พรีวิว: 4 จุดตัดสินแพ้ชนะ Paris-Roubaix 2017

ซีรีย์พรีวิว Paris-Roubaix 2017


และแล้ววันนี้ก็มาถึงครับ วันแห่งการตัดสินและวันที่นักปั่นหลายคนเดิมพันทุกอย่างในฤดูกาลนี้ไว้ที่นี่ กับการแข่งขัน Paris-Roubaix 2017

เชื่อว่าหลายคนรู้จักชื่อ Paris-Roubaix แต่อาจจะยังไม่รู้จักบริบทอื่นๆ ที่ทำให้รายการนี้เป็นเสมือนการแสวงบุญของนักปั่นอาชีพ รายแข่งวันเดียวที่ทุกคนยกย่องให้เป็นที่สุดของที่สุด มาทำความรู้จัก Paris-Roubaix ให้มากขึ้นเพื่ออรรถรสในการรับชม พร้อมวิเคราะห์เส้นทางสไตล์ Ducking Tiger ครับ

* * *

รายการนี้โดดเด่นยังไง?

Paris-Roubaix จัดเป็นรายการ “คลาสสิค”​ นั่นคือสนามแข่งที่มีอายุเก่าแก่ เริ่มแข่งกันมาตั้งแต่ปี 1896 ปีนี้ก็นับว่าเป็นการแข่งครั้งที่ 115 แล้ว และมันไม่ใช่รายการแข่งจักรยานถนนวันเดียวธรรมดาๆ ทั่วไป เพราะจากเส้นทาง 257 กิโลเมตรนั้นมีช่วงที่เราเรียกว่า “ถนนหิน” หรือ ‘cobbled road’ ถึง 55 กิโลเมตร และถนนหินพวกนี้อันตรายในขนาดที่ว่าแค่ขับรถผ่านยังมีสิทธิแฉลบออกข้างทางได้ง่ายๆ

คุณอาจจะสงสัยว่าสนามคลาสิคในเบลเยียม ก็มีถนนหินแบบนี้เหมือนกัน? แต่สภาพถนนใน Flanders และ Roubaix นั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ ช่วงถนนหินในรายการนี้มีขนาดใหญ่ ขรุขระ คม และอันตรายกว่า ในเบลเยียมนั้น ถนนหินในสนามแข่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการสัญจรของผู้คน แต่ใน Roubaix ถนนหินพวกนี้เป็นถนนที่ชาวนาใช้วิ่งเครื่องจักร รถไถ และวัวควายในการทำเกษตรกรรม

และการที่มันเป็นสนามแข่งทางราบเกือบทั้งหมด แทบไม่มีเนินเลยนั้น ทำให้เป็นเกมที่เร็วและรุนแรง ทุกคนอยากอยู่หน้ากลุ่มเพื่อไม่ให้เสียตำแหน่งหน้าขบวนในช่วงเวลาวิกฤติ การแย่งตำแหน่งของเปโลตองนั้นราวกับเป็นมวยปล้ำมากกว่าแข่งจักรยาน และพอไม่มีเนินตัดแรง คนที่อยู่รอดไปท้าชิงแชมป์ได้นั้นต้องมีทั้งความอึดและดวงที่จะก้าวข้ามปัญหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่พร้อมจะพังจากเส้นทางทรหดให้ถึงปลายทาง

 

รายการนี้ไม่ได้เริ่มในปารีส

ถึงจะชื่อว่า Paris-Roubaix แต่สนามนี้ไม่ได้เริ่มแข่งในกรุงปารีสครับ (ครั้งสุดท้ายที่สตาร์ทแถวปารีสต้องย้อนกลับไปเกือบ 60 ปี) ตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา รายการนี้เริ่มในเมือง Compiégne (ออกเสียง: กงเปียญ / กอมแปง) ซึ่งอยู่ห่างปารีสมาเกือบ 85 กิโลเมตร

จากกงเปียญนักปั่นต้องวิ่งผ่านทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเป็นระยะทาง 257 กิโลเมตร และเจอถนนหินเป็นช่วงๆ เพื่อไปจบการแข่งขันในเมือง Roubaix ในเวโลโดรม Roubaix นั่นเองครับ สนามปีนี้ก็มีเส้นทางแทบจะเหมือนปีที่แล้ว

97 กิโลเมตรแรก จะเป็นถนนปกติ ไม่มีช่วงถนนหินเลย แต่หลังจากนั้น นักปั่นจะต้องเจอถนนหิน 29 ช่วง บางช่วงมีความท้าทายกว่าช่วงอื่นๆ ผู้จัดแข่งได้แบ่งเกรดถนนหินด้วยระบบ “ดาว” ยิ่งดาวเยอะ ก็ยิ่งยาก ความยาวแต่ละช่วงก็ต่างกัน บางช่วงยาวแค่ 300 เมตร บางช่วงยาว 3.7 กิโลเมตร

ถนนหินเป็นอัตลักษณ์ที่นิยามการแข่งขันสนามนี้ เช่นนั้นแล้ว แม้แต่ถ้วยรางวัลของผู้ชนะ ก็มาจากก้อนหินบน “ถนน” เส้นที่นักปั่นแข่งจริงเช่นกันครับ

3. 3 จุด “ตัดตัว” ใน Paris-Roubaix 2017

จากถนนหินทั้งหมด 29 ช่วง มีอยู่สามช่วงที่ผู้จัดเกรดให้เป็นระดับ 5 ดาว นั่นคือยากที่สุดในการแข่งขันครับ มี

  • Trouée d’Arenberg (96 กิโลเมตรจากเส้นชัย, ยาว 2.4 กิโลเมตร)
  • Mons-en-Pévèle (50 กิโลเมตรจากเส้นชัย, ยาว 3 กิโลเมตร)
  • Carrefour de l’Arbre (17 กิโลเมตรจากเส้นชัย, ยาว 2.1 กิโลเมตร)

ทั้งสามจุดมีอิทธิพลกับผลการแข่งมากกว่าช่วงถนนหินอื่นๆ แต่ละจุดมีความโดดเด่นต่างกัน ตามนี้ครับ

1. The Arenberg

ป่าอาเรนเบิร์กเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุดในการแข่ง Paris-Roubaix เลยก็ว่าได้ครับ เพราะเป็นช่วงถนนที่ตัดผ่านป่า อยู่ห่างเส้นชัยไปราวๆ 96 กิโลเมตร เป็นจุดยุทธศาสตร์จุดแรกของการแข่งขัน

เพราะในป่านี้ ถนนแคบ และถนนหินนั้นสภาพแย่ เป็นจุดที่นักปั่นล้มคว่ำต้องออกจากการแข่งขันกันแทบทุกปี เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการโยนลูกเต๋าเสี่ยงดวงรอบแรกของการแข่งขันก็ว่าได้ ถึงจะอยู่ห่างเส้นชัยไปเยอะ แต่คนที่ออกจากป่านี้ได้อย่างปลอดภับและเป็นคนแรกๆ นั้นก็มีโอกาสคว้าชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

 

2. Mons-en-Pévèle

ด้วยความที่อยู่ห่างเส้นชัยแค่ 50 กิโลเมตร – ช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน บวกกับช่วงถนนหินที่ยาวและท้าทาย ทำให้ตัวเต็งหลายคนมักเลือกเซคเตอร์นี้ในการทำเกมหนีกลุ่มครับ ฟีลจะคล้ายๆ กับที่จิลแบร์เปิดเกมหนีตั้งแต่ 50 กิโลเมตรสุดท้ายใน Tour of Flanders เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คนจะหนีจากจุดนี้ได้ต้องแกร่งพอจะทำเวลานำกลุ่มไล่ได้จนถึงเส้นชัย

ปี 2012 ทอม โบเน็นเปิดเกมหนีจากเซคเตอร์นี้ โซโล่เดี่ยวคว้าแชมป์ Roubaix ได้เป็นสมัยที่ 4 เช่นเดียวกับเฟเบียน แคนเชอลาราในปี 2010

 

3. Carrefour de l’Arbre

ถ้าหนีกันไม่ขาดที่ Mons-en-Pévèle, เซคเตอร์นี้จะเป็นตัวช่วยปิดเกมอย่างถาวร ใครที่หนีจากตรงนี้ (16 กิโลเมตรสุดท้าย) มีโอกาสชนะสูง รวมถึงกลุ่มที่หนีมาด้วยกันด้วย จากที่อยู่ช่วงท้ายของการแข่งขัน ถนนยาก นักปั่นเริ่มหมดแรง เราจะเห็นชัดว่าฟอร์มนักปั่นคนไหนมีลุ้นแชมป์รายการก็จากช่วงถนนนี้ครับ

 

Bonus: The Velodrome

เส้นชัยของรายการนี้จบที่ Roubaix Velodrome และเป็นสนามแข่งเดียวในตารางแข่งดิวิชัน 1 ที่จบกันในสนามปั่นจักรยานครับ

เมื่อนักปั่นเข้าสู่เวโลโดรมแล้ว ต้องปั่นกันหนึ่งรอบครึ่ง แน่นอนว่าถ้าเข้าโดมกันมามากกว่าหนึ่งคน ที่นี่ก็จะเป็นจุดตัดสินเกมครั้งสุดท้าย ที่นักปั่นต้องดึงเอาทักษะ และกลยุทธ์การชิงไหวพริบในสไตล์การแข่งสนามลู่เพื่อตัดสินหาผู้ชนะ นั่นหมายความว่า คนที่แข็งแกร่งที่สุด ถ้าไม่มีกึ๋น ก็อาจจะโดนม้ามืดสอยแชมป์กันหน้าเส้นชัยก็เป็นได้

 

ถ่ายทอดสดเวลาไหน?

รายการนี้เริ่มถ่ายทอดสดตั้งแต่ 16:00-22:00! (เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบ) เช็คลิงก์ถ่ายทอดสดและการบรรยายสดของ Ducking Tiger ได้ที่ Duckingtiger.com/live ครับ

บรรยายสดเริ่มประมาณ 20:30 จนจบรายการ

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *