เหตุผล 5 ข้อที่คนปั่นอย่างเรารักจังหวัดมิยากิ

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวขาเข้าจังหวัดมิยากิ อย่างไรก็ตามเนื้อหาภายในบทความเป็นความเห็นและมุมมองของ DT ทั้งหมด ทางองค์กรฯไม่ได้กำหนดเนื้อหาในบทความว่าต้องนำเสนอเรื่องใดเป็นพิเศษแต่อย่างใด


เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางทีมงาน DT ทั้งสามคนได้กลับไปเยือนจังหวัดมิยากิ ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่สามของพวกเราแล้วในระยะเวลา 10 เดือน ถ้ามันน่าเบื่อไม่มีอะไรทำ เราคงไม่ไปซ้ำถึงสามครั้งในระยะเวลาสั้น ๆ แค่นี้แน่นอน แล้วถ้าอย่างนั้นทำไมเราจึงติดใจจังหวัดนี้นักล่ะ? หลังไปเยี่ยมเยือนมาสามครั้ง ผมพอจะตกผลึกคำตอบได้เป็นเหตุผล 5 ข้อ ดังนี้ครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่สงสัยว่ามิยากินี่มันอยู่ตรงไหนของญี่ปุ่น แนะนำให้ปูพื้นด้วยบทความนี้ของเราก่อนครับ

1. จากน้ำทะเลถึงพันแปดร้อยเมตร ทั้งหมดในจังหวัดเดียว

ทางตะวันออกของจังหวัดมิยากิคือมหาสมุทรแปซิฟิก และทางตะวันตกคือภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ดังนั้นทิวทัศน์ข้างทางระหว่างปั่นจึงไม่จำเจเลย ตั้งแต่ชายฝั่ง นาข้าว ป่าสน ไปจนปากกล่องภูเขาไฟที่ยังมีหิมะปกคลุมอยู่ แม้ผ่านหน้าหนาวมาแล้วสองเดือนเต็ม ๆ

ในฐานะคนไทยแล้วเราจะเคยชินกับการเลือกไปภูเขา (เหนือ) หรือไปทะเล (ใต้) มากกว่า เพราะงั้นเราจึงตื่นเต้นพอตัวกับมิยากิซึ่งมีภูเขาสูงเกือบสองพันเมตรและอยู่ห่างทะเลแค่ ~50 กม. ระยะทางเท่านั้นหมายความว่าตอนเช้าเราอาจยืนมองคลื่นอยู่ แล้วตอนบ่ายได้ขึ้นยอดเขาไปดูวิวพาโนรามาของทั้งจังหวัดแล้วก็ย่อมได้

© Pohan Chen/Miyagi Inbound DMO
© Anut Pruksuwat

2. ออนเซ็นที่มีคุณสมบัติฟื้นฟูขา

เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ตั้งอยู่บนเขตภูเขาไฟ (วงแหวนแห่งไฟ) ประเทศนี้จึงมีบ่อน้ำร้อนตามธรรมชาติ (ออนเซ็น) ถึงเกือบ 30,000 แห่ง และออนเซ็นก็เป็นส่วนสำคัญมากของวัฒนธรรมญี่ปุ่นถึงขนาดมี “กฎหมายออนเซ็น” ทีเดียว ซึ่งกำหนดไว้ว่าแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งหนึ่งต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างถึงจะนับว่าเป็นออนเซ็นได้ ทั้งยังกำหนดประเภทของออนเซ็นไว้อีก 11 ประเภทตามแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำ และแร่ธาตุแต่ละอย่างก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ช่วยให้ผิวนุ่มเนียน ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ ช่วยให้ร่างกายคงความร้อนไว้ได้นานหลังขึ้นจากบ่อ เป็นต้น ทำให้แต่ละจังหวัดนำข้อดีเหล่านี้มาเป็นจุดขายแข่งกันได้อีก ประเทศช่างคิดนี่เขาขายได้ทุกอย่างจริง ๆ

จังหวัดมิยากิเองก็มีแหล่งน้ำร้อนขึ้นชื่ออยู่หลายที่ เช่น นารุโกะออนเซ็น และอากิอูออนเซ็น แต่ที่เราคิดว่าน่าสนใจกว่าทั้ง ๆ ที่มันไม่ดังมากก็คือ โทกัตตะออนเซ็น เพราะตำนานท้องที่เชื่อกันว่าออนเซ็นแห่งนี้ช่วยฟื้นฟูสะโพกและขาได้ดี ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและปวดปลายประสาทได้อีกด้วย จะมีคุณสมบัติอะไรเหมาะกับคนปั่นจักรยานได้เท่านี้อีก

แต่ไม่ว่าตำนานท้องที่จะเท็จจริงแค่ไหน การแช่น้ำร้อนใด ๆ ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้อยู่แล้ว ในทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็นำความร้อนมารักษาโรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้เพราะความร้อนจะช่วยให้เส้นเลือดขยาย นำเลือดและสารอาหารมาหล่อเลี้ยงและซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น และความร้อนก็ช่วยให้กล้ามเนื้ออ่อนนุ่มลงและยืดหยุ่นดีขึ้น โอกาสเกิดพังผิดและการบาดเจ็บก็น้อยลง ดังนั้นถ้าน้ำร้อนที่นี่จะช่วยเรื่องขาและสะโพกเป็นพิเศษก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก เหมาะกับการแช่หลังการปั่นขึ้นเขายิ่งนัก

โทกัตตะเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ตรงตีนเขาซาโอ (เขาที่สูงที่สุดซึ่งกล่าวไปในข้อที่ 1) และออนเซ็นในเมืองนี้ก็มีประวัติยาวนานมากกว่า 400 ปี มีบ่อออนเซ็นสาธารณะอยู่ 2 แห่ง เพียง 330 เยนก็สามารถเข้าใช้บริการได้หากเป็นเดย์ทริป (ไม่ค้างคืน) และก็มีโรงแรมอยู่อีกจำนวนหนึ่งเช่นกันซึ่งมีจุดจ่ายน้ำของตัวเอง ที่สำคัญคือน้ำร้อนที่นี่แช่ง่าย มือใหม่ก็ลงได้ ไม่มีกลิ่นกำมะถันแรงอย่างบางที่ซึ่งแบบนั้นต้องอาศัยประสบการณ์และความเคยชินกันหน่อย

© Miyagi Inbound DMO

3. เจ้าของร้านจักรยานที่เคยเซอร์วิสระดับแกรนด์ทัวร์มาแล้ว

ทางตอนเหนือของเมืองเซนไดซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดมิยากินั้น มีร้านจักรยานเสือหมอบเพียว ๆ อยู่ร้านหนึ่ง ชื่อว่า​ Belle Equipe (ฝรั่งเศส: “ทีมที่สวยงาม”) นอกจากชื่อจะไม่ธรรมดาแล้ว คุณโทรุ เอ็นโด เจ้าของร้านนั้นไม่ธรรมดายิ่งกว่า เพราะตอนสมัยหนุ่ม ๆ แกเคยเป็นช่างประจำทีมอาชีพในยุโรปด้วย ทีมนั้นมีชื่อว่า Post Swiss Team (1997–2001) ที่ถึงแม้จะเป็นทีมดิวิชั่นสอง แต่เคยได้รับเชิญ (wildcard invitation) ให้เข้าร่วมงานแข่งอย่างวูเอลต้าเอสปัญญ่ามาแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นเรายังสืบทราบมาว่า ถ้าย้อนไปก่อนที่คุณเอ็นโดมาเป็นช่างประจำทีม Post Swiss อีก แกเคยเป็นตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่นไปแข่งเสือหมอบตามสนามต่าง ๆ ในยุโรปด้วย เรียกว่าเพดิกรีสายแข่งขันเข้มข้นมาก ๆ จากนักกีฬาทีมชาติ สู่ช่างประจำทีมในยุโรป สู่ร้านจักรยานซิ่งในจังหวัดมิยากิครับ

© Anut Pruksuwat

และราวกับจะลองวิชากับช่างจักรยานแกรนด์ทัวร์ ตอนที่พวกเราไปถึงร้าน Belle Equipe พี่คูนเจ้าสำนักเสือเป็ดของเราก็ยก Tarmac SL6 คู่กายไปหาลุงเอ็นโด พร้อมปัญหาโลกแตก…

“มันมีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดอยู่แถวห้องกะโหลกครับ”

ทุกท่านที่ปั่นจักรยานมาสักพักน่าจะทราบดีว่ามันโลกแตกอย่างไร สาเหตุนี่มีได้ร้อยแปดอย่าง และสัก 106 ในนั้นก็ไม่ได้มาจากกะโหลกหรอก…

เนื่องจาก Tarmac SL6 ของพี่คูนนั้นใช้เกียร์ไฟฟ้าไร้สาย ทุกคนก็เดากันว่าไม่น่าจะมาจากระบบขับเคลื่อน

แต่หลังจากลุงเอ็นโดเอาจักรยานคันนั้นขึ้นแท่นซ่อม จับนู่น ขยับนี่ อยู่ไม่ถึง 60 วินาที แกก็บอกกับพวกเรา เหล่าแกะน้อยไร้วิชา ว่า

“น็อตยึดสับจานมันหลวมน่ะ”

แล้วเสียงเอี๊ยดอ๊าดที่ว่านั่นก็สงบลงด้วยประแจหกเหลี่ยมเพียงหนึ่งตัวและเวลาไม่ถึง 90 วินาที

4. กาแฟดีงามท่ามกลางป่าเขาและสายน้ำ

จักรยานกับกาแฟนั้นแยกจากกันไม่ได้ เช่นนั้นแล้วที่ไหนมีกาแฟดีเป็นหมุดหมายก็ย่อมได้แต้มต่อในฐานะปลายทางการปั่นจักรยานครับ

ปรกติเวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัด ความคาดหวังเราเกี่ยวกับกาแฟอาจจะลดลง ขอแค่พอตื่นก็เอาแล้ว รสชาติหรือคุณภาพเอาไว้ลำดับถัดมาก็ได้ ดังนั้นเราจึงประหลาดใจมากว่าร้านกาแฟชิค ๆ ระดับ avant garde ในจังหวัดมิยากิไม่ได้หาได้เฉพาะย่านฮิป ๆ ในตัวเมืองหลวงอย่างเซนได (ลองนึกเทียบกับร้านบ้านเรา ก็เช่น Kaizen Coffee Co. เอกมัย, Ink & Lion ทองหล่อ, Tibbetts Coffee House ขอนแก่น, หรือ Asama Cafe เชียงใหม่ เป็นต้น) แต่กลับมีร้านที่อยู่ไกลปืนเที่ยงจนอดสงสัยไม่ได้ว่าหาลูกค้าจากไหนอยู่ด้วย

และด้วยความบังเอิญ ครั้งนี้เราได้ไปพบโรงคั่วอิสระอยู่ท่ามกลางหุบเขาอยู่โรงหนึ่งบนทางหลวงหมายเลข 457 ชื่อว่า Café Fua ซึ่งสันโดษมาก คืออยู่ห่างจากเซนไดไปอีกราว 1 ชม. โดยการขับรถ ภายนอกคือบ้านเดี่ยวหนึ่งหลัง ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม และเงาของภูเขาไฟซาโอสูงตะหง่าน ส่วนด้านตรงข้ามบ้านหลังนี้คือฟาร์มเลี้ยงโคนมและโรงงานผลิตชีสของท้องถิ่น

กลางป่าเขาและสายน้ำสุด ๆ อยากให้ลองสำรวจพื้นที่จริงจาก Google Street View ดูครับ

แต่พอเปิดประตูเข้าร้านไปแล้ว กลับพบภาพที่ย้อนแย้งกับสถานที่ตั้งโดยสิ้นเชิง คือมีเครื่องคั่วเครื่องยักษ์ตั้งอยู่ทางเข้า มองเข้าไปเห็น La Marzocco Strada 3 กรุ๊ปเฮดตั้งอยู่อย่างสวยงาม และมองลึกเข้าไปอีกก็พบ Mahlkönig EK43 ตั้งอยู่หลังบาร์ด้วย

หลังจากทักทายคุณลุงและคุณป้าเจ้าของร้าน ถอดรองเท้าวางไว้หน้าบ้าน แล้วเดินเข้าไปพร้อมกับสอดสายตาชายมองของอื่น ๆ ในร้าน ไม่นานเราก็พบเมล็ดกาแฟคั่วจากแหล่งต่าง ๆ บรรจุขายอยู่บนชั้น ซึ่งในบรรดาเมล็ดเหล่านั้นมี Panama Geisha La Esmeralda ราคาแพงระยับด้วย และเมื่อมองห่างออกมาอีกนิดก็พบรูปถ่ายของคุณลุงเจ้าของร้านกับเจ้าของฟาร์มในประเทศโคลอมเบียอีก ขนาดนี้ก็มั่นใจแล้วว่าร้านนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน มีบินไปเยี่ยมไร่กาแฟถึงอเมริกาใต้ด้วยตัวเองซะด้วย

พูดคุยกันอยู่นานสองนาน กาแฟอีกสองสามแก้ว เราก็ได้รู้ว่าลูกค้าหลักของคุณลุงก็คือคนในตัวเมืองเซนไดนั่นแหละ บ้างก็ขับรถเล่นวันหยุดมา 1 ชม. เพื่อมาทานกาแฟและหย่อนใจในชนบท บ้างก็บิดบิ๊กไบค์มากันเป็นหมู่คณะ

คุณลุงยังเล่าให้เราฟังอีกว่า เคยไปออกบูธในงาน World Specialty Coffee Conference and Exhibition ของสมาคมกาแฟพิเศษญี่ปุ่นมาแล้วถึงสองครั้ง

และดูเหมือนร้านล้ำ ๆ แถวนี้ก็ไม่ได้มีแค่ Café Fua เสียด้วย เพราะระหว่างปั่นเข้าตัวเมือง ก็เจออีกร้านที่ชิคไม่แพ้กัน ชื่อ In Vitro Coffee Roasters ซึ่งก็แนวเดียวกันคือ ร้านเดี่ยว บนถนนชนบทเงียบ ๆ รอบข้างโล่งสนิท แต่ข้างในจัดเต็มเหมือนกัน เสียดายที่เราไม่ได้เข้าไปลองครับ

5. ประสบการณ์แปลกใหม่ในภูมิภาคของญี่ปุ่นที่ยังไม่ค่อยมีคนมาปั่น

เมื่อพูดถึงการปั่นจักรยานที่ญี่ปุ่น สถานที่แรกที่ทุกคนนึกถึงก่อนคงไม่พ้นชิมานามิไคโดครับ รองลงมาก็อาจจะเป็นเส้นขึ้นภูเขาไฟฟูจิด้วยทางหลวงหมายเลข 150 ตามรอยมังงะโอตาคุปั่นสะท้านโลก ถ้าคนที่สนใจการท่องเที่ยวจักรยานขึ้นมาอีกหน่อย ก็อาจจะเคยได้ยิน นิเซโกะคลาสสิค กับ ทัวร์เดโอกินาว่า มาบ้าง

แต่น้อยคนนักจะนึกถึงโตโฮกุในฐานะจุดหมายการปั่นจักรยาน

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะจากการสำรวจ Strava Heat Map ของประเทศญี่ปุ่น เราพบว่าภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น (โตโฮกุ) นั้นเป็นโซนลับแลของวงการจักรยานประเทศนี้ เพราะแม้แต่เกาะชิโกกุที่คนปรกติไม่รู้จักกัน ก็ได้ชิมานามิไคโดมาช่วยทำให้ดังเป็นพลุแตกไปแล้วในโลกจักรยาน ในขณะที่การท่องเที่ยวด้านจักรยานของโตโฮกุยังอยู่ในช่วงตั้งตัว การที่เราได้มาเยือนที่นี่ตั้งแต่เขาเริ่มโปรโมตใหม่ ๆ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และ exclusive พอสมควรครับ เอาไปเล่าให้เพื่อนฟังก็มักได้ท่าทีประหลาดใจและสนอกสนใจอยู่บ่อย ๆ

ทิ้งท้ายก่อนจากกันด้วยวิธีการเดินทางไปมิยากิครับ ขอยกมาจากบทความเก่าทั้งย่อหน้าเลย

จากไทยไปมิยากิยังไง

ตรงนี้ขึ้นกับว่าเอาจักรยานไปหรือไม่ครับ ถ้าไม่ได้เอาจักรยานของตัวเองไป สามารถบินลงที่สนามบินโตเกียวนาริตะหรือฮาเนดะ แล้วต่อชินคันเซนอีก 1 ชม. 40 นาทีไปลงเซ็นไดได้ง่าย ๆ แต่ถ้ามีจักรยานไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปเป็นหมู่คณะแล้ว การลากกระเป๋าจักรยานออกจากสนามบิน ต่อรถไฟเข้าเมือง เปลี่ยนสถานีไปขึ้นชินคันเซน ลากกระเป๋าเข้าชินคันเซนซึ่งจอดแป๊บเดียว ฯลฯ ไม่สนุกครับ กรณีนี้แนะนำให้บินไปลงสนามบินเซ็นไดเลยจะสะดวกกว่า แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเที่ยวบินตรงจากไทย ดังนั้นทางเลือกก็จะมีสายการบิน ANA ของญี่ปุ่น เปลี่ยนเครื่องที่นาริตะ, EVA ของไต้หวัน เปลี่ยนเครื่องที่ไทเป, และ Asiana ของเกาหลี เปลี่ยนเครื่องที่โซลครับ ทั้งสามทางเลือกใช้เวลาเดินทางจากสุวรรณภูมิรวมประมาณ 9-10 ชม. ไม่ต่างจากลงโตเกียวแล้วต่อรถไฟเท่าไร แต่ไม่ต้องลากจักรยานเองครับ

edit 2019-08-28: ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคม 2019 เป็นต้นไป จะมีไฟลต์ตรงของการบินไทยจากสุวรรณภูมิไปเซ็นไดแล้วครับ

© Anut Pruksuwat

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *