6 ข้อคิดจากเซอร์วิกกินส์: จิตวิทยาของนักปั่นระดับโลก

ชั่วโมงนี้เชื่อว่าไม่มีแฟนจักรยานคนไหนไม่รู้จักเซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์

ด้วยวัยเพียง 34 ปีกับผลงาน 7 เหรียญทองโอลิมปิก ทั้งประเภทถนนและลู่ และแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ปี 2012 และล่าสุดครองแชมป์โลก Time Trial บุคคล เขาคือนักปั่นที่สร้างผลงานมากที่สุดให้ชาวอังกฤษในประวัติศาสตร์การแข่งขันจักรยาน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาวิกกินส์ให้สัมภาษณ์รายการ BBC Radio 5 ในตอนพิเศษที่ชื่อว่า Mind of A Cyclist เกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาของนักปั่นจักรยานระดับโลก บทสัมภาษณ์ตอนนี้ยาวถึงสองชั่วโมง (ใครสนใจฟังได้ที่ → ลิงก์นี้ ) แต่ DT สรุป 6 ประเด็นหลักมาให้ฟังกันครับ

 

1. มีความมุ่งมั่นตั้งแต่เด็ก

“ถ้าถามว่าทำไมผมถึงมาสนใจการแข่งขันจักรยาน? ก็เพราะผมรักที่จะดูการแข่งขัน ตั้งแต่ผมอายุ 12 ขวบ ผมตัดสินใจว่าโตขึ้นจะเป็นนักปั่นอาชีพให้ได้ และสักวันหนึ่งผมต้องได้ใส่เสื้อเหลือง (เสื้อผู้นำในรายการตูร์ เดอ ฟรองซ์) และผมจะต้องคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจักรยานให้ได้ (วิกกินส์ทำได้แล้วทั้งสองเป้าหมาย)

ตอนที่ผมยังเด็ก ผมไม่รู้หรอกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มันเพ้อฝันหรือเปล่า ผมไม่ใช่เด็กดี เข้าขั้นเกเรเลยหละ ครูศิลปะที่โรงเรียนประถมในเมืองคิลเบิร์นที่ผมเกิด ถึงกับเคยถามผมว่า “เธอจะใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปได้ยังไง แบรดลีย์? ถ้ายังเกเรแบบนี้เธอไม่มีอนาคตหรอกนะ”

ผมตอบเธอไปว่า ผมจะใส่เสื้อเหลือง และผมจะชนะเหรียญทองโอลิมปิก เธอตอบกลับมาทันทีว่า “เธอมันบ้า มีเด็กกี่คนจากคิลเบิร์นที่เพ้อฝันเรื่องแบบนี้?” แต่นั่นคือสิ่งที่ผมทำได้สำเร็จแล้ว แน่หละพอเรามองย้อนหลังแบบนี้ เรื่องมันก็ดูดี แบบฝันที่เป็นจริง ยังกะพล๊อตหนังฮอลลีวู้ด แต่มันคือความจริง

 

2. ซ้อมให้หนักกว่าคนอื่น

“เวลาแฟนๆ จักรยานเห็นนักปั่นประสบความสำเร็จ เขาไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังมันไม่ได้ดูสนุกสนาน ดูดีเหมือนตอนเราชูมือชนะบนยอดโพเดี้ยม เขาไม่ได้เห็นส่วนที่น่าเบื่อหน่ายอย่างการฝึกซ้อม ผมชอบนะ ผมชอบออกไปซ้อมตอนเช้าๆ เข้ายิมตอนตี 5 หรือลงซ้อมในเวโลโดรมเป็นคนแรกก่อนที่นักกีฬาคนอื่นจะเข้ามา

ผมชอบความรู้สึกที่ตัวเองได้ทำงานหนักก่อนคนอื่น มันเหมือนกับเราเดินเร็วกว่าคู่แข่งหนึ่งก้าว ตอนที่ผมอายุ 17 ขวบ ผมปั่นจักรยานจากลอนดอนไปเมืองรายที่ชายฝั่งทางตอนใต้ในวันคริสมาสที่ครอบครัวผมทุกคนกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลกันอยู่  (ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร)

ครอบครัวผมเดินทางไปเมืองนั้นด้วยรถยนต์ แต่ผมเลือกที่จะปั่นไป ผมรู้แน่นอนว่าในงานแข่งชิงแชมป์โลกเยาวชนในเดือนสิงหาคมปีถัดจากนั้น มันคงไม่มีคู่แข่งคนไหนของผมออกมาปั่นไกลแบบนี้ในวันหยุดแน่ๆ ผมชอบแนวคิดแบบนี้แหละ มันคือแรงบันดาลใจให้ผมอยากออกซ้อม”

 

3. คุมอารมณ์ให้อยู่

การฝึกซ้อมเป็นเรื่องน่าเบื่อ เพราะมันก็มีอยู่แค่ไม่กี่รูปแบบ คุณต้องซ้อมตามตารางซ้ำไปซ้ำมา แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่มีทางชนะใครได้ วิธีแก้ความน่าเบื่อจำเจของผมก็คือคอยนึกถึงลูกชายและลูกสาว ผมสักชื่อลูกทั้งสองคนไว้ที่ข้อมือด้านใน เพื่อที่เวลาผมแข่ง Time Trial แล้วล๊อกมือไว้กับแฮนด์ (ในท่าปั่นแอโร) ผมจะได้เห็นชื่อลูกทั้งสองคนตลอดเวลา (ชื่อลูกของวิกกินส์คือเบ็น และเบลล่า) มันช่วยให้ผมหายเบื่อ และเป็นแรงกระตุ้นที่ดี

ในทีมชาติอังกฤษ​ เรามีนักจิตวิทยาระดับโลกคอยช่วยดูการฝึก “ใจ” ด้วย ซึ่งเขามาช่วยทีม Sky ด้วย (สตีฟ ปีเตอร์) สตีฟมีทฤษฏี “ลิงขี้กวน” (Chimp Paradox Model) ที่บอกว่า ถ้ามีอะไรเข้ามากวนใจระหว่างแข่งหรือฝึกซ้อม จนเราเสียสติ มันไม่ใช่ตัวเราหรอกที่เสียสมาธิ แต่มันคือ “ลิง” ในใจของเรา ที่ออกมาเล่นซน ให้เพิกเฉยมันเสีย “ลิงขี้กวน” ในที่นี้ คือตัวแทนของอารมณ์มนุษย์ ที่แปรปรวนตลอดเวลา ทำให้เราเป็นคนไม่มีเหตุผล และทำอะไรตามอารมณ์ ซึ่งพาเราไปสู่ความพ่ายแพ้ในสนามแข่ง

ในทางกลับกันถ้าเราควบคุม “ลิง” หรือารมณ์เราได้ เราก็จะตัดสินใจทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล (ed note: นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมทีมชาติอังกฤษและทีม Sky ถึงแข่งได้อย่าง “น่าเบื่อ”​ และทำอะไรเป็นเหตุเป็นผลตลอดเวลา ตั้งแต่การฝึกซ้อมไปจนถึงการโจมตีคู่แข่งในสนาม” เพราะสตีฟ ปีเตอร์ใช้ทฤษฏีนี้กับทั้งทีมชาติและทีม Sky ครับ จริงๆ แล้วมันเป็นทฤษฏีที่เวิร์กและประสบความสำเร็จมาก นักกีฬาอังกฤษหลายคนลองปรับอารมณ์ตามทฤษฏีของปีเตอร์จนเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ แต่วิกกินส์ไม่ชอบ) ​

“ผมไม่ชอบทฤษฏีนี้เลย ผมเลยต้องหาวิธีควบคุมอารมณ์ด้วยตัวเอง วิธีเดียวที่ผมใช้ได้ผลที่สุดก็คือนึกถึงลูก ตราบเท่าที่ผมรู้ว่าลูกยังคงรักและเคารพผมไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ เพราะผมได้พยายามเต็มที่แล้ว…มันคือเครื่องยึดเหนี่ยวเพียงอย่างเดียวที่ผมมี ดูจากผลงานที่ผมทำมาตลอด 5 ปี มันก็ดูจะเวิร์กนะ!”

 

4. คิดเป็นเหตุเป็นผล

“เวลาที่ผมออกไปแข่ง หรือออกไปซ้อมหนักๆ จนแทบจะไม่ไหว แต่ดันเจอคู่แข่งเขากระชากยิงหนี…หลายคนคงถอดใจ แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ ถ้าเจ็บจนไม่ไหวแล้ว คู่แข่งผมก็ต้องเจ็บเหมือนกัน ผมรู้ว่าการฝึกซ้อมที่ผมเตรียมมามันหนักกว่านี้… ถ้าผมต้องทำอินเทรอ์วัลหนักๆ ห้าครั้ง แต่ทำได้สี่ก็แทบจะขี่ต่อไม่ไหวแล้ว ผมจะบอกตัวเองให้ฝืนทำให้เสร็จ เพราะผมรู้ว่าคู่แข่งผมมันคงไม่ทำเซ็ตที่ห้าเหมือนที่ผมฝืนใจทำแน่ๆ!

เวลาที่ผมแข่งในสเตจภูเขา ยิ่งผมรู้สึกทรมานแค่ไหนผมยิ่งคิดว่าคู่แข่งก็ต้องเหนื่อยไม่แพ้กัน เวลาคุณย้อนนึกถึงการฝึกซ้อมที่พยายามตรากตรำมา เวลานี้แหละที่คุณจะเริ่มคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่ปล่อยให้อารมณ์และความเหนื่อยมากวนใจ

การแข่งแกรนด์ทัวร์หรือรายการสเตจเรซยาวๆ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเรื่องของจิตใจ ถ้านักแข่งฟิตเท่ากัน ร่างกายแข็งแรงไม่แพ้กันมาก สิ่งที่แบ่งแยกผู้ชนะและผู้แพ้คือวิธีคิด ผมยกตัวอย่างกีฬารักบี้ซึ่งผมชอบมาก ในรักบี้ทุกคนแข็งแรงพอๆ กัน และทุกคนซ้อมจนแข็งแรงให้ถึงที่สุด ซึ่งความพยายามส่วนนี้เขาจัดให้เป็นแค่ 10% เอง อีก 90% เขาฝึกซ้อมกันเรื่องความแข็งแกร่งของจิตใจ แต่ในจักรยานมันกลับเป็นมุมตรงข้ามเลย นักปั่นส่วนใหญ่สนใจแค่ฝึกซ้อมร่างกาย แต่เพิกเฉยเรื่องของจิต เรื่องการคิด การวางกลยุทธ์

ในงานใหญ่อย่างตูร์ เดอ ฟรองซ์ คุณอาจจะเป็นนักปั่นที่ฟิตที่สุดในโลก แต่ถ้าคุณ “แพ้ใจ” เพราะแรงกดดัน เพราะความคาดหวังจากลูกทีม โค้ช ครอบครัว สปอนเซอร์ และการเล่นข่าวของสื่อ – คุณแพ้แน่นอน ซึ่งผมบอกได้เลยว่ามีหลายคนที่ไม่ชนะเพราะพ่ายใจตัวเอง สู้แรงกดดันไม่ไหว ในงานที่โหดแบบนี้คุณต้องฟิตพร้อมทุกด้าน เพราะคุณต้องเจอการแข่งขันระดับสูงสุด จากนักปั่นที่เก่งที่สุดในโลก ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ถ้าคุณไม่แกร่งพอ คุณปั่นไม่จบหรอก”

 

5. หัดบลัฟให้เป็น

“ในงานแข่งแทบทุกงาน นักปั่นที่อยากจะชนะต้องหัดซ่อนสีหน้าให้เป็น

ผมจำได้ว่าในตูร์ปี 2009 ที่เรากำลังปีนเขาแอนโดราไปสู่เส้นชัยบนยอดเขา ตอนนั้นเหลือกลุ่มตัวเต็งไม่กี่คนแล้ว เราอยู่ห่างเส้นชัยประมาณ 5 กิโลเมตร

ผมหันไปดูกลุ่ม ปรากฏมีเพื่อนร่วมทีม (เดวิด ซาบริสกี้) ที่ยังอยู่กลุ่มหน้าด้วยกัน พวกเราแทบจะทนความเหนื่อยไม่ไหวแล้ว แต่ผมแกล้งทำสีหน้าว่ายังสบายๆ ตกเย็นวันนั้นซาบริสกี้เข้ามาคุยกับผมเขาพูดว่า เฮ้ยตอนขึ้นเขาลูกนั้นนี่แกไม่เหนื่อยสักนิดเลยใช่ไหม?

จังหวะแบบนี้แหละที่ทำลายกำลังใจคู่แข่งได้ผลดี โดยเฉพาะเวลาที่คุณไต่เขา

ผมนึกถึงแลนซ์ อาร์มสตรอง แลนซ์เป็นคนที่ชอบคุยกับคู่แข่ง เขาคุยเก่งมาก คุยเหมือนเราเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน แต่พอถึงจังหวะสำคัญเท่านั้นแหละ เขาพร้อมที่จะแทงหลังคุณแบบที่คุณตั้งตัวไม่ทัน ผมคิดว่าแลนซ์เป็นนักปั่นที่บลัฟเก่งที่สุดในโลก ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นบทเรียนที่ผมเก็บมาใช้บ้างเหมือนกัน

แต่ในการแข่งลู่หรือ Time Trial มันต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะคุณแข่งคนเดียว คุณทรมานอยู่คนเดียว คุณไม่ต้องซ่อนสีหน้าก็ได้ ให้คนทั้งโลกรับรู้ความเจ็บปวดของคุณ เพราะถึงคุณจะบลัฟ ซ่อนสีหน้าเอาไว้มันก็ไม่ได้ช่วยให้ปั่นเร็วขึ้นหรอก

แต่เวลาขึ้นเขาสิ ถ้าคุณอยู่กลุ่มนำ กล้องวิดีโอหลายสิบตัวคอยหาโอกาสถ่ายเจาะสีหน้าของคุณ ไม่ใช่แค่ผู้ชมทางบ้านที่เห็นแต่รวมถึงโค้ชของทีมคู่แข่งในรถที่ขี่ตามหลังเรามาด้วย เมื่อเขาเห็นคุณเหนื่อย ทรมาน เขาพร้อมจะออกคำสั่งให้ลูกทีมโจมตีคุณแน่ๆ นักปั่นที่อยากเก่งควรจะหัดบลัฟให้เป็น”

 

6. หัดวางแผนให้ตัวเองได้เปรียบ

“การแข่งจักรยานเป็นกีฬาที่ใช้สมองเยอะ คุณควรจะคิดตลอดเวลาว่าการตัดสินใจต่างๆ มันจะส่งผลอะไรบ้าง เช่นเวลาลงเขาด้วยความเร็วสูงผมจะคิดเสมอว่า มันคุ้มไหมที่จะเสี่ยงลงเร็วๆ เพื่อเซฟเวลา หรือจะลงอย่างปลอดภัยแล้วไปทวงเวลาคืนจากคู่แข่งช่วงทางขึ้นเขาแทน?

ผมไม่ใช่คนประเภท “ปล่อยไปตามอารมณ์” หรือ “ปั่นตามฟีล”​ ผมคิดถึงผลลัพธ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะในการแข่งขัน ซึ่งโอเค บางคนก็บอกว่าผมปั่นได้น่าเบื่อมาก ปั่นเหมือนหุ่นยนนต์ที่วางโปรแกรมการแข่งมาพร้อมแล้ว ยิ่งตอนแข่งกันซีเรียสๆ ผมจะจริงจังมาก คิดมาก แต่ในเวลาที่ไม่ได้แข่งขันผมก็เป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้วางแผนอะไรตลอดเวลาหรอก

วิธีการแข่งแบบนี้มันอาจจะน่าเบื่อ อาจจะไม่หวือหวา แต่ผมก็คงมาถึงวันนี้ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าแข่งแบบปล่อยตามอารมณ์ แต่ละคนมีสไตล์การแข่งไม่เหมือนกัน”

 Download/ ฟังบทสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ที่ ลิงก์นี้

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *