Bike Safety: 7 วิธีจัดการกับอุบัติเหตุจักรยาน

ไม่ว่าจะมีประสบการณ์การปั่นมากเท่าไร สิ่งที่คนปั่นจักรยานทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การล้ม การตรวจสอบร่างกายตัวเองหลังการล้มก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

อุบัติเหตุจักรยานเกิดขึ้นได้ทุกเวลาจากสาเหตุหลากหลาย ไม่ว่าจะเพราะลืมปลดคลีต พลาดเกี่ยวล้อคันหน้า เสียหลักบนถนนขรุขระ หรือถูกรถยนต์เฉี่ยวชน ความรุนแรงของการล้มแต่ละครั้งย่อมไม่เท่ากัน บางครั้งที่เราลืมปลดคลีตอาจแค่เสียหน้ากลางสี่แยก แต่บางทีที่โดนเกี่ยวล้มเราอาจกระดูกหักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่เพิ่งล้มใหม่ ๆ อะดรินาลีนสูบฉีดไปถึงใบหู เรามักรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าความเป็นจริง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการล้มครั้งใดรุนแรงจนต้องไปโรงพยาบาล วันนี้ DT มีแนวทางการปฏิบัติและตรวจสอบตัวเองคร่าว ๆ มาฝากกัน ทั้งเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ประสบอุบัติเหตุเองและการจราจรรอบบริเวณ รวมถึงเพื่อสังเกตอาการผิดปกติที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ในทันที และควรรีบปรึกษาแพทย์ครับ

 

1. รีบออกจากพื้นที่อันตราย

ถ้าเราล้มกลางสี่แยกหรือกลางเลนบนทางหลวง สิ่งแรกที่ควรทำหากทำไหว (หรือถ้าไม่ไหวก็ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน และผู้คนโดยรอบให้ได้) คือเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากกลางถนนก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีรถยนต์คันที่ไม่ระวังมาชนซ้ำเข้าไปอีก พึงระลึกไว้เสมอว่าความปลอดภัยของตัวเราสำคัญที่สุด จักรยานหากแตกหักหรือเสียหายก็ยังพอเก็บออมซื้อคันใหม่ได้ หลักฐานการเคลมประกันรวมถึงการเจรจากับคู่กรณี (หากมี) ก็สามารถทำได้ภายหลังเมื่อแน่ใจว่าพ้นอันตรายแล้ว

ทั้งนี้ ถ้าผู้บาดเจ็บมีอาการเจ็บคอหรือหลังที่อาจจะแสดงถึงอาการกระดูกหัก หรือบาดเจ็บหนักจนเคลื่อนไหวไม่ได้ ก็ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้เพื่อนนักปั่นช่วยระวังจราจรรอบข้างและรีบติดต่อโรงพยาบาล

2. ถ้าผู้ได้รับบาดเจ็บสลบ หรือยังได้สติแต่จำเหตุการณ์ไม่ได้ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

บ่อยครั้งที่เมื่อประสบอุบัติเหตุจักรยาน ศีรษะมักกระแทกกับพื้น หากการกระแทกนั้นรุนแรงพอ จะทำให้สมองถูกกระทบกระเทือนจนจำเรื่องราวขณะเกิดเหตุไม่ได้ และหากรุนแรงกว่านั้น อาจถึงขั้นทำให้มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินและอันตรายมาก ดังนั้นหากผู้ได้รับบาดเจ็บสลบไปหรือจำเหตุการณ์ไม่ได้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยและสังเกตอาการต่อไป

3. ประเมินกระดูกสันหลังส่วนคอด้วยการเงยหน้าขึ้นและหันคอไปรอบ ๆ

ถ้าเราไม่ได้สลบจากอุบัติเหตุและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้ลองเงยหน้าและหันคอไปรอบ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอุบัติเหตุที่ศีรษะกระแทกพื้น เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนคอจะต้องรับแรงกระแทกมากพอ ๆ กับกะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลังส่วนคอนั้นก็เป็นกระดูกละเอียดอ่อนชิ้นเล็ก ๆ ที่วางเรียงต่อกัน จึงเสี่ยงต่อการร้าวหรือหักได้ง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การบาดเจ็บบริเวณนี้อาจหมายถึงการบาดเจ็บของไขสันหลังซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่อยู่ภายใน หากรู้สึกเจ็บบริเวณคอด้านหลังมาก หันศีรษะไม่ได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการบาดเจ็บโดยละเอียด

Martyn Ashton นักกีฬาจักรยานผาดโผนชื่อดังของโลก เจ้าของวิดิโอ Road Bike Party ก็เป็นอัมพาตที่ขาทั้งสองข้างเพราะประสบอุบัติเหตุระหว่างแสดง เนื่องด้วยการตกจากที่สูงสามเมตรโดยหลังกระแทกพื้น กระดูกสันหลังจึงได้รับอาการบาดเจ็บและทำให้เป็นอัมพาตจนถึงปัจจุบัน

4. ประเมินซี่โครงและปอดโดยหายใจเข้าสุดและออกสุด

ถัดจากกระดูกสันหลังส่วนคอก็เป็นทรวงอก ปอด และกระดูกซี่โครง การบาดเจ็บของอวัยวะทั้งหมดนี้สามารถประเมินเบื้องต้นคร่าว ๆ ได้ด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ จนสุด และหายใจออกจนสุด หากสามารถทำได้โดยไม่เจ็บปวดใด ๆ โอกาสปอดแตก เลือดออกในทรวงอก และซี่โครงร้าวหรือหักก็ลดน้อยลงมาก แต่หากไม่สามารถทำได้ สูดลมหายใจเข้าออกได้เพียงสั้น ๆ ต้องรีบให้แพทย์ประเมินการบาดเจ็บอีกครั้ง

5. เดินไปรอบ ๆ และลองแกว่งแขนดูว่าระยางค์หลุดหรือหักหรือไม่

เช็คลิสต์ลำดับต่อไปคือการตรวจดูว่ามีกระดูกหัก หรือข้อหลุดหรือไม่ หากลุกยืนและเดินไม่ได้ หรือไม่สามารถขยับหัวไหล่ แขน ข้อมือ สะโพก เข่า กระทั่งข้อเท้าได้เอง และยิ่งปวดมากจนทนไม่ไหวเมื่อมีคนจับหรือช่วยขยับบริเวณนั้น เวลาผ่านไปห้าหรือสิบนาทีแล้วก็ยังเจ็บปวดมากไม่ลดลง หรือมีลักษณะบวมขึ้นชัดเจน เป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจมีข้อหลุดหรือกระดูกหักได้ จำเป็นต้องไปรับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป ในทางกลับกันหากรู้สึกระบมหรือปวด แต่ยังลุกขึ้นยืนเดินไปมา สามารถแกว่งแขน ขยับข้อมือซ้ายขวา และกำมือแบมือได้ รวมถึงเวลาผ่านไปแล้วปวดน้อยลง ระบมน้อยลง มักจะหมายถึงอาการช้ำจากการกระแทกมากกว่า

6. ถ้าไม่มั่นใจ ไปให้แพทย์ประเมินปลอดภัยกว่า

หากสุดท้ายยังไม่มั่นใจว่าอาการบาดเจ็บของเรารุนแรงมากน้อยแค่ไหน การไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินก็ย่อมปลอดภัยกว่าอดทนให้อาการทุเลาลงเอง ยกตัวอย่างเช่นกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่ข้อมือนั้นมีโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนมาก หากแตกและเลื่อนไปเพียงไม่กี่มิลลิเมตรแล้วถูกละเลยเอาไว้ กระดูกจะสมานกันใหม่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องภายในหนึ่งถึงสองเดือน หลังจากนั้นการทำงานของข้อมือจะถูกจำกัดและอาจรู้สึกปวดข้อเรื้อรังได้ การผ่าตัดแก้ไขต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญมาก ๆ และต้องทำกายภาพบำบัดเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น

7. ห้ามนำหมวกกันน็อกที่กระแทกแล้วกลับมาใช้ซ้ำ

หากอุบัติเหตุครั้งใดทำให้ศีรษะกระแทก ไม่ว่าหมวกกันน็อกจะแตก ร้าว หรือไม่ร้าว ไม่เละและไม่แตก ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำหมวกนั้นกลับมาใช้ซ้ำอีก เนื่องจากโครงสร้างของ polystyrene ภายในหมวกจะเสียไปและไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกได้ตามที่มันควรจะเป็น ไม่ว่าจะสามารถมองเห็นการแตกร้าวใด ๆ ได้หรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณฟอลคอนประกันภัยที่เป็นผู้สนับสนุน DT ในการทำเนื้อหาชุด Bike Safety ครับ iBike เป็นประกันภัยสำหรับนักปั่นจากฟอลคอนประกันภัย คุ้มครองจักรยาน และนักปั่น รวมถึงคู่กรณี ด้านที่คุ้มครองมี:

  • จักรยานหาย ถูกปล้น หรือพังจากอุบัติเหตุ
  • เสียชีวิต หรือพิการจากอุบัติเหตุ
  • ชดใช้ความเสียหายต่อคู่กรณี

รายละเอียดเพิ่มเติม 0-2676-9999
www.iSport4life.com

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *