7 เรื่องควรรู้ก่อนลงแข่งไครทีเรียม

สนามแข่งจักรยานประเภทไครทีเรียมเป็นอะไรที่มีไม่บ่อยนักในเมืองไทย แต่ก็เป็นหนึ่งในการแข่งจักรยานที่สนุก เร้าใจ เข้าถึงง่ายและน่าชมที่สุดครับ วันที่ 5 พฤษจิกายนนี้ เรากำลังจะมีแข่งสนาม Criterium Projects ณ​ สนามทดสอบรถ Toyota เพราะงั้นแล้วโพสต์นี้เราทำความรู้จักว่า

  • ไครทีเรียมคืออะไร
  • จุดเด่น จุดอ่อนของรายการแบบนี้มีอะไรบ้าง
  • แทคติคการแข่งขันเป็นยังไง
  • ถ้าจะลงแข่ง ต้องเตรียมตัวอย่างไรดี?

ว่าแล้วก็เริ่มกันเลยดีกว่าครับ!

*

1. การแข่งจักรยานไครทีเรียมคืออะไร?

ไครทีเรียม (Criterium) หรือเรียกสั้นๆ ว่าคริท (Crit) เป็นการแข่งจักรยานระยะสั้น จัดในสนามแบบปิด และแข่งกันเป็นรอบๆ รอบนึงยาวไม่เกิน 3 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราวๆ 800 เมตร – 1.5 กิโลเมตร

ระยะทางโดยรวมเน้นแข่งกันระยะสั้น ไม่เกิน 30-40 กิโลเมตร และใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อรุ่น

เช่นนั้นแล้วเกมไครทีเรียมจึงแรง เร็ว เร้าใจ เพราะนักปั่นต้องขยันทำเกมเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ปิดเกมกันให้ได้ในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมงครับ

ไฮไลท์ของการแข่งประเภทไครทีเรียมคือ โดยมากจะจัดในสนามที่มีโค้งเยอะ ต้องใช้เทคนิคในการวางตำแหน่ง การเบียดขึ้นหน้ากลุ่ม การสปรินต์ กระชากต่อเนื่องตลอดทั้งเกม และต้องมีทีมเวิร์กที่ดีในการทำผลงาน ทำให้เกมมีพลวัตรที่สนุก มีการโจมตีกันตลอดทั้งเกมครับ

หลายๆ สนามนิยมจัดรางวัลให้ระหว่างรอบ เช่นสมมติแข่งทั้งหมดสิบรอบสนาม แต่ในรอบ 2,4,6,8 ผู้จัดอาจจะให้รางวัลคนที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก รางวัลแบบนี้เรียกว่า “Prime” เปิดโอกาสให้นักปั่นได้ชิงรางวัลระหว่างแข่งด้วย บางคนอาจจะไม่มีหวังได้แชมป์รายการ เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในรอบสุดท้าย ก็อาจจะเก็บแรงไว้ทุ่มคว้ารางวัล Prime ซึ่งมีโอกาสลุ้นได้ง่ายกว่า และเมื่อมีชิงรางวัลเป็นรอบๆ แบบนี้ก็ทำให้เกมมีอรรถรสน่าชม ไม่จืดชืดน่าเบื่อด้วยครับ ผู้จัดจะตีระฆังก่อนถึงรอบ Prime แต่ละครั้งเพื่อให้นักปั่นรู้ว่ารอบต่อไปจะมีรางวัลแจกนะ

ปกติแล้วสนามไครทีเรียมมีให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกลงแข่งหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Open อาจจะซอยย่อยเป็น Open A, B, C มีรุ่นหญิง รุ่นอายุ รุ่นทีม มีทั้งเสือหมอบ (Road Bike) และฟิกซ์เกียร์ และนักปั่นคนนึงจะหลงหลายๆ รุ่นในสนามเดียวกันก็ยังได้ถ้าคิดว่าสู้ไหว!

สนามแข่งไครทีเรียมที่โด่งดังที่สุดในโลกก็คือรายการ Red Hook Criterium (อ่านบทสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้ง Red Hook ของ DT ได้ที่ลิงก์นี้) ซึ่งเปิดรับนักปั่นจากทุกสารทิศไม่ว่าคุณจะเป็นแชมป์ Tour de France หรือมือใหม่เพิ่งจับจักรยานก็ลงแข่งรายการเดียวกันได้ไม่มีแบ่งแยกชนชั้น!

 

2. ไครทีเรียมสนุกทั้งคนชมและคนปั่น

ด้วยที่แข่งกันในสนามปิด นักแข่งสามารถชวนเพื่อนและครอบครัวมาชมได้ ไม่เหมือนกับสนาม road race ที่แข่งทางไกลจาก A ไป B ยากที่จะติดตามการแข่งขันครับ

สนามไครทีเรียมก็เหมือนสนามแข่งรถดีๆ นี่เอง มักจะจัดกันกลางเมือง ในสนามแข่งรถ หรือปิดล้อมพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้จุผู้ชมได้ตลอดแนวเส้นทาง อย่างสนาม Criterium Projects ที่จะถึงนี้ก็แข่งกันในสนาม Toyota Driving Experience Park (ถนนบางนา-ตราด กม.3) ซึ่งมีระยะทาง 1.2 กิโลเมตรต่อรอบ ผู้ชมสามารถมองเห็นเกมการแข่งและตามเชียร์ได้ตลอดเวลา

ทางฝั่งคนปั่นเองก็สนุกเร้าใจเช่นกัน เพราะเกมไครทีเรียมทุกเกม “จัดหนัก” กันตั้งแต่ต้นจนจบ เรียกได้ว่าสตาร์ทกันที่หัวใจโซน 4/5 แช่กันไปยาวๆ จนจบ เมื่อเป็นเกมระยะสั้นแน่นอนว่านักปั่นย่อมเหลือแรงไว้ถล่มกันมากครับ ไม่ต้องอาศัยความอึดทนอย่างการแข่งกัน 3-4 ชั่วโมงในเกมถนน นักปั่นก็ต้องชิงไหวชิงพริบ หาจังหวะทำเกมกันตลอดเวลา เส้นทางก็เทคนิคัลมีโค้งให้เล่นกันเยอะตลอดทั้งสนาม ส่วนตัวผมเองสนามที่สนุกที่สุดที่เคยลงแข่งก็เป็นสนามสไตล์ไครทีเรียมเช่นกันครับ! ความตื่นเต้นที่ต้องเลือกไลน์เข้าโค้งหักศอก 180 องศา หรือโค้งตัว S ตามด้วยการยกสปรินต์ให้ทันกลุ่มหน้านี่หาอะไรเทียบได้ยากจริงๆ

 

3. ไครทีเรียมอันตรายจริงหรือเปล่า?

สิ่งที่นักปั่นเป็นห่วงในการลงไครทีเรียมกันมากที่สุดก็ไม่พ้นเรื่องอุบัติเหตุ เพราะเราแข่งกันในกลุ่มใหญ่ สนามเล็ก โค้งเยอะ โอกาสที่จะเบียดเสียดเกี่ยวกันล้มนั้นเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมีนักปั่นหลายทักษะผสมปนเปกันอยู่ บางคนอาจจะเป็นสิงห์ Crit บางคนอาจจะไม่เคยปั่นเลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ดูเผินๆ ไครทีเรียมอาจจะชวนล้มง่ายๆ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วสนามไครทีเรียมปลอดภัยกว่าที่คิดครับ นั่นก็เพราะนักปั่นก็จะคิดเหมือนกันหมดว่ามันน่ากลัวน่าเกี่ยว ก็เลยจะระวังตัวกันเป็นพิเศษ!

อย่างไรก็ดี ทุกการแข่งขันมีความอันตรายของมันเอง เพราะงั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันระวังทั้งตัวเองและมีสติในการแข่งขันตลอดเวลาครับ เหมือนคำกล่าวประจำเปโลตองที่พูดกันว่า “You are responsible for your own front wheel.” “คุณต้องรับผิดชอบล้อหน้าของตัวเอง” อย่าให้ไปเกี่ยวใคร และอย่าให้ใครมาเกี่ยว!

 

4. กลยุทธ์การแข่งเป็นยังไง?

วิธีแข่งรายการไครทีเรียมรวมๆ แล้วไม่ต่างจากการแข่ง Road Race เท่าไรในเรื่องของการได้มาซึ่งแชมป์รายการครับ เพราะยังไงคุณก็ต้องเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกถึงจะได้แชมป์ สิ่งที่ต่างคือทุกอย่างเร็ว แรง และเดือดกว่าหลายเท่า! เพราะระยะทางมันสั้น

เกมหนี (เบรคอเวย์)
นักปั่นที่ไม่มีลูกสปรินต์ อาจจะหาจังหวะ “เบรคอเวย์” หรือหนีกลุ่มออกไป กะให้เข้าเส้นชัยได้เป็นคนแรกโดยไม่ต้องวัดดวงสปรินต์แข่งกับคนอื่น

ในเกมหนีแบบนี้อาจจะมีเพื่อนร่วมกลุ่มหนีที่มาแจมด้วย แต่อย่างน้อยโอกาสชนะก็มากกว่าสปรินต์กับคนทั้งเปโลตองอยู่ดี

จะหนีกลุ่มได้จนชนะก็ต้องแข็งแกร่งจริงๆ หรือหาจังหวะได้สวย เพราะปกติแล้วกลุ่มเปโลตองช่วยกันปั่นไล่จับเรานั้นมักจะเร็วกว่าเบรคอเวย์กลุ่มเล็กหรือคนเดียวเสมอ มีตัวช่วยขึ้นผลัดนำมาก

เกมโจมตีกลุ่ม (attack)
แผนนี้ก็ไม่ต่างจากเกมเบรคอเวย์นัก สำหรับคนที่สปรินต์ไม่ดี หนียาวๆ ก็ไม่อึด แต่มีแรงหวดระยะสั้นเช่น 1-3 รอบ ก็อาจจะเลือกโจมตีกลุ่มก่อนถึงเส้นชัยไม่กี่รอบ หรือภายในรอบสุดท้ายเลยก็ได้ ในสไตล์การปั่นแบบเปอร์ซูต์

แทคติคนี้ก็ต้องอาศัยจังหวะที่เหมาะสม เล่นตอนคนอื่นเผลอหรือหมดแรง ยิ่งรอบท้ายๆ ที่ทุกคนออกแรงกันมาหนักจนล้าแล้วยิ่งเป็นโอกาสที่ดี ถ้าจังหวะถูกต้องก็มีโอกาสชนะเยอะกว่าการท้าดวลสปรินต์ แต่ถ้าอ่านผิดโดนรวบก็เสียใจด้วย

เกมสปรินต์
ในกรณีที่นักปั่นกลุ่มใหญ่หนีกันไม่ขาด ต้องเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กันเกมก็จะจบด้วยการสปรินต์หาคนที่เร็วที่สุดจากกลุ่มครับ ก็ไม่ต่างจากการสปรินต์ในเกม Road Race ที่ต้องอาศัยจังหวะ ไหวพริบ การวางตำแหน่งและพละกำลังของนักปั่นแต่ละคนครับ

 

5.นักปั่นไครทีเรียมที่ดีควรเป็นยังไง?

ด้วยความที่เป็นเกมเร็วและแอคทีฟ มีความเคลื่อนไหวและการโจมตีตลอดเวลา นักปั่นที่ดีควรมีสติกับเกมตลอด พร้อมที่จะรับสถานการณ์ตรงหน้าครับ อ่านเส้นทางล่วงหน้า เช็คเกมทีมและคู่แข่งรอบๆ แต่ก็ต้องรีแลกซ์ใจเย็นพอที่จะไม่ตกใจกับอะไรง่ายๆ ซึ่งมักจะนำไปสู่อุบัติเหตุได้

ในด้านเทคนิค การเลือกเกียร์ การเลือกไลน์ในการเข้าโค้ง การกะจังหวะเบรคก่อนเข้าโค้งเพื่อให้เคลียร์โค้งได้ไวที่สุดและปลอดภัยที่สุดก็เป็นเรื่องสำคัญ​และนักปั่น road race หลายๆ คนอาจจะมองข้ามหรือไม่ได้ฝึกทักษะเหล่านี้มากนัก เพราะถนน road race มักเป็นเกมทางตรงยาวๆ

ในด้านร่างกาย นักปั่นที่สปรินต์ได้ดีและบ่อยจะได้เปรียบ เช่นคนที่ซ้อมความหนักระดับ anaerobic ระยะสั้นบ่อยๆ แบบ sprint interval เพราะไครทีเรียมเป็นเกมที่โค้งเยอะและเร่งหนีกันแทบทุกโค้ง แน่นอนว่าสปรินต์ดีแล้วก็ต้อง recover ฟื้นตัวได้เร็วด้วย เพราะหากหมดแรงตั้งแต่สองโค้งแรกก็คงหลุดกลุ่มในไม่นานครับ

นอกจากจะอึด แรง สู้เกมที่กระตุกบ่อยๆ แล้ว นักปั่นที่มีโอกาสชนะเยอะคือคนที่แหวกกลุ่มเลื่อนตัวไปอยู่หน้าฝูงได้เก่ง เกมไครทีเรียมมักแข่งกันในถนนที่ไม้กว้างนักและนักปั่นกระจุกตัวกันเยอะ เมื่อเข้าโค้งบ่อยและเราไม่กล้าพอจะเลื่อนตัวก็มีโอกาสลงไปรั้งท้ายกลุ่มได้ง่ายๆ เมื่อตามกลุ่มได้ทันแล้วการเข้าประกบล้อข้างหน้าเพื่อดราฟต์และเซฟแรงก็เป็นกลยุทธ์ที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะแรงที่เหลือจากการดราฟต์มันอาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าเราหลุดโพเดี้ยมหรือได้แชมป์รายการ

เช่นนั้นแล้ว บางครั้งแชมป์ไครทีเรียมก็ไม่ใช่คนที่เร็วและแรงที่สุดเสมอไป แต่อาจจะเป็นคนที่ฉลาด ไหวพริบดี วางตำแหน่งดี เลือกฉวยโอกาสได้เหมาะก็มีโอกาชนะไม่แพ้กันครับ

 

6. เป็นมือใหม่ไครทีเรียมควรเตรียมตัวยังไง?

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสนามไครทีเรียมนั้นไม่ได้ง่ายซะทีเดียวกับมือใหม่ครับ มีทักษะและสไตล์การแข่งขันของมันเองที่เด่นชัดและนักปั่นไทยก็ไม่มีโอกาสได้ซ้อมมือบ่อยๆ เพราะไม่ค่อยมีใครใจ แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไปและก็มีความสนุกที่หาจากสนามจักรยานประเภทอื่นไม่ได้

ถ้าเราเป็นมือใหม่ไม่เคยผ่านสนามคริทมาก่อน อาจจะดีกว่าที่ไม่ตั้งความคาดหวังสูงจนเกินไป ลงแข่งแบบเก็บประสบการณ์ เรียนรู้แล้วนำมาพัฒนาต่อในครั้งต่อไปก็จะไม่ทำให้เราเสียใจนักหากแพ้หรือหลุดกลุ่ม และอีกอย่างมันจะทำให้เราไม่เกร็งจนชวนตกใจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ ด้วย

เราอาจจะต้องเป้าที่เหมาะสมเช่น “พยายามไม่หลุดกลุ่มนี้” หรือมีแผนสำรองไว้ว่าถ้าหลุดกลุ่มแล้วจะทำยังไง จะหากลุ่มเล็กอยู่ด้วย หรือหาทางกลับเข้ากลุ่มเดิม? ในสนามที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเตรียมใจและคำนวนสถานการณ์ล่วงหน้าไว้บ้าง ถึงจะใช้ไม่ได้จริง แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราตกอกตกใจหรือเสียกำลังใจจนเกินไปครับ

สนามไครทีเรียมส่วนมากเปิดโอกาสให้นักปั่นได้ “ลอง” เดินชมและปั่นจริงก่อนเริ่มการแข่งขัน ซึ่งเป็นโอกาสที่เราไม่ควรพลาดครับ จะได้สำรวจแต่ละโค้ง แต่ละช่วงของสนามว่าต้องใช้ความเร็วแค่ไหน ต้องเบรคประมาณไหน และเลือกไลน์ยังไง

ด้วยที่เป็นเกมเร็วและแรง นักปั่นควรวอร์มอัปก่อนออกสตาร์ทอย่างเหมาะสมและหนักพอสมควร แต่ไม่หนักจนไม่เหลือแรงแข่ง เพราะผิดกับเกม Road Race ที่เรามีเวลาโรลลิ่ง (ด้วยความเร็ว 40+ 5555) และมีระยะทางเยอะกว่าจะถึงเส้นชัย เกมไครทีเรียมจะจัดหนักกันตั้งแต่ออกสตาร์ท ซึ่งถ้าเครื่องเรายังไม่ร้อน กล้ามเนื้อ ระบบประสาทยังไม่ถูกกระตุ้น รับรองว่าหลุดกลุ่มตั้งแต่สองโค้งแรก ถ้าไม่มั่นใจว่าจะวอร์มอัปยังไงลองดูบทความของ Ducking Tiger หรือวิดีโอสอนใน Youtube ข้างล่างนี้ครับ

วิธีวอร์มอัพก่อนปั่นตามสูตรทีม Sky

 

7. Criterium Projects: ​ศึกไครทีเรียมที่พร้อมให้คุณลงสนาม 5 พ.ย.นี้

ถ้าอ่านจบแล้ว สนใจอยากแข่งไครทีเรียม รายการ Criterium Projects ยังเปิดรับอยู่ถึงวันที่ 2 พฤษจิกายนนี้ครับ

รายการ Criterium Projects จัดแข่งโดยทีมงาน Cycling Projects ซึ่งจะแข่งกันวันที่ 5 พฤษจิกายนนี้ ที่นามทดสอบรถยนต์มาตราฐานสากล Toyota Driving Experience Park (ถนนบางนา-ตราด กม.3)

เส้นทาง Criterium Projects (กดเพื่อขยาย)

งานนี้เปิดรับสมัคร 6 รุ่นด้วยกันมี

  1. เสือหมอบชาย A
  2. เสือหมอบชาย B
  3. เสือหมอบหญิง
  4. เสือหมอบทีม ชาย/หญิงหรือผสม
  5. Fixed Gear ชาย
  6. Fixed Gear Elimination ชาย

นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลและของรางวัลรวมหลายแสนบาทครับ ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัล อันดับ 1–5 ในแต่ละรุ่น ของรางวัลอย่างหมวกกันน็อคระดับโลก Casco และ MET , เฟรมจักรยานชั้นนำจาก BMC และ Cinello พร้อมทั้ง Food Truck และร้านจักรยานอีกมากมายที่มาเปิดบูทให้ชมและช็อปกันด้วย

เงินรางวัล

กำหนดการแข่งขัน วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน

  • 12.00–15.00 : Rider Register @ Rider Zone
  • 14.00–14.50 : Test Track
  • 15.00–16.30 : Qualify
    – Class A
    – Class B
    – Elimination Race
  • 16.45–17.15 : Lady Class
  • 17.25–18.25 : Team 3
  • 18.35–19.20 : Fixed Gear Class
  • 19.30–20.00 : Class B
  • 20.10–21.00 : Elimination Race
  • 21.10–21.40 : Class A
  • 21.45–22.00 : Podium Time

เปิดรับสมัครถึงวันที่ 2 พฤษจิกายน สมัครแข่งได้ที่ ลิงก์นี้ ครับ

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *