Race Review: ปีเตอร์ ซากานคว้าแชมป์โลก Road Race สมัยที่ 3

The Race Recap

ปีเตอร์ ซากาน (สโลวาเกีย) ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกจักรยานถนนได้เป็นครั้งที่สามติดต่อกัน เมื่อเขาสปรินต์ชนะอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (นอร์เวย์) และไมเคิล แมธธิวส์ (ออสเตรเลีย) ที่หน้าเส้นชัยในเมืองเบอร์เกนกับเส้นทาการแข่งขันกว่า 267.5 กิโลเมตร รวมเวลาแข่ง 6:28:11 ชั่วโมง

จังหวะสปรินต์สุดท้ายชนะกันเพียงระยะครึ่งล้อและซากานเองไม่รู้ว่าตัวเองชนะคริสทอฟจนต้องรอภาพ photofinish จากคณะกรรมการ ตามมาข้างหลังเล็กน้อยเป็นเอซจากออสเตรเลีย ไมเคิล แมธธิวส์, แมทเทโอ เทรนติน (อิตาลี) และเบ็น สวิฟต์ (สหราชอาณาจักร)

เกมเมื่อคืนนี้จบด้วยการสปรินต์กลุ่มเมื่อไม่มีเบรคอเวย์กลุ่มไหนฉีกหนีเปโลตองได้สำเร็จ ซึ่งมีเบลเยียม ออสเตรเลีย นอร์เวย์ ดัทช์ และอิตาลีเป็นชาติหลักที่ขึ้นคุมระยะห่างกลุ่มหนี

ที่ทางขึ้นเนินแซลมอนฮิลล์รอบสุดท้าย ฝรั่งเศสเปิดเกมรุกโดยจูเลียน อลาฟิลลิป แต่ถูกตามประกบโดยจิอันนี มอสคอน (อิตาลี) และกลุ่มไล่ด้านหลังมี นิกี้ เทิร์ปสตร้า (เนเธอร์แลนด์) และฟิลลิป จิลแบร์ (เบลเยียม) ทว่ากลุ่มไล่หนีเปโลตองไม่สำเร็จ เหลือแค่มอสคอนและอลาฟิลลิปที่ออกหนีกลุ่มกับระยะทาง 9 กิโลเมตรสุดท้าย

แปดกิโลเมตรสุดท้าย วาซิล คิริเยงก้า (เบลารุส) ออกไล่ตามทันสองคนข้างหน้าแต่ไม่นานก็ถูกทิ้ง และที่หกกิโลเมตรสุดท้าย อลาฟิลลิปกระชากกลุ่มทิ้งมอสคอนไว้ข้างหลัง..

ระยะทางที่เหลือสัญญาณถ่ายทอดสดหายจนผู้ชมต้องรอจนถึงหน้าเส้นชัย แต่สุดท้ายอลาฟิลลิปที่หนีไปคนเดียวนั้นโดนกลุ่มรวบในที่สุด และเกมจบด้วยการสปรินต์กลุ่มจากนักปั่น 29 คน คริสทอฟเป็นคนแรกที่เปิดสปรินต์จากระยะ 250 เมตรสุดท้ายก่อนถึงเส้นชัย แต่ซากานขึ้นประกบและโยนรถที่หน้าเส้นชัยเฉือนไปแค่ครึ่งล้อ

https://twitter.com/CyclingHubTV/status/912018053927489539

เป็นชัยชนะอีกหนึ่งปีของสโลวาเกีย และน่าผิดหวังสำหรับหลายๆ ชาติที่ส่งทีมเต็ม 9 คน – ออสเตรเลียได้อันดับสาม แต่แมธธิวส์ก็ยังโค่นซากานไม่ได้, คริสทอฟจากนอร์เวย์ทำสุดความสามารถแต่ยังพ่ายเรื่องจังหวะให้แชมป์โลกคนปัจจุบัน, โปแลนด์หลุด top 10 โดยสิ้นเชิง, เบลเยียม เยอรมนี และฝรั่งเศสเล่นเกมรุกหนักในช่วงครึ่งแรกแต่ผลงานไม่ได้ตามเป้าหมาย

หลังจบการแข่งขันปีเตอร์ ซากานอุทิศชัยชนะของเขาให้มิเคลลี สคาร์โพนี นักปั่นผู้ล่วงลับจากอุบัติเหตุรถชนระหว่างฝึกซ้อมเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งวันที่ 25 กันยายน หลังแข่งหนึ่งวันเป็นวันเกิดของสคาร์โพนี

สำหรับศึกชิงแชมป์โลกปีหน้าในเมือง Innsbruck ประเทศออสเตรีย เส้นทางออกแบบมาเพื่อนักไต่เขามากกว่าสายคลาสสิค เป็นไปได้ว่าซากานอาจจะป้องกันแชมป์ได้ลำบากขึ้น แต่ก็ไม่แน่เช่นกัน เพราะสามแชมป์ที่เขาได้มานั้นมาจากสามสนามที่เส้นชัยต่างกันทุกปีครับ

ผลการแข่งขัน

Video Replay (Full Race)

วาทะนักปั่น

ปีเตอร์ ซากาน (สโลวาเกีย) – แชมป์รายการ

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน สงสัยเป็นเพราะกรรมมั้งผมเลยชนะ…ผมดีใจกับชัยชนะครับ มันยากจะเชื่อ ปีนึงมีแข่งหลายสนาม แต่สนามนี้มันพิเศษมาก คุณต้องมีโชค คุณอาจจะชนะ แต่โอกาสแพ้ก็พอๆ กัน”

“ที่ห้ากิโลเมตรสุดท้ายผมถอดใจแล้ว ผมคิดว่าเราจับเบรคอเวย์ไม่ทันแน่ๆ ผมรู้ตัวตอนกิโลเมตรสุดท้ายว่าอลาฟิลลิปโดนจับแล้ว”

“แผนแข่งวันนี้น่ะเหรอ? ไม่มีหรอก คุณวางแผนอะไรไม่ได้หรอกในเกมแบบนี้ สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้ก่อนแข่งหรือเกมที่มันจะเดินตามฝันของคุณเป๊ะๆ”

“ผมไม่รู้ว่าได้แชมป์สามสมัยแล้วมันจะเปลี่ยนโลกหรืออะไรอย่างนั้น มันก็ดีครับ แชมป์ครั้งแรกผมไม่คาดหวังว่าจะได้ ครั้งที่สองผมก็ไม่คิดว่าจะได้ ครั้งที่สามทุกคนมั่นใจว่าผมจะได้ แต่มันก็ไม่มีอะไรการันตีหรอก มันไม่ง่ายเลย สนามนี้เดายากมากครับ”

“ถึงสนามจะยาว 267 กิโลเมตร แต่คุณมีโอกาสเดินหมากแค่ครั้งเดียว คุณจะเลือกโจมตีกลุ่ม เข้าเบรคอเวย์ หรือจะสปรินต์? จนถึงกิโลเมตรสุดท้าย เราไม่รู้ว่าเกมจะจบด้วยการสปรินต์นะ มันเลยเป็นชัยชนะที่พิเศษมากครับ”

“ผมหวังว่าปีหน้าผมจะทำผลงานได้ดีแบบนี้อีก แต่คุณไม่รู้หรอก กีฬาก็อย่างงี้แหละ ผมอยู่แบบวันต่อวัน ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรบ้าง”​

 

อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (นอร์เวย์) – อันดับ 2

“250 เมตรสุดท้ายผมกดเต็มเท้า ผมมั่นใจว่าผมต้องได้แชมป์ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าซากานจะไม่ตามล้อผม มันควรจะเป็นเทรนตินหรือคนอื่นๆ แต่มันก็เป็นซากานครับ แล้วผมรู้ว่าเขาเร็วแน่ๆ”​

“ผมเกือบจะไล่แซงคืนทันที่เส้นชัย แต่เส้นชัยมันสั้นไปนิดเดียว แต่เช่นกันถ้าเส้นชัยยาวกว่านี้ซากานอาจจะกะจังหวะสปรินต์อีกแบบก็ได้ เขาสปรินต์ดีกว่าผม เขาเป็นแชมป์ที่คู่ควรแล้ว”​

“ผมสปรินต์ได้ดีนะ ผมไม่ได้หมดแรงตอนจบ ซากานแรงดีกว่าผมและสดกว่า เขาได้แชมป์สามรอบแล้ว ในเส้นทางสามรูปแบบ เขาคือที่สุดครับ ไม่ใช่คนที่แย่ที่สุดที่ผมจะแพ้ให้ แต่ก็ยอมรับว่าผมเสียใจครับ”​

“แต่ผมไม่มีอะไรคาใจนะ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะปั่นจบเส้นทางแบบนี้ ผมทำทุกอย่างถูกต้อง แต่ซากานทำได้ดีกว่า ผมได้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการตอนจบแต่ก็ยังแพ้ ผมหวังว่าทีมเราจะพอใจกับผลงานเหรียญเงินวันนี้”

 

 

ไมเคิล แมธธิวส์ (ออสเตรเลีย) – อันดับ 3

“ผมดีใจที่ได้ขึ้นโพเดี้ยม แต่มันไม่ใช่อันดับที่ต้องการครับ”

“ผมออกไล่เบรคอเวย์หลายทีแต่ไม่มีใคครหนีหลุด กลุ่มเปโลตองยังมีคนเยอะ เพราะงั้นมันเปลืองแรงที่จะพยายามหนี ซากานเองก็ยังอยู่ในกลุ่มไม่เบรคอเวย์ด้วย เดิมพันให้กลุ่มกลับมารวมกัน จริงๆ ผมอาจจะประหยัดแรงได้มากกว่าถ้าเลือกแบบซากาน”

“500 เมตรสุดท้ายผมพยายามเซฟแรงไว้สปรินต์แต่ตำแหน่งไม่ดี เสียจุดหน้ากลุ่มไป กว่าจะขึ้นมาสปรินต์ได้ก็เปลืองแรงไปเยอะ”​

“เอาจริงๆ วันนี้ผมแทบไม่เห็นซากานเลย ทีมเราก็ไม่ได้เล็งมาร์คใครเป็นพิเศษครับ เราทำตามแผนของเรา น่าเสียดายว่ามันไม่ดีพอ”

 

จูเลียน อลาฟิลลิป (ฝรั่งเศส) – อันดับ 10

“ผมไม่ใช่คนที่แกร่งที่สุด เพราะผมไม่ชนะ แต่ผมก็พยายามสุดตัวแล้ว”

“ผมทิ้งห่างทุกคนบนทางขึ้นเนินสุดท้าย แต่เส้นชัยไม่ได้อยู่ที่ยอดเนินครับ ผมลองหนีดู แต่คุณจะทำอะไรได้มากกว่านั้น มันเป็นสนามที่ยาว ยาก มันทอนแรงคุณทุกกิโลเมตรแต่ไม่ยากพอจะตัดสปรินเตอร์ หลายคนมีผู้ช่วยไล่จับเบรคอเวย์ครับ ผมไม่มีอะไรคาใจ แค่เสียใจที่มันไม่จบอย่างหวัง ทีมเราปั่นกันดี แต่ผลงานวันนี้มันไม่ได้สะท้อนความพยายามของเรา

 

เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (เบลเยียม) – อันดับ 6

“เส้นทางวันนี้มันยากที่จะหนีครับ กลุ่มหลังขี่กันเร็วมาก ผมเดาว่าคงจบด้วยการสปรินต์ แต่ถ้าอลาฟิลลิปยังหนีได้ต่ออีกนิด เกมคงไม่จบแบบนี้”

“ตอนจะสปรินต์ผมตามล้อซากาน แต่เสียจังหวะที่โค้งสุดท้าย อยู่ห่างเกินที่จะได้โพเดี้ยมแล้ว… ฟิล (จิลแบร์) ก็ปั่นดี แต่เขาตามอลาฟิลลิปไม่ทัน ฟิลเล่นเกมเบรคอเวย์ ผมเล่นเกมสปรินต์ แต่การแข่งก็เป็นอย่างนี้หละครับ”

“ผมต้องยินดีกับซากาน เขาแสดงให้เราเห็นว่ามันยากแค่ไหนที่จะเป็นแชมป์โลก แล้วตอนนี้เขาทำได้สามครั้งต่อกัน มันพิเศษมากครับ เขาเป็นนักปั่นที่แกร่งที่สุดในยุคนี้คนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย”

 

Talking Point 1: เนเธอรแลนด์กวาดเหรียญทองกลับบ้าน

จบการแข่งขันชิงแชมป์โลกปีนี้ เนเธอร์แลนด์เป็นชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดด้วยผลงาน 4 เหรียญทอง ในขณะที่อิตาลีได้เหรียญเยอะที่สุดถึง 7 เหรียญรางวัล รวมทั้งหมดมี 12 ชาติที่ได้เหรียญรางวัลในสนามชิงแชมป์โลกครั้งนี้

คริสทอฟคว้าเหรียญรางวัลเดียวให้เจ้าภาพนอร์เวย์

เนเธอร์แลนด์​เก็บแชมป์ประเภท Time Trial ทั้งแบบชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว รวมถึงทีม Sunweb ที่เป็นลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์และเยอรมันก็ชนะ Team Time Trial ทั้งชายและหญิง นอกจากนี้ชานทาล บลัค ก็คว้าแชมป์โลกหญิงประเภท Road Race ให้เนเธอร์แลนด์ด้วย

รวมเหรียญรางวัลทั้งหมดในรายการนี้มี 36 เหรียญ ชาติที่คว้าเหรียญทองมีสโลวาเกีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส

 

Talking Point 2: ทำไมซากานถึงแกร่งที่สุด

การจะชนะแชมป์โลกให้ได้สามสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ได้สามสมัยต่อกันนั้นยากยิ่งกว่า นั่นก็เพราะโดยธรรมชาติของเส้นทางชิงแชมป์โลกนั้นปกติจะจัดต่างกันทุกปี และซากานก็มีวิธีชนะที่ต่างกันทุกครั้งด้วย สะท้อนให้เห็นว่าเขาพร้อมจะปรับตัวเข้ากับการแข่งทุกรูปแบบและแกร่งพอที่จะชนะในเกมนั้นๆ

อย่างใน Richmond 2015 เขาชนะจากการเบรคอเวย์หลังจากโจมตีกลุ่มบนทางลงเนินชัน, ใน Doha 2016 เขาต้องฝ่าลมข้างและอุณหภูมิร้อนในตะวันออกกลางแล้วยังสปรินต์กลุ่มจนชนะ มาถึงคอร์สปีนี้ที่มีเนินชันหลายจุดเขาก็ยังเอาตัวรอดเข้ากลุ่มตัวเต็งสุดท้ายและกะจังหวะสปรินต์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือจะเป็นเกมเบรคอเวย์ เกมสปรินต์จากกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็ก จะทางราบ ทางเนินซากานก็ยังชนะได้

น่าสนใจว่าซากานกลับไม่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องในสนามคลาสสิคอื่นๆ ที่มีเส้นทางการแข่งยากๆ คล้ายๆ กันครับ อาจจะเป็นเพราะว่าในสนามอื่นเขาโดดเด่นและโดนกลุ่มหมายตามากกว่า แต่ในสนามชิงแชมป์โลกที่สโลวาเกียมีสมาชิกน้อยกว่าทีมอื่นทำให้ซากานเดินเกมได้นิ่งและเซฟแรงเลือกจังหวะโจมตีได้ง่ายกว่า ไม่ต้องห่วงคู่แข่งมากนัก อย่างที่หลายคนให้สัมภาษณ์ ไม่มีใครเห็นซากานเลยจนกระทั้งกิโลเมตรสุดท้าย ทำให้เขาไม่ต้องต่อกรกับเพื่อนร่วมเบรคอเวย์ที่มักจะไม่ช่วยนำแล้วโดนคนอื่นแซงหน้าเส้นชัยหลายๆ สนามที่ผ่านมา

จะยังไงก็ดี นี่คงไม่ใช่เสื้อสีรุ้งตัวสุดท้ายของซากานถ้าเขายังปั่นได้ด้วยฟอร์มแบบนี้ต่อไปครับ

 

Talking Point 3: มอสคอน/อลาฟิลลิปน่าติดตาม

ตอนแรกเราคิดว่าจะเป็นตัวเก๋าอย่าง เควียทคอฟสกี้ (โปแลนด์), ฟิลลิป จิลแบร์ (เบลเยียม) ที่เดินเกมเบรคอเวย์ได้น่ากลัว แต่กลับเป็นนักปั่นรุ่นใหม่อย่างอลาฟิลลิป (ฝรั่งเศส) และจิอันนี มอสคอน (อิตาลี) ที่นำเบรคอเวย์ที่น่าลุ้นแชมป์ที่สุดในรายการ ถูกจับได้แค่ไม่กี่กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัยเท่านั้น

ด้วยวัย 25 และ 23 ปี ในอนาคตเราน่าจะเห็นทั้งคู่มีบทบาทมากขึ้นทั้งในสเตจเรซและรายการคลาสสิคยากๆ ครับ อลาฟิลลิปเองได้ขึ้นโพเดี้ยม Ardennes Classics หลายรายการ น่าเสียดายว่าอาการบาดเจ็บทำให้ปีนี้ไม่ได้ลงแข่งมากเท่าที่ควร ส่วนมอสคอนนั้นก็ติด Top 10 Paris-Roubaix และปีนี้ยังโชว์ฟอร์มการไต่เขาช่วยคริส ฟรูมคว้าแชมป์ Vuelta a Esapana ได้อย่างน่าทึ่ง เป็นคู่ที่น่าติดตามในอนาคตครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *