เมื่อโปรทีมจะใช้เสือหมอบจานหน้าใบเดียวแข่งทั้งฤดูกาล 2018

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เทคโนโลยีจักรยานเสือภูเขาเริ่มขยับเข้ามามีอิทธิพลกับจักรยานเสือหมอบมากทีเดียวครับ ทั้งเรื่องระบบดิสก์เบรก ขนาดยางที่กว้างขึ้น และล่าสุดระบบขับเคลื่อนแบบจานหน้าใบเดียว (1x)

เมื่อวันก่อนนี้ทีม Aqua Blue Sport โปรทีมระดับดิวิชันสองจากไอร์แลนด์ ประกาศว่าทีมจะใช้จักรยานเสือหมอบแบบจานหน้าใบเดียวลงแข่งขันตลอดทั้งฤดูกาล 2018

ส่วนใครไม่เคยได้ยินชื่อทีมนี้ DT เคยเขียนถึงบ้างแล้ว 2-3 ครั้งเพราะถึงจะเป็นทีมใหม่แต่ก็เริ่มมีผลงานระดับสูงสุดหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์สเตจใน Tour de Suisse และ Vuelta a Espana ปีนี้ครับ อ่านเรื่องราวของทีม Aqua Blue Sport ได้ที่นี่

จักรยานคันที่ว่าก็คือ 3T Strada ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโร ดิสก์เบรก และออกแบบมาเพื่อใช้กับชุดขับที่มีจานหน้าใบเดียวโดยเฉพาะ

ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะมันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวทางการพัฒนาจักรยานเสือหมอบประสิทธิภาพสูงในอนาคต เรามาดูรายละเอียดกันดีกว่า

 

3T Strada

3T Strada เป็นโปรเจ็คของเจอราร์ด วรูมเมน อดีตผู้ก่อตั้งและผู้ออกแบบจักรยาน Cervelo ซึ่งได้ไปซื้อกิจการของบริษัท 3T เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้และเป็นตัวตั้งตัวตีให้บริษัทเริ่มผลิตจักรยานเสือหมอบของตัวเองครับ

เฟรม Strada เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เป็นเฟรมเสือหมอบคาร์บอนทรงแอโร น้ำหนักเฟรม 970 กรัม ออกแบบมารองรับการปั่นหลากหลายเส้นทางด้วยที่เฟรมรองรับยางหน้ากว้างสูงสุด 30mm แต่ออกแบบมาให้ใช้กับชุดขับระบบจานหน้าใบเดียวเท่านั้น

Strada เป็นหนึ่งในเฟรมที่แอโรที่สุดในตลาดตอนนี้ ได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องออกแบบเผื่อจุดยึดก้ามเบรคและสับจานหน้า และได้ความรู้ความเชี่ยวชาญของวรูมเมน ที่ให้กำเนิดจักรยานแอโรของ Cervelo หลายรุ่น

[smartslider3 slider=12]

เฟรมผ่านการทดสอบในอุโมงค์ลมและมีฟีเจอร์รถแรงต้านลมหลายจุด เช่น crown ตะเกียบหน้าที่เลื่อนต่ำลงทำให้ล้อหน้าชิดกับท่อล่าง ลมไหลผ่านช่วงหน้าของรถได้ดีขึ้น, มีตัดเว้าท่อนั่งลึกเพื่อรับกับล้อให้ลมไหลผ่านได้สมูท, บริเวณท่อล่างมีจุดเว้าขยายช่วยบังกระติกน้ำไม่ทำให้โฟลว์ลมเสีย และบริเวณช่วงล่างของท่อล่างก็ทำให้แคบลงไม่อ้วนเหมือนรถร่วมสมัยเพื่อให้ลมไหลผ่านได้ดีด้วย

ตัวเฟรมราคา 3800 ยูโร หรือประมาณ 150,000 บาท

ทีม Aqua Blue สนับสนุนโดย 3T และจะใช้กรุ๊ปเซ็ตจากค่าย SRAM (Sram Force 1X HRD)

 

จานหน้าใบเดียวดีหรือเปล่า?

วรูมเมนอ้างว่าการใช้จานหน้าใบเดียวและใช้ดิสก์เบรกช่วยให้ 3T ออกแบบจักรยานได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องแอโรไดนามิก

วรูมเมนอ้างว่าการใช้จานใบเดียวช่วยให้ออกแบบรถได้ดีขึ้นหลายประการ

  1. บริเวณกระโหลกจักรยานคือจุดที่ลมปั่นป่วนสูงที่สุด เพราะเป็นจุดที่นักปั่นต้องหมุนควงขา ยิ่งมีชิ้นส่วนที่ขวางลมอย่างสับจานหน้าก็ยิ่งทำให้ลดแอโรน้อยลงตามไปด้วย
  2. ใช้จานหน้าใบเดียวก็ได้เฟรมที่น้ำหนักเบาลง เพราะไม่จำเป็นต้องมีจานอีกหนึ่งใบ ไม่มีสับจานหน้า และไม่ต้องมีชิฟเตอร์กดเปลี่ยนเกียร์สำหรับจานหน้า
  3. ถึงจะใช้จานเดียว แต่เกียร์ที่มีนั้นก็เพียงพอแล้ว 3T Strada มากับเฟือง 9-32t เมื่อใช้คู่กับ จานหน้า 44t นักปั่นสามารถทำ top speed ได้สูงกว่า คอมโบเกียร์ 53×11 ขณะเดียวกันอัตราทดเฟือง 44x32t ก็จะใกล้เคียงกับการใช้คอมโบ 39x28t ซึ่งมากพอสำหรับโปรในการขึ้นเขาส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี การใช้จานหน้าใบเดียวในการปั่นอย่างเสือภูเขาและ Cyclocross นั้นไม่ใช่ปัญหาเท่าไร เพราะมีรูปแบบการใช้งานที่ชัดเจนตามเส้นทางที่ลงแข่งครับ แต่ในเกมจักรยานถนนนั้น นักปั่นอาจจะต้องเจอเส้นทางหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภูเขาสูงชันระดับ 20%++ ทางลงเขาที่ชันไม่แพ้กันต้องใช้เกียร์หนักมากๆ เพื่อไม่ให้ขาฟรี หรือทางโรลลิ่งขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา

การใช้จานหน้าใบเดียวในกรณีของเสือหมอบเป็นเรื่องลำบากเมื่อต้องเจอเส้นทางหลากหลายเพราะด้วยจำนวนเกียร์ที่น้อยกว่า การไล่เกียร์ก็ไม่ละเอียดเหมือนการใช้จานหน้าสองใบด้วย ทำให้รอบขาระหว่างเกียร์กระโดดเยอะ ก็น่าสนใจว่าโปรที่จริงจังกับการใช้รอบขานั้นจะพอใจกับประสิทธิภาพของชุดขับจานหน้าใบเดียวเวลาที่แข่งจริงหรือเปล่า

 

ล้ออ้วนและดิสก์เบรกในโปรทัวร์?

มาตรฐานล้อที่ใช้แข่งขันกันในวงการอาชีพตอนนี้คือล้อที่มีความกว้างด้านในขอบล้ออย่างน้อย 17c ใช้คู่กับยาง tubular หน้ากว้าง 25c เมื่อใช้คู่กันแล้วจะได้ความกว้างล้อโดยรวมประมาณ 25-27c ซึ่งผลทดสอบจากหลายภาคส่วนพบว่า ยางหน้ากว้างที่แรงดันลมน้อยลง (เมื่อเทียบกับแรงดันที่ใช้ปกติในยาง 23c) จะได้ค่า rolling resistance ที่ต่ำกว่า นั่นคือมีแรงเสียดทานน้อยกว่า ใช้แรงเท่าเดิมในการปั่นแต่ไปได้ไวขึ้น และไม่เสียแอโนไดนามิกด้วย

เมื่อใช้ยางหน้ากว้างกับระบบเบรกแบบดิสก์เบรกก็ทำให้การผ่อนความเร็วทำได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีหน้ายางที่สัมผัสกับพื้นถนนมากกว่ายางหน้าแคบทั่วไป ไม่เกิดปัญหาล้อล็อคง่ายๆ

3T Strada รับแนวคิดนี้เต็มที่ เพราะเฟรม Strada ไม่สามารถติดตั้งริมเบรกได้เลย 3T กล่าวว่า ทั้งตะเกียบโซ่และตะเกียบท่อนั่งไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้กับก้ามริมเบรก เพราะคาร์บอนบริเวณนั้นทำมาให้เล็กเป็นพิเศษเพื่อลดแรงต้านลม

ทั้งนี้ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ดิสก์เบรกแข่งขันได้ 100% และนักปั่นหลายคนก็ยังแสดงท่าที่ไม่ชอบระบบดิสก์เบรก อย่างทีม Quickstep Floors ที่ใช้จักรยาน Specialized S-Works Roubaix ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ทำเวอร์ชันริมเบรคออกมาขาย ก็ยังขอให้ Specialized ทำรุ่นริมเบรคพิเศษออกมาให้นักปั่นใช้โดยเฉพาะ

ถึงนักปั่นบางคนจะได้แชมป์รายการด้วยเสือหมอบดิสก์เบรก แต่ชัยชนะทั้งหมดมาจากสเตจทางราบที่เป็นการสปรินต์ ปัจจุบันเรายังไม่เห็นนักปั่นคนไหนใช้หมอบดิสก์เบรกคว้าแชมป์สเตจภูเขา ด้วยอาจจะคิดว่าน้ำหนักที่มากกว่าของเสือหมอบดิสก์เบรกทำให้เสียเปรียบ น่าสนใจว่า 3T Strada จะลดน้ำหนักได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของ UCI ที่ 6.8 กิโลกรัมหรือไม่ แต่อาจจะเป็นไปได้ยากเพราะตัวเฟรมนั้นหนักเกือบหนึ่งกิโลกรัมทีเดียวครับ

ทั้งนี้นักปั่นในทีมก็ไม่ได้มีตัวเลือกเพราะจากแต่ก่อนที่ใช้จักรยาน Ridley แข่งขัน มีให้เลือกทั้งเสือหมอบเอนดูรานซ์ แอโร และไต่เขาน้ำหนักเบา แต่ในแคตาล็อก 3T มีแค่เสือหมอบ Gravel (3T Exploro) และเสือหมอบแอโร (3T Strada) เท่านั้น

ถึงจะดูมีข้อเสียพอสมควรแต่วรูมเมนเชื่อว่านักปั่นในทีมจะแข่งได้อย่างไม่มีปัญหา

“จักรยานทุกคันก็ยืนอยู่บนสมดุลระหว่างข้อได้เปรียบและเสียเปรียบทั้งนั้นครับ ก็น่าสนใจว่าทำไมไม่มีใครไปถามนักปั่นทีมอื่นว่า คุณกลัวเสียเปรียบ เปลืองแรงเพราะจักรยานคุณไม่แอโรเท่ารถเรา มีทั้งสับจานหน้าและใบจานสองใบขวางลมในทุกๆ การแข่งขันหรือเปล่า”

“ผมไม่เห็นใครถามทีม Sky ว่าเขาพร้อมจะรับมือกับปัญหาเกียร์ไฟฟ้ารวนจนทำให้ฟรูมต้องเปลี่ยนจักรยานถึง 4 ครั้งเหมือนใน Tour de France ปีที่แล้วไหม”​

ต้องติดตามกันต่อไปว่าถึงเวลาแข่งจริงแล้วจะมีคอมเมนต์อะไรจากนักปั่นในทีมบ้างครับ

SaveSave

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *