ใครจะเป็นแชมป์ 2018 Milan-San Remo?

ยังโดยทุบหน้าเส้น

“มันดูง่ายนะ ทางตรงยาวๆ ขึ้นนิด ลงหน่อย จบ แต่บอกตามตรง นี่คือสนามแข่งจักรยานวันเดียวที่ยากที่สุดในชีวิตครับ” – เฟเบียน แคนเชอลารา ในบทสัมภาษณ์กับ Rouleur Magazine

สนามที่เฟเบียน แคนเชอลาราพูดถึงก็คือ Milan-San Remo (MSR) สนามแข่งจักรยานอาชีพวันเดียวที่ยาวที่สุดในฤดูกาล เริ่มแข่งขันคืนนี้ ด้วยเส้นทาง 291 กิโลเมตร สภาพอากาศหนาวเย็น พร้อมพยากรณ์ว่าฝนจะตก และเนินชันช่วงท้ายรายการ MSR จะเป็นสนามคลาสสิครายการแรกของปีที่การันตีว่าผู้ชนะไม่ได้มาแบบฟลุ๊ก แน่นอน

เวลาถ่ายทอดสด 20:30-23:30
ลิงก์ถ่ายทอดสด: Duckingtiger.com/live

 

เส้นทาง

เส้นทาง MSR ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานแล้ว และถึงจะเห็นว่ามีเนินชัน (Turchino) อยู่กลางสนามแต่แทบทุกปีเนินนี้ไม่มีผลกับการแข่งขันใดๆ เลย เกมจะมาหนักขึ้นในช่วง 30 กิโลเมตรสุดท้าย เริ่มจากเนิน Cipressa และไปพีคที่ Pogio สองเนินนี้มักเป็นจุดที่ตัวเต็งเริ่มขยับตัว พยายามสลัดกลุ่มหลังให้หลุดเพื่อคัดตัวคู่แข่ง และตัดสปรินเตอร์ที่ปีนเนินช้าให้ตามไม่ทัน

นานๆ ทีเราจะเห็นคนโจมตีที่ Cipressa แล้วรอดไปได้จนถึงเส้นชัย ส่วนใหญ่จะมาหนักกันตรง Poggio มากกว่าครับ เริ่มที่ 9.2 กิโลเมตรสุดท้าย และเป็นจุดที่ทุกทีมเดินความเร็วเต็มที่ ทั้งเพื่อวางตำแหน่งให้หัวหน้าทีม และตัดแรงคู่แข่ง มันคือจุดที่สายเบรคอเวย์ทุกคนต้องใช้เป็นจุดสังหาร เพราะถ้าหนีไม่รอดด เกมจะจบด้วยการสปรินต์กลุ่มแน่นอน (ระยะทางจากปลายเนินถึงเส้นชัยสั้นเกินจะหนีกลุ่มเปโลตองได้)

ทางลงเนิน Poggio มีความซับซ้อนพอสมควร แคนเชอลาราเคยให้สัมภาษณ์ว่า “มันเป็นทางลงเขาที่คุณไม่สามารถผิดพลาดได้เลยแม้แต่โค้งเดียว ถ้าคุณอยากจะหนีให้รอด” ลงมาถึงปลายเนินแล้วก็เป็นทางราบยาวจนถึงเส้นชัย

 

นักปั่นสไตล์ไหนมีโอกาสชนะ?

ในบรรดาสนามคลาสสิคระดับ Monument ทั้ง 5 รายการ MSR เป็นรายการเดียวที่เอื้อให้สปรินเตอร์ชนะได้มากที่สุด เพราะถึงจะมีเนินบ้าง แต่ไม่ได้ยาวเกินและชันเกินไปที่สปรินเตอร์จะตามกลุ่มไม่ทัน ถ้าเราย้อนไปดูวิธีการชนะ MSR ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

  • แชมป์มาจากการสปรินต์กลุ่ม 25-35 คน 5 ครั้ง
  • จากการสปรินต์กลุ่ม 7 คน 2 ครั้ง (2011/2013)
  • จากการสปรินต์กลุ่ม 3 คน 2 ครั้ง (2012/2017)
  • จากการหนีเดี่ยว 1 ครั้ง (2008)

จะเห็นว่าโอกาสชนะของสปรินเตอร์มีเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเราดูรายชื่อผู้ชนะจะพบว่ามีเพียวสปรินเตอร์ชนะไม่เยอะเท่าไร แค่ คาเวนดิช (2009) และเดอมาร์ (2016) ที่เหลือจะเป็นนักปั่นกึ่งสปรินเตอร์กึ่งคลาสสิค เช่น จอห์น เดเกนโคลบ์ (2015), ไซมอน เจอรานส์ (2012), มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (2017) และอเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (2014)

 

คนที่แกร่งที่สุดไม่ชนะเสมอไป

MSR นี่จะเรียกว่าเป็นสนามทำลายฝันก็ได้ครับ เพราะนักปั่นที่แข็งแกร่งที่สุด ไม่ใช่คนที่มีโอกาสชนะเสมอไป มันไม่ใช่สนามที่จะชนะได้ด้วยการโจมตีแบบอาศัยกำลังเขาว่าอย่างเดียว ตัวอย่างมีให้เห็นหลายครั้ง ทั้งปีเตอร์ ซากาน ในปี 2017 ที่โจมตีทิ้งกลุ่มได้บนเนิน Poggio แต่แพ้เกมมิฮาล เควียทคอฟสกี้ หรือเฟเบียน แคนเชอลาราที่ลงแข่ง 10 ครั้ง ขึ้นโพเดี้ยม 5 ครั้ง แต่ชนะได้จริงๆ แค่ครั้งเดียว (!!) เขากล่าวไว้ว่า

“หลายๆ ครั้งที่ผมไม่ได้แชมป์ ผมรู้ว่าวันนั้นผมแข็งแกร่งที่สุด เร็วกว่าใครเลยแหละ แต่ความแกร่งนี้มันทำให้ผมแพ้ ผมได้ที่สองที่สามหลายครั้งมาก แต่แพ้ให้คนที่เร็วกว่าหรือฉลาดกว่าเสมอ”

ซึ่งก็น่าจะเป็นปัญหาเดียวกับปีเตอร์ ซากาน…

แคนเชอลาราขึ้นเนินได้ไวไม่แพ้นักเบรคอเวย์คนอื่นๆ ลงเขาเร็วไม่แพ้ใคร จะหนีเดี่ยวก็ทำได้ (เช่นที่หนีรอดในปี 2008) แต่ปัญหาของนักปั่นอย่างซากานและแคนเชอลาราคือมีออปชันในการปิดเกมมากไปหน่อย เพราะดันทำได้ดีหลายๆ อย่าง แคนเชอลาราให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมมีไพ่หลายใบ แต่มันเยอะเกินไป บางคนสปรินต์ดีกว่าผม บางคนขึ้นเนินได้เร็วกว่าผม ผมต้องเดาตลอดว่าจะเดินหมากที่จังหวะขึ้นเนิน หรือจังหวะสปรินต์ จะเก็บแรงไว้หนี? หรือถ้าหนีไม่รอดจะยิงซ้ำ หรือจะเก็บแรงไว้สปรินต์? หลังจากที่ผมชนะครั้งแรกด้วยการหนีเดี่ยว ก็ไม่มีใครปล่อยให้ผมหนีได้อีกเลย ผมมีเป้าใหญ่อยู่กลางหลัง ทุกคนขึ้นเกาะล้อผมทั้งวันทั้งคืน! ตอนผมจอดฉี่เขายังจอดตามกันเลย!”

“สนามนี้คุณเดินหมากได้แค่ครั้งเดียว คุณทำสองครั้งไม่ได้ จะหนีแล้วจะสปรินต์มันไม่พอ (เหมือนซากานเมื่อปีที่แล้ว) คุณต้องเลือกอย่างหนึ่งแล้วทำให้สุด”

บทสัมภาษณ์ใน Rouleur.cc

 

สนามแข่งที่ยาวที่สุดในรอบปี แต่ตัดสินกันแค่ 20 นาทีสุดท้าย

ย้อนดู MSR 20 ปีที่ผ่านมาเราจะพบว่าการโจมตีที่ไกลเส้นชัยที่สุดเกิดขึ้นที่…7.3 กิโลเมตรสุดท้าย (เป็นการหนีของนิบาลีในปี 2012) แล้วถ้าเราดูว่าการโจมตีไหนหนีได้ยาวที่สุดจนถึงเส้นชัย มันเป็นของซากานเมื่อปีที่แล้วที่ยาวแค่ 7 นาที (!!)

แคนเชอลารา, คาเวนดิช, อธิบายถึงเนิน Poggio จุดคัดตัวสำคัญของสนามนี้

เราอาจจะคิดว่าสนามยาวแบบนี้จะเหมาะกับการเบรคอเวย์ไกลๆ แต่ส่วนใหญ่แผนหนียาวไม่ค่อยจะเวิร์กครับ นั่นหมายความว่าความสนุกจริงๆ มันจะอยู่ที่ 20 นาทีสุดท้ายของการแข่งขันที่ตัวเต็งทุกคนง้างเขี้ยวรองับกันอยู่ ไม่มีใครอยากเปิดไพ่ก่อนกเพราะปั่นติดต่อกันร่วม 7 ชั่วโมง การออกแรงหนักๆ โจมตีเป็นคนแรกมักจะทำให้เราไม่เหลือแรงไว้ท้าชิงที่เส้นชัย เหมือนที่แคนเชอลาราบอก

เพราะงั้นถ้ามีเวลา จะนั่งดูทั้งสามชั่วโมงที่ถ่ายทอดสดก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าจะดูแค่ 30 นาทีสุดท้ายก็ไม่น่าพลาดไฮไลท์เหมือนกันครับ

 

ใครมีลุ้น?

MSR เป็นหนึ่งในรายการที่เดาแชมป์ได้ยากที่สุดก็ว่าได้ เพราะตัวเต็งมาได้จากทั้งสายคลาสสิคและสปรินเตอร์ หรือ all rounder / นักปั่นแกรนด์ทัวร์ก็ยังมีลุ้นได้เหมือนกันถ้าสถานการณ์เป็นใจ ด้วยความที่เส้นทางมันไม่ selective ขนาดนั้น ถ้าเดินหมากถูกก็เก็บแชมป์ได้เหมือนกัน เพราะงั้นง่ายที่จะไล่รายชื่อตัวเต็ง แต่ยากที่จะบอกผู้ชนะครับ

 

ปีเตอร์ ซากาน (Bora/Hansgrohe) ★★★★★

ซากานน่าจะเป็นนักปั่นคนเดียวที่มีอาวุธครบเครื่องที่สุดในรายการนี้ จะหนีก็ได้ จะสปรินต์ก็ดี ลงเขายังเร็วอีกต่างหาก ถ้าจะมีจุดอ่อนในสนามนี้ คงมีแค่ถ้าเกมจบแบบกลุ่มใหญ่ เขาอาจจะเสียเปรียบเพียวสปรินเตอร์หลายๆ

ปีนี้ซากานมีตัวช่วยเยอะ จากที่ Bora ไล่ซื้อผู้ช่วยรายการคลาสสิคมาเพิ่ม เรื่องซัพพอร์ทคงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเดียวคือความเก่งและเสื้อแชมป์โลกของเขาที่เป็นเสมือนเป้าใหญ่กลางหลัง คงเป็นคนที่ถูกหมายหัวที่สุด คิดว่าคงไม่เดินเกมเหมือนปีที่แล้ว ผมเดาว่าซากานไม่ได้แข็งพอจะหนียาวได้คนเดียวบนเนิน Poggio ถ้าคู่แข่งอย่าง GVA / เควียทคอฟสกี้ได้ตำแหน่งดีน่าจะออกตามได้ไม่ยากเกินไป เพราะงั้นทางที่จะชนะได้ชัวร์ที่สุดคือรอสปรินต์ในกลุ่มเล็ก

 

มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (Sky) ★★★★★

แชมป์ปีที่แล้ว และฟอร์มดีสุดๆ กับการเพิ่งคว้าชัยในสนาม Tirreno-Adriatico มาหยกๆ เช่นเดียวกับซากาน เควียทคอฟสกี้ก็มีอาวุธเยอะ ไต่เขาได้เร็ว ลงเขาดี หนีก็พอได้ สปรินต์อาจจะไม่สู้คนอื่นๆ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่แน่เหมือนกัน เป็นคนที่อ่านเกมได้ดี ถ้าเควียทคอฟสกี้โดนจับตามากเกินไป จิอันนี มอสคอนอาจจะเป็นแผนสองและม้ามืดที่หลายคนคาดไม่ถึง

 

Quickstep Floors ★★★★

มากับนักปั่นเก่งๆ หลายคนไม่ว่าจะเป็นอันดับสามปีที่แล้ว จูเลียน อลาฟิลลิป แชมป์ Tour of Flanders ฟิลลิป จิลแบร์ (ที่อยากจะชนะ Monument ให้ครบทุกรายการ) และเอเลีย วิวิอานี ที่เป็นแผนสุดท้ายหากเกมจบด้วยการสปรินต์กลุ่ม ในบรรดาสามคนนี้ ผมเรตให้วิวิอานีมีโอกาสเยอะที่สุด เพราะอลาฟิลลิปน่าจะยังไม่แข็งพอจะหลุดไปคนเดียว และจิลแบร์ก็อายุเริ่มมาก ถ้าฟอร์มไม่สดจริงคงหนีไม่พ้นซากานและคนอื่นๆ

 

เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC) ★★★★

เป็นตัวเต็งที่น่าสนใจเพราะเดินเกมได้ดีหลายแบบ แต่อาจจะไม่สุดสักแบบ ขึ้นเนินยังไม่เร็วที่สุดในรายชื่อผู้เข้าแข่งขันวันนี้ สปรินต์ก็ไม่สุดเหมือนกัน แต่ประสบการณ์และความมั่นใจน่าจะช่วยให้พร้อมหาช่องคว้าโอกาสได้เสมอ เป็นคนที่ประมาทไม่ได้เหมือนกัน

 

อานอร์ เดอมาร์ (FDJ) / อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (UAE) ★★★★

สองคนนี้ขอจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน เพราะเป็นแชมป์เก่าทั้งคู่ คริสทอฟเองป่วยอยู่และต้องกินยาปฏิชีวนะ นั่นหมายความว่าความฟิตพร้อมอาจจะไม่ 100% ส่วนเดอมาร์ฟอร์มน่าจะดีกว่าและเป็นตัวเต็งที่มีทีมช่วยดีมากๆ ทีมไม่มีแผนสองและไม่มีหัวหน้าทีมคนอื่น ถ้าจบด้วยการสปรินต์กลุ่มเขาเป็นอีกคนที่มีลุ้นมากๆ

 

มาร์เซล คิทเทล (Katusha) + อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal) ★★★

เป็นเพียวสปรินเตอร์ทั้งคู่ แต่ปัญหาคือถ้ากลุ่มเร่งบนเนิน Poggio สองคนนี้ไม่น่าจะตามทัน ก็ต้องพึ่งเพื่อนร่วมทีมหรือคู่แข่งปิดเกมกลุ่มหนีถึงจะมีโอกาสสปรินต์ ดูเผินๆ เหมือนสองคนนี้จะมีลุ้น เพราะสปรินเตอร์ชนะรายการนี้เยอะ แต่เมื่อมันมีคู่แข่งอย่าง ซากาน เควียทคอฟสกี้ และ GVA อยู่ จะหวังให้เกมจบสปรินต์แบบการันตีคงไม่ง่ายเท่าไร เลยให้ดาวน้อยกว่านักปั่นแนวสปรินเตอร์กึ่งคลาสสิคอย่าง คริสทอฟ และเดอมาร์ครับ

 

ม้ามืด

จับตามอง อเล็กซีย์ ลุทเซงโก้ (Astana) all rounder อีกคนที่ดูจะทำได้ทุกอย่างดีไปหมด ถ้าเกมจบสปรินต์ Astana มีแมกนัส คอร์ท นีลเซ็น

Mitchelton Scott มากับแมทเทโอ เทรนตินและคาเล็บ ยวน คนแรกเล่นเกมเบรอคเวย์ได้ แต่คนหลังน่าจะต้องรอสปรินต์กลุ่ม

Bahrain-Merida มีทั้งตัวหนีอย่างวินเชนโซ นิบาลี (เคยขึ้นโพเดี้ยม) และสปรินเตอร์ ซันนี โคลเบรลลีที่ฟอร์มดีขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าใครจะได้แชมป์ก็รับรองว่าสนุกแน่นอนครับ ถ้าไม่มีเวลาดูทั้งรายการ ดูแค่ 30 นาทีสุดท้ายก็น่าจะพอ ^^

ลิงก์ถ่ายทอดสดที่ duckingtiger.com/live ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!