6 เหตุผลที่คุณไม่ควรซื้อชิ้นส่วนจักรยานปลอม

ผมเชื่อว่านักปั่นหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องอะไหล่จักรยานปลอมสักเท่าไร และเห็นได้ว่ายังมีซื้อขายกันในเว็บไซต์ชื่อดัง รวมถึงตามร้านค้าจักรยานต่างๆ ด้วย จักรยานปลอมในตอนนี้ใช้ชื่อต่างๆ กันไป บ้างก็เรียก เฟรม OEM บ้างก็เรียก Mirror grade A ถึงจะสรรหาชื่อมาเรียกให้มันดูดี แต่สินค้าพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นของปลอม ของผิดกฏหมายทั้งสิ้น ซึ่งเราไม่ควรสนับสนุนครับ มาดูกันว่าเพราะอะไร

 

1. เฟรมก๊อปปี้ไม่ใช่เฟรม OEM / Open Mould

พ่อค้าจักรยานก๊อปปี้หลายคนพยายามเรียกของก๊อปปี้ให้ดูดีว่าเป็นของ OEM แต่เป็นความเข้าใจผิด หรือความตั้งใจที่จะหลอกผู้ซื้อทั้งสิ้น ทำความเข้าใจกันใหม่ครับ

OEM (Original Equipment Manufacturer) คือสินค้าที่มาจากโรงงานที่รับผลิตตามสเป็คของลูกค้า ยกตัวอย่างง่ายๆ โรงงาน LA Bicycle ในไทยเป็นโรงงาน OEM ที่ใหญ่ในระดับภูมิภาค รับผลิตจักรยานให้ลูกค้าชื่อดังหลายสิบแบรนด์ จักรยานที่เขาผลิตให้ไม่ใช่ของก๊อปปี้ แต่มีลิขสิทธิ์ มีมาตรฐาน มีการออกแบบและการลงทุน หรืออีกตัวอย่างก็เช่นโรงงาน Giant และ Merida ทั้งคู่ถึงจะมีแบรนด์จักรยานของตัวเองแต่ก็ผลิตให้คู่ค้าด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเฟรม Open Mould FM066 ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ไม่ใช่ของก๊อปปี้แต่การที่ต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางก็เป็นตัวแปรความเสี่ยงที่ผู้บริโภคต้องรับให้ได้เช่นกัน

Open Mould (เฟรม) คือแบบจักรยานที่เปิดขายและเปิดผลิตทั่วไปไม่มีลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ของก๊อป (แต่บางส่วนก็อาจจะพยายามเลียนแบบทรงจักรยานมีแบรนด์) จุดที่ต่างจากของก๊อปปี้ที่สุดคือ Open Mould จะไม่มีการตีตรายี่ห้อ ส่วนเฟรมมีลิขสิทธิ์ อย่าง F8, Venge ไม่มีทางทำ Open mould ได้ ผู้บริโภคสามารถซื้อเฟรม Open Mould ได้ตรงจากโรงงานหรือผ่านพ่อค้าคนกลางเช่น HongFu หรือ DengFu เป็นต้น พวกนี้ก็จะมีมาตรฐานที่ดีกว่าของก๊อปปี้และไม่ใช่สินค้าผิดกฏหมายครับ

แบรนด์ไทยหลายๆ แบรนด์ที่ตั้งใจทำอย่าง Nich ไม่ใช่สินค้า OEM และ Open mould แต่เป็นสินค้าจากโรงงาน ODM (Original Design Manufacturer) คือมีการออกแบบรูปทรงจักรยาน exclusive เป็นดีไซน์ของตัวเองแล้วที่โรงงานออกแบบให้ หรือจะทางแบรนด์ออกแบบเองก็ดี เป็นสินค้ามีมาตรฐานที่เหนือกว่า Open Mould อีกขั้น เพราะโรงงานที่เป็นระดับ ODM จะมีศักยภาพและมาตรฐานค่อนข้างสูง

เข้าใจความต่างระหว่าง OEM / ODM / Open Mould และ ของปลอมแล้ว ก็ควรเรียกให้ถูกต้องครับ

 

2. ของปลอมไม่มีมาตรฐาน และไม่มีการรับประกันที่น่าเชื่อถือ 

โดยธรรมชาติ เฟรมหรืออะไหล่จักรยานปลอมนั้นไม่มีใครกล้า “รับประกัน” ในเซนส์เดียวกับการรับประกันแบบของแท้แน่นอนครับ เพราะสินค้าดังกล่าวเป็นของผิดกฏหมายที่พยายามลอกเลียนแบรนด์ดังแล้วนำมาขายในราคาที่ถูกกว่า ถึงพ่อค้าจะบอกว่ามีการรับประกัน แต่ถึงเวลาจริงเขาไม่มีทางเสี่ยงมารับผิดชอบให้โดนสืบความตามจับแน่นอน

บางเจ้าบอกว่ารับประกันผ่านมาตรฐาน EN ซึ่งจริงๆ แล้วมาตรฐาน EN เนี่ยสอบผ่านได้ง่ายมากครับ แบรนด์สินค้าระดับโลกส่วนใหญ่เขาทดสอบเกินมาตรฐาน EN ไปหลายขั้นในเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจะไม่พังง่ายๆ พูดสั้นๆ คือถ้าคุณซื้อของปลอมมาใช้ก็วัดดวงกันเลยว่าจะเจ๊งหรือจะรอด ซึ่งบนจักรยานที่เราปั่นด้วยความเร็วสูง การที่แฮนด์หัก หลักอานหัก หรือเฟรมหักระหว่างการใช้งานไม่ใช่เรื่องที่จะจบแค่ได้รอยแผลถลอกแน่นอน อย่าใช้ครับ 

 

3. โรงงานเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ไม่ได้ผลิตสินค้ามาตรฐานเดียวกัน 

ที่คิดว่า “ผลิตจากโรงงานเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ก็เหมือนกันหมด”  ไม่ใช่ความจริงเลยครับ โรงงานเดียวกันผลิตได้หลายมาตรฐาน โรงงาน Giant ผลิตเฟรมที่คุณภาพดีที่สุดในโลกได้อย่างแบรนด์ของเขา แต่เขาก็รับผลิตให้แบรนด์อื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนตามสเป็คลูกค้า มีทั้งที่ปั่นดี ไม่ดี ปานกลาง แล้วแต่งบ แล้วแต่ดีไซน์ แต่ก็มีมาตรฐานทุกชิ้น โรงงานก๊อปมีมาตรฐานอะไรบ้าง? เทียบเท่าโรงงานใหญ่ไหม? พร้อมรับผิดชอบหรือเปล่าเวลามีปัญหา? การผลิตจักรยานคาร์บอนมันไม่ได้มีแค่การเลือกเกรดเนื้อคาร์บอน T700 T800 T1000 เอามาผสมๆ ให้เป็นคัน จะใช้เนื้อดีเทพแค่ไหน แต่เรียงไม่เป็น วาง layup มั่วซั่ว ไม่มี knowhow มันก็ปั่นไม่ดีเหมือนของแท้แน่นอนครับ

วิดีโอสายการผลิตในโรงงาน Giant ในประเทศไต้หวัน

Bob Parlee เจ้าของแบรนด์จักรยาน Parlee และผู้เชี่ยวชาญคาร์บอนไฟเบอร์ กล่าวว่า ถ้า Steel is real ตามที่นักปั่นหัวโบราณคิดกัน คาร์บอนน่ะยิ่งกว่า real เพราะคุณไม่ได้แค่เอาท่อจักรยานมาเชื่อมกัน แต่นี่คุณเรียงเนื้อคาร์บอนซ้อนกันจนออกมาเป็นทรงท่อ แล้วต้องเอามาต่อกันอีกจนเป็นจักรยาน ถ้ารู้ว่าเลือกใช้เนื้อคาร์บอนประเภทไหน กับบริเวณไหนแล้วถึงได้คาแรคเตตอร์รถที่ปั่นดี แข็งแรงที่สุด ปลอดภัย อย่างนี้ถึงเรียกว่า real รู้จริงแน่นอน โรงงานของก๊อปปี้ ไม่มีทางทำได้เสี้ยวของแท้ในเรื่ององค์ความรู้พวกนี้ เพราะมันคือ knowhow ที่ต้องเรียนรู้กันเป็นปีๆ ผ่านการทดลอง การวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน

มาร์คัส สตอร์ก อีกหนึ่งปรมาจารย์คาร์บอนก็เคยพูดว่า “จักรยานสองคันที่ดูภายนอกเหมือนกันทุกประการนั้น คันหนึ่งอาจจะเป็นจักรยานที่ดีที่สุดในโลก อีกคันอาจจะห่วยที่สุดในโลกก็ได้”​   

 

4. ซื้อจักรยานปลอมคือการทำนาบนหลังคน

Pinarello-25

จักรยานที่แพง มันก็มีเหตุผลที่แพง บริษัทผู้ผลิตต้องแบ่งเงินเท่าไรมารับผิดชอบส่วนที่เฟรมมีปัญหา ค่า R&D เท่าไร ค่าโฆษณาเท่าไร ค่าสปอนเซอร์ทีมปีละกี่ล้าน? ไหนจะค่าทำ prototype ค่ามันสมองพนักงาน นักวิจัย กว่าจะออกมาเป็นเฟรม Tarmac, Venge, TMR, Dogma, Colnago หรือล้อ Lightweight, Bora ที่คุณชื่นชอบ มันไม่ใช่แค่เขาผลิตเฟรมดี แต่เขาลงทุนกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เขาต้องดูแลชีวิตพนักงานหลายสิบหลายร้อย ซึ่งเม็ดเงินที่หายไปจากการบริโภคของก๊อปปี้ก็เป็นการทำลายชีวิตความเป็นอยู่พนักงานทางอ้อมครับ ผู้ผลิตของก๊อปปี้คือการทำนาบนหลังคน คนใช้ของก๊อปปี้ก็สนับสนุนการทำนาบนหลังคนเหมือนกัน

จำได้ไหม ตอนที่ SRAM เคยเรียกคืนเบรคไฮดรอลิคดิสก์เป็นพันชุดเพราะมีปัญหาเวลาใช้ตอนอากาศเย็นจัดๆ นี่ เขาแทบเจ๊งเลยนะครับ หมดเงินไปหลายร้อยล้านดอลล่าร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีผู้ใช้คนไหนบาดเจ็บจากการใช้เบรคล๊อตนั้น เข้าเนื้อทั้งนั้นครับ โรงงานก๊อปปี้ไหนกล้าทำอย่างนี้บ้าง?

 

5. งบน้อยใช้ของแท้ น่าภูมิใจ 

ถ้าไม่มีเงินซื้อจักรยานคาร์บอนดีๆ ผมแนะนำให้ซื้อเฟรมของแท้ ราคาไม่แพงใช้ อาจจะเป็นเฟรมอลูมินัมรุ่นสูงหน่อย ก็ได้ หรือแม้แต่เฟรมคาร์บอนจากผู้ผลิตหลายแบรนด์ก็มีในระดับราคาที่เราเอื้อมถึงแล้ว เป็นเรื่องน่าภูมิใจกว่าซื้อของก๊อปปี้ราคาถูกครับ คุณจะใช้ของปลอมที่ดูเหมือนจักรยานคันละสองแสน แต่เมื่อเจอกับของจริงที่ปั่นข้างกัน ถึงคนอื่นจะไม่รู้ แต่คุณเองรู้ดีแก่ใจว่าตัวเองกำลังสนับสนุนมิจฉาชีพ และทำลายวงการจักรยานทางตรง 

การซื้อของแท้มีแบรนด์เป็นการสนับสนุนให้เม็ดเงินไหลในธุรกิจจักรยานเราด้วย ก่อนจะซื้ออะไรให้คิดยาวๆ คิดกว้างๆ อย่าแค่ซื้อก๊อปเพราะอยากได้ เพราะมันดูหล่อ ยังมีคนอีกหลายร้อยหลายพันที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจเสี้ยววินาทีของคุณ

 

6. ถ้าคุณใช้ของปลอม คุณกำลังทำลายวงการจักรยานทางตรง

BKK Crit (1 of 2)

Ducking Tiger ต่อต้านเรื่องการใช้ของก๊อปปี้ (ไม่ใช่แค่จักรยาน) เพราะเว็บเราก็เป็นธุรกิจในวงการเหมือนกัน เม็ดเงินที่ไหลออกนอกวงการหรือไปยังมิจฉาชีพทำของก๊อปปี้พวกนี้ อย่าคิดว่ามันไม่มีผล ทุกคนในวงการกระทบหมด จะเป็นเจ้าของแบรนด์ ร้านจักรยานที่คุณรัก หรือสื่อจักรยานก็ดี ผลมันจะตามมาไม่เร็วก็ช้า วันหนึ่งแบรนด์เจอของก๊อปขายมากๆ เข้าเขาอาจจะไม่กล้าเข้ามาขายในเมืองไทยอีกเลยก็ได้ หรืออาจจะต้องเพิ่มราคาสินค้าเขาให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อที่จะได้กำไรพอทดแทนเม็ดเงินที่เสียไปให้มิจฉาชีพ  

ยกตัวอย่างเว็บ DT กว่าจะเขียนอะไรได้สักเรื่องลงเว็บมันใช้สมองใช้เวลาหาความรู้มากมาย แต่เราเจอคนมักง่ายมาก๊อปเนื้อหาไปลงนิตยสารขายหลายครั้งโดยไม่มีการไถ่ถามสักคำ เราลงทุนไปงาน Eurobike ถึงเยอรมันหมดค่าเครื่องบินค่าที่พักไปเป็นแสนบาท กลับมาถึงยังไม่ทันก้าวขาลงเครื่องครับ เจอคนดูดรูปไปใช้ลงนิตยสารแล้ว ก็ไม่มีใครจ่ายค่าลิขสิทธิ์เราสักบาท นี่แค่งานเขียนครับ ถ้าเป็นเฟรมจักรยานที่คิดค้นกันมาเป็นปีๆ มันจะเศร้าขนาดไหน? เราเข้าใจความรู้สึกผู้ผลิตที่โดนก๊อปปี้ คุณอาจจะคิดว่ามันไม่มีผล แต่อย่าให้โดนกับตัวเองครับเรื่องพวกนี้

ถ้าคุณรักการปั่นจักรยานคุณจะไม่ใช้ของก๊อปปี้หรอกครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

  1. Java รุ่น carbon ทำไมราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่นครับ หรือเป็น oem หรือ open mold ครับ ยี่ห้อนี้แนะนำไหม ขอบคุณมากครับ

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *