1. Tour of Flanders คือแกรนด์สแลมของรายการคลาสสิค
Tour of Flanders มีชื่อเล่นว่า ‘De Ronde’ หรือ Ronde Van Vlaanderen ในชื่อภาษาดัทช์ เป็นสนาม cobbled classic ที่สำคัญที่สุดในฤดูกาลคลาสิคในเบลเยียมครับ (Paris-Roubaix จัดเป็นสนามคลาสิคที่อยู่นอกเหนือตารางแข่งของซีรีย์คลาสสิคในเบลเยียมที่เราเรียกว่า Flanders Classics ครับ)
รายการนี้ไม่ใช่สนามคลาสสิคที่เก่าที่สุด (ปีนี้เป็นปีที่ 101) และก็ไม่ได้มีระยะทางยาวไกลที่สุด (260 กิโลเมตร เทียบกับ Milan-San Remo 300 กิโลเมตร) แต่มันเป็นสนามแข่งที่ชาวเบลเยียมจัดว่าเป็นมหกรรมกีฬาระดับชาติที่จะต้องมีทุกปี และมีผู้ชมรายทางนับล้านคน ระดับ The Mask Singer เรียกได้ว่าถ้าคุณไปถามคุณยายที่กำลังเดินไปจ่ายตลาดว่าฟิลลิป จิลแบร์หรือทอม โบเน็นคือใคร คำตอบของคุณยายจะไม่ใช่แค่ “นักปั่นชื่อดัง” แต่เผลอๆ จะวิเคราะห์ตัวเต็งสนามแข่งให้เราฟังได้เลยทีเดียวครับ จะเรียกว่า Tour of Flanders เป็น “สถาบัน” หนึ่งของวัฒนธรรมการปั่นในเบลเยียมก็ว่าได้
เช่นนั้นแล้วมันจึงเป็นรายการที่นักปั่นเบลเยียมอยากจะชนะมากที่สุด ยิ่งกว่า Tour de France และยิ่งกว่า Paris-Roubaix การเป็นแชมป์ RVV คือจุดสุดยอดของการเป็นนักปั่นคลาสสิค จะชนะสนามอื่นมากี่ครั้งก็ไม่สำคัญเท่าได้แชมป์ RVV ครั้งเดียว
รายการนี้แข่งกันบนเส้นทาง 260 กิโลเมตร และไม่ใช่แค่ทางราบ แต่มันมีเนินชันกว่า 18 ลูกที่ปูทับด้วยก้อนอิฐบล็อก (Cobbled road) กระแสลมแรง เส้นทางแคบๆ ที่ต้องเบียดเสียดแย่งตำแหน่งกัน เป็นสนามที่ tactical ต้องการทีมเวิร์คที่แข็งแรงและเป็นอันหนึ่งอันเดียว และหัวหน้าทีมที่ตัดสินใจเฉียบคมพร้อมรับมือเกมการแข่งทุกรูปแบบ
2. RVV ปีที่เร้าใจสุดๆ?
Tour of Flanders 2014 เป็นปีที่ยากจะลืมครับ กี่ครั้งในชีวิตที่คุณได้เห็นขุมพลังอย่างเฟเบียน แคนเชอลาราสปรินต์ชนะกลุ่ม!? กิโลเมตรสุดท้ายของปี RVV 2014 แคนเชอลารา, เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท, สไตน์ แวนเดนเบิร์กและเซป ฟานมาร์คเกาะมาด้วยกัน ชัดเจนว่า 1000 เมตรสุดท้ายหนีคงหนีกันยาก แต่ใครจะเป็นคนเปิดเกมก่อน?
เดาได้ไม่ยากว่าเป็นแวนเดนเบิร์ก ม้ามืดจาก Etixx-Quickstep เพราะไม่ใช่คนที่สปรินต์ได้ดีนัก แต่แวนเดนเบิร์กแรงตกเพราะก่อนหน้านี้เปิดเกมหนีชุดใหญ่ไปสองครั้งบนเนิน Koppenberg และ Taaienberg กับ GVA ส่วนเซปและแคนเชอลาราตามมาสมทบทันที่ช่วงท้ายของการแข่งขัน
500 เมตรสุดท้าย GVA เป็นคนนำหน้ากลุ่มส่วนแคนเชอลาราหลุดไปอยู่ท้ายกลุ่มก่อนจะเปิดสปรินต์ในจังหวะที่ทุกคนไม่คิดว่าเขาจะทำได้คว้าแชมป์สมัยที่ 3 และครั้งสุดท้ายของเขา
3. เส้นทางไม่ธรรมดา
สำหรับปี 2017 ระยะทางการแข่งอยู่ที่ 260 กิโลเมตร 100 กิโลเมตรแรกไม่มีอะไรมาก เป็นทางราบเรียบก่อนจะเข้าสู่เซอร์กิตนรกสองลูป ลูปแรกมีเนิน 12 ลูกความยาว 95 กิโลเมตร และลูปสองมีเนิน 6 ลูก ความยาวรวม 35 กิโลเมตร ก่อนจะมาจบในเมือง Oudenaarde
รวมเนินที่นักปั่นต้องเจอที 18 ลูกพอดี ลูกแรกที่กิโลเมตร 115 ลูกสุดท้ายที่กิโลเมตร 247 เฉลี่ยแล้วทางราบระหว่างเนินแต่ละเนินจะประมาณ 7 กิโลเมตร
4. เนินพวกนี้ยากแค่ไหน?
พอบอกว่าเป็นเนินแล้วอาจจะไม่ค่อยเก็ตว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการปั่นยังไง เนินแต่ละเนินใน RVV มีจุดเด่นตรงที่ชันและสั้นครับ คอยดักแรงนักปั่นหรือใช้เป็นแท่นยิงสำหรับคนที่แข็งแกร่งกว่าได้เป็นอย่างดี แถมช่วยเพิ่มเลเยอร์กลยุทธ์การแข่งมากขึ้นอีกเท่าตัว มาดูโปรไฟล์ของเนินเด่นๆ ในสนามนี้กัน
a.) Muur van Geraardsbergen (Kapelmuur): เนินโหดยาวแค่ 750 เมตร แต่ชั่นสูงสุด 20% เป็นเนินที่อยู่ห่างเส้นชัย 95 กิโลเมตร ไกลเกินจะมีผลต่อการแข่งขัน (และเคยถูกตัดออกจากสนามนี้ไปหลายปี) แต่ก็น่าจะเป็นจุดปะทุความเดือดของเกมวันพรุ่งนี้ครับ มันเป็นเนินที่ทอม โบเน็นเปิดเกมหนีเฟเบียน แคนเชอลาราในปี 2005 จนได้แชมป์ และแคนเชอลาราหนีโบเน็นในปี 2010 ดูแอคชันได้จากวิดีโอข้างบน
b.) Koppenberg (45 กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย)
ถนนขึ้นเนินแคบและชัน 22% ความยาว 400 เมตร ชันเฉลี่ย 13% เป็นเนินที่ยากที่สุดในการแข่งขันก็ว่าได้ น่าจะเป็นจุดพลิกผันของเกมครับ แชมป์อาจจะมาจากการคัดตัวบนเนินนี้ หรืออย่างน้อยก็ตัดกลุ่มได้ไม่น้อยละกัน
c.) Oude Kwaremont (145, 55 และ 17 กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย)
เนินนี้อยู่ในทั้งสองเซอร์กิตซึ่งนักปั่นต้องข้ามถึงสามครั้ง ยาวถึง 2.5 กิโลเมตร ชันเฉลี่ย 4.2% ชันสูงสุด 11% ไม่ชันแต่ความยาวประกอบกับสภาพถนนหินก็น่าจะตัดแรงนักปั่นได้ไม่น้อยครับ
d.) Paterberg (51 และ 13 กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย)
เป็นเนินที่อยู่หลัง Kwaremont ยาว 400 เมตร ชันเฉลี่ย 12% ชันสูงสุด 20% เป็นเนินที่มีตำนานครับ เพราะสร้างโดยชาวนาแถวละแวกนั้นเพื่อเพิ่มเส้นทางโหดให้รายการนี้ เป็นเนินสุดท้ายของการแข่งขัน เพราะงั้นรับรองว่าไม่หมูแน่นอน ปีที่แล้วซากานกระทุ้งกลุ่มบน Kwaremont ก่อนจะหนีเดี่ยวบน Paterberg จนถึงเส้นชัยได้แชมป์รายการไปอย่างงดงาม
e.) Run in เข้าเส้นชัย: ลงเนิน Paterberg มาแล้วก็จะมีทางตรงยาง 8 กิโลเมตร ไม่มีโค้ง ไม่มีวงเวียน ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นรันอินที่ tactical พอสมควร ถ้ากลุ่มหนีตามกันมาได้หลายคน และมีระยะทางมากพอให้รวมกลุ่มกันเพื่อตัดสินใจว่าจะจบเกมแบบไหน? เบรคอเวย์ หรือสปรินต์?
5. เกมจบได้หลายแบบ
ถ้าเราย้อนไปดู 10 ปีล่าสุดของสนาม RVV – แชมป์ 5 ครั้งมาจากการหนีเดี่ยว, 2 ครั้งมาจากการสู้กันระหว่างเบรคอเวย์สุดท้ายสองคน, อีกสองครั้งจากกลุ่ม 3 คน และหนึ่งครั้งจากกลุ่ม 4 คน รวมๆ แล้วในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมามีแค่ปีเดียว (2001) ที่มีนักปั่นมากกว่า 4 คนมาตัดสินเกมกันในช่วงสุดท้ายของการแข่งขันครับ
มันสะท้อนว่ารายการนี้คัดตัวเฉพาะนักปั่นที่แกร่งที่สุดจริงๆ เป็นเรื่องยากมากที่จะเห็นกลุ่มใหญ่หนีมาสปรินต์ด้วยกัน เพราะงั้นปีนี้ก็น่าจะจบคล้ายๆ กันคือแชมป์น่าจะมาจากกลุ่มเล็กๆ ที่สู้กันจนกิโลเมตรสุดท้าย หรือคนที่แกร่งที่สุดหนีเดี่ยวจนชนะ
เบรคอเวย์ที่ไม่ใช่ตัวเต็งน่าจะโดนจับก่อนเซอร์กิตรอบสุดท้าย จากนั้นก็น่าจะได้เห็นตัวเต็งหลายคนพยายามกระทุ้งเกมให้หนัก ตัดตัวคู่แข่ง หรือพยายามหนีเดี่ยว บนเนินท้ายๆ เช่น Oude Kwaremont หรือ Paterberg (เพราะงั้นอย่างพลาดช่วง 40 กิโลเมตรสุดท้ายครับ)
อย่างไรก็ดี ช่วงทางราบระหว่างเนิน Paterberg และ Kwaremont ก็เป็นจุดสำคัญที่หลายคนอาจจะอาศัยจังหวะพักขาระหว่างเนินเปิดเกม ในปี 2013 เยอร์เกนท์ โรแลนท์อาศัยทางราบ 7 กิโลเมตรระหว่างสองเนินนี้ชงเกมหนีไปจนติดโพเดี้ยม ปีถัดมา GVA และแวนเดนเบิร์กก็กระทุ้งกลุ่มตรงนี้จนแคนเชอลาราและฟานมาร์คเกือบจะมาไม่ทันครับ
ปี 2015 อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟและนิกี้ เทิร์ปสตร้าก็ใช้จังหวะทางราบก่อนเนิน Kruisberg หนีเปโลตองไปสู้กันหน้าเส้นชัย ปี 2016 ซากาน เควียทคอฟสกี้ และฟานมาร์คก็ใช้ทางราบก่อนขึ้นเนิน Taaienberg หนีเปโลตองเช่นกัน เพราะงั้นไม่ใช่ทุกเกมที่จะตัดสินกันบนเนิน
การโจมตีบนทางราบทั้งหมดที่กล่าวถึงนั้นอยู่ห่างเส้นชัยไม่เกิน 33 กิโลเมตร
ถ่ายทอดสดเวลาไหน
Tour of Flanders 2017 ถ่ายทอดสด 2 เมษายน 2017 เวลา 19:00-22:00 และ Ducking Tiger บรรยายสดตั้งแต่ 20:45 เป็นต้นไป เช็ควิดีโอสตรีมมิ่งและการบรรยายที่ www.duckingtiger.com/live