกลุ่มเพราะจักรยานพัง ในขณะที่มาร์เซล คิทเทล (EQS) หลุดกลุ่มเช่นกันเพราะตามเพซของ Sky ในช่วงท้ายไม่ไหว

สเตจ 2: ยังคงอารมณ์ความเดือดของการสปรินต์อย่างต่อเนื่องเมื่อเนเซอร์ บูฮานี (Cofidis) เบียดกระแทกไมเคิล แมธธิวส์ (OGE) เข้ากับบาริเออร์ ได้แชมป์สเตจไปครอง แต่เมื่อกรรมการดูภาพรีเพลย์ก็ต้องปรับให้บูฮานีแพ้ฟาวล์ เพราะจงใจเปลี่ยนไลน์ไปบังคู่แข่ง โชคดีที่แมธธิวส์ไม่ล้ม และจบแบบไม่มีมวยหลังงานเลิก…

สเตจ 3: ที่ควรจะจบบนยอดเขา Mt Brouilly ต้องถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดายเพราะสภาพอากาศหนาวเหน็บ หิมะตกหนักอุณหภูมิเหลือเพียง 2-3 องศาเซลเซียสเท่านั้น นักปั่นแข่งกันได้ครึ่งทางก็ต้องแพครถกลับโรงแรม และทำให้นักไต่เขาหลายๆ คนต้องเสียโอกาสทำเวลารวมห่างคู่แข่งไป

สเตจ 4: กลับมาสปรินต์กันอีกครั้งและเป็นการ “เอาคืน” ของบูฮานี เมื่อเขาสปรินต์ชนะคู่แข่งได้จริงๆ (แบบไม่โดนปรับแพ้ฟาวล์) ในฟิลด์ที่มีทั้งอังเดร ไกรเปิล และมาร์เซล คิทเทล ก็ต้องบอกว่า Cofidis ทำได้ไม่เลวเลยเพราะมีลีดเอาท์และสปรินเตอร์ที่พร้อมยิ่งกว่าตัวเต็งที่ผลงานมากกว่าเขา

สเตจ 5: เส้นทางโรลลิ่งช่วงสุดท้ายเปิดโอกาศให้อเล็กซี่ ลุตเซงโก้ ม้ามืดไว 23 ปีจาก Astana ฉายเดี่ยวโซโล่ร่วม 30 กิโลเมตรเข้าเส้นชัยแบบมีเวลาเหลือชูแขนช้าๆ สบายๆ

สเตจ 6: ความมันส์ของจริงอยู่ในเมื่อเปโลตองเริ่มเคลื่อนตัวผ่านเทือกเขา Rhone และจบบนยอดเขา Madone d’Utelle เริ่มสเตจ มีนักปั่นร่วม 32 คนที่เวลารวมห่างกันไม่ถึง 1 นาที แต่จบสเตจแล้วเราเหลือตัวเต็งแค่ 10 คนที่พอจะแย่งลุ้นแชมป์กันได้

Parigi Nizza 2016 - 7a tappa Nice - Nice 141 km - 13/03/2016 - Alberto Contador (Tinkoff) - Richie Porte (BMC) - Tim Wellens (Lotto Soudal) - foto Graham Watson/BettiniPhoto©2016

Tinkoff เล่นเกมรุกหนักส่งราฟาล ไมย์ก้าเป็นหน่วยคามิคาเซ่พาคอนทาดอร์ขึ้นเขาด้วยความเร็วสูง ซึ่งเร็วพอจะฉีกกลุ่มเปโลตองจนเหลือตัวเต็งไม่กี่คน คอนทาดอร์รับไม้ต่อ กระแทกซ้ำอีกครั้ง มีแค่ริชีย์ พอร์ทที่พอจะตามไหว แต่โทมัสยังมีตัวช่วยเป็นเซอร์จิโอ้ เฮนาว ที่มาปิดแก็ปให้อย่างรวดเร็ว

ม้ามืดของวันกลับเป็นอิลเนอร์ ซาคาริน แชมป์ Tour de Romandie ปี 2015 ที่ชนะรายการเดียวแล้วก็เงียบไปเลย ด้วยฟอร์มไต่เขาแบบนี้เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะกลายมาเป็น GC คนใหม่ให้ Katusha ก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นสเตจนี้ทำให้โทมัสได้ขึ้นนำเวลารวมในที่สุด

สเตจ 7: วันสุดท้ายที่ยังพอมีภูเขาให้คอนทาดอร์ลงดาบ เขาเริ่มสเตจด้วยเวลาตามโทมัส +16 วินาที และคนอย่างคอนทาดอร์ที่ไม่เคยแข่งเพื่อหวังที่สอง เขาต้องชนะเท่านั้น ออกยิงหนีตั้งแต่ 45 กิโลเมตรสุดท้าย เพื่อตามไปหาเพื่อนร่วมทีมที่เบรคอเวย์ไปรอสองคน (แผนนี้ Tinkoff ใช้บ่อย) ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีเมื่อเบรคอเวย์ของทีมช่วยคอนทาดอร์ทำเพซขึ้นเขาลูกสุดท้าย Col d’Eze จนโทมัสหมดตัวช่วยและหมดแรงในที่สุด

PN Thomas 4

การแข่งขันดูราวกับว่าคอนทาดอร์จะพลิกเกมได้ในสเตจสุดท้ายแต่โชคดีที่ยังมีเฮนาวมากู้ชีพ พาไล่จับคอนทาดอร์อีกครั้งในจังหวะลงเขา ไม่ใช่แค่เฮนาว แต่โทมัสยังได้เพื่อนต่างทีม โทนี่ กาโลแพน (Lotto-Soudal) มาช่วยไล่จับด้วย เพราะกาโลแพนเองก็ต้องเร่งทำเวลาเพื่อให้ติด Top 10 เวลารวมของรายการ

ลงไปถึงตีนเขา เป็นทิม เวลเลนส์ (Lotto-Soudal) ที่คว้าแชมป์สเตจเอาชนะคอนทาดอร์และพอร์ทแบบสบายๆ

PN Wellens

แต่ใครจะชนะสเตจไม่ใช่ประเด็น คำถามคือคอนทาดอร์เข้าเส้นชัยนำโทมัสพอจะได้เสื้อเหลืองหรือเปล่า? สุดท้ายก็ไม่พอ โทมัสตามมาเป็นอันดับ 11 และรักษาเวลารวม ชนะคอนทาดอร์ +4 วินาที ริชีย์ พอร์ท (BMC) ปิดอันดับสามที่ +12 วินาที

 

สรุป

Paris-Nice เป็นรายการที่คลาสสิคเสมอ ถึงปีนี้จะขาดสเตจภูเขาสูงชันไปหนึ่งสเตจ แต่มันก็เป็นการบังคับให้ตัวเต็งบางคนต้องทำเกมรุกสนุกๆ จนเราได้เห็นการแข่งขันที่น่าติดตามตลอดช่วงวันสุดท้าย ชัยชนะ 4 วินาทีของโทมัสนั้นเป็นแชมป์รายการที่เฉียดเป็นอันดับสองของประวัติศาสตร์การแข่งขัน

PN Thomas 3

ตอนแรกผมไม่คิดว่าโทมัสจะคงเส้นคงวาได้ในสเตจเรซที่เขาเคยนำทีมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อเจอกับคอนทาดอร์ที่พร้อมเชือดคอคู่แข่ง (สาดกระสุนไปกี่ครั้งในสเตจ 6+7?) พร้อมใช้ทุกกลยุทธ์ที่จะชิงเสื้อเหลืองคืนให้ได้

แต่โทมัสเหนียวกว่าที่คิด เกราะเริ่มแตกบ้างในสเตจสุดท้าย แต่เขาก็ยังเอาเวลาคืนได้ในที่สุด (ต้องขอบคุณเฮนาวที่ช่วยโทมัสได้ราวกับพอร์ทช่วยฟรูม)

แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้คงไม่ได้หมายความว่าเราจะเห็นดราม่าระหว่างเอซของทีมในตูร์เหมือน Froome vs Wiggins โทมัสเองบอกว่าเขาจะช่วยฟรูมเต็มที่ในตูร์ อีกสองสามปีค่อยว่ากันว่าเขาจะได้นำแกรนด์ทัวร์มั้ย และถ้าได้นำจะเป็นกระสุนด้านเหมือนริชีย์ พอร์ทหรือเปล่า?

แต่ไฮไลท์ของรายการกลับไม่ใช่โทมัส ต้องบอกว่าคอนทาดอร์คือแรงกระตุ้นหลักที่ทำให้เกมสนุก ถ้าไม่ใช่เขาทุกคนคงปั่นตามวัตต์จนกว่าจะเชือดกันที่จังหวะสุดท้ายตามสไตล์ทีม Sky แต่เป็นคอนทาดอร์และ Tinkoff ที่ใช้กลยุทธ์หลากหลาย ถึงจะไม่สำเร็จแต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่กล้าลอง

ย้อนกลับไปที่ต้นบทความ โทมัสจะเป็น New Hope ของ Sky หรือเปล่า? ตอนนี้แววเริ่มมา แพทเทิร์นเริ่มปรากฏ ไม่ว่าใครจะว่ายังไง Sky ก็เป็นทีมเดียวใน WorldTour ที่มีสูตรลับในการปั้นนักปั่นสเตจเรซที่ทีมอื่นไม่สามารถทำได้เลย

คำเปรียบเปรยที่ว่ารถบัสของทีม Sky นั้นดูน่ากลัวราวกับ Death Star ในภาพยนตร์ Starwars คงจะไม่เกินเลยครับ  ไม่ใช่แชมป์สเตจเรซเพียงคนเดียวที่ทีมสร้าง แต่นี่สร้างมาถึง 4 คน ที่มีผลงานต่อเนื่องทุกปี และมีแนวโน้มว่านักปั่นอย่าง เวาท์​ โพลส์, มิฮาล เควียทคอฟสกี้, ปีเตอร์ เคนยอท์, เซอร์จิโอ้ เอนาว, และมิเคล เนียเวจะเดินรอยตามรุ่นพี่ในปีต่อไปและต่อๆ ไป

สเตจเรซสนามต่อไปที่น่าติดตามคงไม่พ้น Volta Catalunya ในสัปดาห์หน้าที่เราจะได้เจอ Froome, Contador, Barguil, Aru, Quintana, Zakarin, Hesjedal, Majka, Porte, Tejay, Thomas, Uran, Rodriguez, Talansky และ Zakarin! เรียกได้ว่าดาว GC มากันครบ แต่แชมป์จะจบที่ใครคงต้องติดตามกันครับ

ผลการแข่งขัน Paris-Nice 2016

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *