รีวิว Tour de France สเตจ 14: ไฟรเลคว้าแชมป์สเตจ โธมัสปิดแก็ปใส่ฟรูม!? + พรีวิวสเตจ 15

เป็น transition stage หรือ “สเตจรอยต่อ” อีกวันสำหรับสเตจ 14 เมื่อวาน มีการแข่งขันกันย่อย ๆ ไปอีกสองอย่างคือ แข่งชิงสเตจกันระหว่างเบรคอเวย์ และ แข่งชิงเวลากันระหว่างตัวเต็ง GC

ทางด้านหน้า ยาสเปอร์ สตอยเว็น (Trek-Segafredo) ยิงกลุ่มเบรคอเวย์ที่มีจำนวนถึง 31 คน ที่ประมาณ 30 กม. จากเส้นชัย และถ่างแก็ปออกไปได้ถึง 1 นาที 45 วินาที เมื่อเขามาถึงตีนเขาลูกสุดท้ายที่ชันเอาเรื่อง คือ โคท เด ลา โคร เนอเวอร์ (Côte de la Croix Neuve) ซึ่งยาว 3 กม. แต่ชันเฉลี่ยถึง 10.2% ตอนดูสดนี่เหมือนภาพสโลว์โมชั่น

แต่สุดท้าย กลุ่มเบรคอเวย์ที่ตามมาทีหลังก็สามารถไล่จับเขาได้ทัน โดยเป็น โอมาร์ ไฟรเล (Astana) ที่พุ่งออกจากลุ่มเบรคแล้วจับสตอยเว็นทันที่ 500 เมตรก่อนยอดเขา และปั่นเข้าเส้นชัยซึ่งเป็นรันเวย์สนามบินและอยู่เลยจากยอดเขาไปอีก 1.5 กม.เพียงคนเดียว

ทางด้านหลัง เมื่อกลุ่มเปโลตองมาถึงตีนเขาในอีก 18 นาทีถัดมา พริมอซ โรจลิค (LottoNL-Jumbo) ก็ยิงกลุ่มตัวเต็ง GC ตั้งแต่ตีนเขาแล้วเปิดแก็ปได้ มีโธมัส ฟรูม และดูมูลานพยายามไล่ให้เข้า ส่วนบาร์เดต์กับแลนด้าแผ่วและหลุดกลุ่มไป

ตอนที่โธมัส ฟรูม และดูมูลานอยู่ด้วยกัน มีโมเมนต์ที่ดูมูลานยิงก่อน จากนั้นฟรูมก็ตามมาทันแล้วแซงออกไป แต่กลับเป็นโธมัสที่ไล่ปิดฟรูมจนทัน โดยพาเอาดูมูลานเข้าไปด้วย เป็นจังหวะโยโย่กันอยู่เล็กน้อย แต่สุดท้ายทั้งสามคนก็เข้าเส้นพร้อมกันโดยห่างจากโรจลิค 8 วินาที

ถึงตอนนี้ภาพรวม GC เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่าน่าจะชิงชัยกันระหว่าง โธมัส-ฟรูม-ดูมูลาน-โรจลิค 4 คนนี้ ส่วนบาร์เดต์กับแลนด้าเริ่มดูริบหรี่ลงเรื่อย ๆ หลังจากที่วันนี้หลุดกลุ่มครับ


โอมาร์ ไฟรเล (Astana)

ผมซ้อมหนักเพื่อสิ่งนี้ แต่ว่าการชนะสเตจในตูร์เป็นครั้งแรกนั้นน่าทึ่งมากครับ ตอนนี้ผมไม่รู้จะบรรยายความรู้สึกยังไงเลย
ตอนท้ายสเตจมีลมต้านแรงมาก แต่วันนี้ผมรู้สึกตัวเองแรงดี ก็เลยออกไล่จับสตอยเว็น สุดท้ายผมก็ตามเขาทันและหนีพวกเขาได้จนถึงเส้นชัย

วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดของอาชีพนักปั่นผมเลย เพราะนี่คือความสำเร็จสูงสุดที่ผมจะสามารถฝันได้แล้ว

เกเรนต์ โธมัส (Team Sky)

สิ่งสำคัญก็คือพวกเราชนะ และพวกเราไม่แข่งกันเองจนสุดท้ายดูมูลานชนะอะนะครับ ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นเราคงดูงี่เง่ามาก

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมแข่งสามสัปดาห์ (DT Note: ในฐานะตัวเต็ง เพราะเขามาในฐานะผู้ช่วยหลายครั้งแล้ว) ก็เลยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ส่วนฟรูมมี่กับดูมูลานก็เพิ่งแข่งจิโรกันมาอย่างหนัก ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกเหมือนกัน สถานการณ์ของเราสามคนก็เลยจะแปลก ๆ หน่อย

ผมไม่กดดันตัวเองเท่าไหร่นะ เทียบกับรอบชิงชนะเลิศทีมเปอร์ซูต์ ที่คุณต้องซ้อมถึง 4 ปีเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น แต่แล้วก็อาจจะชนะหรือแพ้ได้ด้วยเวลาแค่ 1 ใน 100 ของวินาที อันนั้นล่ะกดดันของจริง (DT Note: เกเรนต์​ โธมัสเป็นนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกประเภททีมเปอร์ซูต์ที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008) เทียบกันแล้วความกดดันครั้งนี้มันไม่ถาโถมเท่า แล้วการมีฟรูมมี่อยู่ที่สองก็ช่วยลดความกดดันเหมือนกัน เผื่อผมเป็นอะไรไปก็ยังมีเขา

ถ้าคุณถามผม ผมก็ต้องดีใจกว่าถ้าตัวเองชนะรายการมากกว่าที่ฟรูมมี่ชนะสิ ! *หัวเราะ*



สเตจ 15 วันนี้ยังคงเป็น transition stage อีกเช่นกัน จากมิลเลา (Millau) ไปจบที่เมืองมรดกโลกของยูเนสโก คือ คาคัสซอง (Carcassonne) ระยะทาง 181 กิโลเมตร

เส้นทางวันนี้มีภูเขา cat 1 อยู่ 1 ลูก 12.3 กม. ที่ชันเฉลี่ย 6.3% แต่ว่ายอดเขาอยู่ห่างจากเส้นชัยถึง 41 กม. ก็น่าจะเป็นการคัดตัวเบรคอเวย์มากกว่าคัดตัว GC ล่ะครับ จากนั้นก็ลงเขารวดเดียว 31 กม. ก่อนจะเป็นทางราบอีก 10 กม. เข้าสู่เมืองคาคัสซอง

วันของเบรคอเวย์แบบนี้ คนที่น่าจับตามองก็หนีไม่พ้นตัวเบรคอเวย์เก๋า ๆ อย่าง โธมัส เด เกนต์ (Lotto-Soudal) แต่ไม่รู้ว่าเหนื่อยหรือยังเพราะออกเบรคมาสองวันติดแล้ว, ลิเลียน คัลเมอฌอง (Direct Energie), ดาเมียโน คารูโซ (BMC Racing), ปิแอร์ โรลองก์ (EF Education First-Drapac), วาร์เรน บากีล์ (Fortuneo-Samsic), หรือ ทอม เยลก์ สแลกเทอร์ (Dimension Data)


ข่าวสั้นประจำวัน

  • คุณเธียรี่ กูเวอนูร์ คนออกแบบเส้นทางตูร์เดอฟรองซ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในฝรั่งเศสว่าเขาใช้ Strava ช่วยออกแบบเส้นทางแข่งปีนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตจ 5 ที่เต็มไปด้วยเนินสั้น ๆ เต็มไปหมดคล้าย Ardennes Classics เขาบอกว่า Strava ทำให้เขาค้นพบเส้นทางที่นักปั่นในท้องที่ชอบใช้ซ้อมหรือแข่งกัน หลังจากวันนั้นคงมีคนเสีย KOM กันไปหลายคน (อ้างอิง)
  • ในที่สุด เวาท์ แวน อาร์ท (Vérandas Willems–Crelan) ก็ย้ายมาลงถนนเต็มตัวโดยเซ็นสัญญากับ LottoNL-Jumbo สามปี ตั้งแต่ 2020–2022 เนื่องจากสัญญากับทีมปัจจุบันมีถึงสิ้นปี 2019 และ LottoNL ก็อยากเคารพสัญญาเดิมที่เขามีอยู่ หากใครไม่คุ้นชื่อ แวน อาร์ท คือแชมป์โลกโซโคลครอส 3 ปีซ้อน (2016–2018) และได้ถึงอันดับ 3 ในรายการ Strade Bianche เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (ตะคริวกินไปเสียก่อน) ปัจจุบันอายุเพิ่ง 23 ปี (อ้างอิง)

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *