กีฬาจักรยานเป็นที่นิยมในเพศชาย ยิ่งในยุคปัจจุบันหันไปทางไหนก็มีหนุ่มๆ ออกมาปั่นเต็มไปหมด ดังนั้นปัญหาหรือความสนใจทั้งหลายเกี่ยวกับจักรยานจึงเป็นเรื่องของผู้ชาย
มีงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงเรื่องการสืบพันธุ์ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของนักปั่นชาย ในมุมกลับ นักปั่นหญิงก็ต้องเจอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศเยอะไม่แพ้กัน แต่เป็นเรื่องที่พูดถึงในสื่อกระแสหลักน้อย เพราะเทียบจำนวนแล้ว มีผู้หญิงปั่นจักรยานไม่มาก และผู้หญิงเองก็ไม่กล้าบอก ว่า “เราเจ็บตรงนั้น เราปั่นไม่ไหว”
ความแตกต่างทางกายภาพของเพศชายและหญิงมีผลต่อการปั่นจักรยานเสือหมอบเยอะทีเดียวค่ะ เวลาปั่นอวัยวะสำคัญของผู้ชายจะถูกเหน็บขึ้นให้พ้นภัย แต่สำหรับผู้หญิง อวัยวะเพศภายนอก (Vulva) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อ ต้องมาแบกรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้กว่า 40% นานหลายชั่วโมง
ที่แย่กว่านั้นคือ ยิ่งเราพยายามปั่นในท่าก้มลู่ลมมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำร้ายน้องสาวให้บอบช้ำมากขึ้นเท่านั้น ทำให้พวกสาวๆ นักปั่นถึง 2 ใน 3 มีอาการเจ็บและชาบริเวณดังกล่าว และอีกกว่า 10% มีอาการบาดเจ็บของอวัยวะเพศ[1]
ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองหรือเตรียมตัวก่อนปั่นให้พร้อม จะมีปัญหาอีกหลายอย่างตามมาค่ะ ยกตัวอย่างเช่น:
1. ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)
เมื่อต้องใส่ชุดปั่นแนบเนื้อเป็นเวลานานๆ เกิดการสะสมของเหงื่อในจุดลับ ก่อให้เกิดการติดเชื้อราและแบคทีเรียในช่องคลอดได้
2. การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ (UTIs)
ผู้หญิงมีท่อที่ต่อมาจากกระเพาะปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย เวลาต้องปั่นนานๆ หรือจำเป็นต้องอั้นปัสสาวะ จะมีโอกาสติดเชื้อย้อนขึ้นไปได้ง่ายกว่า และเชื้อแบคทีเรียมักมาจากครีมชามัวร์ที่ใช้ทาเพื่อลดการเสียดสีขณะปั่น
3. การสูญเสียความรู้สึก (Loss of sensation)
งานวิจัยของ Andy Pruitt (2006) กล่าวว่า “มากกว่า 62% ของนักแข่งจักรยานหญิง รู้สึกชาและเจ็บอวัยวะเพศภายใน 30 วันที่ผ่านมา”[2] และ Guess MK (2006) ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง “ความรู้สึกของอวัยวะเพศและสมรรถภาพทางเพศของนักปั่นและนักวิ่งหญิง”[3] ผลปรากฏว่า การปั่นจักรยานทำให้ความรู้สึกของอวัยวะเพศหญิงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
4. เจ็บก้น (Saddle Sores)
เป็นปัญหาใหญ่ที่ประสบกันได้ทั้งในนักปั่นชายและหญิง นักฟิตติ้งจักรยานชาวอังกฤษ Jimmy Wilson กล่าวว่า จักรยานมีจุดสัมผัสกับร่างกายทั้งหมด 3 จุด คือ ที่มือ เท้าและก้น เราจำเป็นต้องปรับทุกจุดสัมผัสให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องที่สุด แม้อานจักรยานที่ดีจะมีผลต่ออวัยวะเพศหญิงมาก แต่ตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยได้มากกว่า
ดังนั้นการฟิตติ้ง เพื่อหาตำแหน่งที่พอดีระหว่างประสิทธิภาพการปั่นกับความสบายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับผู้หญิง
กางเกงปั่นจักรยานที่ดี ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หากก้นหรืออวัยวะอันบอบบางต้องเสียดสีกับอานจักรยานนานหลายๆ ชั่วโมง กางเกงเนื้อผ้าดีๆ ซักตัว ถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแก่การลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
5. ความไม่สบายอื่นๆ (Discomforts)
ทุกๆ รอบเดือน หากจำเป็นต้องปั่นจักรยาน การใส่กางเกงในและผ้าอนามัยขณะปั่นเปรียบเหมือนการตกนรกทั้งเป็น มันจะเกิดการเสียดสีและระคายเคืองอย่างมาก นักปั่นหญิงจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) แทน เพื่อไม่ให้ปัญหานี้มากวนใจ
จะแก้ปัญหาพวกนี้ยังไงได้บ้าง?
จะเห็นว่าผู้หญิงมีเรื่องให้ต้องคิดและเตรียมตัวก่อนปั่นไม่น้อยเลยค่ะ แต่ทั้งหมดนี้ก็ ไม่ได้ต้องการให้หนุ่มๆ กังวลหรือเลิกล้มความคิดจะชวนเพื่อนสาวออกมาปั่นจักรยานนะ
สาวๆ ที่ปั่นมานานพอสมควรจะรู้วิธีการป้องกันและจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ทีนี้นักปั่นชายก็น่าจะรู้แล้วว่าเวลาช่วนเพื่อนหรือแฟนสาวไปปั่น เขาต้องรับมือกับอะไรบ้าง ถ้าเธอบ่นว่า “เจ็บตรงนั้น” ก็จะได้เข้าใจและไม่ละเลยถึงปัญหาของผู้หญิงค่ะ
นักปั่นสาวทั้งหลายที่กำลังมีปัญหาเหล่านี้รบกวนจิตใจ โปรดอย่าย่อท้อหรือถอยหนี เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ การป้องกันความเจ็บปวด ไม่สบายจากการปั่นจักรยานไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ตายตัว อาการที่แสดงออกและความรู้สึกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการป้องกันและหลีกเลี่ยง[4] จึงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยและปรับใช้ตามแต่ละบุคคลค่ะ ลองเริ่มจากคำแนะนำตรงนี้
1. เพิ่มชั่วโมงฝึกซ้อม
นักปั่นสาวหน้าใหม่เกือบทุกคนหรือแม้กระทั่งผู้ชายเองก็มีปัญหาความไม่สบายจากการปั่นจักรยาน ดังนั้นการฝึกซ้อมให้คุ้นชินกับเบาะและตำแหน่งการนั่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะปรับตัวจนชินไปเอง
2. เบาะจักรยาน
ต้องพอดีกับความกว้างกระดูกเชิงกราน ท่านั่ง ลักษณะการปั่นของแต่ละคนจะเหมาะกับเบาะที่ต่างกัน ผู้หญิงที่ปั่นหนักและรุนแรง เช่น นักแข่งที่มักก้มตัวต่ำๆ จำเป็นต้องใช้เบาะที่มีบริเวณลดแรงกดทับเยอะๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เบาะ Selle Italia SLR Lady flow [5] ส่วนสาวนักปั่นทางไกลไปไม่เร็ว น้ำหนักส่วนใหญ่มักลงที่กระดูก เชิงกราน ควรวัดความกว้างของกระดูกเชิงกรานเพื่อหาเบาะที่พอดี เพื่อให้เกิดความสบายสูงสุดเมื่อต้องปั่นเป็นเวลานานๆ
3. กางเกงปั่น
ต้องกระชับพอดีไม่หลวมขยับไปมาหรือว่าคับแน่นจนเกินไปและต้องแห้งสะอาดปราศจากเชื้อโรค เพราะกางเกงปั่นจะสัมผัสกับผิวเราโดยตรง และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ห้ามใส่กางเกงในขณะปั่นเด็ดขาด!
4. ครีมชามัวร์
จะช่วยลดการเสียดสีระหว่างผิวและกางเกง ช่วยลดการระคายเคืองขณะปั่นได้
5. โกนขนช่วยได้
การปั่นจักรยานเพิ่มโอกาสการเกิดขนคุดในที่ลับ และขนเองก็เป็นดั่งตัวซับเหงื่อไว้ก่อให้เกิดการระคายเคืองขณะปั่น ดังนั้นอย่าลังเล การโกนขนในที่ลับ ช่วยลดปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม
6. การอาบน้ำชำระล้างร่างกายทันทีหลังปั่นจำเป็นมาก
เนื่องจากหลังปั่นเป็นเวลานานๆ เหงื่อไคลจะผสมกับครีมชามัวร์เป็นตัวสะสมแบคทีเรียและเชื้อโรค อาจเข้าไปยังบริเวณไม่พึงประสงค์ได้ง่ายมากๆ
7. การฟิตติ้งเพื่อหาตำแหน่งของเบาะ
จะช่วยกระจายแรงได้เหมาะสม ผู้หญิงควรลงทุนในการฟิตติ้งเพื่อหาตำแหน่งที่ดีที่สุดเพื่อถนอมอวัยวะสำคัญนี้มากกว่าผู้ชายเสียอีก
สรุป
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงคำแนะนำจากประสบการณ์ของนักปั่นหลายคนที่เคยประสบปัญหา หากสาวๆ ลองใช้วิธีต่างๆ แล้วยังไม่หายเจ็บหรือยังมีความไม่สบายจากการปั่นอยู่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาและแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อจะได้มีประสบการณ์ที่ดีในการปั่นจักรยานค่ะ
◆ ◆ ◆
อ้างอิง
[1] Victoria Hazael, 2016, How to stop female saddle soreness, 26 May 2016, https://www.cyclinguk.org/saddlepain
[2] Pruitt, 2006, Andy Pruitt’s complete medical guide for cyclists. Boulder, CO: VeloPress.
[3] Guess M.K., 2006, Genital sensation and sexual function in women bicyclists and runners: Are your feet safer than your seat?, Jounal of Sexual Medicie. , 3(6):1018-1027
[4] Jessica Strange, 2016, How To: Treat Saddle Sores, 25 October 2016, https://totalwomenscycling.com/lifestyle/how-to-treat-saddle-sores
[5] Michelle Arthurs-Brenna, 2017, Nine best women’s bike saddles 2017, 5 April 2017, http://www.cyclingweekly.com/group-tests/the-best-womens-bike-saddles-163399