3 บทสรุปจาก Dubai Tour

ดูไบทัวร์ครั้งที่หนึ่งก็จบลงไปแล้วนะครับ เป็นสนามแข่งรายการแรกที่สองของปีที่เราได้ติดตามนักแข่งระดับดิวิชันหนึ่งมาประชันแข้งกัน ผลการแข่งรายการนี้ก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะครั้งแรกของ Taylor Phinney และการผูกขาดชัยชนะของ Marcel Kittel 3 สเตจรวด แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ OPQS และ Mark Cavendish? DT วิเคราะห์ดูไบทัวร์ให้ฟังกันครับ

[separator type=”double”]

1. Phinney พร้อมนำทัพ BMC

ผลงานของ Taylor Phinney ในดูไบเป็นบทพิสูจน์อะไรหลายๆ อย่างสำหรับตัวเขาเองและทีม BMC ครับ ในฐานะอดีตแชมป์ Paris-Roubaix และแชมป์โลก Time Trial ระดับเยาวชน Phinney เป็นนักปั่นที่ชาวอเมริกันและทีม BMC คาดหวังค่อนข้างมาก แต่เขาก็ยังไม่สามารถพลิกชะตาชนะการแข่งขันได้อย่างที่คิด เทียบกับนักปั่นที่อายุเท่ากันอย่าง Peter Sagan ที่มีผลงานตลอดทั้งปี

ชัยชนะสเตจเรซรายการใหญ่ครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัว Phinney และทีม BMC ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นสนามช่วงต้นปีที่ตัวเต็งอาจจะฟอร์มไม่พร้อม แต่อย่าลืมว่าเขาปั่น Time Trial ทำเวลาได้ดีกว่าทั้ง Tony Martin และ Fabian Cancellara สองคู่โหดที่มีลุ้นจะคว้าแชมป์รายการตั้งแต่สเตจแรก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อีกประเด็นก็คือมีไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นหัวหน้าทีมอายุน้อยๆ เหมือน Phinney และ Sagan นั่นก็เพราะว่าการเป็นหัวหน้าทีมต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร อย่างน้อยๆ นักปั่นต้องฝีเท้าดีพิสูจน์ตัวเองให้เพื่อนร่วมทีมเคารพและพร้อมที่จะสละกำลังเพื่อเขา Phinney ทำได้ดีและตั้งใจจริง โดยเฉพาะในสเตจ 2 ที่เขาออกสปรินต์คู่กับขาแรงคนอื่นจนได้อันดับ 3

โดยรวมแล้วชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับ BMC ครับ ฤดูกาลที่แล้วถือเป็นยุคมืดของทีมเลยก็ว่าได้ที่ตัวเต็งหลายคนไม่มีผลงานเลย การที่เพื่อนร่วมทีมชนะการแข่งรายการสำคัญๆ ก็เป็นตัวเร่งกำลังใจให้ลูกทีมคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

2. สปรินเตอร์ระวัง Marcel Kittel ให้ดี

จริงอยู่ว่า Kittel สปรินต์ชนะ Andre Griepel ในสนามไครทีเรียมเปิดตัว Tour Down Under (ไม่นับผลการแข่ง) ทว่าถึงเวลาแข่งจริงกลับเป็น Griepel ที่คว้าชัยชนะสองสเตจโดยที่ Kittel กลับไม่ชนะเลย ทำให้เราสงสัยกันว่าฟอร์ม Kittel จะเป็นยังไงในปีนี้

1658578_10151902063883247_1007198023_o

แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลงานแชมป์ 4 สเตจใน Tour de France ปีที่แล้วไม่ใช่ของปลอมแต่อย่างใด Kittel ชนะสามสเตจรวดในสนามดูไบ ชนะจากขบวนลาก Ginat-Shimano ที่ชงเกมได้สมบูรณ์แบบ และชนะจากการสปรินต์คนเดียวในสเตจ 3 ที่ไม่มีตัวช่วยในตอนท้าย ทั้งสามสเตจที่เขาชนะนั้นทิ้งห่างคู่แข่งได้เกือบช่วงรถ ถ้ายังรักษาฟอร์มนี้ไปได้จนถึง Tour de France สปรินเตอร์ตัวแม่อย่าง Griepel, Cavendish และ Sagan คงต้องระวังตัวให้ดีครับ เผลอๆ อาจจะเป็นม้ามืดที่ฉกเสื้อเจ้าความเร็วจาก Sagan มาครองก็เป็นได้

 

3. OPQS กินแห้ว – หัวลากร้อยล้านยังไม่พร้อม

ทีม Omega Pharma-Quickstep ลงแข่งสนามดูไบในฐานะตัวเต็งอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Tony Martin ที่หวังเอาชนะสเตจ Time Trial และ Mark Cavendish พร้อมกับขบวนลีดเอาท์ระดับโลก แต่ทีมกลับไม่ชนะเลยสักสเตจเดียว เกิดอะไรขึ้นกับ OPQS? ถ้าจะให้สรุปคงต้องบอกว่า โชคไม่เข้าข้าง และยังไม่พร้อม 100% ครับ

เมื่อกระแสลมไม่เข้าข้างแชมป์โลก (Photo @Graham Watson)

อันดับแรก Tony Martin ในฐานะแชมป์โลก TT ผู้จัดแข่งบังคับให้เขาออกตัวเป็นคนสุดท้ายของวันในสเตจ 1 ตามธรรมเนียมตัวเต็งที่จะเริ่มแข่งเป็นอันดับท้ายๆ ซึ่งกรณีนี้ Martin บอกว่าช่วงเย็นมีกระแสลมแรงกว่าตอนบ่ายๆ ที่ตัวเต็งคนอื่นๆ เขาได้ออกปั่นก่อนเช่น Phinney ทำให้ Martin ทำเวลาได้ไม่ดีเท่า จะบอกว่า Martin ฟอร์มไม่ถึงก็ไม่ใช่ครับ เพราะในบทสัมภาษณ์เขาบอกว่าตั้งใจจะเอาแชมป์ทั้งรายการและสเตจแรกเลย ฟิตมาก แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของการแข่งขัน เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ Martin คงต้องไปแก้มือในสนามถัดไป

เรื่องที่สอง เกิดอะไรขึ้นกับขบวนลากของ OPQS? ทั้งๆ ที่มีหัวลากพันล้านอย่าง Mark Renshaw และ Alessandro Petacchi? หลายคนอาจจะคิดว่าหมดเวลาของ Cavendish แล้ว – แก่ไป ใหม่มาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ DT ไม่คิดว่าคำตอบจะง่ายแบบนั้นครับเราลองมาวิเคราะห์กัน

สเตจ 2 – OPQS เป็นขบวนที่ขึ้นมานำเพโลตองตั้งแต่ช่วง 8 กิโลสุดท้าย ทว่าพอถึงจุดสำคัญที่ต้องเปิดเกม Alessandro Petacchi กลับไม่สามารถปิดระยะห่างระหว่างตัวเองกับคู่แข่งได้ ทำให้ Renshaw และ Cavendish หลุดกลุ่มไปหมดสิทธิสปรินต์ Petacchi ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าเขายังไม่หายจากอาการท้องร่วงที่ทำให้เขาต้องถอนตัวจาก Tour de San Luis ตั้งแต่วันแรกไป

สเตจ 3 – เป็นสเตจที่ตัวเต็ง GC ระเบิดเนินจนสปรินเตอร์ตัวเต็งหลุดกันไปเกือบหมด ทั้ง Nizzolo (Trek), Ferrari (Lampre), Guardini (Astana) แต่ Cavendish กลับไม่หลุดกลุ่มนำ ยังเกาะไปได้จนถึงเส้นชัย ทว่าไม่ได้ขึ้นมาสปรินต์แข่งกับ Kittel และ Sagan เพราะหมดแรงจากที่ Rui Costa และ Luca Paolini ฉีกหนีกลุ่มจนทั้งกลุ่มต้องออกแรงไล่ตาม ถ้าตอนท้ายลูกทีม OPQS ช่วยดูแล Cavendish ได้ดีกว่านี้ก็อาจจะได้ออกสปรินต์แข่งกับ Kittel

สเตจ 4 – Cavendish ชนกรวยกั้นถนน เข้าเส้นชัยในสภาพโซ่ตก หมดสิทธิ์สปรินต์

Cavendish อดบู๊
Cavendish อดบู๊

ดูๆ แล้วจากทั้งสามเหตการณ์ Cavendish ไม่ได้ออกสปรินต์ทั้งสามครั้งจากโชคที่ไม่เข้าข้าง (สเตจ 4) และจากที่ขบวนลาก OPQS ทำงานไม่สำเร็จ (สเตจ 2&3) ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าถึงแม้เราจะมีหัวลากระดับโลกนั้นไม่ได้การันตีความสำเร็จ การทำงานเป็นทีมให้ได้สมบูรณ์แบบใช้เวลาและการฝึกฝนพอสมควร Cavendish อาจจะเคยทำงานกับ Renshaw แต่ทั้งคู่ก็ห่างกันไปเกือบสองปีในขณะที่ Petacchi เองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การปั่นของทั้งคู่

Cavendish เคยบอกในหนังสือของเขาว่ากว่าที่ขบวน leadout และสปรินเตอร์จะทำงานจูนกันได้ 100% นั้นต้องใช้เวลาซ้อมด้วยกันอย่างน้อยๆ ก็ 1-2 ปี นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงพึ่งจะเห็นผลงานของทีม Giant-Shimano และ Marcel Kittel ครับ ทีมนี้ใช้เวลาฝึกขบวนสปรินต์หลายปีจนทำงานร่วมกันได้อย่างสามัคคีไร้ที่ติและมาออกดอกออกผลก็ใน Tour de France ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ Kittel เป็นสปรินเตอร์ที่สื่อไม่เอ่ยถึงเสียด้วยซ้ำ ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่ Cavendish อยู่กับ HTC-Highroad แฟนๆ OPQS อาจจะต้องรออีกสัก 2-3 เดือนจนกว่าเราจะได้เห็นฝีมือ 100% ของหัวลากชุดใหม่ แอดมินว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นหัวลากที่แรงและเพอร์เฟคมากๆ แต่ชั่วโมงนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Giant-Shimano คือทีมสปรินเตอร์ที่เพอร์เฟคที่สุดครับ

Marcel Kittel – The German Fastman

 

สรุป

สนามดูไบถึงจะจัดเป็นครั้งแรกแต่ก็สนุกและจัดได้ดีทีเดียว สมชื่อ RCS Sport ผู้จัดแข่งรายการ Giro d’Italia และเป็นสนามที่บอกแววของนักปั่นในปีนี้ได้ดีทีเดียวครับ สนามต่อไป Tour of Qatar เริ่มวันอาทิตย์ที่ 9 ถึง 14 กุมภานี้ อย่าลืมติดตามกัน สนามนี้สิงห์คลาสสิคมากันเพียบ DT พรีวิววิเคราะห์ไว้ให้อ่านแล้ว ติดตามกันได้ที่หน้าโฮมเลยครับ :)

[separator type=”thin”]

ผลการแข่งขัน Tour of Dubai Stage 4

  • 1. Marcel KITTEL, Giant-Shimano, in 2:41:09
  • 2. Mark RENSHAW, Omega Pharma-Quick Step, at :00
  • 3. Andrea GUARDINI, Astana, at :00
  • 4. Roberto FERRARI, Larmpe-Merida, at :00
  • 5. Alexander PORSEV, Katusha, at :00

อันดับผู้ชนะ

  • 1. Taylor PHINNEY, BMC Racing, in 9:31:33
  • 2. Stephen CUMMINGS, BMC Racing, at :15
  • 3. Lasse Norman HANSEN, Garmin-Sharp, at :17
  • 4. Tony MARTIN, Omega Pharma-Quick Step, at :23
  • 5. Fabian CANCELLARA, Trek Factory Racing, at :30

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *