เปิดตัวเส้นทาง Tour de France 2020: รูทที่ฉีกแนวทางตูร์ที่สุดในรอบหลายปี

วงการจักรยานถนนนี่ก็แปลกดีครับ ทุกๆ ปีสนามแกรนด์ทัวร์แต่ละรายการจะมีการ “เปิดตัวเส้นทาง” ในช่วงปลายปี เป็นอีเวนท์ใหญ่ของวงการเลยทีเดียว คนที่ดูผ่านๆ อาจจะสงสัยว่ามันมีความสลักสำคัญยังไง กับแค่เส้นทางแข่งขัน

แต่ด้วยที่แกรนด์ทัวร์เป็นเสมือนสนามหลักของการแข่งจักรยานในแต่ละฤดูกาล การเลือกลงแข่งให้ถูกสนามเป็นเรื่องสำคัญของแต่ละทีมและนักปั่นแต่ละคน และที่แน่ๆ เส้นทาง Tour de France (ต่อไปนี้จะย่อว่า TDF) ปี 2020 นั้นไม่เหมือนที่หลายๆ คนคิดแน่ๆ เพราะเป็นการออกแบบใหม่หมด ฉีกแนวคิด TDF ที่เราเคยเห็นในทุกๆ ปีเลย ลองดูวิดีโอ intro กันก่อน

ภาพรวม

เส้นทาง Tour de France มีระยะทางทั้งหมด 3,470 กิโลเมตร แข่งขันทั้งหมด 21 วัน (สเตจ) โดยจะมีวันพัก 2 วัน รวมแล้วมีเขาที่นักปั่นต้องข้ามผ่าน 29 ลูก มีเส้นชัยบนยอดเขา 6 สเตจ มีเส้นทางลูกรัง และมีสเตจ Time Trial แค่สเตจเดียว เป็นระยะทาง 36 กิโลเมตรเท่านั้น ปีหน้าจะไม่มีสเตจ Team Time Trial และไม่มีสเตจยอดฮิตอย่าง Mt. Ventoux หรือ Alpe d’Huez

TDF 2020 จะเริ่มแข่งเร็วกว่าปกติ 1 สัปดาห์ จาก 27 มิถุนนายน – 19 กรกฏาคม 2020 เพราะถ้าจัดตามตามรางเดิมจะชนกับโตเกียวโอลิมปิก โดยเฉพาะสนาม Road Race ที่จะแข่งในวันที่ 25 กรกฏาคม

ลองดูภาพโปรไฟล์แต่ละสเตจ (กดที่ภาพเพื่อซูม) แล้วคุณจะได้เห็นความแปลกใหม่ของเส้นทางปีหน้านี้

  • 10 สเตจภูเขา (!!) โดยมี 6 สเตจที่จบบนยอดเขา
  • 1 สเตจ Time Trial, 36 กิโลเมตร แต่จบบนยอดเขา
  • มีสเตจทางราบสนิทจริงๆ แค่ 3 สเตจ
  • สเตจที่น่าจะจบด้วยการสปรินต์มีแค่ 5-7 สเตจ

แว้บแรกที่เห็นโปรไฟล์นี้ผมนึกถึง Vuelta a Espana มากกว่า Tour de France โดยเฉพาะสัปดาห์แรกที่เปิดกันด้วยสเตจภูเขา 3 สเตจ!! ปกติแล้ว TDF มักจะเป็นแกรนด์ทัวร์ที่แทบไม่เคยเปิดการแข่งขันด้วยสเตจภูเขาเลย ในขณะที่ Giro d’Italia และ Vuelta a Espana มักแทรกสเตจภูเขายากๆ ไว้ในสัปดาห์แรกเสมอ ทำให้ TDF ครั้งนี้พลิกการออกแบบเส้นทางไปจากเดิมมาก บวกกับที่มีสเตจภูเขาจริงๆ ถึง 10 สเตจยิ่งทำให้คล้าย Vuelta เข้าไปใหญ่

สเตจ Time Trial ที่มีก็น้อย และยังเป็น TT ที่จบบนยอดเขาอีกด้วย เมื่อรวมกับเส้นชัยบนยอดเขาถึง 6 สเตจ (ซึ่งมี Time Bonus พิเศษให้ด้วย) ก็ยิ่งทำให้ TDF 2020 เหมาะกับนักปั่นจำพวก pure climber ซึ่งอาจจะลดความได้เปรียบของตัวเต็งที่เจนจัดด้าน TT อย่างพริมอซ โรจ์ลิค และคริส ฟรูม กลับไปเอื้อนักไต่เขาสายเพียวอย่างพวกโรมัน บาเดต์ (AG2R) และทิบอต์ พินอท์ (Groupama-FDJ) จะบอกว่าผู้จัดดูจะหาทางช่วยนักปั่นฝรั่งเศสก็คงไม่ผิด เป็นความพยายามที่ทำมาตลอด แต่ก็ไม่สำเร็จสักทีเช่นกัน

อีกฝั่งที่อาจจะไม่ชอบเท่าไรก็คือนักปั่นจำพวกสปรินเตอร์ เพราะสเตจสปรินต์เหลือน้อยพอสมควรเทียบกับปีก่อนๆ ที่มักจะมีสเตจทางราบ 8-9 สเตจให้ได้ลองฝีมือกัน ทาง ASO คนจัดแข่งก็บอกว่า ไม่ใช่ว่าลดสเตจทางราบ แต่พยายามจัดให้สเตจทางราบไม่อยู่ต่อกัน 2-3 วันรวด เพื่อลดความน่าเบื่อจำเจของเส้นทาง แต่นั่นก็หมายความว่าพวกสปรินเตอร์ต้องข้ามภูเขาตลอดทั้งสามสัปดาห์เพื่อที่จะมีผลงานกลับบ้าน ยิ่งเป็นเส้นทางที่เน้นการไต่เขาแบบนี้แล้ว คำถามคือจะมีสปรินเตอร์เหลือปั่นจนจบกี่คน ถ้าไม่ถอดใจก็คงถูก time cut ไปก่อน ขณะเดียวกันมันก็ดูเหมาะกับนักปั่นอย่างปีเตอร์ ซากาน ที่สปรินต์และไต่เขาได้ดีด้วยที่จะครองแชมป์เสื้อ Point Classification เป็นสมัยที่ 8

 

INEOS และ Jumbo-Visma จะคุมเกมได้ยากขึ้น

สิ่งที่เราเห็นใน TDF ปีนี้ก็คือทีม Jumbo-Visma ปั้นทีมจนแข็งแกร่งพอจะใช้แผนการแข่งแบบเดียวกับทีม INEOS ตั้งขบวนนักไต่เขาคุมเกมให้คู่แข่งโจมตีไม่ได้ เป็นสอง super team ที่ทำเกมได้สูสีกันตลอด ถึงโรจ์ลิคจะไม่ติดโพเดียมในตูร์ แต่เขาก็ใช้แผนเดียวกันมาคว้าแชมป์ Vuelta ได้สำเร็จ

ทั้งสองทีมเพิ่มนักปั่นระดับแชมป์แกรนด์ทัวร์มาเสริมทัพในปีหน้า INEOS ซื้อริชาร์ด คาราพาซ​ แชมป์ Giro 2019 และ Jumbo-Visma ซื้อทอม ดูโมลาน แชมป์ Giro 2017 อย่างไรก็ดี ด้วยเส้นทางที่เป็นสเตจภูเขาขึ้นๆ ลงๆ ตลอดสามสัปดาห์ – ไม่ใช่ว่าหนักภูเขาแค่สัปดาห์ 2 และ 3 เหมือนปีก่อนๆ อาจจะทำให้แผนการแข่งแบบ mountain train ที่ทั้งสองทีมถนัดไม่เวิร์กสักเท่าไร ยิ่งรวมกับที่จะไม่มีสเตจ Team Time Trial ซึ่งเป็นจุดแข็งของทั้งสองทีม ที่ใช้ทำเวลาห่างคู่แข่งด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ทีมอื่นๆ มีโอกาสตีเสมอมากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งคือ เมื่อเส้นทางมีระยะ TT น้อยแบบนี้ คู่กัปตันทีม Jumbo อย่างโรจ์ลิคและดูโมลาน จะยังเลือกลงตูร์หรือเปล่า? แผนการแข่งโดยปกติของทั้งคู่คือการปั่นแบบคุมเกมในสเตจภูเขาและใช้สเตจ TT ในการทำเวลาห่างคู่แข่งเพื่อคว้าแชมป์รายการมาตลอด

คริส ฟรูมจาก INEOS เองก็เช่นเดียวกัน เขาชนะ TDF 2017 ได้ก็เพราะเขาทำเวลานำโรมัน บาเดต์ ในสเตจ TT ได้ถึง 2:37 นาที และเราก็ไม่รู้ฟอร์มของฟรูมหลังจากที่ล้มบาดเจ็บหนักเมื่อต้นปีนี้ ทำให้อีแกน เบอร์นาล แชมป์ตูร์ปีนี้ดูลอยเด่นออกมาเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะจริงว่าเขาปั่น TT ได้ไม่ดีเท่ารุ่นพี่ทั้งสามคนที่กล่าวมา แต่ฟอร์มการไต่เขาของเขาดูจัดจ้านกว่าคนอื่นๆ ทั้งหมด อย่างที่เห็นใน TDF ปีนี้

ขณะเดียวกัน นักปั่นจากทีมอื่นๆ ที่ไม่ได้มีทีมที่แข็งมาก หรือไม่ได้ปั่น TT ได้ดีมากนักน่าจะได้ประโยชน์สุดจากเส้นทางปีนี้ all rounder อย่างจูเลียน อลาฟิลลิป (Quickstep) ที่คว้าเสื้อเหลืองได้ถึงครึ่งการแข่งขันในปีนี้ ดูมีโอกาสลุ้นอันดับโพเดียมไม่น้อย และอย่างที่บอก pure climber อย่างคินทานา, พินอท์, และบาเดต์ก็มีโอกาสลุ้นแชมป์มากขึ้นด้วย ถึงอลาฟิลลิปจะบอกว่าเขาคงไม่ปั่นเอาแชมป์ในปี 2020 แต่เมื่อเส้นทางดูเข้าขาแบบนี้แล้วเราอาจจะได้เห็น Quickstep เล่นเกม GC อีกครั้ง

 

แต่ละทีมคิดยังไงกับเส้นทาง TDF 2020?

เดฟ เบรลส์ฟอร์ด (ผจก INEOS): “เส้นทางปีหน้ามีสเตจภูเขาเยอะขึ้นก็จริง แต่เป็นภูเขาระดับกลางมากกว่าที่ altitude สูงๆ นะ เป็น ผมว่าเหมาะกับพวก all rounder แต่ไม่น่าจะทำให้คุมเกมยากขึ้นหรอก”

“เส้นทางตูร์แต่ละปีก็เหมือนการแก้โจทย์ครับ เรามีนักปั่นที่เหมาะกับเส้นทางทุกแบบทั้งนักไต่เขา ทั้งนัก TT เราไม่ห่วงเท่าไร”

จูเลียน อลาฟิลลิป: “รวมๆ แล้วมีหลายสเตจที่เหมาะกับสไตล์การปั่ของผมมาก แต่เราคงต้องศึกษาเส้นทางให้ละเอียดกว่านี้ก่อนที่จะบอกอะไรได้มากกว่านี้ ผมชอบที่เส้นทางมันหลากหลาย ไม่ค่อยมีสเตจแบบใดแบบหนึ่งซ้ำกันซึ่งน่าจะทำให้ได้เกมที่น่าตื่นเต้นและคาดเดายากตลอดสามสัปดาห์”

คริส ฟรูม: “เป็นตูร์ที่ยากมากนะผมว่า เข้าทางนักปั่นสายเขา แต่ก็คาดเดาอะไรได้ยาก เกม GC จะเชือดเฉือนกันตั้งแต่สัปดาห์แรกจนจบรายการ ซึ่งเป็นอะไรที่ผู้ชมคงอยากดู เราจะประมาทไม่ได้เลยแม้แต่สเตจเดียว”

แมท ไวท์ (ผจก ทีม Mitchelton-Scott): “ผมคิดว่าจะมีสเตจ TT มากกว่านี้ แต่สเตจ TT สุดท้ายน่าสนใจมาก เพราะมันแบ่งเป็น 30 กิโลเมตรบนทางราบ และ 6 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นทางขึ้นเขา ซึ่งมันอยู่สเตจ 20 พอดี เมื่อรวมกับเส้นทางในสเตจก่อนหน้าแล้ว มันคงทำให้เกม GC มาจบแบบเฉือนกันในวันสุดท้ายพอดี”​

“ผมว่าเราคงได้เห็นเกมรุกจากหลายๆ ทีมตั้งแต่ช่วงแรก เพราะมีสเตจเขาตั้งแต่สัปดาห์ที่หนึ่ง แต่ขณะเดียวกันมันก็แปลว่าหลายๆ ทีมจะหมดโอกาสลุ้นอันดับ GC ตั้งแต่สัปดาห์แรกเช่นกัน ซึ่งก็ดีกับทีมเราครับ เพราะทีมเราเน้นเกมบู๊อยู่แล้ว”

“ผู้จัดทำเส้นทางได้ท้าทายดี เพราะมีสเตจยากๆ กระจายอยู่ตลอด 3 สัปดาห์ อย่างสเตจ 2 เราปีนเขามากถึง 4,000 เมตร แล้วมีเส้นชัยบนยอดเขาตั้งแต่สเตจ 4 ช่วงท้ายในแอลป์ก็ยาก ที่มีสเตจเขาต่อกัน 3-4 สเตจ น่าสนุกครับ”​

 

Tour de France 2020 stages

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!