Tour Down Under สนามแข่งจักรยานระดับ UCI WorldTour รายการแรกของปีเริ่มแข่งขันวันนี้ ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่น่าสนใจครับ จุดเด่นของ TDU คือเส้นทางที่สั้นกระชับ รูปเกมที่รุกแรงและเร็ว มีทั้งสเตจทางราบสำหรับสปรินเตอร์และสเตจภูเขาสั้นๆ ชันๆ สำหรับนักไต่เขา
ปีนี้เส้นทางปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้มีทางเขามากขึ้นซึ่งก็น่าจะท้าทายแชมป์เก่าสองสมัย ดาริล อิมปีย์ (Mitchelton-Scott) อยู่ไม่น้อย (จากที่ปกติเขาอาศัยการชิง time bonus ในสเตจทางราบได้มากพอจนได้แชมป์รายการทำให้ไม่ต้องสู้ชิงเวลากับนักไต่เขามากนัก)
สำหรับปีนี้ อิมปีย์จะต้องเจอกับคู่กัดตลอดกาลใน TDU นั่นก็คือแชมป์เก่า ริชีย์ พอร์ท (Trek-Segafredo) และโรฮาน เดนนิส (INEOS) พร้อม climber ดีกรีแกรนด์ทัวร์อย่างโรมัน บาเดต์ (AG2R) และจอร์จ เบนเน็ต (Jumbo-Visma) โดยเฉพาะในสเตจ 2, 4, 5 และ 6 ที่เราจะดูกันในพรีวิวข้างล่างนี้
ตัวเต็ง
TDU ปีนี้มีแชมป์เก่ามาลงถึง 5 คน: พอร์ท, อิมปีย์, เดนนิส, ไกรเปิล (!! ใช่แล้ว มันมียุคสมัยที่รายการ TDU เป็นสนามสำหรับสปรินเตอร์ล้วนๆ ครับ) และหลุยส์ ลีออน ซานเชซ (Astana)
จุดเด่นของรายการนี้อย่างที่บอกไปคือเส้นทางที่สั้น และทุกสเตจมี time bonus ทั้งตรงจุดสปรินต์กลางสเตจและที่เส้นชัย บวกกับภูเขาที่ไม่ยาวนัก (ทิ้งห่างกันยาก) ทำให้ time bonus ยิ่งมีความสำคัญ นักปั่นที่เป็นสไตล์ระเบิดเนิน / puncheur ก็จะมีความได้เปรียบสูง เพราะนอกจากจะสปรินต์เก็บเวลาได้ดีแล้ว ยังขึ้นเขาสั้นๆ ได้ไม่แพ้พวก climber ด้วย
สนามนี้มันสูสีขนาดที่ในปี 2018 ดาริล อิมปีย์และริชีย์ พอร์ทจบการแข่งขันด้วยเวลาที่เท่ากันเป๊ะๆ แต่อิมปีย์ได้แชมป์จากที่อันดับในการเข้าเส้นชัยโดยรวมดีกว่าพอร์ททุกสเตจ และตลอดสิบปีที่ผ่านมา เวลารวมของแชมป์รายการและอันดับ 10 ใน GC ไม่เคยห่างกันเกิน 1 นาทีครับ
1. Daryl Impey (Mitchelton-Scott)
ทีมที่เป็นแชมป์มาหลายสมัยอย่าง Mitchelton-Scott ส่งดาริล อิมปีย์ขึ้นเป็นกัปตันทีมเหมือนเดิม มีหน้าที่ต้องป้องกันแชมป์สองสมัยของเขา อิมปีย์เป็น all rounder ที่เก่งรอบด้านทั้งการสปรินต์และการขึ้นเนินสั้นๆ ทำให้สนามนี้เหมาะกับเขาเป็นพิเศษ แต่ปีนี้อายุขึ้นไป 35 ปีแล้วก็น่าดูเหมือนกันว่าจะยังรักษาฟอร์มเดิมได้หรือเปล่า ถ้าอิมปีย์ไม่ไหว ทีมยังมีแชมป์ road race ออสเตรเลียคนใหม่ คาเมรอน เมเยอร์ ที่สไตล์การปั่นเหมาะกับเส้นทางแบบนี้เหมือนกัน นอกจากนี้ทีมยังส่งไซมอน เยทส์ แชมป์ Vuelta มาด้วย เยทส์อาจจะไม่เหมาะกับสนามแบบนี้ แต่ในสเตจ 6 ที่ขึ้นเขา Willunga ก็น่าจะมีลุ้นคว้าแชมป์สเตจถ้าฟอร์มดี
2. Richie Porte (Trek-Segafredo)
พอร์ทเป็นแชมป์ปี 2017 แต่เขาเป็นแชมป์สเตจ Willunga มา 5 ปีติดต่อกันเริ่มตั้งแต่ปี 2014 ข้อเสียเปรียบของพอร์ทคือคงไม่สามารถเก็บ time bonus ในสเตจอื่นๆ ได้เหมือนอิมปีย์จากที่สปรินต์สู้ไม่ได้ ถ้าจะชนะ พอร์ทต้องทำเวลาขึ้น Willunga ทิ้งห่างคนอื่นให้ได้มากๆ
3. Rohan Dennis (Team Ineos)
แชมป์เก่าปี 2015 ที่ปีนี้ประกาศชัดเจนว่าจะเลิกเล่นเกม GC และกลับไปเอาดีด้าน Time Trial เหมือนเดิมแล้ว (เดนนิสบอกว่าการจะเป็นตัว GC ทำให้เขาลดน้ำหนักมากเกินไปจนแข่งได้ไม่มีความสุขและเสียพลังในการปั่น TT)
เดนนิสเป็นอีกคนที่น่าสนใจ สไตล์การแข่งต่างไปจากทั้งอิมปีย์และพอร์ท ไม่ใช่ pure climber และก็ไม่ใช่สปรินเตอร์ แต่ถ้าภูเขาไม่ยาวนักเขาไต่สู้พวก grand tour climber ได้สบายๆ ปีนี้มากับทีมแข็งอย่าง INEOS ก็น่าจะทำให้มีลุ้นได้บ้างเหมือนกัน และถ้าได้แชมป์ก็น่าจะเป็นการล้างชื่อเสียที่ไปดราม่ากับทีม Bahrain-Merida ปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี
นอกจากสามคนนี้แล้วเรามีคนอื่นๆ ที่อาจจะพอลุ้นแชมป์ได้ แต่อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นตัวเต็ง เช่น นาธาน ฮาส (Cofidis), จอร์จ เบนเน็ต (Jumbo-Visma), หลุยส์ ลีออน ซานเชซ (Astana), และ เจย์ แมคคาธีย์ (Bora-Hansgrohe) นักปั่นที่แทบไม่เคยมาลงแข่งอย่างโรมัน บาเดต์ (AG2R) ก็เป็นอีกคนที่น่าจับตา โดยเฉพาะในสเตจ Willunga
สปรินเตอร์
ถึงเส้นทางสเตจสปรินต์จะมีแค่สเตจ 1, 4 และ 5 แต่สนามนี้ก็แพ็คสปรินเตอร์ดุๆ เพียบ ไม่ว่าจะเป็น คาเล็บ ยวน (Lotto-Soudal), เอเลีย วิวิอานี (Cofidis), แซม เบนเน็ต (Quickstep), จิอาโคโม่ นิซโซโล่ (NTT Pro Cycling), คริสตอฟเฟอร์ ฮาลวอร์เซ็น (EF Pro Cycling), แยสเปอร์ ฟิลลิปเซ็น (UAE) และอังเดร ไกรเปิล (Israel Startup Nation) เจ้าของสถิติแชมป์สเตจเยอะที่สุดในสนามนี้ ที่ 18 สเตจ (!!)
น่าจับตานักปั่นที่ย้ายทีมหลายๆ คนอย่างวิวิอานี เบนเน็ต และไกรเปิล ที่ต้องดูว่าจะจูนเข้ากับเพื่อนร่วมทีมลีดเอาท์ใหม่ยังไง จากสนาม Scwalbe Classic เราเห็นแล้วว่า วิวิอานีดูจะไม่มีปัญหาเท่าไร ถึงจะแพ้ให้คาเล็บ ยวน แต่ทั้งเขาและลีดเอาท์ก็คว้าอันดับ 2 และ 3 นำห่างเบนเน็ตที่เสียขบวนตกไปอันดับ 18
เส้นทาง / ถ่ายทอดสด
ปีนี้ช่อง GCN Racing ถ่ายทอดสดทุกสเตจผ่าน Youtube และ Facebook ทำให้ติดตามชมสะดวกมากขึ้นครับ DT รวมลิงก์ Streaming ของแต่ละสเตจมาไว้ในหน้านี้แล้ว พร้อมกำหนดการครับ ถ้าขี้เกียจเข้าไปเปิดเพจหรือ Youtube GCN Racing ก็เข้ามาดูหน้านี้ได้เลย และสามารถดูย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ด้วยเมื่อถ่ายทอดสดจบแล้ว
Stage 1. Tanuda-Tanuda, 150km
ถ่ายทอดสด: 21 มกราคม 09:00
สเตจทางราบเปิดสนามระยะทาง 150 กิโลเมตร โจทย์แรกของทีมสปรินต์เตอร์
Stage 2. Woodside-Stirling, 135.8km
ถ่ายทอดสด: 22 มกราคม 09:30
สเตจ 2 นี่จะจบบนยอดเนินสั้นๆ ที่บ่งบอกฟอร์มคนที่มีสิทธิลุ้นแชมป์มากๆ เนินชันเกินกว่าเพียวสปรินเตอร์จะชนะ ส่วนใหญ่คนที่ได้แชมป์สเตจสองมักครองเสื้อผู้นำได้หลายวัน และเป็นวันที่ตัวเต็ง GC จะต้องอยู่แถวหน้า ถ้าพลาดวันนี้อาจจะกู้เวลาจากสเตจอื่นๆ ที่เหลือไม่ทัน อันดับ GC น่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจบสเตจนี้
Stage 3. Unley-Paracombe, 131km
ถ่ายทอดสด: 23 มกราคม 09:30
เป็นเส้นชัยบนยอดเนินอีกสเตจ แต่ชันกว่าสเตจ 2 เยอะ แชมป์รายการหลายๆ ปีมักจะมาจากคนที่ชนะสเตจนี้แล้วครองเสื้อผู้นำได้จนจบรายการ เขาลูกสุดท้ายยาวแค่ 1.2 กิโลเมตร แต่ชันเฉลี่ย 9% เลยทีเดียว
Stage 4. Norwood-Murray Bridge, 152.8km
ถ่ายทอดสด: 24 มกราคม 09:30
สเตจที่ยาวที่สุดในการแข่งขัน และเป็นวันสำหรับสปรินเตอร์ พวกสปรินเตอร์ที่พลาดสเตจ 1 ก็ต้องเก็บแรงมาแก้มือกันในสเตจนี้ ส่วนทางฝั่ง GC ภาพน่าจะชัดแล้วว่าตัวเต็งที่จะได้แชมป์จริงๆ จะเหลือกี่คน
Stage 5. Glenelg-Victor Harbor, 149.1km
ถ่ายทอดสด: 25 มกราคม 09:00
เป็นสเตจที่น่าสนใจเพราะถึงที่เส้นชัยจะเป็นทางราบแต่ก่อนหน้ามีเนินชันดักอยู่ สปรินเตอร์ที่ฟอร์มไม่ดีอาจจะหลุดตรงนี้ แต่มันก็ไม่ใช่เนินที่สูงอะไร เดาว่าคงจะจบด้วยการสปรินต์อีกเหมือนเดิม ยกเว้นว่าจะมีเบรกอเวย์ตัวจี๊ดๆ หลุดไปได้
Stage 6. McLaren Vale-Willunga Hill, 151.5km
ถ่ายทอดสด: 26 มกราคม 08:30
สเตจตัดสิน จบบนยอดเขา Willunga Hill หลายๆ ปีแชมป์รายการก็ตัดสินกันบนเขาลูกนี้ ว่าตัวเต็งแต่ละคนจะได้หรือเสียเวลาบน Willunga เท่าไร ว่ากันเป็นหลักวินาที น่าดูว่าริชีย์ พอร์ทจะชนะบนเขาลูกนี้ได้อีกครั้งหรือเปล่า ปีนี้พิเศษหน่อยที่ต้องปีนเขาลูกนี้สองรอบครับ เป็นวันที่ไม่ควรพลาดชมถ่ายทอดสด
Time Bonus
ที่จุดสปรินต์กลางสเตจ 3-2-1 วินาที สำหรับสามคนแรก
ที่เส้นชัย 10-6-4 วินาที สำหรับสามคนแรก