เช็คฟอร์มทีม 2019: Bora-Hansgrohe ทีมที่ไม่ได้มีแค่ปีเตอร์ ซากาน

ผลงานปี 2018: ซากานเก็บแชมป์ใหญ่ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของทีม 

ถามจริงว่านอกจากปีเตอร์ ซากานแล้ว คุณนึกชื่อนักปั่นคนไหนในทีม Bora-Hansgrohe ออกบ้าง?

ทีมนี้เป็นทีมใหญ่ที่มีนักปั่นมากความสามารถหลายคนแต่ทุกคนอยู่ใต้เงาของอดีตแชมป์โลกสามสมัย

ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะซากานไม่ได้ดังแค่เพราะลีลากวนๆ ถูกใจแม่ยกและพ่อยกทั่วโลก แต่เขาเป็นคนที่การันตีผลงานให้ทีมได้แบบชัวร์ๆ ทุกฤดูกาล

ปี 2018 ก็เช่นกัน ซากานชนะไม่เยอะ ทว่าแต่ละชัยชนะเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เขาเปิดบัญชีด้วยแชมป์สเตจใน Tour Down Under เดือนมกราคม กุมภา-มีนา ลงแข่งหลายสนาม แต่ไปชนะอีกครั้งก็เดือนเมษาเลยในรายการที่สำคัญที่สุดของรายการ นั่นคือ Gent-Wevelgem (สมัยที่ 3) และ Paris-Roubaix

เท่ากับว่าตอนนี้ซากานเป็นแชมป์สนามคลาสสิครายการใหญ่ได้เกือบครบทุกรายการแล้ว มี Gent-Wevelgem 2013, 2016, 2018, E3 Harelbeke 2014, Kuurne-Brussels-Kuurne 2017, Tour of Flanders 2016 และ Paris-Roubaix 2018 โดยเฉพาะสองรายการหลังที่จัดว่าสำคัญที่สุดสำหรับนักปั่นสายคลาสสิคอย่างซากาน ในอนาคตจะชนะอีกก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก 

Paris-Roubaix 2018: หนีคู่มากับซิลวาน ดิลิเย่ (AG2R) แต่เมื่อต้องวัดกันหน้าเส้นชัยด้วยการสปรินต์ โอกาสที่ซากานจะแพ้แทบไม่มี

ปีแรกๆ ซากานต้องเก็บประสบการณ์ที่อาจจะขมขื่นอยู่บ้างเมื่อเขารู้ว่าตัวเองมีศักยภาพพอจะชนะได้ แต่แรงอย่างเดียวไม่พอที่จะชนะเกมคลาสสิค ต้องมีกึ๋นด้วย  

อย่างที่เราเห็นกัน ซากานแพ้เกมทีมอื่นอยู่หลายปี โดนทุบหน้าเส้นบ้าง โดนมาร์คจนขยับตัวไม่ได้ โดนบังคับให้ไล่คู่แข่ง ใน Roubaix 2019 เขาใช้ความแข็งแรงเบรคหนีคู่แข่งระยะไกลเกินที่ปกติตัวเต็งจะหนีกัน เรียกได้ว่าเป็นการแก้เกมที่เก๋าสุดๆ ก็ได้แต่หวังว่าปีต่อๆ ไปเขาจะทำแบบเดิมได้ เหมือนกับที่เฟเบียน แคนเชอลาราและทอม โบเน็นเคยทำไว้จนได้แชมป์รายการละหลายสมัย 

พ้นจากสนามคลาสสิคแล้ว ซากานมีชนะสเตจบ้างประปราย แต่ไปคว้าผลงานใหญ่จริงๆ ในรายการที่มีความหมายกับทีมที่สุด นั่นคือ Tour de France ในเดือนกรกฏาคม ที่เขาเก็บแชมป์ได้สามสเตจ พร้อมคว้าเสื้อผู้นำคะแนนรวมเป็นสมัยที่หก มากที่สุดในโลกเทียบเท่าเอริค ซาเบล อดีตสปรินเตอร์ชื่อดังจากเยอรมัน และนั่นคือชัยชนะสุดท้ายของปี ซากานไม่สามารถป้องกันเสื้อรุ้งแชมป์โลกได้จากเส้นทางภูเขาสูงชันที่ไม่เอื้ออำนวยให้นักปั่นร่างโตอย่างเขา

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผิดกับทีมอย่าง Movistar ที่ชัยชนะกว่าครึ่งของทีมมาจากอเลฮานโดร วาวเวอเด้เพียงคนเดียว ทีม Bora ไม่ได้พึ่งซากานเยอะอย่างที่เราคิดครับ จากยอดชัยชนะ 33 ครั้งที่ทีมทำได้ในปี 2018 มีแค่ 8 ชัยชนะที่มาจากซากาน (ถึงจะเป็นผลงาที่ดีที่สุดของทีมก็ตาม) 

Bora-Hansgrohe เก็บแชมป์มากเป็นที่ 4 เป็นรองแค่ Quickstep, Sky, และ Mitchelton-Scott เท่านั้น

ทีมจักรยานทีมนึงมีนักปั่นร่วม 30 คน แน่นอนว่าคนอื่นๆ ก็มีโอกาสนำทีมในสนามที่ซากานไม่ได้ลงเช่นกัน สำหรับ Bora ทีมนี้หนักไปทางสปรินเตอร์ (คล้ายๆ Quickstep) และมีตัว GC ที่กำลังพัฒนาฟอร์มอยู่บ้างแต่ยังไม่เด่น

คนแรกที่ผลงานเข้าตาก็คือแซม เบนเน็ต สปรินเตอร์ชาวไอริชวัย 28 ปีที่กำลังเข้าสู่ช่วงไพรม์ไทม์ ลบข้อสงสัยในความสามารถที่ผ่านมาได้ทั้งหมดเมื่อเขาเก็บแชมป์สามสเตจใน Giro d’Italia โชว์ทักษะการเลือกตำแหน่งสปรินต์ และความเด็ดขาดในจังหวะกระชากสุดท้าย และอีกสามสเตจใน Tour of Turkey จากคนที่ปกติทำได้แค่โพเดี้ยม ชัยชนะในแกรนด์ทัวร์ครั้งแรกของเบนเน็ตน่าจะสร้างความมั่นใจและโมเมนตั้มให้เขาได้มากขึ้นในฤดูกาล 2019 นี้

แซม เบนเน็ตเก็บแชมป์สเตจสุดท้ายใน Giro 2018 กลางกรุงโรม

นอกจากเบนเน็ตแล้ว ยังมีสปรินเตอร์ฟอร์มแรงอีกคน ปาสคาล แอคเคอร์แมน จากเยอรมันวัย 25 ปี ที่เก็บแชมป์ไป 9 ครั้ง! (ผมรู้ว่าคุณกำลังนึกถึงผ่าพิภพไททัน เขาไม่ใช่ญาติมิคาสะและกัปตันรีไว!) 

และไม่ใช่รายการเล็กๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น London-Surrey Classic, Tour of Poland, Tour of Romandie และเป็นแชมป์เสือหมอบเยอรมันคนล่าสุด น่าเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้ลงแกรนด์ทัวร์ แต่คิดว่าอีกไม่นานคงได้ขึ้นมาเป็นสปรินเตอร์แถวหน้าของทีม 

นี่คือปาสคาล แอคเคอร์แมน สปรินเตอร์ร่างใหญ่สไตล์เยอรมัน อึกคนที่น่าจะเริ่มผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ

ในฝั่งสเตจเรซและแกรนด์ทัวร์ ราฟาล ไมย์ก้าดูผ่อนลงไปเยอะจากที่ฟอร์มพีคๆ ช่วง 2014 / 2015 ปีนี้กลับไม่ชนะอะไรเลยสักรายการเดียว 

ท้ายสุด GC ที่ทำผลงานได้ไม่เลวสองคน คนแรกดาวิเด้ ฟอร์โมโล ว่าที่ GC ของทีมวัย 26 ปีจากอิตาลีที่ได้ Top 10 ใน Giro d’Italia และนิโคลาส โรชอดีตผู้ช่วยคอนทาดอร์และฟรูมที่ได้อันดับ 5 ใน Vuelta ซึ่งอาจจะถูกมองข้ามไปได้ง่ายๆ 

 

ปี 2019 จะเป็นยังไง? 

ดูแล้วแผนคงไม่ต่างจากเดิมมาก

อันดับแรก ปีเตอร์ ซากานยังมีสนามที่คาใจเป็นเสี้ยนตำปลายนิ้วอยู่ นั่นคือ Milan-San Remo ที่ได้ที่สองมาสองครั้ง แต่แพ้เกมสปรินต์ตัว-ตัวครั้งนึง (2013) และแพ้เกมครั้งนึง (2017)

ว่ากันแล้วรายการนี้ชนะยากเหมือนกัน เพราะเนินสุดท้ายไม่ยาวเกินไปที่คนอื่นจะไล่ซากานทัน (เหมือนที่โดนเควียทคอฟสกี้ประกบและปิดเกมในปี 2017) และเขาขาดสปีดปลายที่จะใช้พิฆาตเพียวสปรินเตอร์คนอื่นๆ แต่ถ้าจังหวะหนีเด็ดขาดและแรงกว่าเดิม ก็เป็นไปได้เหมือนกันที่จะชนะครับ 

Milan San Remo 2017: นอกจากจะหนีไม่รอดแล้ว
ยังโดนทุบหน้าเส้น…

ขณะเดียวกันโอกาสชนะของซากานจะสูงกว่าในรายการอย่าง Flanders และ Roubaix ซึ่งคงเป็นเป้าหมายหลักช่วงต้นปี จากนั้นก็ Tour de France ที่ถ้าเขาชนะเสื้อเขียวได้อีกปี เขาจะเป็นคนที่ชนะรางวัลนี้เยอะที่สุดในโลก สุดท้ายเป้าหมายหลักควรจะเป็นชิงแชมป์โลก Road Race ที่เมืองยอร์คในอังกฤษ ซึ่งเส้นทางดูจะเหมาะกับเขาเป็นพิเศษ 

ไม่น่าแปลกใจถ้าซากานจะทำได้ตามเป้าข้างบน (อยากให้เน้น San Remo เพราะเป็นรายการเดียวที่เขายังไม่ชนะ) เขาเป็นนักปั่นคุณภาพที่หวังพึ่งผลงานได้เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นแผนหลักของ Bora ที่สร้างทีมมาเพื่อซากานอยู่แล้ว

แต่คนอื่นๆ ล่ะ? เบนเน็ตน่าจะมีโอกาสได้นำทีมในแกรนด์ทัวร์ที่ไม่ใช่ Tour de France อาจจะแบ่ง Giro หรือ Vuelta กับแอคเคอร์แมน 

ทางฝั่งสเตจเรซ ทีมคบงอยากเห็นไมย์ก้าคืนฟอร์ม เขาจะลง Giro คู่กับฟอร์โมโล่ ส่วนใน Tour de France ซากานเป็นดาวหลัก แต่ทีมคงให้โอกาสเอมมานูเอล บุคแมน ดาวรุ่ง GC คนใหม่ของทีมที่ไต่เขาได้โอเคมากๆ ถ้าติด Top 10 ได้น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ

รวมๆ แล้ว Bora ทำผลงานได้ดีมากในปี 2018 จะทำให้ได้เท่ากับหรือดีกว่าเดิมในปี 2019 คงไม่ง่ายเท่าไร นักปั่นที่เริ่มมีผลงานเยอะขึ้นนอกจากซากานแล้วฟอร์มยังไม่คงเส้นคงวานัก 

 

นักปั่นที่น่าจับตามอง

ราฟาล ไมย์ก้าเป็นคนแรกที่น่าติดตามครับ ปีที่เขาแรงนี่แรงจริงๆ อย่าลืมว่านี่คือหนึ่งในนักไต่เขาที่เก่งที่สุดในโลก ด้วยผลงานแชมป์ KOM ใน Tour de France สองสมัยและแชมป์สเตจอีกหลายครั้ง การที่ทีมจับลง Giro คุณอาจจะมองว่าเป็นการลดตำแหน่งอย่างกลายๆ ก็ได้ จากที่ผลงานไม่ดีเท่าค่าตัวในสองปีที่ผ่านมา

คนเคยแรง: ราฟาล ไมย์ก้ากับอดีตผลงานแชมป์เจ้าภูเขา Tour de France 2014

แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นสนามที่ดีที่จะทำให้เขาสร้างความมั่นใจกลับมา เพราะแรงกดดันไม่เยอะเท่าใน Tour de France ครับ คาดหวังว่าจะชนะคงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อนิบาลี (Bahrain-Merida) และดูโมลาน (Sunweb) จ้องจะเอาแชมป์ปีนี้ แต่ติดโพเดี้ยมคงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับเอซชาวโปแลนด์คนนี้ อย่าลืมว่าไมย์ก้าอายุเพิ่ง 29 ปีเท่านั้น น้อยกว่าฟรูม 5 ปี ยังมีเวลาให้พีคในแกรนด์ทัวร์อีกหลายฤดูกาล

นอกจากนี้ก็หวังว่าซากานจะมีลีลากวนๆ ในสนามแข่งให้เราดูตลอดทุกรายการที่เราลงแข่งขัน

ในชั่วโมงที่ความสนใจในกีฬาจักรยานลดลงจนน่าใจหาย ทั้งระดับสมัครเล่นที่ขี่เพื่อความสนุก และคนที่ติดตามการแข่งขัน (อย่างคุณๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่) ซากานเป็นเสมือนเทวดามาโปรดที่ช่วยเรียกความสนใจให้คนนอกวงการ และทำให้คนในวงการไม่เบื่อด้วย นอกจากจะเก่งแล้วยังกวน นักปั่นแบบนี้ 50 ปีจะมีสักหนครับ //

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *