ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนของทุกปีเป็นช่วงเวลาแห่งการแข่งขันสนามแข่งจักรยานแบบวันเดียว ที่เรารู้จักกันดีว่า “สนามคลาสสิค” สำหรับแฟนจักรยานแล้วมันเป็นสนามแข่งที่ตื่นเต้นสนุกสนานยิ่งกว่าสเตจเรซที่แข่งขันต่อกันหลายๆ วันครับ รายการวันเดียวนั้นนักปั่นไม่มีโอกาสแก้ตัวในวันถัดไป รูปเกมจะดุเดือด รุนแรงและสนุกแทบทุกรายการ
แล้วทำไมถึงเรียกว่าสนามคลาสสิค? เพราะรายการพวกนี้แข่งกันมาล้วนเกิน 50 ปีทั้งสิ้น รายการชื่อดังมักจะมีอายุร่วมร้อยปีเข้าไปแล้ว เรียกได้ว่าอยู่ยงคงกระพันจนตัวสนามกลายเป็น “สถาบัน” มีคาแรคเตอร์ของตัวเองชัดเจนทั้งเรื่องเส้นทางและสไตล์การแข่ง
สนามคลาสสิคส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศ เบลเยี่ยม มีแค่สองรายการใหญ่ที่อยู่ประเทศอื่น (Milan-San Remo อิตาลี และ Paris Roubaix ในฝรั่งเศส) และรายการคลาสสิคสนามแรกจะเริ่มเสาร์-อาทิตย์นี้แล้ว ปีนี้มีสนามไหนน่าติดตามบ้าง ลองมาดูกันครับ (โพสต์นี้จะเป็นพรีวิวคร่าวๆ ส่วนพรีวิววิเคราะห์เจาะลึกฟอร์มนักปั่นและเส้นทางจะพรีวิวก่อนแข่งอีกทีครับ)
Part 1: The Northern Classics
1. Omloop Het Nieuwsblad – 27 กุมภา, เบลเยียม
(ออกเสียง – ออม ลูป เฮ็ท นิวส์บลัด) เป็นสนามโหมโรงรายการคลาสสิคของทุกปี ว่ากันว่าฤดูกาลแข่งยังไม่เริ่มหรอกหากนักปั่นยังไม่เริ่มแข่ง Omloop กัน
สนาม Omloop มีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร และมีเนินชันสั้นๆ 11 ลูกตลอดเส้นทาง ด้วยที่เป็นรายการคลาสสิคสนามแรก อากาศในเบลเยี่ยมช่วงนี้จึงยังหนาวเย็นและมีกระแสลมแรงตลอดการแข่งขัน บางครั้งถึงกับมีหิมะตกด้วย ความท้าทายจึงไม่ได้มาจากสภาพเส้นทางอย่างเดียว แต่นักปั่นต้องทนอากาศเย็นได้ดีถึงจะมีโอกาสคว้าแชมป์รายการ
แชมป์เก่า เอียน สแตนนาร์ด (Sky) ไม่ได้มาลงแข่งปีนี้ แต่มีตัวเต็งคลาสสิคมากันครบ ไม่ว่าจะเป็น ทอม โบเน็น (EQS), เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC), และแชมป์โลกปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff)
ในปี 2015 สแตนนาร์ดหลุดกลุ่มไปกับ EQS 3 คน (เทิร์ปสตร้า โบเน็น และแวนเดนเบิร์ก) แต่กลับพลิกเอาชนะได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2015 เลยก็ว่าได้
2. Kuurne-Brussel-Kuurne – 28 กุมภา, เบลเยียม
ต่อจาก Omloop นักปั่นก็ลุยกันต่อที่สนาม KBK (ออกเสียง เคิร์น บรัสเซล เคิร์น) รายการนี้แข่งมาแล้ว 68 ครั้ง เส้นทางจะต่างจาก Omloop ตรงที่ช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายแทบไม่มีเนิน ทำให้สนามนี้สปรินเตอร์มักจะชนะบ่อยๆ มาร์ค คาเวนดิช (Dimension Data) เคยได้แชมป์รายการนี้แล้วสองครั้ง และเป็นแชมป์คนล่าสุด (2015)
สำหรับปีนี้สปรินเตอร์ที่น่าจับตามองมีทั้ง วิวิอานี (Sky), คริสทอฟ (Katusha), ซากาน (Tinkoff) แต่คาเวนดิช แชมป์เก่าไม่มาลงเพราะเตรียมแข่งชิงแชมป์โลกสนามลู่วันที่ 2 มีนาคมนี้
3. Milan-San Remo – 19 มีนาคม, อิตาลี
มิลาน ซานเรโม คือสนามแข่งระดับอนุสรณ์ (Monument) รายการแรกของปี เอกลักษณ์อยู่ที่เส้นทางยาวที่สุดในบรรดาการแข่งอาชีพที่ 300 กิโลเมตร และมีเนินชันอยู่ไม่ไกลจากเส้นชัย อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่เส้นทางอย่างเดียว แต่มีทั้งหิมะ ฝน ลม ทำให้เป็นหนึ่งในรายการที่ยากที่สุดในรอบปีและมีเส้นทางสวยงามน่าชมถ่ายทอดสดด้วย ปีนี้จะเป็นการแข่งขันครั้งที่ 106!
ถึงรายการนี้จะมีเนินใกล้เส้นชัย แต่ก็มักจะจบด้วยชัยชนะของสปรินเตอร์เพราะเนินไม่ได้ชันพอจะตัดกลุ่มเปโลตองขาด แชมป์เก่า จอห์น เดเกนโคลบ์ (Giant) ไม่มาป้องกันแชมป์เพราะยังบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนอยู่ แต่ตัวเต็งก็มากันพรึบ ไม่ว่าจะเป็น แคนเชอลารา (Trek), ซากาน (Tinkoff), แมทธิวส์ (GreenEdge), คริสทอฟ (Katusha) และสปรินเตอร์อีกหลายคน
4. Gent – Wevelgem – 27 มีนาคม, เบลเยียม
สัปดาห์ถัดไปเรากลับมาที่สนามในเบลเยียมอีกครั้ง กับรายการ Gent-Wevelgem (ออกเสียง เกนท์ วีเวลเก็ม) หลังจาก Omloop และ KBK นักปั่นจะเริ่มเจนสนามเริ่มเห็นฟอร์มกันแล้วว่าคู่แข่งคนไหนต้องระวังเป็นพิเศษ รายการนี้มีเนินชันสลับคล้ายๆ Omloop แต่มักจะเอื้อให้นักปั่นสายคลาสสิคมากกว่า (ตัวใหญ่ทนอากาศหนาว แรงเยอะ หนีเดี่ยวได้ดี ขึ้นเนินสั้นๆ ได้เร็ว)
ปีที่แล้วจัดว่าเป็นปีที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้เพราะนักปั่นต้องเจอกระแสลมที่แรงมากๆ ขนาดพัดตกขอบถนนบาดเจ็บกันหลายคน เอ็ดวาลด์ บอสซัน ฮาเก็น โดนลมพัดตกคูจนกระดูกไหปลาร้าหัก
ปี 2015 ลูค่า พาวลินี่ (จากทีมKatusha ที่ถูกโดนแบนจากการเสพโคเคนอยู่) ได้เป็นแชมป์รายการ กระชากหนีกลุ่มตัวเต็งแล้วโซโล่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ถึงแม้เขาจะโดนกลุ่มทิ้งหลายครั้งแต่ด้วยกึ๋นและประสบการณ์การแข่งหลายสิบปี (พาวลินี่อายุ 38 แล้ว) เขาพลิกเกมมาเอาชนะเกอเรนท์ โทมัส (Sky) และคู่เทิร์ปสตร้ากับแวนเดนเบิร์ก (EQS) ได้ในช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน
5. Tour of Flanders – 3 เมษายน, เบลเยียม
Tour of Flanders (ทัวร์ออฟแฟลนเดอร์ส) เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของฤดูกาลคลาสสิคเลยก็ว่าได้ เพราะนี่คือสนามแข่งที่ยากที่สุดในเบลเยียม แข่งกันมาแล้ว 99 ครั้งและปีนี้จะเป็นครั้งที่ 100 พอดี
ด้วยเส้นทางยาวกว่า 250 กิโลเมตรและเนินชันบนถนนหิน Cobble ตลอดทั้งการแข่งขัน รายการนี้ทดสอบนักปั่นในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นจิตใจ ร่างกายและทีมเวิร์ก ปีนี้ทั้งแคนเชอลารา (Trek) และโบเน็น (EQS) สองแชมป์เก่าที่มีผลงานรายการนี้คนละสามสมัยอาจจะลงแข่งเป็นครั้งสุดท้าย (กำลังจะรีไทร์กัน) และแต่ละคนหวังว่าจะได้แชมป์อีกสักครั้ง ถ้าใครคนหนึ่งทำได้ เขาจะเป็นนักปั่นที่มีสถิติแชมป์ Flanders มากที่สุดในโลก ที่ 4 สมัย
ในปี 2015 เกมเข้าสู่จุดตัดสินเมื่อนิกกี้ เทิร์ปสตร้า (EQS) หนีคู่ไปกับอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) บนเนินยุทธศาสตร์ ด้านหลังมีแวนเอเวอร์มาร์ท (BMC) และซากานที่พยายามไล่ปิดระยะห่าง แต่คริสทอฟไม่ยอมให้ถูกไล่จับและสปรินต์เอาชนะเทิร์ปสตร้าได้แชมป์รายการนี้เป็นครั้งแรก
Flanders เป็นรายการที่ต้องใช้กึ๋นมากเป็นพิเศษ นักปั่นต้องคอยอ่านเกม คาดเดากลยุทธ์ของคู่แข่งตลอดเวลา เพราะเส้นทางไม่เอื้อให้กลุ่มทิ้งกันได้ขาดมากนัก ชัยชนะจึงมาจากการอ่านจังหวะรุกมากกว่าการออกหนีเดี่ยวไกลๆ โดยเฉพาะในเกมสมัยใหม่ที่นักปั่นฝีเท้าไม่หลุดกันมาก
6. Paris-Roubaix – 10 เมษายน, ฝรั่งเศส
พารี รูเบซ์ น่าจะเป็นสนามที่แฟนจักรยานรู้จักดีที่สุด รายการนี้แข่งในฝรั่งเศส แต่เรียกได้ว่าเป็น “The Ultimate Race” สำหรับนักปั่นสายคลาสสิคเลยก็ว่าได้ รูเบซ์ ต่างจากสนามในเบลเยี่ยมโดยสิ้นเชิงเพราะเส้นทางราบเรียบตลอด 250 กิโลเมตร ไม่มีเนินเหมือนสนาม Belgian Classics แต่เปลี่ยนเป็นเส้นทางถนนหินโบราณสุดโหด หลายสิบช่วง และไปจบที่สนาม Roubaix-Velodrome DT เคยเขียนถึงความขลังและความโหดหินของรายการนี้หลายครั้ง ลองไปอ่านประวัติกันได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ
จะชนะสนามนี้ได้ไม่ใช่แค่ต้องแข็งแกร่ง แต่ต้องมีโชคด้วย เพราะด้วยเส้นทางวิบากสุดโหดนั้น บ่อยครั้งที่อุปกรณ์นักปั่นจะมีปัญหาหรือเจออุบัติเหตุระหว่างทาง ทั้งแคนเชอลาราและโบเน็นเคยล้มบาดเจ็บจนต้องถอนตัวทั้งๆ ที่ฟอร์มดีมาตลอดฤดูกาล
ในปี 2015 กลุ่มตัวเต็งจาก BMC, EQS, Giant, IAM , Astana และ GreenEdge ฟอร์มทีมกันหนีคู่แข่งในช่วง 50 กิโลเมตรสุดท้ายเข้าสู่เวโลโดรมพร้อมกัน แต่เมื่อในกลุ่มมีจอห์น เดเกนโคลบ์ (Giant) สปรินเตอร์พลังช้าง ก็ยากที่ใครจะแซงเขาได้ น่าเสียดายว่าปีนี้เขาก็จะไม่ได้ลงแข่งเพื่อป้องกันแชมป์
Part II: The Ardennes Classics
พ้นจากสนามที่เราเรียกว่า “Northern Classics (จาก Omloop ถึง Roubaix) เราจะกระโดดมาที่สนาม “Ardennes Classics” ซึ่งเป็นชื่อรวมๆ 3 สนามแข่งที่แข่งขันกันในแคว้นอาร์เดนส์ของประเทศเบลเยี่ยม ทั้งสามรายการเป็นรายการแข่งวันเดียวที่แข่งกันมาหลายร้อยปีเช่นกัน
แต่สามรายการนี้จะต่างจาก Northern Classics พอสมควรตรงที่เส้นทางนั้นเป็นเนินโรลลิ่งเกือบทั้งรายการ อุปสรรคจึงไม่ใช่ทางวิบากหรือถนนหิน แต่เป็นเนินเขาสั้นๆ ร่วมยี่สิบลูก และเนินชันหน้าเส้นชัย ทำให้ไม่เหมาะกับพวกตัวเต็งสนาม Norhern Classics ที่มักจะร่างใหญ่ น้ำหนักมาก สนามอาร์เดนส์จะเอื้อให้นักปั่นที่ไต่เขาได้ดี ในสไตล์ตัวเต็ง GC ขึ้นเนินชันได้เร็วและสามารถสปรินต์ได้ดีหน้าเส้นชัย เป็นคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนมากและมีไม่กี่คนที่มีสไตล์การปั่นแบบนี้ เช่น วาวเวอเด้ (Movistar), เควียทคอฟสกี้ (Sky), เจอร์รานส์ (GreenEdge), อลาฟิลลิป (EQS), จิลแบร์ (BMC) เป็นต้น
7. Amstel Gold Race – 17 เมษา, ฮอลแลนด์
(ออกเสียง อัมสเทล โกลด์) สนามแข่งที่ตั้งชื่อตามสปอนเซอร์ – เบียร์ Amstel เส้นทางเป็นทางโรลลิ่งตลอดการแข่งขันและจบด้วยการแข่งแบบเซอร์กิตเรซขึ้นเนิน Cauberg ที่เคยใช้จัดเป็นเส้นทางชิงแชมป์โลกในปี 2013 ฟิลลิป จิลแบร์เคยเป็นแชมป์รายการนี้ถึงสามสมัย รายการนี้แข่งมาแล้ว 50 ครั้ง
สำหรับปีก่อนแชมป์ตกเป็นของมิฮาล เควียทคอฟสกี้ แซงหน้าวาวเวอเด้ (Movistar) และแมธธิวส์ (GreenEdge) เควียทคอฟสกี้ขึ้นแซงจิลแบร์ (BMC) ที่ฉีกหนีกลุ่มออกมาก่อน แล้วขึ้นนำสปรินต์ในช่วง 200 เมตรสุดท้าย
8. La Flèche Wallonne – 20 เมษา, เบลเยียม
ไฮไลท์ของ ลา เฟลช วอลโลน อยู่ที่เส้นชัย ซึ่งเป็นทางขึ้นเนิน Mur de Huy (เมอร์ เดอ อวี) ที่ยาว 1.3 กิโลเมตร แต่มีความชันสูงสุดถึง 25% พลวัตรของการแข่งจึงมีคาแรคเตอร์แปลกๆ นั่นคือแทบทุกทีมเกาะกลุ่มกันมาตลอดสองร้อยกิโลเมตรเพื่อรอระเบิดพลังขึ้นเนินคว้าแชมป์รายการ มีน้อยครั้งมากที่เบรคอเวย์จะชนะสนามนี้
กลยุทธ์การชนะรายการนี้อยู่ที่ timing และ positioning จะชนะคู่แข่งบน Huy ได้นักปั่นต้องอยู่ในแถวหน้าไม่เกิน 15 คนแรก เพราะถนนแคบและมีสิทธิถูกบังไลน์ แต่ถ้าใครออกโจมตีก่อนเวลา การันตีได้ว่าจะหมดแรง การสปรินต์ขึ้นเนิน Huy จึงเหมือนเกมโปกเกอร์ที่คนที่เก๋าเกมที่สุดมักจะชนะเสมอ ไม่ใช่คนที่แรงดีที่สุดในรายการ
ปีที่แล้วเป็นอเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar) กะเวลาย่องหนีคู่แข่งได้ดีกว่าคนอื่น เป็นแชมป์ต่อกันสองสมัย (2014-2015)
9. Liege-Bastogne-Liege – 23 เมษา, เบลเยี่ยม
ลิเอจ – บาสโตง – ลิเอจ เป็นรายการคลาสสิคสนามสุดท้ายในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล สนามนี้เป็นสนามแข่งอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มแข่งกันมาตั้งแต่ปี 1892 และแข่งมาแล้ว 101 ครั้ง นอกจากเส้นทางจะยาวร่วม 260 กิโลเมตรแล้วยังเป็นรายการที่มีเนินชันอัดแน่นที่สุดในบรรดา Ardennes Classics ด้วย แน่นอนว่านักไต่เขาจะชื่นชอบรายการนี้เป็นพิเศษ
ปีที่แล้ว วาวเวอเด้ (Movistar) ต่อยอดฟอร์มแชมป์จาก Fleche Wallonne มาเอาชนะ LBL ด้วย สปรินต์ขึ้นเนินแซงจูเลียน อลาฟิลลิป (EQS) และวาคิม โรดริเกรซ (Katusha)
โดยรวมแล้วปีนี้เรามีรายการคลาสสิคให้ดูกันถึง 9 รายการ ยังไม่รวมรายการใหม่ๆ อย่าง E3 Harelbeke, Straede Bianche และ Dwars Door Vllanderen (ซึ่ง DT จะรายงานและวิเคราะห์ก่อนแข่งครับ) เรียกได้ว่ามีอะไรให้ดูกันทุกสัปดาห์ตั้งแต่มีนาไปจนถึงเมษาเลย พอถึงเดือนพฤษภาก็เริ่มแข่ง Giro d’Italia แล้ว อย่าลืมติดตามกันครับ ทุกรายการชมถ่ายทอดสได้ที่ duckingtiger.com/live (หลายๆ รายการจะไม่ถ่ายทอดทาง Eurosport ครับ)
* * *