ผลิตภัณฑ์ 5 อย่างที่ DT ประทับใจในปี 2017 – วี

ผ่านไปแป๊บ ๆ ก็จะหมดปีอีกแล้ว และในปีนี้ที่กำลังจะผ่านไป DT ก็มีโอกาสได้เห็น หรือได้ลองของใหม่ ๆ มากมาย ทั้งที่ได้รับมาจากผู้สนับสนุนใจดี (ขอบคุณครับ)​ และที่เราออกเงินซื้อเอง

ผลิตภัณฑ์ 5 อย่างที่อยู่ในลิสต์ด้านล่างนี้ คือผลิตภัณฑ์ที่เราทำให้เราตื่นเต้นในปีที่ผ่านมา บางอย่างก็เปิดตัวมาปีนี้ ยังมาไม่ถึงมือเรา บางอย่างก็เปิดตัวมานานแล้ว แต่เราเพิ่งได้ลองในปีนี้ ดังนั้นในลิสต์นี้จะมีทั้งของที่เราได้ลองใช้แล้วชอบและของที่เราเห็นแล้วอยากลองในปี 2017 นี้ครับ


1. Mavic Road UST

ในปัจจุบัน การใช้ยางในร่วมกับยางนอกที่เราใช้ ๆ กันอยู่จะมีข้อจำกัด 2 ประการ คือแรงเสียดทานระหว่างยางในกับยางนอกจะเพิ่มความต้านทานการหมุนเล็กน้อย และการจะผลิตยางซิ่ง ๆ ต้องแลกมากับความเสี่ยงยางรั่วที่มากขึ้น

ยางทิวป์เลสเป็นเทคโนโลยีที่ผมสนใจมานานแล้ว เพราะเทคโนโลยีนี้ทำให้ยางนอกมีความต้านทานการหมุนที่ต่ำไปพร้อม ๆ กับทนรั่วได้ดี เนื่องจากไม่ต้องใช้ยางในและสามารถใส่สารกันรั่วได้ตามลำดับ

แต่ถึงจะมีผู้ผลิตหลายเจ้าพยายามผลักดัน แต่ยางทิวป์เลสสำหรับจักรยานถนนก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรสักที เพราะมีปัญหาคาราคาซังมานานตั้งแต่เริ่มเปิดตัว คือ

  1. แรงดันลมในยางเสือหมอบนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับเสือภูเขาหรือไซโคลครอส ทำให้ต้องผลิตล้อด้วยขอบหนา ๆ เพื่อทานแรงดันลมให้ได้ ทำให้ล้อหนัก ขายยาก และ
  2. ตอนขึ้นยางและถอดยางทำยากมาก เพราะขอบยางทิวป์เลสที่ต้องซีลอากาศมิดชิดโดยไม่พึ่งยางในนั้นจะฟิตกับล้อแน่นกว่ายางงัดทั่วไป ถ้าเกิดยางรั่วกลางทางนี่หายนะสุด ๆ

ในส่วนปัญหาข้อที่ 2 พอดูให้ลึกลงไปจะพบว่าการผลิตล้อทิวป์เลสและยางทิวป์เลสนั้น ไม่มีมาตรฐานกลางที่ดีนัก คือองค์กรเทคนิคยางและล้อของยุโรป (ETRTO) กำหนดว่าผู้ผลิตล้อขนาด 700c นั้นต้องมีเส้นรอบวง 621.95 มม. ± 0.5 มม. จึงจะได้มาตรฐาน ซึ่งหมายความว่าล้อที่​ “ได้มาตรฐาน” นั้น อาจมีเส้นรอบวงต่างกันได้ถึง 1 มม. คือ 621.45 มม. (“เล็ก”) ไปจนถึง 622.35 มม. (“ใหญ่”) ในขณะที่ทางผู้ผลิตยางนั้นไม่ได้ถูกกำหนดมาตรฐานชัดเจน แค่ผลิตยางให้เข้ากับล้อที่ได้มาตรฐานก็เพียงพอ

และนั่นก็คือที่มาของปัญหาสำหรับทิวป์เลสครับ เพราะผู้ผลิตยางต้องเลือกระหว่างผลิต “ยางใหญ่” ซึ่งฟิตพอดีกับล้อใหญ่ แต่ใหญ่เกินไปสำหรับล้อเล็ก ทำให้เวลาใช้งานมีโอกาสปลิ้นออกจากขอบแล้วลมรั่วกะทันหันได้ กับผลิต “ยางเล็ก” ซึ่งฟิตพอดีกับล้อเล็ก แต่เล็กเกินไปสำหรับล้อใหญ่ ทำให้เวลาขึ้นยางหรือถอดยางลำบากมาก งัดจนไม้งัดยางหักก็ไม่เข้าไม่ออก และแน่นอนว่าผู้ผลิตก็ต้องเลือกชอยส์หลังอยู่แล้ว งัดยากก็ยังดีกว่ามีคนลมรั่ว แหกโค้ง เกิดอุบัติเหตุ แต่มันก็ทำให้เทคโนโลยีทิวป์เลสมีอุปสรรคเวลาใช้งานมากตามกัน

แล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา Mavic ได้ออกมาตรฐานใหม่ของยางทิวป์เลสสำหรับจักรยานถนน ชื่อ Road UST ซึ่งกำหนดความคลาดเคลื่อนของเส้นรอบวงล้อให้น้อยลงอีก คือ 621.95 มม. ± 0.35 มม. ทั้งยังกำหนดมาตรฐานของยางด้วย ว่าขอบยางต้องมีขนาดเส้นรอบวงเท่าไร สติฟแค่ไหน อนุญาตให้คลาดเคลื่อนได้เท่าไร ผลลัพธ์ก็คือล้อและยาง Road UST เข้ากันได้พอดีเป๊ะ ขึ้นง่าย ถอดง่าย และปลอดภัยครับ

เห็นไซม่อน ริชาร์ดสัน จากช่อง GCN ได้รับเชิญจาก Mavic ให้ไปเยี่ยมชมโรงงาน พร้อมให้ลองขึ้นยางเองด้วยนิ้วโดยไม่ใช้ไม้งัดยางแล้ว ผมสนใจสุด ๆ ครับ

 

2. Hammerhead Karoo

ราคา pre-order: $299
กำหนดส่งมอบ: ม.ค. – เม.ย. 2018
น้ำหนัก: 188 กรัม

Hammerhead เป็นบริษัทน้องใหม่จากสหรัฐ เคยออกไมล์จักรยานไปเมื่อปี 2014 ชื่อ H1 แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ชื่อ Karoo ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็คือมือถือ Android 7.0 เวอร์ชั่นดัดแปลงสำหรับใช้กับจักรยาน โดยชูจุดเด่นเรื่องการนำทางเป็นพิเศษ สามารถนำทางได้เหมือนเวลาใช้ Google Maps นำทางตอนขับรถ หรือเดินเที่ยวเมืองต่าง ๆ เวลาไปต่างประเทศเลย

แต่สำหรับการปั่นจักรยานแล้วดีกว่าใช้มือถือตรง ๆ เพราะแบตเตอรี่ทนกว่า เครื่องเล็กเหมาะกับติดหน้าแฮนด์มากกว่า ภายในใช้ชิป GPS ที่แม่นยำกว่า (ถึงขั้นแยกได้ว่าเราอยู่เลนซ้ายหรือเลนขวา) หน้าจอทัชสกรีนถึงมีหยดน้ำเกาะก็สั่งการได้ และตัวเครื่องทนน้ำ ทนฝน และทนแรงกระแทกได้ดีกว่ามือถือ อีกอย่างที่สำคัญคือไม่ต้องปั่นมือเดียว มืออีกข้างถือโทรศัพท์นำทาง เวลาหลงทางครับ (ยกเว้นคนที่ใช้เมาท์จับมือถือโดยเฉพาะ)

ณ วันนี้ Karoo ยังไม่จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป เพราะมีปัญหาล่าช้าในการผลิตและการทำเฟิร์มแวร์ ทำให้บริษัทส่งของไม่ทันตามกำหนดการเดิมคือ ต.ค. 2017 และตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งภายใน ม.ค. 2018 สำหรับลูกค้าคิวแรก ๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไปสำหรับไมล์จักรยานตัวนี้ครับ

ผมรู้สึกเป็นคนขี้เบื่อมาก ๆ ปั่นเส้นทางเดิม ๆ แป๊บเดียวก็เบื่อ ปั่นรอบสกายเลนได้สามรอบก็เบื่อเต็มทนแล้ว ชอบเสาะหาเส้นทางใหม่ ๆ แล้วก็หลงทางบ่อย ๆ เป็นผลตามกัน ต้องหยิบมือถือมาหาทางประจำ ก็เลยสนใจไมล์ตัวนี้เป็นพิเศษครับ

 

3. Fix It Sticks

ราคา: 2 แท่ง $29.99, ตัวตัดโซ่ $16.00, ค่าส่งมาไทย $10
การได้มา: ซื้อเอง
น้ำหนัก: Fix It Sticks 2 แท่ง 55 กรัม, ตัวตัดโซ่ 51 กรัม

ผมไม่เคยชอบเครื่องมือพกพาทรงมีดพับที่นิยมขายกันทั่วไปเลย มันหนัก มันมีเครื่องมือหลายอย่างที่ตัวเรารู้ว่าไม่ได้ใช้แน่นอนเวลาปั่น (ไขควงหัวแบน ??) มันไม่ล็อกเวลาใช้ ออกแรงขัน ๆ ไปแล้วมันก็จะพับเข้าออก และถ้าซื้อตัวที่พกง่าย ๆ ก้านไขควงก็สั้นตาม เข้าไม่ถึงน็อตตัวลึก ๆ อีก เช่น น็อตใต้หลักอาน น็อตขากระติก เป็นต้น

จนวันที่ผมเห็นโปรเจ็คใน Kickstarter ของคุณไบรอัน เดวิส เมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นก้านประแจ 2 ก้าน 4 หัว เวลาใช้ให้ประกอบกันเป็นรูปตัว T แล้วใช้งานได้เหมือนประแจตัว T ที่บ้านเลย ทั้งเบา ทั้งมินิมอล และทั้งใช้งานได้จริง เห็นแล้วชอบมาก แต่ราคาค่างวดก็แพงมากเมื่อคิดว่ามันคือประแจ 4 หัวเฉย ๆ ไหนจะบวกค่าส่งอีก ก็เลยปล่อยผ่านไป

จนกระทั่งในปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับเพื่อน ๆ และมีเพื่อนในกลุ่มโซ่ขาดถึง 2 คนในวันเดียวกัน (ดวงอับเฉามาก ๆ) เลยได้มีโอกาสใช้ตัวตัดโซ่ที่อยู่ในเครื่องมือพกพาเป็นครั้งแรก และพบว่ามันเลวร้ายสุด ๆ มันไม่เหมือนเครื่องมือตัดโซ่ชนิดไม่พกพาที่เคยใช้ ด้วยความกะทัดรัดของมันทำให้มันมีระยะคานดีดคานงัดที่สั้นมาก ปรากฏว่าตัดโซ่ไม่ขาด ต้องไปหายืมคีมมาจากร้านค้าแถวนั้นเพื่อเพิ่มระยะคานดีดคานงัด ยังโชคดีที่หาได้

กลับมาที่ไทย เห็นคุณไบรอันออกผลิตภัณฑ์เพิ่มมาในงาน Eurobike พอดี ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นตัวตัดโซ่ โดยใช้ก้าน Fix It Sticks ของเดิม 2 ก้านเป็นด้ามจับ ผมเลยได้โอกาสบอกลาเครื่องมือพกพาแบบเดิม ๆ เลยคราวนี้ จัดมาทั้ง Fix It Sticks และตัวตัดโซ่

ปรกติเวลาออกไปปั่น ผมจะมีกระเป๋าสตางค์อีกใบซึ่งไม่ใช่ใบที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และทุกวันนี้ก็มี Fix It Sticks อยู่ติดกระเป๋าเสมอครับ ไม่เอาออกเลย

 

4. Specialized Bandit

ราคา: 800 บาท
การได้มา: ซื้อเอง
น้ำหนัก: 50 กรัม (รวมไม้งัดยาง 1 ไม้ที่ Specialized ให้มาด้วย / แต่ในรูปเป็นของผมเอง ของ Zefal)

Specialized มีผลิตภัณฑ์ในไลน์อัพ S.W.A.T. (Storage, Water, Air, Tools) จำนวนมาก ซึ่งจุดประสงค์ของทั้งหมดก็คือเก็บสิ่งที่ต้องใช้เวลาออกไปปั่นไว้ในที่ ๆ มิดชิด เนี๊ยบ แต่หยิบใช้งานสะดวก เช่นเอาตัวตัดโซ่ไปไว้ในซาง เอาเจลไปไว้ในกล่องที่ข้อต่อท่อล่างกับท่อนั่ง (Roubaix) เอาเครื่องมือพกพาไปไว้ในข้อต่อโช้คหลัง (Epic) เป็นต้น หลายอย่างเห็นแล้วก็รู้สึกว่า เข้าใจคิดดี

แต่อันที่ผมซื้อมาใช้ ชื่อ Bandit (เป็นการเล่นคำ จากคำว่า band it ที่แปลว่า “พันมันไว้”) เป็นอุปกรณ์เสริมของอาน Specialized อีกที คือตรงใต้อานส่วนท้ายของ Specialized ทุกอัน มันจะมีน็อตตัวเมียมาให้อยู่แล้ว 2 ตัว แล้วเจ้าตัว Bandit นี้ก็จะยึดน็อตเข้ากับตรงนั้น อีกด้านเป็นผ้าเหนียว ๆ ที่มีตีนตุ๊กแกอยู่อีกฝั่ง ไว้สำหรับพันยางในสำรอง 1 เส้น ไม้งัดยาง 1 ไม้ และ CO2 1 กระบอกพร้อมอแดปเตอร์ไว้ใต้อาน เปลือยมาก แต่ก็มินิมอลมาก ส่วนตัวผมไม่ใช้ CO2 อยู่แล้ว เซ็ตอัพก็เลยเป็นยางใน 1-2 เส้น กับไม้งัดยาง 2 ไม้แทน

แต่ก่อนเคยใช้กระเป๋าใต้อาน พอเปลี่ยนมาใช้ Bandit แล้ว ด้วยความเปลือยของมันทำให้น้ำหนัก Bandit + ยางใน 1 เส้น + ไม้งัดยาง 2 ก้าน เท่ากับกระเป๋าเปล่าของเดิมเลย ถูกใจสาวกลัทธิตาชั่งยิ่งนักครับ

 

5. Speedplay Zero Aero Walkable Cleat – Team Green Edition

ราคา: 2,300 บาท
การได้มา: ซื้อเอง
น้ำหนัก: 213 กรัม

สิ่งหนึ่งที่ผมและหลาย ๆ คนบ่นเกี่ยวกับบันได Speedplay (แต่ก็ทนใช้ต่อไป) ก็คือความลื่นของคลีตมัน เพราะผิวนอกสุดของมันเป็นแผ่นโลหะ เวลาลงจากจักรยาน เดินบนผิวเกลี้ยง ๆ เช่นปูนขัดมัน หรือพื้นกระเบื้อง ก็มักจะสไลด์ขาฉีก แหวกทุเรียนกันเป็นประจำ อีกทั้งเมื่อใช้ไปนาน ๆ แผ่นโลหะนี่ก็จะสึกไปถึงหัวน็อตที่ยึดมันไว้ หรืออย่างน้อยสุดก็ต้องมีขี้ดินเข้าไปอุดหัวน็อตสี่แฉกนี่ สองอย่างนี้ทำให้เวลาไขออกเพื่อเปลี่ยนคลีตทำได้ยากมาก

จนกระทั่งเมื่อประมาณปีที่แล้ว Speedplay ออกคลีตใหม่มา ราคาก็มหาโหดตามสไตล์ แต่มีฟีเจอร์คือแผ่นครอบคลีตที่ทำจากยางแข็ง ๆ เหนียว ๆ มาเกี่ยวแล้วครอบแผ่นโลหะไว้อีกที Speedplay เคลมว่ามันทำให้แอโร่มากขึ้นด้วยผิวหลุม ๆ เหมือนลูกกอล์ฟ แต่เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าจริงแค่ไหน ถ้าไม่ได้ใช้อุโมงค์ลม

แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนคือมันเดินง่ายขึ้นมาก อาาาห์ ทำไมพวกคุณไม่คิดให้มันเร็วกว่านี้ ! แถมน็อต 4 ตัวที่ยึดแผ่นโลหะไว้ก็ไม่สึก ไม่ถูกขี้ดินอุดแล้วอีกต่างหาก ยิงปืนนัดเดียว ได้นก 3 ตัว จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ

นอกจากนี้ในซองยังมี cleat buddy มาให้ด้วย ซึ่งคือฝาสำหรับปิดรูกลางเลย ทำให้เดินลุยดินฝุ่นได้ดีขึ้น เผื่อเวลาต้องเดินจริงจัง แต่ถ้าจะใช้ต้องพกติดตัวเวลาไปปั่นด้วย เพราะมันจะบล็อกการคลิปเข้าบันได เวลาจะกลับมาปั่นก็ต้องถอดเก็บ ผมเลยไม่ได้เอามาใช้ครับ

บางคนบอกว่ายังไม่ทันใช้ แผ่นยางครอบนี่ก็หลุดแล้ว ส่วนตัวผมใช้มาหลายเดือน ยังแน่นดีนะครับ ตอนใส่ก็ต้องรั้งทึ้งดันดึงอยู่นาน ก็คิดว่าไม่น่าจะหลุดง่าย ๆ ครับ

* * *

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott