รีวิว Tour de France: สัปดาห์สุดท้ายใครมีลุ้นแชมป์?

เกิดอะไรขึ้นในสเตจ 15?

ก่อนจะเช็คฟอร์มกันว่าผู้ท้าชิงแชมป์ Tour de France ปีนี้เหลือใครที่น่าจะยังมีโอกาสอยู่บ้าง เราต้องย้อนไปดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสเตจ 15 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก่อน DT เขียนรีวิวสเตจไว้ในแฟนเพจของเราข้างล่างนี้ครับ

และดูวิดีโอไฮไลท์ได้ที่ข้างล่างนี้

 

สถานการณ์ตอนนี้

เวลารวมตัวเต็งตอนนี้เป็นยังไงบ้าง? สำหรับ 7 คนแรก:

  • Julian Alaphilippe
  • Geraint Thomas +1.35
  • Steven Kruijswijk +1.47
  • Thibaut Pinot +1.50
  • Egan Bernal +2.02
  • Emanuel Buchmann +2.14
  • Mikel Landa +4.54

สรุปคือ ตอนนี้เรามีผู้นำเวลารวมที่ไม่มีใครคิดว่าจะนำรายการได้จนจบ และตัวเต็งอีก 5 คนที่เวลารวมห่างกันในระยะ 39 วินาทีเท่านั้น และไม่มีใครดูฟอร์มดีกว่าใครเป็นพิเศษ นี่เป็น Tour de France ที่สูสีที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว

 

6 ผู้ท้าชิง

 

 

1. จูเลียน อลาฟิลลิป (Quickstep)

อลาฟิลลิปเผยให้เห็นจุดอ่อนเป็นครั้งแรกในสเตจ 15 ในช่วงไม่กี่กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัยบนยอดเขา ที่เจ้าตัวไม่สามารถตามการโจมตีของทิบอต์ พินอท์ (Groupama-FDJ) แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังรักษาเสื้อเหลืองได้ และมีเวลารวมนำห่างคู่แข่งที่เวลาใกล้เขาที่สุด (เกอเรนท์ โทมัส) เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมนำแค่ 1:12 นาที เพิ่มเป็น 1:35 นาที

การที่อลาฟิลลิปไม่มีลูกทีมคอยช่วยปิดการโจมตีของทีมอื่น ดูจะเป็นจุดอ่อนสำคัญ ซึ่งน่าจะลำบากขึ้นอีกพอสมควรในสัปดาห์สุดท้ายที่ภูเขาแอลป์ที่นักปั่นต้องเจอทั้งยาวและสูงกว่าในสัปดาห์ที่สอง ทั้งนี้ถึงเขาจะตามนักไต่เขาที่ฟอร์มดีที่สุดในรายการตอนนี้ไม่ได้ แต่ก็ยังดูไต่ได้ดีเท่าๆ กับตัวเต็งบางคนเช่นเกอเรนท์ โทมัส (Ineos) และสตีเฟน เคราซ์เวก (Jumbo-Visma) ถึงเขาจะให้สัมภาษณ์ว่าก็ยังไม่คิดว่าจะได้แชมป์อยู่ดี แต่ถ้ายังเสียเวลาแค่สเตจละไม่กี่สิบวินาทีก็ยังมีโอกาสชนะอยู่?

จริงๆ แล้วอลาฟิลลิปไม่จำเป็นต้องโจมตีใครเลยก็ได้ แค่ตามให้ไม่หลุดก็พอ หรืออย่างน้อยหลุดไม่เยอะ อาจจะเป็นโจทย์ที่ยากหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยนำรายการแกรนด์ทัวร์มาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับรูปเกมต่อจากนี้แล้วว่าทีมอื่นจะกระชากโจมตีบ่อยแค่ไหน ถ้าบ่อยและหนักเหมือนในสเตจ 15 ก็คงป้องกันเสื้อได้ยากเหมือนกัน

 

2. ทิบอต์ พินอท์ (Groupama-FDJ) 

นักไต่เขาที่ฟอร์มดีที่สุดในรายการตอนนี้ จำได้หรือเปล่าว่าพินอท์เองเสียเวลาให้คู่แข่ง  1:40 นาทีในสเตจที่เขาหลุดกลุ่มตอนทีม quickstep และ Ineos ทำความเร็วเร่งจนกลุ่มขาดเพราะกระแสลมข้างแรง แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาทำเวลาไล่คืนหลายๆ คนวันนั้นที่ไม่หลุดกลุ่มมาได้ 1:39 นาที สรุปคือ ถ้าเขาไม่หลุดกลุ่มวันนั้น ตอนนี้เวลารวมเขาจะอยู่ห่างอลาฟิลลิปแค่ประมาณ 2 วินาทีเท่านั้น

พินอท์ให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายตอนนี้คือกลับขึ้นไปอันดับโพเดียมให้ได้ ดูจากอันดับเวลารวมของเขากับฟอร์มแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้สูงมาก จากเวลารวมของเขาตอนนี้ที่ตามเคราซ์เวก และโทมัสแค่ 20 กว่าวินาที เขาอาจจะเริ่มจากการชิงเวลาสองคนนี้ก่อนแล้วถ้าขึ้นมาอันดับสองได้ค่อยไล่กระชากอลาฟิลลิป (ที่ดูจะไม่ชอบการโจมตีซ้ำๆ บนเขาเท่าไร) จนแรงตกไปเอง

พินอท์ที่ผ่านมามีประวัติการแข่งที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางวันโชว์ฟอร์มไต่เขาบ้าระห่ำจนได้แชมป์สเตจหรือแย่งเวลาคนอื่นได้เยอะ (เหมือนสเตจ 15) แต่ก็มักมีวันที่ฟอร์มไม่ดี หรือป่วย หรือล้ม จนเสียเวลาที่ทำได้ไปหมด ถ้าเขาเซฟเวลานิ่งๆ และไล่ชิงไปทีละนิดได้ โอกาสโพเดียมหรือแชมป์ก็ยังมีสูง

 

3+4. เกอเรนท์ โทมัส และอีแกน เบอร์นาล (Ineos) 

โทมัสยังคงเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งในรายการนี้ ถ้าเรามองผ่านอลาฟิลลิปไป เวลารวมเขาดีที่สุด แต่ระยะห่างยังไม่มากพอที่จะอยู่ในระยะสบายใจว่าจะได้แชมป์แน่นอน โจทย์ของเขาง่ายกว่าคนอื่น คือต้องแค่รอให้อลาฟิลลิปร่วง และตามคนอื่นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องโจมตีก็สามารถได้แชมป์รายการได้

แต่การมีอยู่ของอีแกน เบอร์นาล อาจจะทำให้เกมของโทมัสซับซ้อนขึ้นพอสมควร

โทมัสให้สัมภาษณ์ว่าเขาให้เบอร์นาลแข่งเพื่อชัยชนะของตัวเอง แต่เบอร์นาลก็บอกว่าถ้าโทมัสต้องการเขาก็พร้อมจะอยู่ช่วย การตัดสินใจนี้อาจจะไม่ดีต่อทีม ทีม Ineos เองไม่ได้สนใจว่าใครจะชนะ แต่ขอให้เป็นคนจากในทีมก็พอ

จากที่ทั้งคู่เวลารวมค่อนข้างดีมาก ทีมต้องตัดสินใจว่าจะเดินเกมยังไง? ถ้ามีคู่แข่งโจมตี คนใดคนหนึ่งออกตาม ปกติแล้วอีกคนก็จะไม่ตาม เพราะมันจะเป็นการพาคู่แข่งไปหาเพื่อนร่วมทีมตัวเองแบบสบายๆ ไม่เปลืองแรง เพราะมีคนนำให้และช่วยปิดการกระชากให้ (ซึ่งใช้แรงน้อยกว่าออกเร่งตามเอง) ถ้า Ineos หนีไปได้หนึ่งคนก็ถือว่าแผนสำเร็จ แต่ถ้าคนที่รอเป็นโทมัส เขาจะคิดเพื่อทีมหรือเพื่อตัวเอง? แต่ถ้าเบอร์นาลยิงหนีไม่หลุดแล้วร่วงไปเลย โทมัสก็จะไม่เหลือคนช่วยในช่วงสุดท้ายของสเตจอีก

ไม่มีคำตอบง่ายๆ สำหรับทีม Ineos เวลาที่ต้องบาลานซ์การใช้งานตัวเต็งทั้งคู่ แต่การมีตัวเต็งสองคนก็ยังได้เปรียบทีมอื่นที่มีคนเดียวครับ เพราะอย่างน้อยโอกาสชนะก็ x2 ด้วยเช่นกัน

 

5. สตีเฟน เคราซ์เวก (Jumbo-Visma)

ทีม Jumbo-Visma เป็นทีมที่แกร่งที่สุดบนสเตจภูเขาในปีนี้ ด้วยตัวช่วยฝีเท้าดีอย่าง ลอเรนส์ เดอ พลูส์และจอร์จ เบนเน็ต เคราซ์เวกเหลือเพื่อนร่วมทีมเยอะที่สุดในทั้งสเตจ 14 และ 15 ที่ผ่านมาในช่วงใกล้เส้นชัยบนยอดเขา และตัวเขาเองก็ยังไม่พลาดอะไรเลยในรายการนี้ ทั้งในสเตจลมข้าง และในสเตจ Time trial ก็ทำเวลาได้ไม่เลว จากนี้ไปถ้าเกาะคู่แข่งคนอื่นให้ไม่หลุด แล้วหาโอกาสโจมตีชิงเวลามาทีละน้อย แบบเดียวกับพินอต์ ก็น่าจะมีโอกาสชนะหรือโพเดียม

 

6. เอมมานูเอล บุคแมน (Bora-Hansgrohe) 

นานเท่าไรแล้วที่เราไม่มีตัวเต็ง GC ชาวเยอรมัน? ปกติมีแต่อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เอมมานูเอล บุคแมน เป็นเด็กปั้นของทีม Bora ที่อยู่กับทีมานานหลายปีแล้ว แต่เริ่มได้มีโอกาสโชว์ฝีเท้าก็สองปีที่ผ่านมานี้เอง แถมในสเตจ 15 เขายังดูฟอร์มไต่เขาดีกว่าเคราซ์เวก ออกตามพินอท์กับเบอร์นาลได้ เป็นสัญญาณที่ดีครับ อันดับโพเดียมจัดว่ามีลุ้น แต่ก็ต้องรับมือกับเกมของ FDJ ที่ชอบกระชากให้ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าได้โพเดียมก็จะเป็นแกรนด์ทัวร์ที่ประสบความสำเร็จมาก เพราะทีมเองก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะทำได้ดีขนาดนี้ในสนามนี้

นั่นคือนักปั่นหกคนที่ DT มีลุ้นแชมป์ที่สุด  มิเคล แลนด้า (Movistar) ก็มีโอกาสเหมือนกัน แต่เวลารวมเขาหลุดเยอะไปนิดนึง แต่เพราะเวลาหลุดแบบนี้กลุ่ม GC อาจจะไม่รีบตามเขามากนักในสเตจอื่นๆ ถ้าแลนด้าโจมตีบ่อยๆ โดยให้ทีม Movistar ที่ก็ดูพร้อมเล่นเกมโจมตีช่วยเหมือนในสเตจ 15 ที่ส่งคนออกไปรอก่อนก็น่าจะเลื่อนอันดับขึ้นมาได้พอสมควร แต่ก็ต้องทำงานเยอะกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ นั่นหละครับ

 

King of the mountainsทิม เวลเลนส์ (Lotto-Soudal)

พูดถึงฝั่ง GC แล้วก็ต้องพูดถึงผู้นำในประเภทอื่นๆ ด้วย สำหรับเสื้อ KOM ลายจุด ทิม เวลเลนส์ยังคงนำอยู่ นำอันดับสอง 64 คะแนน เขาต้องชิงเบรกอเวย์ทุกวันเพื่อไล่เก็บแต้ม ไม่งั้นอาจจะเสียเสื้อให้พวกตัว GC ที่มีโอกาสชนะบนยอดเขา (คะแนนจะ x2) อย่างในสเตจ 14 ที่พินอท์ชนะ ก็ได้ไปตั้ง 50 คะแนนในสเตจเดียว

 

Point Classification – ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) 

ยังมีคะแนนนำค่อนข้างสบาย (ดูจากตารางคะแนนข้างล่าง) คู่แข่งคนอื่นๆ ดูไม่ได้ตั้งใจจะชิงกับซากานเท่าไร เขานำอันดับสอง 100 แต้ม สปรินเตอร์อย่างวิวิอานี (Quickstep) หรือคาเล็บ ยวน (Lotto-Soudal) ถ้าอยากชนะ ต้องได้แชมป์สเตจทางราบที่เหลือสองสเตจทั้งสองครั้ง เพื่อให้ได้ 100 คะแนน (สเตจละ 50 คะแนน) แต่นั่นก็ทำได้แค่ทำคะแนนให้ “เท่าซากาน” ซากานเองก็น่าจะเกาะ top 5 ได้สบายๆ ในสเตจพวกนี้ ไหนจะคะแนนที่จุดสปรินต์กลางสเตจอีกที่เขาเก็บได้นำพวกสปรินเตอร์คนอื่นเป็นปกติอยู่แล้ว

เพราะงั้นเสื้อที่น่าจะล็อกแล้วก็คือเสื้อเขียวของซากานนี่เอง นอกจากจะล้มเจ็บแข่งไม่จบครับ

 

โปรแกรมสัปดาห์สุดท้าย

เราเหลือการแข่งขันอีก 6 วัน วันอังคารเป็นสเตจ 16 ทางราบ วันพุธเป็นสเตจ 17 ขึ้นภูเขาแต่ดูจะเข้าเกมเบรกอเวย์มากกว่า GC ไม่น่ารบกัน จากนั้นสเตจ 18-19-20 เป็นคอมโบ สเตจภูเขาชันสามสเตจรวด แล้วสเตจ 21 สุดท้ายเป็นทางราบ นี่คือโปรไฟล์ของสเตจ 18-19-20

รวมๆ คือยากทุกวัน และแต่ละวันในเทือกเขาแอลป์นี้เราจะอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลยิ่งกว่าสัปดาห์ที่สองในเทือกเขาพีรานีส เขาแต่ละลูกสูงแตะหรือเกิน 2,000 เมตรเกือบทั้งหมด อย่างสเตจ 19 เราผ่าน Col de’l Iseran หรือจุดที่สูงที่สุดในยุโรป เหนือระดับน้ำทะเล 2,770 เมตร อากาศจะเบาบาง มีอ็อกซิเจนให้ใช้น้อย โจมตีก็จะยากกว่าเดิมด้วย นักปั่นหลายคน perform ได้ไม่ดีในทางเขาสูงๆ แบบนี้ แต่ก็มีหลายคนที่ถนัดแข่งในที่ๆ อากาศเบาบางเช่นกัน

โดยรวมแล้วทำนายยากว่าใครจะชนะ นานมากแล้วที่เราไม่ได้เห็นตัวเต็งเวลาสูสีกันขนาดนี้ครับ สัปดาห์สุดท้ายสนุกแน่นอนอย่าลืมติดตามกัน

ถ่ายทอดสดทุกวัน เช็คลิงก์ที่ duckingtiger.com/live เวลาตั้งแต่ 17:30-22:00

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!