รีวิว Vuelta สเตจ 20: คินทานาปิดดีล

ย้อนรอย Vuelta สเตจ 20

วันนี้ ไนโร คินทานาจากทีม Movistar  กำลังจะเป็นชาวโคลอมเบียคนที่สองของโลกที่เป็นแชมป์รายการ Tour of Spain หรือ Vuelta a Esapana หลังจากที่เขาป้องกันการโจมตีของคู่แข่งคนสำคัญ คริสโตเฟอร์ ฟรูมจากทีม Sky ได้สำเร็จ ไม่เสียเวลาให้กับเอซชาวอังกฤษเลยแม้แต่วินาทีเดียวตลอดการแข่งขันสเตจที่ 20 และบนทางขึ้นเขาลูกสุดท้ายของรายการ Alto de Aitana ระยะทาง 21 กิโลเมตร

Vuleta stage 20d

ฟรูมพยายามทิ้งห่างคินทานาในช่วง 6 กิโลเมตรสุดท้าย แต่อดีตแชมป์ Giro ไล่ประกบราวกับเป็นเงาของฟรูม ถึงจะโจมตีหลายครั้งแต่คินทานาก็ป้องกันเสื้อผู้นำเวลารวมได้อย่างสมศักดิ์ศรีกับการเป็นนักไต่เขาที่ฟอร์มดีที่สุดในการแข่งขันปีนี้

คินทานาสปรินต์นำฟรูมที่ช่วง 100 เมตรสุดท้ายหน้าเส้นชัยเพื่อตอกย้ำความเป็นเบอร์หนึ่งอีกครั้ง แชมป์ตูร์ปีนี้ได้เพียงแต่มองตามและปรบมือให้คู่แข่งก่อนจะเข้าเส้นชัยตามหลังมาเพียงเล็กน้อย

 

ศึกแชมป์สเตจปะทุ

ไม่ใช่แค่เพียงการชิงแชมป์รายการเท่านั้นที่สนุกสะใจผู้ชม เพราะเมื่อคนนี้เราได้เห็นมวยถึงสามคู่ คินทานาอาจจะน็อกฟรูมได้แบบอยู่หมัด แต่สำหรับการชิงแชมป์สเตจของกลุ่มเบรคอเวย์ที่หนีมาก่อนหน้า กลับเป็นปิแอร์ ลาทัวร์ (AG2R) นักปั่นนีโอโปรวัย 22 ปีที่โชว์ใจราชสีห์ เอาชนะดาร์วิน อทาพูมา (BMC) คว้าแชมป์สเตจไปได้อย่างเหลือเชื่อ

ทั้งคู่ขึ้นแซงหลุยส์ ลีออน ซานเชซ (Astana) ที่ชิงหนีจากกลุ่มเบรคอเวย์มาคนเดียวหลายสิบกิโลเมตร แต่ถูกจับได้ในระยะ 4 กิโลเมตรสุดท้าย เข้าสู่กิโลเมตรสุดท้าย ลาทัวร์เปิดเกมกระชากหนี แต่อทาพูมากลับขึ้นแซงที่ 600 เมตรสุดท้าย จนดูเหมือนนักไต่เขาจากโคลอมเบียคนนี้จะได้แชมป์สเตจเป็นครั้งที่สอง ทว่าลาทัวร์กลับฮึดเค้นพลังก็อกสุดท้าย สปรินต์ขึ้นแซงอทาพูม่า 200 เมตรหน้าเส้นชัย คว้าแชมป์สเตจในแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกได้สำเร็จ

 

ชาเวซปัดคอนทาดอร์ตกโพเดี้ยม

มวยคู่ที่สามเมื่อคืนนี้เป็นศึกการชิงโพเดี้ยมอันดับสามระหว่างอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Tinkoff) และเอสเตบาน ชาเวซ (Orica-BikeExchange) และการปั่นของชาเวซเมื่อคืนนี้จัดว่าเป็น Ride of the Tour เลยก็ว่าได้ครับ

ชาเวซเริ่มสเตจด้วยเวลาตามหลังคอนทาดอร์ +1:11 นาทีหลังจากที่เสียเวลาไปมาในสเตจ 19 จับเวลาบุคคล แต่เป็นอีกครั้งที่ Orica วางแผนซ้อนแผน ทำเกมที่ 60 กม. ก่อนเส้นชัย ทีม Orica-BikeExchange ใช้ลูกทีมเกือบทุกคนขึ้นมาตั้งเพซขึ้นเขาในเปโลตองให้เร็วจนลูกทีม Tinkoff ของคอนทาดอร์หลุดขบวนหมด จนที่ 40 กม. สุดท้ายเหลือแค่ เอสเตบาน ชาเวซ กับ ไซม่อน เยทส์ จึงให้ชาเวซยิงกลุ่มไป เปิดแก็ปได้ประมาณ 30 วินาที

 

ทางด้านหน้า เดเมียน ฮาวสัน สมาชิกทีมคนเดียวที่ไม่ได้ตั้งเพซ หนีไปกับเบรคอเวย์ตั้งแต่หัววัน ร่นลงมารอเจอชาเวซ แล้วฮาวสันก็ลากถวายหัว หนีคอนทาดอร์ไป คอนทาดอร์พยายามไล่เองแต่ไม่มีลูกทีม เลยไล่ไม่เข้า

สุดท้ายระยะห่างของชาเวซและกลุ่มคอนทาดอร์ยืดไปเป็น 2’10” ที่ประมาณ 16 กม. หน้าเส้นชัย และปั่นเดี่ยวจนเข้าเส้นชัยตามกลุ่มเบรคอเวย์ ทางด้านหลัง ชาเวซที่ยิงมาแต่ไกล เข้าเส้นตามไป +3’17” พลิกส่วนต่างจากคอนทาดอร์ +1’11” ให้กลายมาเป็น -13″ มาอยู่ที่อันดับ 3 GC แทนสำเร็จ คอนทาดอร์ตกโพเดี้ยมไปด้วยเวลาเพียง 13 วินาทีเท่านั้น

 

บทวิเคราะห์สุดท้าย

Vuelta ปีนี้จัดเป็นปีแห่งโคลอมเบียเลยก็ว่าได้ครับ คินทานาคว้าแชมป์รายการ อทาพูม่าคว้าแชมป์หนึ่งสเตจ และชาเวซขึ้นโพเดี้ยมเป็นอันดับ 3 overall ก็จัดว่าคินทานาได้ขึ้นแท่นคู่กับหลุยส์ เฮอร์ราร่าในฐานะชาวโคลอมเบียที่เคยได้แชมป์ Vuelta a Espana แต่สิ่งที่คินทานาเหนือกว่าคือ เขาเป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์แล้วสองรายการ (Giro 2014) และได้เหยียบโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์ครบทั้งสามรายการแล้ว กลายเป็นนักปั่นโคลอมเบียที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ชัยชนะครั้งนี้หมายความว่าคินทานาเก็บแชมป์แกรนด์ทัวร์ไปแล้วสองสนามและน่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขาในการพิชิตผลงานสุดท้ายที่เขายังทำไม่สำเร็จ นั่นคือแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์  (และเป็นการเอาชนะคริส ฟรูมแบบตัวต่อตัวด้วย)

ส่วนฟรูมเองนั้นก็ไม่ได้ดูมาแข่งด้วยฟอร์ม ความมั่นใจ และการเตรียมพร้อม 100% เหมือนในตูร์ที่เขาได้แชมป์ ส่วนหนึ่งเพราะการต้องไปลงแข่งโอลิมปิกที่บราซิล ที่ทำให้พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ (คินทานาไม่ได้ลงโอลิมปิก)

ผลงานครั้งนี้กลายเป็นอันดับสองครั้งที่สามของฟรูมใน Vuelta แต่อย่าลืมว่า กลับกันเขาก็เป็นแชมป์ตูร์มาแล้วถึงสามสมัยครับ ฟรูมคงรู้ดีว่าคู่แข่งของเขาน่าจะต้องแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยเฉพาะคินทานาเองที่รอต่อคิวขึ้นครองเสื้อเหลืองจากเขา (แต่ถ้า Sky ยังปั่นเกมโหดได้แบบในตูร์ Movistar คงต้องมีของเด็ดมากกว่าแค่คินทานาคนเดียวที่จะเอาชนะฟรูมได้ – อย่าลืมว่าลูกทีม Sky ชุดนี้ไม่ใช่ A Team และเอาจริงๆ แล้วความแกร่งนั้นด้อยกว่าลูกทีมที่แข่ง Tour of Britain ตอนนี้เสียอีก)

https://www.instagram.com/p/BKMGb9ajaty/

 

สุดท้ายที่อยากกล่าวถึงคือศึกการชิงเสื้อเจ้าภูเขาระหว่างโอมาร์ เฟรลล์ (Dimension Data) และเคนนี่ เออลิซองด์ (FDJ) ที่ผลัดรุกผลัดรับกันตลอดหลายสเตจ แต่เป็นเฟรลล์ที่ได้เสื้อไปครองจากสเตจเมื่อคืนนี้ และอีกคนที่เอาจนได้คือ ฟาบิโอ้ เฟลิเน่ (Trek-Segafredo) ที่ไล่เก็บแต้มเสื้อเจ้าความเร็วจนขึ้นแซงอเลฮานโดร วาวเวอเด้ (Movistar) ได้สำเร็จ อ้อ คินทานาเองนั้นได้ทั้งเสื้อแดงผู้นำเวลารวมและเสื้อขาว Combine jersey ที่ฟรูมใส่มาตลอดทั้งสัปดาห์ด้วยครับ

 

ผลการแข่งขัน

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *