รีวิว Vuelta สเตจ 20: ชัยชนะสุดท้ายของคอนทาดอร์

อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ (Trek-Segafredo) ปิดฉากการการเป็นนักปั่นอาชีพในสนามสุดท้ายที่เขาลงแข่งขันด้วยการคว้าแชมป์สเตจ 20 บนยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าท้าทายที่สุดในยุโรป Alto de’l Angrilu และเพียงสิบเจ็ดวินาทีให้หลัง คริส ฟรูม (Sky) เข้าเส้นชัยคว้าอันดับสามทิ้งห่างคู่แข่งตัวเต็งคนอื่น คอนเฟิร์มสถานะแชมป์ Vuelta a Espana ประจำปี 2017

 

หลังจากที่พยายามจะคว้าแชมป์สเตจให้ได้มาหลายครั้ง ในที่สุดความพยายามของคอนทาดอร์ก็สำเร็จเมื่อเขาออกโจมตีกลุ่มคู่แข่งที่ก่อนทางขึ้นภูเขาลูกสุดท้ายของสเตจ ขึ้นแซงกลุ่มเบรคอเวย์ฝีเท้าดีหลายคนในจังหวะที่ทางขึ้นเขาชันระดับ 20%

ด้านหลังคอนทาดอร์เป็นคริส ฟรูมและทีม Sky ที่พยายามคุมเกมแต่ไม่เร่งออกไล่ตามเอซจาก Trek-Segafredo เลือกที่จะประคองความเร็วสู้กับทีม Bahrain-Merida ของวินเชนโซ นิบาลี ทั้ง Bahrain และ Sky เหลือผู้ช่วยทีมละหนึ่งคน แต่ถึงระยะสองกิโลเมตรสุดท้าย นิบาลีแรงตกและเพื่อนร่วมทีมฟรังโค เพลิซอตตี้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เปิดโอกาสให้คู่ทีม Sky เวาท์ โพลส์และคริส ฟรูมขึ้นแซงนำในที่สุด

 

ด้านหลังแชมป์ Tour de France 4 สมัยเป็นอิลเนอร์ ซาคาริน (Katusha) ที่ขึ้นแซงวิลโค เคลเดอร์แมน (Sunweb) เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสี่และเขี่ยเอซ Sunweb ตกโพเดี้ยมไปอยู่อันดับห้าตามหลังคอนทาดอร์และซาคาริน

จบสเตจ คอนทาดอร์ขึ้นมาอยู่อันดับสี่ในตารางผู้นำเวลารวม ตามหลังซาคาริน 36 วินาที แต่กระนั้นก็คงไม่สำคัญเท่าแชมป์สเตจบนภูเขาที่ท้าทายที่สุดลูกหนึ่ง ปิดฉากการตำนานนักปั่นแกรนด์ทัวร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในทศวรรษได้อย่างงดงาม

 

Talking Point 1: Contador’s last fight

ชัยชนะครั้งนี้เป็นแชมป์สเตจ Vuelta ครั้งที่ 6 ของคอนทาดอร์ และเขาเองเคยได้แชมป์รายการนี้แบบ overall มาแล้วสามสมัย และเป็นรายการที่เขาได้แชมป์เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับแกรนด์ทัวร์สนามอื่น (Tour de France x2 / Giro d’Italia x2)

คอนทาดอร์กล่าวหลังแข่ง: “ความเป็นจริงคือมันเป็นวันที่พิเศษมากๆ ครับ ผมว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่วันหนึ่งผมจะต้องเลิกทำสิ่งที่รัก แต่ก็ไม่มีการบอกลาไหนๆ ที่จะยอดเยี่ยมไปกว่าชัยชนะวันนี้อีกแล้ว สุดท้ายแล้วผมได้ทำทุกอย่างที่ผมอยากจะทำแล้วในกีฬานี้…มันเป็น Vuelta ที่สุดยอดจริงๆ ครับถึงผมจะไม่ได้ขึ้นโพเดี้ยมก็ตาม”

“แต่ถ้าผมแข่งท้าชิงโพเดี้ยม ผมก็คงไม่ได้ปั่นในแบบที่คุณเห็น ช้ากว่านี้ ไม่โจมตีมากเท่านี้ มันทำให้ผมได้โจมตีทุกวัน ผมย้อนกลับไปดูรูปแต่ละสเตจ ผมเห็นแต่รูปตัวเองที่อยู่คนเดียว เพราะผมโจมตีกลุ่มตลอดเวลา”

“เมื่อวานผมคุยกับเพื่อนร่วมทีม ก่อนลงแข่งแล้วบอกทุกคนว่า วันนี้มันจะเป็นวันประวัติศาสตร์ถ้าคุณช่วยผม ทุกคนทุ่มเทเพื่อผมเต็มที่ โดยเฉพาะพานทาโน่ ในจังหวะลงเขา Cordal (ก่อนถึง Angrilu) เราถึงตีนเขา Angrilu มีเวลานำคู่แข่งอยู่เล็กน้อย ผมรู้ว่ามันคือโอกาสที่จะต้องคว้าเดี๋ยวนี้แล้ว ต้องทุ่มสุดตัวจนถึงยอดเขาให้ได้เพื่อชัยชนะ”

“สุดท้าย ถึงผมไม่ได้โพเดี้ยม แต่ผมว่ามันไม่สำคัญ​ สิ่งสำคัญคือการได้โจมตีและได้แชมป์สเตจ และสร้างความทรงจำด้วยชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งผมจะไม่ลืมไปตลอดชีวิต”​

“ในอนาคต ผมจะจำไว้เสมอว่า ในวันสุดท้ายที่ผมแข่ง ผมได้เป็นผู้ชนะ”

 

Talking Point 2: ฟรูมสร้างตำนาน

สำหรับคริส ฟรูม ถ้าไม่บาดเจ็บ ล้ม หรือป่วยกะทันหัน และเข้าเส้นชัยในสเตจ 21 ที่มาดริดได้ เขาจะเป็นนักปั่นคนแรกในรอบ 22 ปีที่คว้าแชมป์ Tour de France และ Vuelta a Espana ในปีเดียวกัน และเป็นคนที่สามในโลกหลังจากฌาค อองเคอร์ทิลล์ (1963) และเบอร์นาร์ด อินอลท์ (1978) ปิดฉากความพยายามไล่ล่าแชมป์ Vuelta หลังจากที่ได้อันดับสองมาถึงสามครั้งภายในระยะเวลา 6 ปี

 

Talking Point 3: อารู, โลเปซหมดพลัง

ถึงผลการแข่งขันจะดูเรียบง่ายแต่สเตจนี้ก็มีแอคชันอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นการลื่นล้มระหว่างลงเขาของนิบาลี ที่ทำให้ต้องเสียแรงและเวลาไล่กลับเข้ากลุ่ม และทำให้เดวิด เดอ ลา ครูซ (Quickstep) ต้องออกจากการแข่งขัน ขณะเดียวกันฟาบิโอ้ อารู (Astana) พ่ายแพ้แบบหมดท่าตามหลังกลุ่มผู้นำร่วม 15 นาทีหลังแชมป์สเตจ

มิกูเอล โลเปซ ม้ามืดจาก Astana ก็ทำได้ไม่ดีนัก จบสเตจ +3:56 นาทีหลังคอนทาดอร์ ฟอร์มไต่เขาที่ร้อนแรงจนพาเขาได้แชมป์สเตจสองครั้งหายไปหมดในสัปดาห์สุดท้าย ส่วนทีเจย์ แวนการ์เดอเรน (BMC) กระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 10 ในตารางเวลารวมได้อย่างเฉียดฉิว จบรายการด้วยเวลา +15:36 นาทีตามหลังคริส ฟรูม

 

Talking Point 4: ชาวดัทช์มาแรงในแกรนด์ทัวร์

สุดท้ายถ้าเราดูตารางผู้นำเวลารวม Top 10 จะเห็นว่ามีชาวดัทช์อยู่ถึงสามคนครับ เคลเดอร์แมน (Sunweb) อันดับ 5 ที่+3:15 นาที, เวาท์ โพลส์ (Sky) อันดับ 6 ที่ +6:45 นาที และเคราซ์เว็ก (LottoNL) อันดับ 9 ที่ +11:04 นาที

ผมว่าคนที่น่าสนใจที่สุดคือเวาท์ โพลส์ เพราะนอกจากจะไต่เขาได้ดีระดับเดียวกับคริส ฟรูมแล้ว ในสเตจ Time Trial เขายังทำเวลาได้ดีมากๆ ด้วยทั้งที่เป็นสเตจทางราบสนิท 40 กิโลเมตร (อันดับ 7 ช้ากว่าแชมป์สเตจ คริส ฟรูม +1:11 นาที แต่อยู่ห่างจากอันดับ 2-6 แค่ระยะ 30 วินาทีเท่านั้น) น่าสนใจว่าทีม Sky จะให้เขานำแกรนด์ทัวร์ไหนในปีหน้าครับ

 

ผลการแข่งขัน

วิดีโอไฮไลท์

 

 

พรีวิวสเตจ 21

Arroyomolinos to Madrid, 118km

สเตจนี้คงไม่มีอะไรมาก ระยะทาง 118 กิโลเมตรและเป็น “พิธีรีตรอง” ขบวนพาเหรดแห่แชมป์เข้ามาดริดประมาณครึ่งทาง จากนั้นเป็นการแข่งแบบเซอร์กิตเรซในเมืองมาดริดและน่าจะจบด้วยการสปรินต์กลุ่ม นั่นหมายความว่ายังมีแชมป์สเตจให้ชิงกันอีกหนึ่งวันครับ

แต่น่าเสียดายว่าเสื้อผู้นำคะแนนรวมคงท้าชิงได้ลำบาก แต่ก็ยังเป็นไปได้สำหรับแมทเทโอ เทรนติน (Quickstep) ที่มีคะแนนตามคริส ฟรูมอยู่ 27 แต้ม

แชมป์สเตจได้ 25 แต้ม และมีแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจ 4-2-1 แต้มตามลำดับ เช่นนั้นแล้วถ้าเทรนตินอยากได้เสื้อเขียวเขาต้องได้ทั้งแชมป์สเตจและได้อย่างน้อยสองแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจครับ

จับตามอง: เทรนติน ​(Quickstep), เอ็ดเวิร์ด เทิรน์ส (Trek-Segafredo), ซาช่า โมโดโล่ (UAE), อดัม ไบลท์ (Aqua Blue), แม็กนัส นีลเซ็น (Orica-Scott)

ถ่ายทอดสดเริ่ม 21:45-00:30 ครับ เช็คลิงก์ที่ duckingtiger.com/live

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *