นี่คือ 9 ตัวเต็งแชมป์ Paris-Roubaix 2017

ซีรีย์พรีวิว Paris-Roubaix 2017


Paris-Roubaix เป็นสนามสุดท้ายของซีรีย์การแข่งรายการคลาสสิค แต่ด้วยความที่เส้นทางและสไตล์การแข่งไม่เหมือนรายการคลาสสิคไหนๆ เลย ตัวเต็งว่าที่แชมป์ก็จะแตกต่างไปจากสนามพวก Tour of Flanders/ E3 Harelbeke เล็กน้อยครับ

โดยรวมแล้ว Paris-Roubaix มีความท้าทายและอาศัยดวงมากกว่ารายการอื่นๆ โอกาสที่ผู้ชนะจะเป็นม้ามืดโนเนมนั้นมีมากกว่าเยอะ (เช่นแมธ เฮย์แมนจาก Orica-GreenEdge เมื่อปีที่แล้ว)​ ถึงจะเดาแชมป์กันเป๊ะๆ ไม่ได้แต่ก็พอจะวิเคราะห์ฟอร์มของแต่ละคนได้บ้างครับ

1. ซากานและ Bora-Hansgrohe (อันดับ 6 ปี 2014)

ถึงจะฟอร์มดีมากมาตลอดในรายการคลาสสิคที่ผ่านมา รวมถึงใน Tour of Flanders ที่เขาเกือบจะพากลุ่มหนีไปจับจิลแบร์ได้ (ถ้าไม่ล้มไปเสียก่อน) แต่ซากานไม่ใช่คนที่ผลงานดีเลยใน Paris-Roubaix ครับ จาก 4 ครั้งที่เขาเคยลงแข่ง ดีที่สุดที่เคยทำได้คืออันดับ 6 ในปี 2014 ส่วนปีอื่นๆ ไม่เคยติด Top 10 เลย ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะซากานไม่เคยให้ความสำคัญกับรายการนี้ เลือกที่จะโฟกัสสนามคลาสสิคในเบลเยียมมากกว่า ปีนี้จะเป็นที่สองที่เขาพุ่งเป่าชนะ Paris-Roubaix จริงๆ

โดยรวมแล้วรายการนี้เหมาะกับซากานครับ ทักษะการแข่งเสือภูเขา การบังคับรถ สไตล์การปั่นของซากานลงตัวกับการลุยเส้นทางวิบากมากๆ Roubaix เป็นรายการระดับ Monument ครั้งที่สามของปี (ต่อจาก Milan-San Remo และ Tour of Flanders) และเป็นรายการสุดท้ายที่เขามีโอกาสลุ้นมากที่สุด

2. โบเน็น และ Quickstep (แชมป์ 2005, 2008, 2009, 2012)

Quickstep อาจจะเปิดฤดูกาลไม่สวยนัก แต่แชมป์ Flanders ของฟิลลิป จิลแบร์ช่วยลบคำครหาได้หมดจด Roubaix วันนี้เปรียบเสมือน Encore ของทีมที่จะเบิ้ลแชมป์ให้ได้ ทีมที่ส่งมาก็เป็นชุดทีมที่แกร่งที่สุดของ Quickstep ครับ – ทอม โบเน็น, นิกี้ เทิิร์ปสตร้า, แมทเทโอ เทรนทิน, ชเน็ค สตีบาร์, อีฟ แลมพาร์ท, บาร์ท เดอ เคลิร์ก, อิลโย เคียซเซ, และจูเลียน เวอร์โมท

จาก 9 คนนี้ เรามีแชมป์ Roubaix 2 คน (โบเน็น, เทิร์ปสตร้า), แชมป์คลาสสิครายการอื่น 3 คน (เทรนทิน, สตีบาร์, แลมพาร์ท) และตัวช่วยแรงๆ อีกสามคน

คำถามสำหรับ Quickstep คือ จะให้ใครเป็นแชมป์! ถ้ายังจำได้ ตอนที่จิลแบร์ให้สัมภาษณ์ใน Flanders เขาบอกว่า “ทีมเราพร้อมจะให้โอกาสทุกคนที่อยู่หน้าสุดของกลุ่ม” แต่สนามนี้เป็นรายการสุดท้ายของทอม โบเน็น (เขาจะรีไทร์หลังจบการแข่งวันนี้) และถ้าเขาได้แชมป์ Roubaix จะเป็นคนแรกของโลกที่ได้แชมป์สมัยที่ 5

ใน Tour of Flanders โบเน็นดูฟอร์มดีมากแต่โชคไม่ดีที่รถพังกลางทาง เราไม่รู้ว่าฟอร์มเขาเป็นยังไงเมื่อเทียบกับคนอื่นใน Quickstep และถ้ามีตัวเต็งคนหนึ่งที่ไม่ใช่โบเน็นอยู่ในจุดที่จะชนะได้ ทีมจะปล่อยเขาหรือเปล่า? เพราะรายการอย่าง Paris-Roubaix ไม่ใช่สนามที่จะรอหัวหน้าทีมให้ขึ้นมาหน้ากลุ่มได้ โดยเฉพาะถ้ามีคู่แข่งคนอื่นนำเกมอยู่ครับ

3. เดเกนโคลบ์ และ Trek-Segafredo (แชมป์ปี 2015)

ยังจำเดเกนโคลบ์ได้มั้ย? ถึงจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในคลาสสิคปีนี้ แต่เขาเป็นแชมป์เก่า Paris-Roubaix ปี 2015 ครับ แต่ตั้งแต่ย้ายทีมมาอยู่กับ Trek เพื่อแทนที่แคนเชอลารา ก็ยังดูขาดๆ เกินๆ อยู่ พลาดเบรคอเวย์สำคัญทุกที เทียบกับในปี 2015 ใน Roubaix ที่เขาโซโล่ปิดแกปไล่จับกลุ่มหนีในช่วงสุดท้าย แล้วยังสปรินต์ชนะในโดมได้แชมป์รายการ

อีกคนที่ลุ้นขึ้นก็เป็นแยสเปอร์ สตอยเว็น ซึ่งดูจะจังหวะดีกว่าเดเกนโคลบ์ในสนามที่ผ่านมา โดยรวมแล้วรายการนี้เหมาะกับทั้งคู่กว่า Flanders เพราะไม่ต้องอาศัยแรงระเบิดขึ้นเนินเร็วๆ แข่งกับคนอื่น เล่นลูกอึดสู้ได้ ซึ่งทั้งสองคนก็น่าจะมีพร้อมในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เดเกนโคลบ์จะชนะได้เขาต้องหนีเดี่ยว (ซึ่งคงยาก) หรือรอสปรินต์จากกลุ่มเล็กๆ ครับ เขาเป็นนักปั่นสไตล์เดียวกับคริสทอฟและซากาน นั่นคือสปรินต์ได้ดีกว่าตัวเต็งคลาสสิคคนอื่นๆ ถึงจะปั่นกันมาร่วม 260 กิโลเมตรแล้วก็ตาม

 

4. คริสทอฟ และ Katusha (อันดับ 9 ปี 2013)

ใน Flanders ถึงคริสทอฟจะไม่ได้แชมป์และไม่ติดโพเดี้ยม แต่เขาเป็นคนแรกที่เข้ากลุ่มตามเบรคอเวย์ชุดแรกที่เข้าเส้นชัย เช่นเดียวกับเดเกนโคลบ์ คริสทอฟยังพลาดเบรคอเวย์สำคัญเกือบทุกครั้ง

สำหรับรายการนี้ ตัวเขาเองให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่เหมาะกับเส้นทางแบบนี้” ทั้งๆ ที่เคยได้อันดับ 9 และ 10 มาก่อน เอาจริงๆ แล้วผมว่าเขากับเดเกนโคลบ์นี่แทบจะเป็นแฝดกันเลยในเรื่องสไตล์การแข่งและความสามารถ ต้องชนะจากการสปรินต์ในกลุ่มเล็กเช่นกัน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องเข้ากลุ่มตัดสินให้ได้เสียก่อนหละนะ

โทนี มาร์ตินให้สัมภาษณ์ว่าจะมีเซอร์ไพรส์ในรายการนี้ อาจจะเป็นม้ามืดอีกหนึ่งคนที่น่าดูครับ

5. GVA และ BMC (อันดับ 3 ปี 2015)

GVA ฟอร์มดี เรื่องนี้ทุกคนรู้ ใน Flanders ที่เขาล้มคว่ำกับซากาน เกร็กยังตามไล่ขึ้นมาจนชนะได้ที่สองทั้งๆ ที่มากับกลุ่มที่ไม่ได้ล้มกับเขา มีทีมซัพพอร์ทที่ดีมาก จะเป็นรองก็แค่ Quickstep

GVA เคยติดโพเดี้ยมใน Roubaix หนึ่งครั้ง (2015) ที่ 4 หนึ่งครั้ง (2013) สองคำถามสำหรับเกร็กคือ ฟอร์มเป็นยังไง? เพราะเขาพีคมาตั้งแต่ Omloop รวมๆ ก็จะสองเดือนกว่าแล้ว มีนักปั่นไม่กี่คนที่จะพีคได้ยาวขนาดนี้ครับ (เขาเลยบอกว่าคนที่ชนะ Omloop จะไม่ได้แชมป์ Flanders) ข้อสองคือ ถ้าไม่มีเนินชันให้เปิดเกมหนี เขาจะมี winning move แบบที่โบเน็นหรือแคนเชอลาราเร่งออกไปดื้อๆ ได้หรือเปล่า?

 

6. โอลิเวอร์ เนเซ็น และ AG2R (อันดับ 38 ปี 2016)

อีกคนที่ฟอร์มดีและคงไม่ต้องมีอะไรให้เขียนมาก ถ้าจะมีอะไรที่เนเซ็นไม่มีเหมือนทีมอื่นก็คือ 1. ผู้ช่วย และ 2. ประสบการณ์ Roubaix เป็นสนามที่ยิ่งแข่งยิ่งดวงดีครับ (นักปั่นรู้ทางหนีทีไล่มากพอที่จะหลบเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เขาหมดโอกาสชนะ ไม่เชื่อก็ถามแมธ เฮย์แมนที่ได้แชมป์หลังจากลงแข่งสนามนี้ 15 ปีติดต่อกัน)

เนเซ็นคงต้องเล่นเกมแบบ One man army อีกครั้ง ถ้าดวงดีก็อาจจะไปกับกลุ่ม Top 10 ได้ แต่จะปิดเกมยังไงก็ต้องไปวัดดวงเอาครับ เพราะเขาสปรินต์ไม่ได้ เทียบกับคนอื่นๆ

 

7. ลุค โรว์และทีม Sky (อันดับ 8 ปี 2015)

โรว์ดูฟอร์มดีใน Flanders แต่โดนฟานมาร์คสอยร่วง ล้มเจ็บเลยอดทำผลงาน
ส่วนเอียน สแตนนาร์ดดูยังไม่ท็อปฟอร์ม จิอันนี มอสคอน ดาวรุ่งของทีมก็พอใช้ได้ ปิด Flanders ที่อันดับ 15 แต่กระนั้นทีมที่รวยที่สุดในเปโลตองอย่าง Sky ก็ยังวืดในรายการคลาสสิคครับ

รวมๆ แล้วถ้าโรว์จะติดโพเดี้ยมหรือได้แชมป์รายการก็ไม่น่าแปลกใจ เขามีศักยภาพที่จะทำได้ถ้าโชคเข้าข้าง แต่เมื่อต้องเจอกับคู่แข่งทีมข้างบนนี้ก็ไม่ใช่งานง่ายเหมือนกัน

 

8. Orica-Scott และผองเพื่อน

ถึงจะไม่ได้แชมป์ Flanders แต่ Orica เป็นทีมที่ทำงานดีที่สุดในช่วงท้ายของเกม (ตอนที่ทีมหลุดเบรคอเวย์สำคัญ) ลุค เดอบริดจ์คว้าอันดับ 12 ซึ่งก็ถือว่าไม่เลวสำหรับทีมที่ไม่มีตัวเต็งครับ

สำหรับแชมป์คนล่าสุดใน Roubaix – แมธ เฮย์แมน – จะบอกว่าเป็นตัวเต็งของปีนี้ก็คงไม่ใช่ซะทีเดียว แต่เขาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดถึงความไม่แน่นอนของสนามนี้ครับ กับรายการที่คนที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้แชมป์ก็ยังมีโอกาสได้โชว์ความสามารถแท้จริง ซึ่งทีมก็คงรู้ดีว่าเหตุการณ์อย่างปีที่แล้วคงไม่เกิดซ้ำสอง เพราะงั้นคำถามคือทีมจะดันใครบ้าง? เดอบริดจ์แน่นอนแต่อาจจะมีเคอคิวแลร์ด้วย

 

ม้ามืด

อย่างที่บอกไว้ข้างต้น สนามนี้ไม่เหมือนกับพวก Belgian Classics เสียทีเดียว สไตล์นักปั่นที่มีลุ้นแชมป์ก็จะมีคาแรคเตอร์ต่างกันด้วยครับ เหมาะกับพวกนักปั่นตัวใหญ่ๆ เครื่องดีๆ มีอีกหลายคนที่เราไม่ได้พูดถึงข้างบนนี้ แต่ก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน เช่น ลาร์ส บอม (LottoNL-Jumbo), เอียน สแตนนาร์ด (Sky), มาร์เซล ซีเบิร์ก (Lotto-Soudal), ดีแลน แวน บาร์ล (Cannondale), อานอร์ด เดอแมค์ (FDJ), เอ็ดวาลด์ บอสซัน​ ฮาเก็น (Dimension-Data), และเยนส์ เดอบูเชียร์ (Lotto-Soudal) เป็นต้น

 

สรุป

จะชนะรายการนี้ได้ต้องมีทั้งความแกร่ง ความมั่นใจ ทีมที่ดีพร้อมช่วยเหลือในเวลาคับขัน และสำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องดวงครับ ไม่มีรายการไหนที่จะทดสอบความพร้อมของทีมและอุปกรณ์มากไปกว่า Paris-Roubaix ขอแค่มีอะไรผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็มีโอกาสแพ้ได้ทันที

 

ถ่ายทอดสดเวลาไหน?

รายการนี้เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่ 16:00-22:00! (เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบ) เช็คลิงก์ถ่ายทอดสดและการบรรยายสดของ Ducking Tiger ได้ที่ Duckingtiger.com/live ครับ

บรรยายสดเริ่มประมาณ 20:30 จนจบรายการ

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *