6 กลยุทธ์พิชิต Tour de France!

วิธีเอาชนะรายการแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีอย่าง Tour de France ได้จริงๆ แล้วก็แค่ปั่นให้ไวกว่าคนอื่นตั้งแต่ต้นจนจบใช่ไหมครับ? อาจจะใช่… แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด วันนี้มาดู 6 กลยุทธ์ที่อดีตแชมป์เขาใช้เอาชนะคู่แข่งพิชิตเสื้อเหลืองกันครับ 

The 6 Master Plans

ว่ากันว่านักปั่นไสตล์ GC (General Classification) หรือนักปั่นที่เล็งคว้าแชมป์รายการนั้นจะต้องเก่งสองอย่างคือการไต่เขาและการปั่นจับเวลา Time Trial… เพราะสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่จะใช้พิชิตคู่แข่งคนอื่นๆ แน่นอนว่าบางคนก็ปั่น TT ได้ดีกว่าขึ้นเขา แต่บางคนก็อาจจะขึ้นเขาดีกว่า TT น้อยคนที่จะทำสองอย่างได้ดีมากๆ เราได้เห็นนักปั่นในอดีตและปัจจุบันประยุกต์สร้างแผนการแข่งให้เข้ากับความถนัดของตัวเองจนคว้าแชมป์รายการเกียรติยศได้หลายครั้ง แพทเทิร์นแผนการปั่นชิงแชมป์นั้นมีไม่มาก พอจะแบ่งคร่าวๆ ได้หกแบบตามนี้

1. แผน Time Trial

https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/1008521_10151712086729873_37426987_o.jpg

แผนแรกของเราก็คือการปั่น Time Trial ให้เร็วกว่าคนอื่นให้ได้มากที่สุดในทุกเสตจ TT ไม่ว่าจะเป็น Prolouge, Individual Time Trial และ Team Time Trial พอทำเวลาเหนือคู่แข่งได้แล้ว ที่เหลือก็แค่เกาะล้อศัตรูไม่ให้หลุดบนเสตจภูเขา เพื่อไม่ให้เขาทำเวลาคืนได้ แน่นอนว่าบางครั้งผู้เชี่ยวชาญ TT จะไต่เขาได้ไม่ดีเท่านักไต่เขาเพียวๆ ก็อาจจะปล่อยให้คู่แข่งยิงหนี แต่ถ้าทำเกมคุมเวลาไม่ให้เขาหนีได้นานเกินไป และเก็บเวลาจาก TT ได้มากพอ ก็สามารถชนะ Tour de France ได้ ยกตัวอย่าง Bradley Wiggins ปีที่แล้ว เขาชนะตูร์ด้วยการปั่น TT แบบเพียวๆ ครับ บนภูเขา วิกกิ้นส์เป็นรองคู่แข่งอย่าง Vincenzo Nibali  บางครั้งที่นิบาลิโจมตี Wiggins ไม่สามารถตามได้ทันเพราะเขาไม่สามารถระเบิดพลังขึ้นเขาได้เหมือนนิบาลิ ถ้าพยายามไล่ตาม Wiggins จะเกิดอาการ “หม้อน้ำแตก”​ หรือเข้า Red Zone ใช้ร่างกายเกินขีดจำกัด ซึ่งก็อาจจะทำให้แพ้ไปเลยก็ได้ แต่วิกกิ้นกลับปั่นประคองทำความเร็วที่เขาถนัด แล้วชิงเวลาคืนในเสตจ TT

ปีที่แล้วเหมือนเป็นความฝันของนักปั่น GC สาย TT ครับเพราะ Time Trial รวมๆ กันยาวกว่า 100 กิโลเมตร มากพอที่จะชิงเวลาคู่แข่งคนอื่นได้เกินพอ แต่ปีนี้ไม่ง่ายอย่างงั้นเพราะ TT ค่อนข้างสั้นและมีเนินด้วย

2. แผนระเบิดพลังบนเขา

http://25.media.tumblr.com/f41ea6c080e4994a1cd7fcc9ea2ee7f5/tumblr_mo70ariFv91rqdq48o1_1280.jpg

แผนนี้เป็นแผนตรงข้ามกับแผนแรกครับ เหมาะกับนักไต่เขาเพียวๆ อย่าง Joaquim Rodriguez, Alberto Contador, Andy Schelck เป็นต้น วิธีการก็คือในเสตจภูเขาชันๆ โหดๆ โดยเฉพาะระดับ Category 1 และ Hors Category เราจะออกยิงหนีพวกคู่แข่งสาย TT และพวกที่ไม่มีแรงระเบิดขึ้นเขาอย่าง Wiggins และ Cadel Evans พอพวกนี้พยายามไล่ตามเรามา ซึ่งต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ ((เพราะส่วนใหญ่นักปั่นสาย TT จะน้ำหนักตัวเยอะกว่า ขึ้นเขาได้ยากกว่า…)) ก็ออกยิงซ้ำอีกทีเหมือนเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลง.. ถ้าคู่แข่งเขาไม่ยอมตาม ก็หมายความว่าต้องยอมสละเวลาให้เรา วิธีนี้ Contador ใช้ชิงแชมป์แกรนด์ทัวร์มาแล้วทุกรายการ เวิร์กแน่นอน!

3. ยิงหนีแบบเซอร์ไพรส์

สูตรนี้หาดูไม่ค่อยได้แล้วครับ แต่นักปั่นระดับตำนานในสมัยก่อนชอบใช้กัน เป็นการปั่นตาม “ฟีลลิ่ง” ไม่เน้นการวางแผน ((ไม่เก่งจริงทำไม่ได้นะจ๊ะ)) คือเลือกวันที่เหมาะสม ส่วนใหญ่จะเป็นเสตจภูเขาโหดๆ แล้วจัดเต็มยิงหนีแบบ breakaway ทิ้งห่างคู่แข่งให้ได้เป็นนาที ถ้าทำสำเร็จ ทีมอื่นหน้าซีดครับ เพราะระยะห่างเกือบนาทีถือว่าเยอะมากในรายการระดับนี้ ถ้าสามารถประคองระยะห่างได้จนจบก็คว้าแชมป์รายการได้แน่นอน เป็นสูตรที่ Marco Pantani ใช้ชิงตูร์ในปี 1998 และ Licien Van Impe ในปี 1976

วิธีนี้อาจจะใช้ได้ยากในปัจจุบันเพราะว่าแต่ละทีมนั้นปั่นกันอย่างมีแผนการชัดเจน ยากที่ตัวเต็งจะสามารถเปิดเกมฉีกหนีออกไปได้ ทีมอื่นๆ จะคอยมาร์กหัวคู่แข่งไว้และพร้อมจะส่งคนขึ้นตามตลอดครับ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นในสมัยนี้ (จากอุปกรณ์ / การฝึกซ้อม) ก็ทำให้หนีได้ยากเข้าไปอีก ส่วนใหญ่แล้วจะเหมาะกับนักปั่นสายหลบหนีที่เน้นเก็บเสตจวินมากกว่าตัวเต็งที่จะหนีเพื่อทิ้งเวลาคู่แข่ง การยิงหนีให้พ้นจนนำห่างได้นั้นเป็นศิลปะชั้นสูง ต้องรู้จักสภาพสนามและเส้นทางเป็นอย่างดี จังหวะโจมตีต้องแม่น และร่างกายต้องพร้อมให้หนีพ้น peloton จนจบเส้นชัยครับ

4. แผนลุ้นโชค

http://4.bp.blogspot.com/-LduFqX3mHxg/TiSQkRYZdzI/AAAAAAAABhE/u67U01IbEFU/s1600/Stage+14-+Thomas+Voeckler+and+Yellow+Colnago+C59+Italia.jpg

Thomas Vockler

ในบางโอกาสนักปั่นที่ไม่ได้มีฝีมือระดับตัวเต็งก็มีลุ้นคว้าแชมป์ได้เหมือนกัน ข้อแม้คือเขาต้องไต่เขาได้ดีและปั่น TT ได้พอสมควร ถ้ามีสองอย่างนี้แล้วพยายามหนีไปกับกลุ่ม breakaway ตั้งแต่อาทิตย์แรกๆ เก็บเวลาไปเรื่อยๆ ก็มีสิทธิคว้าเสื้อเหลืองครับ แผนนี้เวิร์กเพราะอะไร? เพราะว่าการที่เราเป็นม้ามืดโนเนม ตัวเต็งคนอื่นๆ ก็จะมองข้ามปล่อยให้เราหนีไปได้ มั่นใจว่าจะทวงเวลาคืนได้ในช่วงท้ายๆ รายการ แต่หากเราแกร่งพอ และพยายามสู้รักษาเสื้อเหลืองไปตลอดก็มีโอกาสได้แชมป์ อย่าลืมว่า Tour de France ไม่ได้ตัดสินกันในวันเดียว คู่แข่งอาจจะมีป่วย ล้มบาดเจ็บจนต้องถอนตัวก็ได้ จะทำแผนนี้ได้สำเร็จต้องมีใจสู้อย่างพญาราชสีห์ เราอาจจะเสียเปรียบเรื่องฝีเท้า แต่ถ้าใจยังไหวอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังที่ Roger Walkowiak ใช้คว้าแชมป์ในปี 1956, Oscar Pereiro ในปี 2006 และ Thomas Voekler ก็เกือบจะทำแผนนี้ได้สำเร็จในปี 2011 ที่เขาไฟท์รักษาเสื้อเหลืองไว้ได้เป็นสิบๆ วัน!

5. ช้าๆ แต่ชัวร์ๆ

นักปั่นหลายๆ คนนั้นไม่ใช่ประเภทขาแรง ระเบิดพลังยกใส่กันได้เป็นสิบๆ ครั้งบนภูเขา แต่นักปั่นพวกนี้ปั่นได้ “คงที่”​ หรือ consistent มากๆ คอยเกาะกลุ่มผู้นำได้ตลอด และก็ไม่เสียเวลามากในการปั่น TT เราเรียกนักปั่นสายนี้ว่าพวกเครื่องดีเซลครับ เน้นอึด ถึก ทน และปั่นอย่างชาญฉลาด ทำไปเรื่อยๆ จนได้เสื้อเหลืองในที่สุด ไม่หวือหวา แต่เห็นผล ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ Cadel Evans (BMC) ที่พยายามประคองไม่เสียเวลาให้คู่แข่ง และไปไฟท์สุดชีวิตในเสตจ Time Trial สุดท้ายจนฉกเสื้อเหลืองจาก Andy Schelck คว้าแชมป์รายการได้ในที่สุด

6. บู๊ล้างผลาญ!

http://25.media.tumblr.com/c84e6ba662cdbbb82d345fe25bd35bfb/tumblr_moxd6caVbM1r2yilzo1_1280.jpg

Fausto Coppi ใน Tour de France 1952 ยิงหนีเพื่อคว้าแชมป์รายการบน Alp D’Huez

วิธีนี้สมัยนี้คงไม่มีให้ดูครับ เพราะในประวัติศาสตร์การแข่ง Tour de France ก็มีไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ได้ คือยิงแหลก ยกตลอด ยิงทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเก็บทั้งแชมป์เสตจและทิ้งห่างเวลาคู่แข่ง ยิงได้เสตจเยอะยิ่งดี! คู่แข่งเจออย่างงี้ก็ง่อยรับประทานชัวร์ๆ ยกตัวอย่างตำนานสามคน Fausto Coppi, Eddy Merckx และ Bernard Hinault… โดยเฉพาะ Merckx ที่มีเสตจวินเยอะที่สุดในประวัติการแข่งตูร์ถึง 34 เสจจ (Hinault ได้ 28 เสตจ) ในขณะที่สมัยนี้ผู้ชนะตูร์อาจจะไม่ชนะสักเสตจเลยก็ได้ ผมหวังว่าอนาคตจะมีนักปั่นไสตล์นี้บ้างเพราะมันคงดูสนุกน่าดู เอะอะกรูยิงหนีละไม่เกี่ยงว่าจะเป็นทางเรียบทางภูเขา Peter Sagan อาจจะพัฒนาไปเป็นนักปั่นสายโจมตีแบบนี้ได้ครับ เพราะเขาปั่นได้ดีแทบทุกสภาพภูมิประเทศ ถ้าลดน้ำหนักสักนิดนึงนี่น่ากลัวแน่นอน..

[divider]—–[/divider]

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

10 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *