เช็คทีม 2020: Deceuninck-QuickStep ที่ถึงจะโละเอซออกกี่คนก็ยังชนะอยู่ดี

ภาพรวม: ถ้าจะมีทีมไหนพูดได้เต็มปากว่าเป็นเบอร์หนึ่งของวงการจริงๆ ก็คงไม่พ้น Deceuninck-QuickStep ทีมที่มียอดชัยชนะเยอะที่สุดหลายฤดูกาลติดต่อกันมานานแล้ว ใช่ Quickstep อาจจะไม่ได้เป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์ เพราะทีมไม่เน้นปั้นนักปั่น GC แต่ถ้าไม่นับเรื่องนี้แล้ว Quickstep เองมีนักปั่นที่สามารถชนะได้ในรายการทุกรูปแบบ

ในฤดูกาล 2020 ทีมก็ยังคงดำเนินงานในธีมเดิมคือ ไม่ได้แคร์ที่จะ “เลี้ยง” นักปั่นแบบซุปเปอร์สตาร์ ถ้าเอซจะออกก็ไม่รั้ง เพราะทีมนี้มีแมวมองนักปั่นรุ่นใหม่ที่เก่งมาก และมีสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะสร้างแชมป์เปียนคนใหม่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าปั้นเด็กเก่งและได้ผล โดยรวมแล้วทีมเสียเอซไปสามคน แต่เปลี่ยนใหม่ด้วยเด็กใหม่ 8 คน ใน 8 คนนี้มี 5 คนที่อายุยังไม่ถึง 23 ปีด้วยซ้ำ ลองมาดูกันว่าใครเข้า ใครออก บ้างและมีผลยังไง

นักปั่นใหม่: Bert Van Lerberghe (Cofidis), Stijn Steels (Roompot-Charles), Andrea Bagioli (Colpack), Mattia Cattaneo (Androni Giocattoli-Sidermec), Davide Ballerini (Astana), Joao Almeida (Hagens Berman Axeon), Mauri Vansevenant (EFC-L&R-Vulsteke), Jannik Steimle (Vorarlberg), Ian Garrison (Hagens Berman Axeon)

นักปั่นที่ออกจากทีม: Elia Viviani (Cofidis), Fabio Sabatini (Cofidis), Enric Mas (Movistar), Davide Martinelli (Astana), Maximiliano Richeze (UAE Team Emirates), Philippe Gilbert (Lotto Soudal), Eros Capecchi (Bahrain-Merida)

ต่อสัญญา: Julian Alaphilippe (2021), Kasper Asgreen (2021), Zdenek Štybar (2021), Michael Mørkøv (2021), James Knox (2021), Iljo Keisse (2020), Pieter Serry (2021), Remco Evenepoel (2023)

อันดับแรก ทีมเสียสปรินเตอร์ที่ผลงานดีมากอย่างเอเลีย วิวิอานีให้กับทีม Cofidis ซึ่งเก็บชัยชนะถึง 11 ครั้งให้ทีมในฤดูกาลนี้ เราเดาว่า Cofidis คงให้ค่าตัวเยอะกว่า Quickstep มากพอสมควร เพราะรายนั้นเงินถึงจริงและขึ้นมาเป็นทีมระดับ WorldTour ด้วยก็คงอยากจะจ้างนักปั่นระดับดาวดังเพื่อส่งสัญญาณให้ทุกคนรู้สักหน่อยว่าไม่ได้มาเล่นๆ

จริงๆ แล้วธีมนี้เป็นเรื่องปกติของ Quickstep ครับ เพราะไม่ใช่ทีมที่รวยที่สุด แต่นักปั่นหลายคนยอมลดค่าตัวมาอยู่กับทีม เพราะทีมมีบรรยากาศของผู้ชนะอยู่เต็มไปหมด คอนเซปต์ The Wolfpack หรือการล่าชัยชนะกันราวกับเป็นฝูงหมาป่านั้นฟังดูเผินๆ เหมือนกิมมิค แต่เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของทีมที่มีผลต่อจิตวิทยานักปั่นที่ช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างสามัคคี และได้ต้องพึ่งเอซเพียงคนเดียว

อย่างไรก็ดี วิวิอานีเองก็คงรู้ว่าในช่วงเวลาที่สปรินเตอร์เก่งๆ มีเต็มเปโลตอง โอกาสที่เขาจะคว้าเงินก้อนนั้นก็ไม่ได้มีเยอะ ด้วยอายุที่เข้าใกล้ 30 ปีแล้ว วิวิอานีคงมีเวลาแข่งในช่วงพีคฟอร์มอีกไม่นาน ที่สำคัญ วิวิอานีไม่ได้ไปคนเดียว แต่เอาลีดเอาท์มือดีอย่าง ฟาบิโอ ซาบาทินีตามไปด้วย ในขณะที่แมกซ์ ริเคเซ่ อีกลีดเอาท์ตัวเทพก็ย้ายไปอยู่กับ UAE เพื่อไปช่วยเฟอร์นันโด กาวิเรีย (ฝั่ง UAE ก็คงให้ข้อเสนอดีไม่น้อย)

ทั้งนี้ก็มีเรื่องน่าคิดครับ เพราะสปรินเตอร์ “ทุกคน” ที่ออกจาก Quickstep ผลงานตกกันหมดทุกคนจริงๆ เริ่มตั้งแต่มาร์ค คาเวนดิช ที่ไปคาอยู่กับ Dimension Data หลายปี (โอเค มีปี 2016 ที่เขาได้แชมป์ 4 สเตจในตูร์ แต่จากนั้นก็แทบไม่ชนะอะไรอีกเลย) มาร์เซล คิทเทลที่มาแทนคาเวนดิช แต่ย้ายไปอยู่กับ Katusha ก็ไม่สามารถชนะเยอะได้เท่าตอนที่อยู่ Quickstep เช่นกัน จนตอนนี้เครียดรีไทร์ไปแล้ว

ขณะเดียวกัน Quickstep เองกลับไม่ได้เสียเชิงในเกมสปรินเตอร์ไปเลย เพราะนอกจากที่จะจ้างแซม เบนเน็ต (13 ชัยชนะในปี 2019) มาแทนวิวิอานี พร้อมลีดเอาท์ตัวเอ้ เชน อาชโบลด์​มาคู่กัน ทีมยังมีสปรินเตอร์แววดีอีกสองคน นั่นคือ อัลวาโร ฮอดจ์จากโคลอมเบีย และฟาบิโอ้ จาค็อบเซ็น ที่เดบิวต์ใน Tour de France ปีนี้และได้แชมป์สเตจให้ทีมด้วย นั่นคือปีหน้าทีมจะมีสปรินเตอร์เก่งๆ ถึงสามคนเลยทีเดียว

แซม เบนเน็ตที่จะมาแทน วิวิอานี

นอกจากวิวิอานีที่ออกไปแล้ว ก็ยังมีฟิลลิป จิลแบร์ แชมป์ Roubaix ที่ย้ายไปอยู่กับ Lotto-Soudal และเอนริค แมส โพเดี้ยม Vuelta a Espana ที่ย้ายไปอยู่กับ Movistar เสียทั้งสองคนไปก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน แต่จิลแบร์เองอาจจะเริ่มอยู่ในขาลงแล้วด้วยอายุ 37 ปี และเขาอาจจะเจอปัญหาเดียวกับทุกคนที่ย้ายออกจาก Quickstep คือเมื่อไม่มีทีมที่แผนจัดจ้าน และสามัคคีกันช่วยเหลือแล้ว ตัวเองจะสามารถคว้าแชมป์ได้ง่ายเหมือนตอนอยู่ทีมหมาป่าหรือเปล่า

สำหรับเอนริค แมส อาจจะไม่ใช่การเสียที่ใหญ่เท่าไร เพราะทีมไม่ได้โฟกัสที่เกม GC อยู่แล้ว

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือทีมต่อสัญญากับใครบ้าง การที่ทีมยอมทิ้งแมส และจิลแบร์ก็เพราะต้องแบ่งเงินก้อนใหญ่มาต่อสัญญาจูเลียน อลาฟิลลิป The golden boy ตัวจริงในฤดูกาลนี้ ที่กวาดแชมป์คลาสสิครายการใหญ่และเกือบจะชนะ Tour de France เอาจริงๆ แล้ว อลาฟิลลิปเองก็คงไม่อยากไปอยู่ทีมอื่น เพราะเขาเองก็ดูจะแข่งได้อย่างเป็นธรรมชาติและเต็มที่ๆ สุดในเสื้อ Quickstep ด้วยสไตล์การแข่งขันที่เกรี้ยวกราดแต่มีชั้นเชิง ไม่เน้นเกมคุม เน้นเกมรุก ซึ่งเป็นอะไรที่ Quickstep ให้เขาได้มากกว่าที่อื่นๆ

แล้วใครจะมาแทนที่จิลแบร์ในสนามคลาสสิค? คำตอบคือแคสเปอร์ แอสกรีน ตัวแรงชาวเดนมาร์คที่ได้ที่สองใน Tour of Flanders ปีนี้ และดูจะแรงดีเหมือนเฟเบียน แคนเชอลาราเสียด้วย ทีมยังต่อสัญญาให้ชเน็ค สตีบาร์ ซึ่งก็เป็นตัวชงเกมที่ดีมากในรายการคลาสสิคอีกเช่นกัน นี่ยังไม่รวมเรมี คาวัญญา นักปั่นชาวฝรั่งเศสวัย 24 ปีที่โชว์โซโล่คว้าแชมป์สเตจใน Vuelta ปีนี้ มองไปทางไหนก็มีแต่นักปั่นแววดีทั้งนั้น

จับตามองแคสเปอร์ แอสกรีนให้ดี เพราะนี่น่าจะเป็นดาวรุ่งรายการคลาสสิคที่เครื่องดีที่สุดคนนึงในยุคนี้ครับ

สำหรับคนที่เข้าใหม่ก็น่าสนใจหลายคนครับ จากชื่อเด็กๆ ที่ซื้อตัวเข้าทีมมา แทบทุกคนมีผลงานชัยชนะในระดับเยาวชนและ U23 มาแล้ว เราอาจจะยังไม่รู้จักพวกเขาเท่าไร แต่คนเดียวที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรมโค เอเวเนโพล วัย 19 ปี ที่เทิร์นโปรปีแรก ข้ามระดับ U23 มาเลย ก็พลิกประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ Classica San Sebastian ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมแชมป์ Tour of Belgium ซึ่งต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ยากมากนะครับ ที่นักปั่นอายุแค่นี้จะทำได้ เพราะเขาลงแข่งกับรุ่นพี่ที่มากประสบการณ์และทักษะกว่าเยอะ

เอเวนเนโพลดูจะเป็นคนที่ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งทีมเองก็คงยังไม่อยากไปรีบล็อกว่าเขาจะต้องเป็นนักปั่นแบบไหน เป็นอะไรที่ทีม Quickstep ทำได้ดีมากๆ ผมจำได้สมัยที่มิฮาล เควียทคอฟสกี้ยังอยู่กับ Quickstep และแม้แต่ก่อนที่อลาฟิลลิปจะดัง ทั้งคู่ก็ได้ทดลองแข่งทุกประเภทตั้งแต่รายการคลาสสิค ไทม์ไทรอัล สเตจเรซ และแกรนด์ทัวร์ จนเจอทางของตัวเองจริงๆ ไม่ได้บังคับว่าโปรไฟล์แบบนี้ต้องแข่งแบบนี้เท่านั้น เหมือนที่หลายๆ ทีมตั้งความหวังให้นักปั่นตัวเอง ไม่งั้นเราคงไม่ได้เห็นอลาฟิลลิปในเสื้อเหลือง 14 วันจนเกือบจะได้แชมป์ตูร์ปีนี้ เพราะถ้าเจ้าตัวไม่มาลองแข่ง GC บ้างก็อาจจะล็อกตัวเองในฐานะนักปั่น one day race อย่างเดียว

วิดีโอไฮไลท์ เอเวนเนโพลในสนาม Classica San Sebastian ที่เขาเอาชนะนักปั่นรุ่นพี่ฟอร์มเก๋าอย่างเกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท, อเลฮานโดร วาวเวอเด้ และบอเก้ โมเล็มม่า 

เอเวนเนโพลเองดูจะเป็นสายคลาสสิค แต่ก็ไต่เขาได้ดีด้วย แถมยังเป็นแชมป์ European Time Trial อีกด้วย all rounder แบบนี้อนาคตไกลแน่นอนครับ ทีมเองก็อยากล็อกตัวไว้ เลยจับเซ็นสัญญายาวถึงปี 2023 เลยทีเดียว

เลยบอกตอนต้นว่าต่อให้จะเสียกัปตันทีมไปสามคน แต่ดูจากศักยภาพคนที่เก็บไว้ และคนที่เข้ามาใหม่แล้ว ต้องบอกว่าจบรอบการเทรดตัวนักปั่นปีนี้ Quickstep ก็ยังได้กำไรงอกงามครับ

ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดของทีมนี้ รวมถึงการคัดเลือกนักปั่นที่เฉียบคมก็คือ ลุง Patrick Lefevere ผู้จัดการทีมที่เก๋าเกมที่สุดในโปรเปโลตองคนนี้นี่เอง

เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Sporza ในเบลเยียมในเรื่องการเลือกซื้อขายตัวนักปั่นไว้ว่า:

“ผมภูมิใจที่เลือกนักปั่นที่สร้างผลงานให้กับทีมได้เสมอ มันเป็นเหมือนศิลปะนะ หลายๆ ครั้งผมต้องยอมเสียนักปั่นดีๆ อย่างฟิลลิป จิลแบร์ไป ด้วยเหตุผลเรื่องการเงิน แต่ผมก็สามารถหาคนอื่นมาแทนที่เขาได้ ที่ไม่ทำให้ทีมเราผิดหวัง”

“การที่เราตั้งใจเลือกตัวนักปั่นที่จะเข้ากับทีมได้จริงๆ มันทำให้เราชนะรายการใหญ่ๆ ได้ง่ายขึ้น ปีนี้เราชนะ Omloop, Kuurne, Strade Bianche, Milan-San Remo, E3 Harelbeke, Scheldeprijs, Paris-Roubaix, La Flèche Wallonne, Clásica San Sebastián,  แล้วก็สามสเตจใน Tour de France ได้อีกห้าสเตจใน Vuelta ยังไม่รวมชัยชนะอื่นๆ อีก”

รวมแล้ว Quickstep มียอดชัยชนะ 68 ครั้งในปี 2019 มากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาทีมทั้งหมด แต่ไม่เยอะเท่าปี 2018 ที่ทีมชนะ 75 ครั้ง

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!