คู่มือ Giro d’Italia 2019: เส้นทาง, ผู้ท้าชิง, ลิงก์ถ่ายทอดสด

เริ่มปี 2562 มาได้ไม่ทันไร แกรนด์ทัวร์สนามแรกของปีก็มาถึงเราแบบไม่ได้ตั้งตัวครับ ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้แฟนๆ จักรยานจะได้ติดตามการแข่งขัน 1 ใน 3 สนามแข่งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปี นั่นก็คือ Giro d’Italia หรือ Tour of Italy ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมไปจนถึง 2 มิถุนายน เริ่มออกสตาร์ทกันที่เมือง Bologna วันเสาร์นี้

ถ่ายทอดสด: เช็คลิงก์และกำหนดการถ่ายทอดสดได้ที่ Duckingtiger.com/live

* * *

แกรนด์ทัวร์ที่ดีที่สุดสำหรับแฟนจักรยาน

แฟนจักรยานจำนวนมากยกย่องให้ Giro เป็นแกรนด์ทัวร์ที่ดีที่สุดในทุกๆ ปี เหนือยิ่งกว่า Tour de France จากเส้นทางที่งดงามและการออกแบบคอร์สที่สร้างสรรค์ นักแข่งชื่อดังหลายคน เช่นทอม ดูโมลาน (Sunweb) และวินเชนโซ นิบาลี (Bahrain-Merida) เลือกมาลง Giro แทนที่จะลง Tour de France

เมื่อรวมกับนักปั่นหน้าใหม่ไฟแรงอย่างไซมอน เยทส์ (Mitchelton-Scott) และมิกูเอล โลเปซ (Astana) ที่อยากจะลองชิมรสการแข่งแกรนด์ทัวร์ก่อนจะไปท้าชิงแชมป์ตูร์แล้ว ก็ทำให้พลวัตรการแข่งขัน Giro นั้นโดดเด่นไม่เหมือนรายการไหนๆ มีทั้งความดุดัน ความกล้าได้กล้าเสีย ที่เราไม่ได้เห็นในตูร์ซึ่งมักจะมีความเกร็ง แข่งแบบอั้นกลัวเสีย และมีรูปแบบการแข่งที่ชัดเจนจนเดาแชมป์ได้ไม่ยากเป็นสัปดาห์ก่อนจะแข่งจบเสียอีก

 

วิเคราะห์เส้นทาง Giro 2019

เช่นเดียวกับทุกปี Giro ปีนี้แข่งกัน 21 สเตจ (21 วันแข่ง + 2 วันพัก) สิริรวมระยะทางแข่งทั้งหมด 3,578 กิโลเมตร เริ่มจากทางตอนเหนือของประเทศ แล้วเลาะชายฝั่งทะเลตะวันตกลงใต้ ก่อนจะวกกลับมาแตะเทือกเขาทางชายแดนตอนเหนือในช่วงสัปดาห์สุดท้าย

สำหรับองค์ประกอบเส้นทางจะแบ่งได้ตามนี้ครับ

  • 3 สเตจจับเวลา (Time Trial)
  • 8 สเตจทางราบ
  • 4 สเตจภูเขาสูงปานกลาง
  • 6 สเตจภูเขาสูงชัน

ลองดูโปรไฟล์เส้นทางแบบต่อกัน 3 สัปดาห์ก็จะได้ประมาณนี้:

12 สเตจแรกดูรวมๆ แล้วค่อนข้าง “ง่าย” นั่นคือภูเขาน้อย สำหรับพวกตัวเต็งชิงแชมป์รายการ (เราเรียกว่าตัวเต็ง GC – General Classification หรือผู้ท้าชิงเสื้อผู้นำเวลารวม) ความท้าทายจะอยู่ที่การประคองตัวให้อยู่รอด ไม่ล้ม ไม่เจ็บ ไม่เสียเวลา และแน่นอนว่าเป็นโอกาสเก็บชัยชนะสำหรับสปรินเตอร์และเบรกอเวย์ เพราะแทบไม่มีสเตจไหนเลยที่เส้นชัยจบบนยอดเนินครับ ส่วนใหญ่เป็นทางราบเรียบ

เฟสสองของ Giro คือตั้งแต่สเตจ 13 เป็นต้นไปที่เรียกได้ว่าเป็นคอมโบภูเขาแอลป์ต่อกันรัวๆ มีคั่นด้วยสเตจทางราบแค่สเตจเดียวคือสเตจ 18 แล้วปิดท้ายด้วยสเตจไทม์ไทรอัล 21 กิโลเมตร

เพราะงั้นครึ่งหลังก็จะเป็นช่วงเวลาของแพะภูเขาทั้งหลาย ทั้งกลุ่ม GC และกลุ่มเบรกอเวย์ล่าแชมป์สเตจ เรียกได้ว่าสปรินเตอร์เมื่อเก็บผลงานจบ 9 วันแรกแล้วก็กลับบ้านไปได้เลยครับ (ฮ่าๆๆ)

 

สเตจตัดสิน

สำหรับการแข่งวันเดียว เรามีสิ่งที่เรียกว่า “เนินคัดตัว” หรือจุดคัดคนที่แกร่งที่สุดในรายการ สำหรับสเตจเรซ เรามี “สเตจคัดตัว”​ ด้วยที่มันแข่งกันหลายวัน แต่ละสเตจก็จะมีความยากคละๆ กันไป แต่แน่นอนว่ามันต้องมีสเตจที่ยากกว่าสเตจอื่นๆ จนตัวเต็งมีโอกาสทำเวลาชิงห่างกันได้เยอะครับ ผมว่าปีนี้มี 7 สเตจ ตามนี้

สเตจ 9: Time Trial 35 กิโลเมตร

สเตจ 13: สเตจภูเขาแรกของรายการและจบที่เส้นชัยบนยอดเขา เขาสุดท้ายยาว 20 กิโลเมตรและชันเฉลี่ย 6%

สเตจ 14: สเตจภูเขาสุดท้าทาย คอมโบต่อกันรัวๆ 5 ลูก

สเตจ 16: Queen Stage ของการแข่งปีนี้ เส้นทางยาวถึง 226 กิโลเมตร และมีภูเขาสุดท้าทายอย่าง Gavia และ Mortirolo อยู่ในสเตจเดียวกัน

สเตจ 19: เส้นชัยบนยอดเขาที่ยาว 13.6 กิโลเมตรและชัน 5.6%

สเตจ 20: สเตจภูเขาสุดท้ายของการแข่งขัน เขาชัน 5 ลูกต่อกัน

สเตจ 21: วันตัดสิน จบด้วย Time Trial ระยะทาง 17 กิโลเมตร แต่ต้องปีนเขายาว 4.5 กิโลเมตรระหว่างสเตจด้วย

ถึงเราจะเลือกมา 7 สเตจ แต่อย่าลืมว่านี่คือแกรนด์ทัวร์ โอกาสแพ้เยอะกว่าโอกาสชนะเสมอ! ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ยางรั่ว ท้องเสีย ฟอร์มตกกะทันหัน ปั่นไม่ออก เลิกกับแฟน ทะเลาะกับแม่ ก็เป็นเหตุให้ผู้เข้าแข่งขันแพ้มาได้แล้วทั้งนั้น แต่นั่นก็คือความสนุกของแกรนด์ทัวร์ครับ เราเดาผู้ชนะไม่ออกจนกว่านักปั่นจะข้ามเส้นชัยสุดท้ายในสเตจ 21!

 

3 เรื่องที่ต้องจำ

1.) Giro ปีนี้มี Time Bonus ให้นักปั่น 3 คนแรกที่เข้าเส้นชัย 10-6-4 วินาทีตามลำดับ และ 3 คนแรกที่ผ่านจุด IS (สปรินต์กลางสเตจ) 3-2-1 วินาที Time Bonus คือเวลาที่ผู้จัดแข่งเอาไปหักลบกับเวลารวมให้กับนักกีฬา เช่นสมมติ ทอม ดูโมลานมีเวลารวมหลังสเตจ 5 ชั่วโมง 10 วินาที ถ้าเขาชนะสเตจ 6 เขาจะได้ Time Bonus 10 วินาที แปลว่า เวลารวมหลังจบสเตจ 6 ของเขาจะเหลือแค่ 5 ชั่วโมงถ้วน (ก็คือเร็วกว่าเดิมฟรีๆ 10 วินาทีนั่นเองครับ)

2.) Time Bonus เป็นเหมือนตัวช่วยพิเศษ เปิดโอกาสให้นักปั่นบางคนที่อาจจะไม่ได้ฟอร์มดีระดับท็อปสามารถทำเวลาตีตื้นคู่แข่งได้บ้าง กลับกันถ้านักปั่นตัวท็อปฟอร์มดีพอจะคว้าแชมป์สเตจได้ เขาก็สามารถตุน time bonus เพื่อใช้นำคู่แข่งแบบขาดลอยได้เช่นกัน การชิง time bonus หรือปล่อยให้คู่แข่งทีมอื่นเก็บ time bonus ไป จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญสำคัญตลอดทั้งการแข่งขัน

สเตจที่ไม่แจก Time Bonus คือสเตจ Time Trial ทั้งสามสเตจ

3.) เสื้อผู้นำรายการนี้มีสี่ตัว สีชมพูสำหรับผู้นำเวลารวม, สีบานเย็น (ม่วง?) สำหรับผู้นำคะแนนรวม, สีน้ำเงินสำหรับเจ้า, และสีขาวสำหรับ Best Young Rider หรือนักปั่นที่อายุต่ำกว่า 25 ปีที่ทำเวลารวมได้ดีที่สุด

 

11 ผู้ท้าชิง, 6 สปรินเตอร์, และ 5 นักล่าสเตจ

ถึงเราจะเดาแชมป์ไม่ได้ แต่เราก็พอดูฟอร์มคนที่มีลุ้นแชมป์ได้ครับ แต่ละทีมมีหัวหน้าทีมที่ชัดเจน ทั้งฝั่ง GC, สปรินเตอร์ และทีมที่ไม่มีตัวเต็งแต่มีนักปั่นที่แข็งแรงพอจะลุ้นแชมป์สเตจ ลองมาวิเคราะห์ฟอร์ม ตัวเต็งที่น่าสนใจใน Giro ปีนี้กัน เริ่มที่ฝั่ง GC หรือผู้ท้าชิงแชมป์รายการก่อน

 

ทอม ดูโมลาน (Sunweb)

Photo: RCS Sport

ดูโมลานเป็นตัวเต็งชื่อดังที่เลือกลงแข่ง Giro แทน Tour de France ปีนี้ เขาเป็นแชมป์เก่าปี 2017 และได้อันดับสองในปี 2018 ดูจากเส้นทางแล้วก็เข้าใจไม่ยากว่าทำไมทอมถึงเลือก Giro ครับ เพราะมันมีสเตจ Time Trial ที่เขาถนัดและได้เปรียบถึง 3 สเตจ เรียกได้ว่าเป็นคอร์สที่ออกแบบมาให้เขาโดยเฉพาะเลยก็ว่าได้ แถมยังมีเส้นชัยบนยอดเขา (ที่เขาไม่ถนัด) น้อยกว่าปีก่อนๆ ด้วย

เรื่องฟอร์มคงบอกอะไรมากไม่ได้ เพราะเท่าที่สังเกตปีหลังๆ มานี้ตัวเต็งแกรนด์ทัวร์มักไม่นิยมเค้นฟอร์มหนักถึงขั้นเก็บแชมป์สเตจเรซรายการเล็กๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว (มีบางคนอย่างพริมอซ โรจ์ลิคที่ยังทำแบบนั้น) แต่ดูจะนิยมไปเก็บตัวบนค่าย Altitude กันเสียมากกว่า เพราะงั้นผมเดาว่าเขาน่าจะพร้อมพอสมควร (ปีที่แล้วทอมก็ไม่ได้ชนะอะไรเยอะก่อน Giro เหมือนกันแต่ก็ยังได้ที่สอง)

เขารู้ว่าจะขี่ยังไงให้ชนะแกรนด์ทัวร์ ประสบการณ์พร้อม ไต่เขาดี ไทม์ไทรอัลก็เร็วกว่าทุกคน ถ้าไม่เจอเกมเหนือแบบที่ Sky เสิร์ฟให้ปีที่แล้วก็จัดว่ามีลุ้นกว่าทุกคนครับ ถ้าจะมีข้อเสียคือ ผู้ช่วยในทีมไม่มีตัวสายภูเขาเก่งๆ เท่าไร มีแค่แซม อูเมน วัย 23 ปีที่ปีที่แล้วก็ช่วยทอมไว้เยอะ แต่ทอมเองก็ติดโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์มาหลายครั้งโดยไม่ได้ต้องพึ่งผู้ช่วยเยอะ เพราะงั้นไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่

 

พริมอซ โรจ์ลิค (Jumbo-Visma)

Photo: RCS Sport

คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของทอมคือโรจ์ลิค นักปั่นชาวสโลวีเนียวัย 29 ปีคนนี้ ทำไมน่ะหรือ? ปีนี้โรจ์ลิคชนะสเตจเรซทุกรายการที่เขาลงแข่งขัน (Tour de Romandie, Tirreno-Adriatico, และ UAE Tour) ใน Romandie เขาชนะเองถึงสามสเตจ ทั้งสเตจภูเขา สเตจที่จบสปรินต์ และสเตจ Time Trial เป็นนักปั่น all-rounder ที่น่ากลัวที่สุดคนนึงตอนนี้ครับ

เหตุผลที่เขามาลง Giro ก็เหมือนทอมคือเขาเป็นคนที่ปั่น TT ดีกว่านักไต่เขาคนอื่นๆ โอกาสคว้าแชมป์รายการนี้สูงกว่า Tour de France มาก

ผลงานที่ดีที่สุดของโรจ์ลิคในแกรนด์ทัวร์คือที่ 4 ใน Tour de France ปีที่แล้ว ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เขาได้นำแกรนด์ทัวร์จริงจัง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเขาปั้นฟอร์มไว้ดีมากก่อนเริ่มแข่ง คำถามคือจะรักษาฟอร์มนี้ได้จนจบรายการหรือเปล่า? (จะซ้ำรอยกับไซมอน เยทส์ที่ฟอร์มตกก่อนแข่งจบในปีที่แล้วมั้ย?)

ในเรื่องทีมไม่มีอะไรให้ห่วงมาก Jumbo-Visma อาจจะไม่ใช่ทีมที่เราเห็นในแถวหน้าของสเตจภูเขาแต่มีทีมเวิร์กดีและมีนักปั่นผู้ช่วยเก่งๆ หลายคนทั้งเส้นทางราบและภูเขา

 

วินเชนโซ นิบาลี (Bahrain-Merida)

Photo: RCS Sport

นิบาลีเป็นคนที่พักหลังมานี้ ลึกลับจริงๆ ปีที่ฟอร์มดีก็ชนะแบบขาดลอย แต่ปีไหนฟอร์มหงอยก็แทบไม่ต้องหวังเลย ไม่ว่าฟอร์มจะเป็นยังไง สิ่งหนึ่งที่เราหวังจากนิบาลีได้เสมอคือความกล้าที่จะโจมตี ไม่ว่าอันดับเวลารวมจะเป็นยังไงก็ตาม (ถึงจะไม่เด็ดขาดเหมือนเด็กรุ่นใหม่) ดูอีกมุมหนึ่งเขาก็เป็นนักปั่นที่คล้ายๆ คอนทาดอร์ครับ กล้าได้กล้าเสีย

รวมๆ แล้วนิบาลีเป็นคนที่ไม่ได้มีจุดแข็งเหมือนโรจ์ลิค และทอมที่ปั่น Time Trial ทำเวลาตุนได้ การโจมตีบนเขาก็ไม่เฉียบเหมือนนักปั่นอย่างไซมอน เยทส์ แต่ด้วยดีกรีอดีตแชมป์แกรนด์ทัวร์ครบทั้งสามรายการ และที่เป็นนักไต่เขาคนเดียวในรอบหลายสิบปีที่ชนะ Milan-San Remo ยังไงนิบาลีก็เป็นคนที่ไม่ควรประมาท

มีข่าวว่าปีหน้าเขาอาจจะย้ายไปอยู่กับ Trek-Segafredo

 

ไซมอน เยทส์ (Mitchelton-Scott)

ไซมอน เยทส์ (ซ้าย), เอสเตบาน ชาเวซ (ขวา) / Photo: RCS Sport

ไซมอนกลับบ้านไปด้วยบทเรียนราคาแพงใน Giro ปีที่แล้ว ด้วยการโชว์ฟอร์มบู๊ล้างผลาญ ว่างเป็นยิง ขยับเป็นยก จนเก็บแชมป์ไป 3 สเตจ แต่ถึงสัปดาห์สุดท้ายฟอร์มตก พลังหมด โดนคริส ฟรูมสวนทับจนแพ้หลุดลุ่ยไม่มีลุ้นกระทั่งโพเดี้ยม ทั้งๆ ที่ครองเสื้อผู้นำตั้งแต่สเตจ 6 ถึง 18! (ก็เข้าใจได้เพราะสิ่งที่ไซมอนกลัวที่สุดคือจะเสียเวลาให้ Time Trialist อย่างฟรูมและดูโมลานในสเตจ TT)

แต่เขาก็เรียนรู้และนำไปใช้ครับ เพราะสุดท้ายกลับมาเอาชนะ Vuelta a Espana 2018 ตอนปลายปีแก้มือไปได้เรียบร้อยโดยไม่ยิงแบบสาดกระสุนแล้ว การกลับมา Giro ครั้งนี้คือมาล้างแค้นโดยเฉพาะ

สเตจ Time Trial ยังคงเป็นจุดอ่อนของเยทส์ แต่เขากลับไปทำการบ้านอัปฟอร์ม TT มาแบบไม่ธรรมดาครับ ชนะสเตจ TT ใน Paris-Nice 2019 ที่เป็นทางราบเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่จะทำได้อีกทีใน Giro มั้ยคงต้องรอดูกัน

เยทส์มีทีมซัพพอร์ทที่น่าอิจฉา ไม่ว่าจะเป็นเอสเตบาน ชาเวซ, มิเคล เนียเว และลูคาส ฮาลมิลตัน นักไต่เขาผู้ช่วยระดับแนวหน้าของวงการทั้งสามคน

 

มิกูเอล โลเปซ (Astana)

Photo: RCS Sport

ผู้ท้าชิงวัย 25 ปีจากโคลอมเบีย โลเปซคว้าอันดับ 3 ทั้งใน Giro และ Vuelta 2018 แต่ยังไม่มีโอกาสได้แตะยอดโพเดี้ยม โลเปซเป็นหนึ่งในนักไต่เขาที่ดุดันที่สุดในยุคนี้ เปรียบกับไนโร คินทานาในช่วงปี 2013-2014 ก็ได้ครับ

ขึ้นเขาเร็วแต่ Time Trial ช้า เป็นจุดอ่อนเดียวของเขาที่เข็นยังไงก็ไม่ขึ้นสักที ยิ่งปีนี้มี 3 สเตจ TT โลเปซต้องรุกหนักในสเตจภูเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยเวลาที่เขาจะเสียให้โรจ์ลิคและดูโมลาน พูดง่ายๆ คือเริ่มแข่งก็เสียเปรียบแล้วนั่นหละครับ

แต่ถ้าเราดูจากฟอร์มในสนามอื่นๆ ปีนี้ เช่น Volta Catalunya ที่เขาได้แชมป์เขาก็ขึ้นเขาได้เร็วจนคู่แข่งอย่างคินทานาและเบอร์นาลไล่จับไม่ทันเลยเหมือนกัน

Astana เป็นทีมที่แข็งที่สุดทีมหนึ่งในรายการนี้ โดยเฉพาะผู้ช่วยสายภูเขาอย่างดาริโอ คาทาลโด, จอห์น อิซาร์เกอเรและเพลโล บิลบาว

 

มิเคล แลนด้า (Movistar)

มิเคล แลนด้า (ซ้าย), ริชาร์ด คาราพาซ (ขวา) / Photo: RCS Sport

แลนด้าเป็นคนที่เงียบไปในช่วงสองฤดูกาลที่ผ่านมา จากที่ประกาศแบบเล่นใหญ่ว่าจะไม่ยอมลงนำทีมสนามอย่าง Giro แล้ว อยากจะนำ Tour de France เท่านั้น แต่เพราะผลงานไม่ถึงมือ ปีนี้เลยโดนโยกมาลง Giro แทนนั่นเอง และเป็นคนที่เราไม่รู้ฟอร์มเท่าไรเหมือนกันครับ คงต้องรอดูตอนเริ่มแข่ง เสียเปรียบเรื่อง time trial เหมือนโลเปซ​

อีกคนที่น่าดูกว่าคือ ริชาร์ด คาราพาซ​ นักปั่นชาวเอกวาดอร์วัย 25 ปีที่ปีที่แล้วโชว์ฟอร์มไต่เขาแซงตัวเต็งได้เกือบทุกคน ไล่แย่งเสื้อ Best young rider กับโลเปซจนถึงสเตจสุดท้ายและจบรายการด้วยอันดับ 4!

ล่าสุดเพิ่งได้แชมป์สนาม Vuelta Asturia มาเมื่อสัปดาห์ก่อนนนี้เอง

 

พาเวล ซิวาคอฟ + ทาว โกเกน ฮาร์ท (Team Ineos)

เซอร์เบรลส์ฟอร์ด (ซ้าย), ซิวาคอฟ (กลาง), โกเกน ฮาร์ท (ขวา) / Photo: RCS Sport

ทีม INEOS หรืออดีต Team Sky ต้องแผนพังกะทันหันเมื่ออีแกน เบอร์นาล ตัวเต็งของทีมที่จะนำรายการนี้กลับล้มบาดเจ็บจนลงแข่งไม่ได้ ทำให้ทีมต้องเปลี่ยนแผน กลายเป็นจัดชุดนักปั่นที่อายุรวมกันเฉลี่ยน้อยที่สุดในบรรดาทีมที่ลงแข่ง Giro ทั้งหมดปีนี้ (อายุเฉลี่ยของทีมคือ 25 ปี โดยที่นักปั่น 4 จาก 8 คนอายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 21 ปี!) เป้าหมายก็เปลี่ยนใหม่หมด ไม่เหมือนชุดทีม Sky ที่ลงแข่งแกรนด์ทัวร์ในปีก่อนๆ เลย

เซอร์ เดฟ เบรลส์ฟอร์ดให้สัมภาษณ์ว่า “ความคาดหวังของทีมเราคือ ให้นักปั่นสนุกกับการแข่งขัน! เป็นชุดทีมที่อายุน้อยที่สุดที่เราเคยจับลงแกรนด์ทัวร์ เราไม่ยึดกับรูปแบบการแข่งขันไหนๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้และทำผิดพลาดได้เต็มที่ จะลองแผนประหลาดๆ ก็ได้ พร้อมปรับตามสถาการณ์ได้ตลอดเวลา ผมรู้สึกโล่งนะที่ให้ทีมได้ลองแข่งด้วยแผนเปิดกว้างแบบนี้”

แล้วใครคือนักปั่นที่จะนำทีม มีสองคนครับ คนแรกคือพาเวล ซิวาคอฟ นักปั่นชาวรัสเซียวัย 21 ปี คู่กับเทา โกเกน ฮาร์ทจากสหราชอาณาจักรวัย 24 ปี ทั้งคู่เพิ่งได้อันดับ 1-2 ในสนาม Tour of the Alps เรียกได้ว่าฟอร์มแรงสุดๆ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เจอตัวเต็งระดับดูโมลานหรือโรจ์ลิคมาก่อนเช่นกัน

ส่วนตัวผมไม่คิดว่าทั้งคู่จะได้แชมป์รายการ เพราะเคยลงแกรนด์ทัวร์แค่คนละครั้ง ประสบการณ์ยังน้อย แต่การที่ INEOS จะให้ลูกทีมแข่งแบบปล่อยผีได้นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ว่าจะทำได้ดีมั้ย เพราะปกติทีมนี้แข่งแบบแผนตายตัวและชัดเจนแบบเดาได้เลยว่าจะปั่นกันยังไง ที่ดึงเกมแบบนั้นได้เพราะมีลูกทีมระดับตัวท็อป จะคุมเกมยังไงก็ได้หมด แต่พอเอาชุดวัยรุ่นมาลงแบบนี้ คงใช้แผนแบบนั้นไม่ได้ ก็น่าจับตามองครับ

 

อิลเนอร์ ซาคาริน (Katusha-Alpecin)

เอซชาวรัสเซียอีกคนจากทีม Katusha ที่ยังไม่มีผลงานโดดเด่นเท่าไร แต่อย่างน้อยก็เป็นคนที่เคยขึ้นโพเดี้ยมใน Vuelta 2017 เลยต้องจัดไว้ในฐานะผู้ท้าชิงคนหนึ่ง

ซาคารินเป็นคนที่ เดี๋ยว on เดี๋ยว off เหมือนกัน ปัญหาหาหนึ่งที่เขายังต้องแก้ไขก็คือไม่สามารถรักษาฟอร์มให้มั่นคงได้ตลอดสามสัปดาห์ในแกรนด์ทัวร์ มีเหวี่ยงเยอะ วันที่ดีก็หลุดไปลุ้นแชมป์สเตจได้สบาย วันที่ไม่ไหวก็หายจากกลุ่มหน้าเลยเหมือนกัน

แต่ด้วยวิธีการแข่งแบบนี้ก็ทำให้หวังเป็นแชมป์รายการได้ยาก ผมว่าเป้าของทีมคงหวังแชมป์สเตจมากว่าอันดับโพเดี้ยมหรือแชมป์รายการ ยิ่งทีมเองไม่มีสปรินเตอร์ด้วยแล้วความรับผิดชอบหลักก็จะอยู่ที่ซาคารินอย่างไม่ต้องสงสัย

 

บอเก้ โมเล็มมา (Trek-Segafredo)

Photo: RCS Sport

รวมๆ แล้วเป็นคนที่คล้ายๆ กับซาคารินครับ วันที่ฟอร์มดีก็ขี่ตีข้างคริส ฟรูมได้สบายๆ (จำสเตจที่ฟรูมวิ่งขึ้น Mt.Ventoux ในตูร์ 2016 ได้มั้ย? วันนั้นโมเล็มม่าขึ้นนำไปกับพอร์ทและฟรูมทิ้งห่างคนอื่นลิบ)

Trek เองก็ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกับ Katusha คือปีนี้มีผลงานท้ายตาราง เป้าหมายไม่น่าจะถึงขั้นโพเดี้ยม ได้สเตจวินกลับบ้านก็น่าจะดีพอและคงไม่ใช่อะไรที่ยากเกินความสามารถของโมเล็มมา

 

ราฟาล ไมย์ก้า (Bora-Hansgrohe)

เป็นความหวัง GC เดียวของทีม Bora แต่คล้ายกับ Trek และ Katusha กัปตันทีมนี้เป็นนักไต่เขาที่เก่ง แต่ยังไม่ใช่ตัว GC ที่ดีพอจะขึ้นโพเดี้ยม ด้วยที่ขาดทักษะการปั่น Time Trial และยังไม่สามารถทำผลงานคงเส้นคงวาในแกรนด์ทัวร์ได้ดีเท่าไร สเตจวิน, เสื้อเจ้าภูเขา และ Top 10 GC น่าจะเป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผลกว่าครับ

 

บ็อบ ยุงเกลส์ (Deceuninck-Quickstep)

Photo: RCS Sport

เคสนี้น่าสนใจ ยุงเกลส์เป็น all rounder ที่ครบเครื่องที่สุดคนนึงในเปโลตอง สปรินต์ได้ เบรกอเวย์ได้ TT ได้ ชนะรายการคลาสสิคได้ ขึ้นเขาก็ดี แถมยังเคยชนะรางวัล Best Young Rider ใน Giro มาสองครั้งแล้ว (!) ครั้งนี้จะเป็นเดบิวต์ผลงาน GC อย่างจริงจังในแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกของเขาครับ

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะปีนี้เขาลงแข่งสนามคลาสสิคแบบจริงจัง นั่นคือต้องบัฟตัวเอง เพิ่มน้ำหนักให้ทนอากาศหนาวและทนสภาพเส้นทางท้าทายในรายการคลาสสิค คำถามคือจะลดน้ำหนักเปลี่ยนสไตล์การแข่งมาเป็นนักไต่เขาได้ทันหรือเปล่า? ถ้าไม่ทันเขาก็จะเสียเปรียบในสเตจภูเขาไม่น้อยครับ Top 10 น่าลุ้น, สเตจวินน่าลุ้น แต่คงไม่ถึงขั้นโพเดี้ยม

 

เช็คฟอร์มสปรินเตอร์

อย่างที่เราดูเส้นทางกันไป ครึ่งแรกของการแข่งขันเป็นทางราบเกือบทุกสเตจครับ รวมแล้วปีนี้มีสเตจที่สปรินเตอร์สามารถชนะได้ 7 สเตจด้วยกัน แต่ก็เป็นไปได้ที่สปรินเตอร์บางคนจะแข่งถึงแค่สเตจ 12 แล้วกลับบ้านเลย (เพราะถึงตอนนั้นก็ได้ลองใช้โอกาสสปรินต์ไปแล้ว 6 ครั้ง) จากนั้นจะถอนตัวกลับบ้านไปปั้นฟอร์มลงแข่งตูร์ต่อยังได้ ไม่กรอบไม่ล้าด้วย ผมว่านักปั่นอย่าง กาวิเรีย (UAE) และวิวิอานี (Quickstep) น่าจะทำแบบนั้น

ปกติแล้วสปรินเตอร์มักให้ความสำคัญ Tour de France มากกว่า Giro อย่างไรก็ดี ปีนี้มีสปรินเตอร์ชื่อดังมาลง 5 คน

 

เอเลีย วิวิอานี (Deceuninck-QuickStep)

Photo: RCS Sport

เจ้าของแชมป์ 4 สเตจใน Giro ปีที่แล้วและจะบอกว่าเป็นสปรินเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก็คงไม่ผิด ที่แน่ๆ เขาเป็นคนที่ชนะเยอะที่สุดครับ แถมปีนี้มาลงในฐานะแชมป์เสือหมอบอิตาลีเสียด้วย กำลังใจในการแข่งก็น่าจะดีเป็นพิเศษ ปีนี้วิวิอานีเก็บไปแล้ว 4 ชัยชนะ ไม่เยอะที่สุดในบรรดาสปรินเตอร์ แต่ก็น่าจะช่วยให้มั่นใจพอสำหรับการเตรียมตัวลง Giro

Quickstep มากับทีม all round และหนักไปทางสายทางราบโดยเฉพาะ วิวิอานีมีลีดเอาท์แมนที่ดีที่สุดในโลกเป็นผู้ช่วย นั่นก็คือฟาบิโอ้ ซาบาทินี

ทั้งนี้เราจะไม่ได้เห็นตัวท็อปของทีมคนอื่นๆ เพราะเอซทีมอย่างอลาฟิลลิป สตีบาร์ จิลแบร์ เป็นสายคลาสสิคที่เพิ่งจะจบซีซันไป ยังอยู่ในช่วง recovery เราคงไปเจอชุดนั้นอีกทีใน Tour de France ครับ

 

เฟอร์นันโด กาวิเรีย (UAE-Team Emirates)

Photo: RCS Sport

อีกคนที่ทิ้งผลงานใน Giro ไว้แบบร้ายกาจ กาวิเรียเก็บไป 4 สเตจจากแกรนด์ทัวร์ที่เขาลงแข่งเป็นครั้งแรก (Giro 2017) พร้อมรับเสื้อเจ้าความเร็วกลับบ้านไปสบายๆ

สำหรับปีนี้กาวิเรียชนะไป 3 ครั้ง และยังคงเป็นสปรินเตอร์ที่เร็วที่สุดในเปโลตองตามคำบอกกล่าวของโค้ชและคู่แข่งหลายๆ คน กาวิเรียพิสูจน์ตัวเองว่าถึงจะไม่มีลีดเอาท์ของ Quickstep เขาก็ไม่ได้ช้าลงเลย เพราะงั้นปีนี้น่าจะมีชัยชนะติดมือกลับไปให้ทีมแน่นอน

 

ปาสคาล แอคเคอร์แมน (Bora-Hansgrohe)

©Bettini Photo

แชมป์เสือหมอบเยอรมันวัย 25 ปีคนนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับทีมครับ เพราะทีมเลือกเขาลง Giro แทนแซม เบนเน็ต ซึ่งจริงๆ แล้วเบนเน็ตมีผลงานทั้งปีดีกว่า ชนะไป 6 ครั้งเทียบกับแอคเคอร์แมนที่ชนะ 3 ครั้ง

เคสนี้ทำให้เบนเน็ตเคืองทีมอยู่ไม่น้อย เพราะถึง Tour de France ทีมก็จะเลือกปีเตอร์ ซากานแทนเขาอยู่ดี สรุปแล้วคงได้ลงแค่ Vuelta ซึ่งต่อให้ชนะหลายสเตจ ศักดิ์ศรีก็ไม่ดีเท่า Giro และ Tour เบนเน็ตบอกว่าเขาอาจจะย้ายทีมตอนจบฤดูกาล เพราะทีมไม่แฟร์กับเขามาสองปีแล้ว

อย่างไรก็ดี แอคเคอร์แมนเองก็ไม่ใช่สปรินเตอร์เกรด B ครับ เขาเร็วสู้ตัวท็อปได้เลยและไม่ต้องพึ่งลีดเอาท์มากด้วย

 

คาเล็บ ยวน (Lotto Soudal)

Photo: RCS Sport

อีกคนที่ชนะไปแล้วสามครั้งในปีนี้จาก Tour of Turkey และ UAE Tour จะว่าไปยวนนี่ก็เป็นคนที่ดูดรอปๆ ไปบ้างเหมือนกันเทียบกับสปรินเตอร์คนอื่นๆ เขาเป็นสปรินเตอร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานในแกรนด์ทัวร์น้อยที่สุด ผมว่าเขายังเสียเปรียบทั้งวิวิอานีและกาวิเรียอยู่ในเรื่องความมั่นใจ แต่ถ้าเรื่องความเร็วล้วนๆ และจังหวะได้ ยวนก็ไม่น่าจะแพ้ใครเหมือนกัน

ทีมที่ Lotto ส่งมาก็เน้นตัวทางราบเกือบหมดเลย น่าจะชงมาให้ยวนโดยเฉพาะ อีกอย่างเขาเองก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย เพราะอย่าลืมว่าเขามาแทนที่อังเดร ไกรเปิลที่ทีมไม่ยอมต่อสัญญาและหล่นไปอยู่ทีมดิวิชันสอง ทั้งๆ ที่ไกรเปิลเป็นคนเดียวที่แบกความสำเร็จของทีม Lotto ไว้ตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

 

อานอด์ เดอมาร์ (Groupama-FDJ)

Photo: RCS Sport

อดีตแชมป์ Milan-San Remo ที่จริงๆ แล้วยังไม่เคยชนะสเตจใน Giro เลย แต่ผมว่าเขาเป็นสปรินเตอร์ที่แปลกดี มักจะมีจังหวะพลิกชนะในแบบที่หลายๆ คนคาดไม่ถึง อาจจะไม่ใช่คนที่เร็วที่สุดหรือมีขบวนลีดเอาท์ที่ดีที่สุด แต่ถ้าคนอื่นเผลอก็พร้อมเสียบเหมือนกัน

 

ซาชา โมโดโล (EF Education First)

ไม่รู้ยังมีใครจำคนนี้ได้บ้าง ซาช่า โมโดโล่ไม่ใช่สปรินเตอร์ที่หวือหวา หรือชนะบ่อย แต่อย่างน้อยๆ ก็เคยชนะสเตจใน Giro มาแล้วสองครั้งครับ ปีนี้ยังไม่มีผลงานอะไร ทั้งนี้ทีม EF ปีนี้มาแรงทีเดียว และดูทีมเวิร์กจะดีขึ้นเรื่อยๆ เลยขึ้นชื่อเขาไว้เป็นม้ามืดคนหนึ่งสำหรับสเตจทางราบครับ

 

จัดอันดับตัวเต็ง

GC

★★★★★ ดูโมลาน, โรจ์ลิค
★★★★ เยทส์, โลเปซ
★★★ แลนด้า, นิบาลี
★★ ซาคาริน, คาราพาซ, ซิวาคอฟ, ชาเวซ, โมเล็มมา

สปรินเตอร์

★★★★★ วิวิอานี, กาวิเรีย
★★★★ ยวน
★★ แอคเคอร์แมน, เดอมาร์, โมโดโล่

 

5 นักล่าสเตจ

ในแกรนด์ทัวร์ไม่ได้มีศึกระหว่างสปรินเตอร์และนักไต่เขาเพียงอย่างเดียว

ในบางสเตจกลุ่มเบรกอเวย์ก็มีโอกาสพลิกสถานการณ์เอาชนะตัวเต็งชื่อดังได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่สองและสาม ที่เส้นทางเป็นภูเขาสูงชัน โอกาสที่ทีม GC จะปล่อยให้เบรกอเวย์หนีหลุดไปชนะถ้าไม่มีตัวที่จะเป็นอันตรายต่ออันดับเวลารวมมีสูง และมีให้เห็นในทุกๆ สนามครับ

นี่คือโอกาสที่ทีมระดับรอง หรือนักปั่นโนเนมจะสร้างชื่อเสียง และนี่คือนักปั่น 5 คนที่ดูจะมีลุ้นกว่าคนอื่นๆ

Photo: RCS Sport

ดาวิเด้ ฟอร์โมโล (Bora-Hansgrohe) นักไต่เขารอบด้าน ปีนี้ฟอร์มดีทีเดียว ได้อันดับสองใน Liege-Bastogne-Liege และชนะสเตจแบบโซโล่คนเดียวใน Volta Catalunya แถมยังเคยโซโล่ได้แชมป์สเตจใน Giro ในปี 2015 ด้วย

Photo: RCS Sport

โทมัส เดอเกนท์ (Lotto Soudal) รู้จักกันในฐานะราชันย์แห่งนักเบรกอเวย์ ที่เรียกได้ว่าหนีทีไรเปโลตองก็มีหนาวทุกครั้ง

จริงๆ แล้วเขาเคยเป็นตัวเต็ง GC นะครับ เคยได้อันดับ 3 ใน Giro เมื่อปี 2012!? (แพ้ให้ไรเดอร์ เฮเชดาลและวาคิม โรดริเกรซ) แต่จากนั้นก็ผันตัวมาเป็นนักล่าสเตจ ซึ่งก็สำเร็จมากๆ เพราะมีชัยชนะในแกรนด์ทัวร์ทั้งสามรายการ ยิ่ง Lotto-Soudal จัดทีมมาให้คาเล็บ ยวนเป็นหลักแล้ว เดอ เกนท์คงได้อิสระให้ออกลุยได้เต็มที่

ยอน อิซาเกอร์เร (Astana) – คนนี้ถึงจะไม่ใช่ตัวเต็งแกรนด์ทัวร์แต่มีชัยชนะในสเตจเรซแบบ 1 สัปดาห์เยอะเป็นอันดับต้นๆ ปีนี้ได้แชมป์ทั้ง Volta Valenciana และ Tour of the Basque Country และมีแชมป์สเตจใน Paris-Nice เป็น all rounder ที่ไต่เขาดีและเล่นเกมโซโล่เก่งครับ ถ้าหลุดไปได้โอกาสได้แชมป์สเตจสูงแน่นอน

Photo: RCS Sport

แยน โพแลงค์ (UAE-Team Emirates) – อีกคนที่เคยชนะสเตจใน Giro ถึงสองครั้ง จากการหนีเข้ากลุ่มเบรกอเวย์ ผมว่าทีมน่าจะให้อิสระโพแลงค์ เพราะทีมไม่มีตัวเต็ง GC จากที่เป้าหมายหลักคือสนับสนุนกาวิเรียสปรินต์ ครึ่งหลังของการแข่งขันก็น่าจะส่งไม้ต่อให้โพแลงค์ครับ

จิอาโคโม่ นิซโซโล่ (Dimension Data) – ขวัญใจคนไทยสมัยอยู่ทีม Trek เพราะเคยขึ้นชื่อว่าเป็นที่สองตลอดกาล สถิติจากเว็บ Cyclingtips รายงานว่าใน Giro d’Italia เขาเคยติด Top 5 สเตจถึง 23 ครั้ง และใน 23 ครั้งนั้นได้ที่สอง (เฉียดแชมป์) ถึง 9 ครั้ง!?

จนป่านนี้ก็ยังไม่มีชัยชนะในแกรนด์ทัวร์ครับ (ถึงจะไม่ชนะสเตจ แต่เขาชนะเสื้อเจ้าความเร็วใน Giro ถึง 2 ครั้ง!) ความคงเส้นคงวาและความไม่ยอมแพ้นี่แหละที่ทำให้เขาเป็นคนที่น่าเชียร์

เอาจริงๆ ผมว่าสัปดาห์แรกนิซโซโล่ไม่มีลุ้นเท่าไร เพราะทีมอื่นมีสปรินเตอร์ที่เร็วกว่าเยอะ นิซโซโล่ควรหวังกับครึ่งหลังของการแข่งขัน หาทางเบรกอเวย์ออกไปในสเตจภูเขา แล้วไปชิงสปรินต์กับเพื่อนร่วมเบรกอเวย์คนอื่น เพราะเขาน่าจะเร็วกว่าทุกคนที่ไม่ใช่สปรินเตอร์ครับ

 

จบ!

พรีวิวนี้ยาวมาก แต่ก็คิดว่าจะครอบคลุมครบถ้วนทุกประเด็นครับ สังเกตผมว่าผมใช้รูปนักปั่นในชุดลำลองเสียเยอะ จำหน้าตัวเต็งที่ไม่ได้ใส่ชุดปั่นกันได้หรือเปล่า? ตอนผมนั่งเลือกรูปจากระบบของ RCS Sport นี่งงมาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร!  (DT เป็น Media Partner กับผู้จัดแข่ง Giro ครับ)

โดยรวมแล้วน่าจะเป็น Giro ที่สนุกมากๆ อีกปีหนึ่ง ผมว่าการจัดสเตจแบบผ่าครึ่ง ทางราบ ทางเขาแบบนี้ อาจจะทำให้คนดูเบื่อสักหน่อย โดยเฉพาะสัปดาห์แรกที่หลายคนคงรอดูแค่ 20 นาทีสุดท้าย

ผมเองกลับชอบปีที่ Giro เอาสเตจภูเขามาไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกมากกว่า เพราะได้เห็นแอคชันหลากหลายดี ได้เห็น GC หวดกันตั้งแต่สเตจ 4 อะไรแบบนี้ แต่ไม่ว่าจะยังไง Giro ก็ไม่เคยน่าเบื่อสักทีครับ หวังว่าปีนี้ก็จะสนุกอีกเช่นเคย

DT จะรายงานการแข่งขันพร้อมวิเคราะห์สเตจทุกวันเหมือนเดิม แต่ปีนี้ไม่มีบรรยายสดครับ ~

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!