ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไปของทุกปี คือช่วงเวลาที่ทีมต่าง ๆ จะสามารถเซ็นสัญญานักปั่นได้อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วการเซ็นสัญญาอย่างไม่เป็นทางการจะเกิดตลอดทั้งปีด้วยสัญญาใจก็ตาม
ผ่านมาเดือนเศษ ตลาดนักปั่นปลายปีนี้ไม่เดือดเท่าปลายปีที่แล้ว เพราะกฎการตกดิวิชั่นถูกเลื่อนไปปลายปี 2019 และไม่มีทีมเกิดใหม่ในระดับ WorldTour ในปีนี้ สองอย่างนี้รวมกันทำให้ไม่เกิดแรงกระตุ้นที่ต้องซื้อนักปั่นให้เต็มทีม หรือซื้อเพื่อเอา UCI Points มาหนีการตกดิวิชั่น
อย่างไรก็ตาม การย้ายทีมที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็ยังพอมีบ้าง และ DT ก็ได้รายงานไปแล้วในโพสต์ก่อนหน้า ได้แก่ มิเคล แลนด้า ย้ายจาก Sky ไป Movistar, มาเซล คิตเทล ย้ายจาก Quick-Step Floors ไป Katusha, และ วาเรน บากีล์ ย้ายจาก Sunweb ไป Fortuneo-Oscaro ซึ่งเป็นทีมระดับ Pro Continental ในฝรั่งเศส เหตุผลของทั้งสามคนก็คล้าย ๆ กันคือต้องการเป็นผู้นำทีมมากกว่าผู้ช่วย และไม่ต้องการมาแย่งตำแหน่งหัวหน้าทีมกับฟรูม กาวิเรีย และดูโมลาน/เคลเดอร์แมน ตามลำดับ สรุปคือเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้นั่นเองครับ
ด้านสปรินเตอร์ปีนี้น่าสนใจตรงที่หลายคนย้ายทีมกันประหนึ่งเก้าอี้ดนตรี เริ่มที่อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟปีนี้ฟอร์มไม่เข้าฝักเท่าที่ควร ทีมบริหาร Katusha ดูไม่ค่อยพอใจเท่าไรเมื่อเทียบกับค่าตัว เจ้าตัวเลยต้องไปหาสังกัดใหม่กับ UAE-Team Emirates ทำให้เกิดช่องว่างตำแหน่งสปรินเตอร์ของ Katusha ซึ่งได้คิตเทลมาแทนที่ พอคิตเทลย้ายไป Katusha เลยก็ทำให้ Quick-Step มีงบค่าจ้างเป็นอิสระขึ้น แล้วรับเอาวิวิอานีที่ระเห็จระเหินจาก Sky มาแทน เนื่องจากวิวิอานีฟอร์มดีแต่ทีมไม่ค่อยให้โอกาสโชว์ผลงาน อย่างแกรนด์ทัวร์สามรายการไม่ได้ลงสักรายการ แม้กระทั่ง Giro d’Italia ครั้งครบรอบ 100 ปีก็ไม่ได้ลงเพราะ Sky จัดทีม GC ลงทุกสนาม
จากนักปั่นตัวท็อป มาดูที่ทีมระดับท็อปบ้าง จะเห็นว่า Quick-Step Floors ซึ่งปีนี้กวาดสนามคลาสสิคไป 3 สนาม แถมแชมป์สเตจในแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการของปีนี้อีกรายการละอย่างน้อย 5 (ห้า) สเตจ กำลังประสบปัญหาดาวรุ่งล้นทีม เด็กปั้นหลายคนที่ทีมฟูมฟักเริ่มผลิดอกออกผล หมุนเวียนกันมาคว้าชัยหรือขึ้นโพเดี้ยมกันไม่ซ้ำหน้า ทั้งยุงเกลส์และแบรมบีล่าซึ่งขี่ GC เก่งขึ้นเรื่อย ๆ, แดน มาร์ตินที่อยู่ ๆ ก็กระโดดจากสิงห์อาเดนส์มาขี่ GC ในตูร์ได้ดีมากเช่นกัน, กาวิเรียซึ่งลงแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกในชีวิตก็กวาดแชมป์ทันที 4 สเตจ, จิลแบร์ที่ย้ายมาจาก BMC ปุ๊บก็ชนะ Amstel Gold Race กับ Ronde Van Vlaanderen (Tour of Flanders) ทันที แล้วไหนจะ ซเน็ค สตีบาร์ที่ได้ที่สองใน Paris-Roubaix ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขาอีก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในปีนี้ปีเดียว จึงจะเห็นว่าค่าตัวนักปั่นหลายคนพุ่งพรวดยิ่งกว่าหุ้นปั่น แต่เงินสปอนเซอร์แน่นอนว่าไม่เพิ่มขึ้น และไม่มีสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาอัดฉีดร่วมกับ Quick-Step Floors ทำให้พรสวรรค์เหล่านี้จำเป็นต้อง “ล้น” ออกไปทีมอื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้
จนถึงวันนี้ Quick-Step มีนักปั่นย้ายออกไปถึง 6 คน (+รีไทร์อีก 1 คนคือทอม โบเน็น) ซึ่งนอกจากคิตเทลแล้วก็ได้แก่ แดน มาร์ติน ไป UAE-Team Emirates, แจ็ค บาวเออร์ และ แมตเทโอ เทรนตินไป Orica-Scott, เดวิด เดลาครูซไป Sky, และ จูเลียน เวอร์โมตไป Dimension Data และถ้าใครติดตามวูเอลต้าตอนนี้อยู่ด้วยจะยิ่งเห็นว่า เทรนติน กับ เดลาครูซ ฟอร์มกำลังมาแรงอีกต่างหาก ก็ย้ายออกกับเขาด้วย ที่ตลกคือ เดลาครูซยังเหลือสัญญากับ Quick-Step อีกหนึ่งปี เช่นเดียวกับวิวิอานีที่เหลือสัญญากับ Sky อีกหนึ่งปี แล้ว Quick-Step นี้ก็แลกเดลาครูซไป เอาวิวิอานีมาดื้อ ๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นักปั่น วิน-วินกันทั้งสองทีม
ขาออกออกไป 6 คน พอมาดูขาเข้าจะเห็นว่าเข้ามา 5 คนก็จริง แต่นอกจากวิวิอานีแล้ว ที่เหลือเป็นเด็กใหม่ที่ย้ายขึ้นมาจากระดับ Pro Continental/Continental เกือบหมด ก็เห็นได้ชัดเจนว่า Quick-Step ได้เปลี่ยนแปลงกำลังพลครั้งใหญ่ในฤดูกาล 2018 ที่จะถึงนี้ เน้นไปฟูมฟักเด็กปั้นชุดใหม่อีกชุด ในขณะที่แชมป์สเตจแกรนด์ทัวร์ 15 สเตจ ได้มาจากคนที่ย้ายออกไปถึง 8 สเตจ
นอกจาก Quick-Step แล้ว เทรนด์การเสียนักปั่นตัวเป้งให้ทีมอื่น แล้วเซ็นเอาเด็กใหม่ไฟแรงเข้ามาแทนก็เกิดที่ Sky ด้วยเช่นกัน โดยปีนี้เสียทัพหลักไปหลายคน ทั้ง ปีเตอร์ เคนนอท์ (Bora-Hansgrohe), มิเคล เนียเว่ (Orica-Scott), และ เอียน บอสเวล (Katusha) นอกเหนือจากแลนด้าและวิวิอานี่ที่เล่าไปด้านบน แต่สำหรับ Sky แล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่าเสียใครไป คือได้ใครมามากกว่า เพราะปีหน้านี้กวาดเอาเด็กใหม่เพดิกรีแชมป์มาเต็มประดัง ทั้งคริสตอฟเฟอร์ เฮาวอร์เซ็น 🇳🇴 แชมป์จักรยานถนนโลกรุ่น U23 (UCI World Road U23 Champ) คนปัจจุบัน, คริส ลอว์เลส 🇬🇧 แชมป์จักรยานถนนของอังกฤษรุ่น U23 คนปัจจุบัน, เอแกน เบอร์นาล 🇨🇴 แชมป์ Tour de l’Avenir (ชื่อเล่นคือ Tour de France เวอร์ชั่นเยาวชน) คนล่าสุด และสุดท้ายคือ พาเวล ซิวาคอฟ 🇷🇺 แชมป์ Giro d’Italia U23 คนล่าสุด เรียกได้ว่าออลสตาร์ฉบับเยาวชนจริง ๆ
นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กน้อยอีก 2 คนคือ หลุยส์ เมนคียส์ หลังจากสร้างความงุนงงให้ทั้งผู้บริหารและเพื่อนนักปั่นด้วยการเป็นดาวรุ่ง GC ชาวอัฟริกาใต้ในทีมอัฟริกาที่อยู่ ๆ ก็ย้ายหนีไป UAE-Team Emirates อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ปีหน้าจะย้ายกลับมา Dimension Data แล้ว และ คาเมรอน เมเยอร์ แชมป์โลกจักรยานลู่หลายรายการของออสเตรเลีย หลังจากอยู่ ๆ ก็ลาออกจากทีม Dimension Data อย่างกะทันหันด้วยสาเหตุด้านแรงกดดันและการหมดไฟ จากนั้นหยุดแข่งไป 4 เดือนเต็ม จะกลับมาปั่นให้ Orica-Scott ทีมเดิมของเขาเมื่อปี 2011-2014 แล้วเช่นกัน
สุดท้ายนี้ เรายังเห็นนักปั่นรุ่นเก๋ารีไทร์กันหลายคนมากในสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่สำคัญอีกปีหนึ่ง นักปั่นดัง ๆ ที่รีไทร์ปีนี้ก็เช่น ทอม โบเนน (Quick-Step Floors), อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Trek-Segafredo), ไฮมาร์ ซูเบลเดีย (Trek-Segafredo), และ โทมัส โฟกแลร์ (Direct Energie) ครับ