พาไปดูคนญี่ปุ่นจัดงานแข่งจักรยาน ใน Tour of Japan 2019

วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้เก็บบรรยากาศเบื้องหลังของ Tour of Japan การแข่งจักรยานถนนแบบสเตจเรซที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่จะได้ชมงานแข่งใหญ่ขนาดนี้ในญี่ปุ่น แถมยังเป็นงานที่จัดผ่านเมืองมิโนะ (สเตจ 4) จังหวัดกิฟุ ที่ผมอาศัยอยู่ในตอนนี้อีกด้วย

ความแตกต่างของ Tour of Japan (ToJ) กับงานแข่งจักรยานแบบสเตจเรซในยุโรปคือ แทนที่จะเป็นการแข่งแบบ เริ่มที่เมือง A จบที่เมือง B แล้ววันต่อมาก็เริ่มที่เมือง B ไปจบที่เมือง C แต่ ToJ ใช้ลักษณะการแข่งแบบเปลี่ยนเมืองทุกวันเช่นกัน แต่ว่า แต่ละวันก็จะแข่งที่เมืองนั้น เป็นลักษณะการแข่งแบบวนไปมาในเมือง คล้ายกับแข่ง Criterium ขนาดใหญ่ จบสนามนั้นก็ค่อยเดินทางไปพักรอแข่งเมืองต่อไป ไม่ต้องปั่นข้ามเมืองไปให้เสียเวลา แข่งกันทั้งหมด 8 สเตจ 8 เมือง เริ่มจากตะวันตกของญี่ปุ่น ที่เมืองซะไคในโอซาก้า (บ้านเกิดของชิมาโน่) แล้วไปจบที่โตเกียว

แผนที่ Tour of Japan 2019

และด้วยความที่เป็นการแข่งแบบที่ใช้เมืองๆ หนึ่งเป็นสนามแข่งไปเลย ความร่วมมือของเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ภาพบรรยากาศที่เราจะได้เห็นกันข้างล่างนี้ก็จะเห็นว่มีความร่วมมือจากผู้คนทั้งเมือง คนธรรมดาทั้งแม่บ้าน พ่อค้าแม่ค้า เด็กนักเรียนก็ออกมาเชียร์ลแะชมการแข่งขัน เพราะจัดว่าเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของเมืองนี้

ตัวเมืองมิโนะ ก็เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดกิฟุ ที่จริงๆ แล้ว ถ้าเทียบตามจำนวนประชากร ในแง่ของการบริหารจัดการ เมืองนี้ก็ควรจะถูกควบรวมไปกับเมืองข้างๆ แต่ยังดีที่ตัวเมืองก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเกินร้อยปี ในฐานะของแหล่งผลิตกระดาษสาญี่ปุ่นชื่อดัง ชนิดที่ได้ชื่อว่ากระดาษสามิโนะตามชื่อเมือง

แต่เดิม ย่านการค้าของเมือง หรือ มิโนะมะจิ ก็เป็นแหล่งค้าขายกระดาษสาที่ขึ้นชื่อ ชาวเมืองและพ่อค้าต่างการสัญจรและขนถ่ายสินค้ากันทางแม่น้ำนาการะกาวะ แม่น้ำสายสำคัญของเมือง การดึงเอา ToJ มาแข่งในเมือง ก็เป็นทางหนึ่งในการช่วยให้เมืองกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง ทำให้เราได้เห็นความพยายามและความสนใจของชาวเมืองที่มีต่อ Tour of Japan สเตจที่ 4 ที่เมืองมิโนะแห่งนี้เป็นอย่างมาก

ลองมาดูบรรยากาศงานและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสเตจนี้กันครับ

บรรยากาศหน้าจุดสตาร์ท กับป้าย Sign On สำหรับนักแข่งทั้ง 96 คน จาก 16 ทีม ซึ่งเป็นทีมคอนติเนนทัลญี่ปุ่น 8 ทีม ทีมชาติญี่ปุ่น 1 ทีม และทีมรับเชิญจากต่างประเทศ 7 ทีม
บรรยากาศที่จุดสตาร์ตที่ มิโนะมะจิ ย่านการค้าเก่าของเมืองก็คึกคักดี เพราะเป็นถนนแคบๆ ทำให้บรรยากาศยิ่งดูสนุกสนานกว่าปกติ นอกจากการแสดงเพลงดุริยางค์ของนักเรียนในท้องถิ่น ก็ยังมีการหามเกี้ยวฮานะมิโคชิ (เกี้ยวดอกไม้) ซึ่งเป็นเทศการประจำปีของเมือง ปกติจัดกันในเดือนเมษายน แต่ก็นำมาแสดงในงานนี้เป็นพิเศษ มองไปด้านหลังจะเห็นแนวหลังคาตั้งเป็นแถวแบ่งร้านค้าแต่ละร้าน เป็นจุดเด่นของย่านนี้ เรียกว่า อุดะสึ ที่แต่เดิมมีเป้าหมายเอาไว้ใช้กันไฟไม่ให้ลามติดต่อกัน แต่ต่อมากลายเป็นของแสดงความร่ำรวย บ้านไหนแต่งอุดะสึได้สวยกว่า เด่นกว่า ก็ได้ข่มบ้านอื่นไป
สตาฟของทีม Aisan Racing Team ก็ปรับแต่งรถเพื่อเตรียมงานแข่ง
Hernán Aguirre (ขวา โคลอมเบีย) นักแข่งทีม Interpro Cycling Academy ของญี่ปุ่น นักพักรอแข่งกับ Pablo Torres (สเปน)
Benjamin Hill (ออสเตรเลีย) เอซของทีม Ljubljana Gusto Santic จากสโลเวเนีย ผู้นำเวลารวมในชุดสีเขียว นั่งพักผ่อนรอแข่งกับเพื่อนร่วมทีม
วางแผนกันก่อนแข่ง
Muto Tetsuhiro ผู้ว่าเมืองมิโนะ ใส่เสื้อ “ร่วมใจทั่วประเทศ สร้างสีสันให้เมืองด้วยจักรยาน” ขึ้นกล่าวเปิดงาน
เพราะ Tour of Japan มีระบบ เจ้าบ้าน ในแต่ละสเตจ ทำให้ในสเตจนี้ Aisan Racing Team เจ้าบ้านสนามนี้ ได้เตรียมสตาร์ตที่แถวหน้า คู่กับผู้นำในหมวดต่างๆ
นาทีก่อนเริ่มปล่อยตัว
จังหวะโรลลิงตอนออกสตาร์ท มีทีมผู้จัดงานปั่นคุมความเร็วเบาๆ ให้พ้นต้วเมืองก่อนที่จะเริ่มแข่งขันกัน

ด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก พอมีอีเวนต์ใหญ่ๆ แบบนี้ ชาวเมืองทุกรุ่นอายุต่างก็ให้ความสนใจ ระหว่างเส้นทางแข่งเราจะพบชาวบ้านมายืนรอดูกันเต็มไปหมด บางบริษัทที่ตั้งอยู่ริมทาง ถึงกับหยุดพักงานออกมาตั้งแถวเชียร์กัน
เส้นทางระหว่างสเตจ ระหว่างฤดูใบไม้ผลิที่พืชพรรณเริ่มกลับมาสวยงามเขียวขจีอีกครั้งหลังฤดูหนาว
ที่เส้นชัยที่ Washi no Sato ที่จัดแสดงงานจากกระดาษสา ก็มีการจัดอีเวนต์ ตั้งทีวีเพื่อให้คนที่มาชมได้ลุ้นตลอดการแข่ง และชาวเมืองก็ค่อยๆ ทยอยกันมาดู
นอกจากการแข่งขัน ก็มีการจัดแสดงสินค้าของสปอนเซอร์ และขายอาหารต่างๆ รวมถึงการแจกของดีของเมืองให้ได้กินฟรีๆ อีกด้วย (เห็นแถวก็คงรู้)
ไม่ใช่แค่วงการจักรยาน แต่ทั้งจังหวัดก็ร่วมใจกัน ทีมฟุตบอล Gifu FC ก็ส่งมาสคอตของทีมและเชียร์เกิร์ลมาร่วมสร้างสีสันด้วย
บูทของ NTNบริษัทผลิตตลับลูกปืน สปอนเซอร์สำคัญของการแข่ง ก็มีกิจกรรมให้เด็กประถมได้เข้าชมและเล่น สำหรับเด็กประถม วันนี้ก็กลายเป็นวันทำกิจกรรมนอกโรงเรียนไป
The Devil เวอร์ชั่นญี่ปุ่น เป็น ซะ เดบิหรุ
บูทรายงานสดการแข่ง ที่อาศัยศาลาพักตรงหน้า Washi no Sato เป็นที่ตั้งบูท การแข่งครั้งนี้มีการถ่ายทอดผ่านช่องดาวเทียมและในแอพชมกีฬาฟรี
เด็กประถมมารอชมที่เส้นชัยอย่างตื่นเต้น
หนึ่งในโรงเรียนอนุบาลในจังหวัดก็เตรียมพร้อมเชียร์อยากดี ทำป้าย “สู้ๆ” พร้อมธงชาติของทุกทีมที่เข้าแข่งขันและเสื้อ Allez มาตั้งแถวรอหน้าสหกรณ์ในท้องที่ที่เป็นจุดชมอีกจุด
น้องๆ ช่วยตีกลองเชียร์ด้วย
น้องๆ ได้ออกมาใกล้ชิดข้างสนามแข่ง
บรรยากาศจากในรถสื่อมวลชน ที่ขับไล่ตามเปโลตองได้อย่างเมามัน แม้ถนนจะแคบแค่ไหน เล่นเอาเมารถได้ง่ายๆ
บรรยกาศหน้าเส้นชัยในรอบสุดท้ายขณะที่นักปั่นกำลังจะมาถึง
จังหวะสปรินต์หน้าเส้นมีเกี่ยวกันล้ม
คนเจ็บคือ Hernán Aguirre ทีม Interpro ที่เป็นนักไต่เขา แต่กลับอยู่ในกลุ่มสปรินต์แย่งแชมป์สเตจ โชคร้าย หลบ Cima Imerio ทีม Nippo Vini Fantini Faizane ที่เสียหลักล้มหลังเข้าเส้นชัยไม่ทัน ทำให้เขาต้องเจ็บไปด้วย
หลังจากเช็คอาการเพื่อน Pablo Torres ก็รีบมาเช็คสภาพรถด้วย เพราะทีม Continetal ก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังขนาดเปลี่ยนรถได้เรื่อยๆ
จักรยานเป็นกีฬาที่แฟนๆ สามารถเข้าถึงตัวนักแข่งได้ง่ายมาก ทำให้มีแฟนคลับที่ตามไปเชียร์ทุกสนามไม่น้อย
Benjamin Hill ทีม Ljubljana Gusto Santic สามารถรักษาเสื้อผู้นำเวลารวมได้ด้วยการทำงานที่ยอดเยี่ยมของเพื่อนร่วมทีม
Kuboki Kazushige จาก Team Bridgestone Cycling ก็สามารถรักษาเสื้อผู้นำแต้มสปรินเตอร์ไว้ได้เช่นกัน
ทาคุมิ เบปปุ ผู้จัดการทีม Aisan Racing และเป็นพี่ชายของฟูมิยูกิ เบปปุ นักปั่นชาวญี่ปุ่นที่สังกัดทีม Trek-Segafredo
อุดะสึคุง มาสคอตของเมืองมิโนะ ทักทายกับผู้มีอาการดาวน์ ซึ่งศูนย์ดูแลดาวน์ในท้องถิ่นก็พาผู้มีอาการดาวน์มาร่วมชมการแข่งขันที่ Washi no Sato ด้วย
Raymond Kreder นักปั่นดัตช์จาก Team UKYO ที่แต่ก่อนเคยสังกัดทีม Garmin-Sharp คว้าแชมป์สเตจไป และขึ้นรับของรางวัลจากผู้ว่า เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของงานคือ มีการมอบของดังของแต่ละท้องถิ่นให้กับผู้ชนะ สเตจนี้ก็เป็นโคมไฟ และพัดที่ทำจากกระดาษสามิโนะ และถ้าผมได้ยินไม่ผิด ก็ได้เนื้อวัวฮิดะ วัวดังของจังหวัดกิฟุอีกด้วย (จะไปทำกินตอนไหน?) และไม่มีโพเดียมเกิร์ล แต่เขาให้เด็กประถมในเมืองขึ้นมาเชิญรางวัล
Onodera Rei นักแข่งจากทีม Utsunomiya Blitzen โพสท่าเลียนแบบสแตนด์ Killer Queen จากเรื่อง โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ ที่มาคือเขาโพสท่าแปลกๆ บนปกนิตยสาร Bicycle Club เมื่อปลายปีก่อน จนกลายมาเป็นกิมมิคประจำตัวเขา แต่เขาก็บอกแฟนๆ ว่า ไม่เคยอ่านโจโจ้มาก่อน จนถูกคนทักเรื่องท่าโพสเลยไปหามาอ่านบ้าง (อ้างอิง https://twitter.com/maverick_rei/status/1042276370292695040)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานแข่งครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้ คือความร่วมมือจากอาสาสมัครกว่า 600 คนในท้องถิ่น ช่วยงานกันอย่างเต็มที่ ทำให้งานออกมาเรียบร้อย แข่งเสร็จก็แทบไม่เห็นขยะ เช่นเดียวกับทีมต่างๆ ก็ช่วยกันรักษาความสะอาดเรียบร้อย ขนาดที่มีถุงขยะเตรียมไว้ในรถทีมเสมอ เพราะมันไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นการสร้างความสนุกสนาน และสีสันให้กับเมืองต่างๆ ตลอดการแข่ง ทำให้การรักษาเมืองให้สวยงามเหมือนเดิม ก็เป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย
จบงาน ก็ถึงเวลาพักทีมงานบ้าน ทีมงาน Mavic ก็หาที่เงียบๆ แบ่งข้าวกล่องกินกัน
ถึงจะเป็นสนามแข่งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แต่ก็ไมไ่ด้สเกลเดียวกับสนามแข่งในยุโรปที่แต่ละทีมมีงบซื้อรถบัสขนาดใหญ่ หรือมีรถ mechanic bus ที่ใช้ขนจักรยานเป็นสิบๆ คัน
Filippo Zaccanti ทีม Nippo Vini Fantini Faizane ก็รักษาเสื้อเจ้าภูเขาไว้ได้เช่นกัน และแม้ทีม Nippo Vini Fantini Faizane จะเป็นทีมอิตาเลียน แต่สปอนเซอร์หลักก็เป็นบริษัทญี่ปุ่น ทำให้มีความสัมพันธ์กับชาวญี่ปุ่นมาก และ Filippo ก็น่าจะกำลังทักทายกัยผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท Nippo อยู่

By ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

นัท - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ชอบปั่นจักรยาน ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มีผลงานหนังสือกับสำนักพิมพ์แซลมอนมา 3 เล่มแล้วจ้า