กว่าจะมาเป็นจักรยาน Nich หนึ่งคัน

8 ปีมาแล้วที่ Nich Cycling แบรนด์จักรยานไทยของคุณชิน ชินธิป บุญโชคหิรัญเมธาโลดแล่นอยู่ในวงการจักรยานไทย Nich เป็นแบรนด์จักรยานไทยรายแรกของประเทศที่นำเสือหมอบแข่งขันคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาทำตลาด

ผ่านไป 8 ปีจากแบรนด์ที่เริ่มด้วยผู้ชายตัวคนเดียว ปัจจุบัน Nich Cycling เติบโตจนมีทีมงานหลายสิบชีวิต สินค้าหลายตัวติดตลาดไม่ว่าจะเป็นล้อเสือหมอบและเฟรมจักรยานทั้งคาร์บอนไฟเบอร์และอลูมิเนียม รวมไปถึงที่เป็นผู้บุกเบิกงานแข่งจักรยานแบบทีมเรซที่ได้ความนิยมเป็นอย่างสูงทุกปีในชื่อ Nich Team Race

นอกจากนี้ทีมจักรยาน Nich Cycling ที่สนับสนุนโดย 100 Plus ยังเป็นทีมจักรยานสมัครเล่นที่มีผลงานเป็นอันดับต้นของประเทศอีกด้วย

ถึง Nich Cycling จะเติบโตขึ้นทุกปี แต่สิ่งที่เป็นหัวใจชี้วัดว่าแบรนด์จะอยู่หรือจะตายก็คือตัวสินค้า จักรยานแบรนด์ไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมหรือเท่าแบรนด์ต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าตัวสินค้าและกระบวนการผลิตนั้นจะต่างกันไปเสียทีเดียว

ในแวดวงจักรยานไทย ไม่ใช่เรื่องยากที่คนๆ หนึ่งจะสั่งชิ้นส่วนจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาจำหน่ายใน ยุคนี้มีทั้งเทรดโชว์ในไทยและต่างประเทศที่เราสามารถไปยืนชี้นิ้วสั่งของเข้ามาขายได้ไม่ยาก ขอแค่เงินถึงและจำนวนถึง

แต่การนำของมาขายไม่เหมือนการสร้างแบรนด์ที่ไว้ใจได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่นำเข้ามาขายนั้นคุณภาพดี เราเข้าถึงผู้ผลิตได้ลึกแค่ไหน? เป็นที่รู้กันในวงกว้างว่ามีกลุ่มนายหน้าจากจีนและไต้หวันจำนวนมากที่บอกว่าตัวเองเป็นโรงงานจักรยาน แท้จริงแล้วเขาแค่เป็นพ่อค้าคนกลางที่ดีลกับโรงงานเพื่อนำของมาจำหน่ายอีกทีเท่านั้น พ่อค้าคนกลางพบได้ทั้งในเทรดโชว์และในตลาดออนไลน์ อาศัยช่องว่างที่ตัวโรงงานเองหาลูกค้าและทำการตลาดได้ไม่เก่งเท่า

สินค้าจักรยานจำพวกคาร์บอนไฟเบอร์จำนวนมากที่วางขายในตลาดมักจะมาจากช่องทางนี้ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ผู้บริโภคปลายน้ำจะรู้ว่าสินค้ามาจากผู้ผลิตรายไหน

สิ่งที่ทำให้ Nich ต่าง

แล้วอะไรที่ทำให้ Nich ต่างไปจากแบรนด์อื่น?

ผมจำได้ว่าก่อนจะซื้อจักรยานคันแรก เมื่อ 6 ปีก่อน Nich เป็นแบรนด์ที่ผมสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นจักรยานคาร์บอนราคาไม่สูง แต่สมัยนั้นเฟรมก็ยังไม่ได้โดดเด่น กิจการหลักของ Nich ในยุคนั้นคือล้อคาร์บอน ไม่ใช่เฟรมจักรยาน

ผมไปหาคุณชินถึงที่บ้าน เพื่อขอดูสินค้า แถมยังมีการลองภูมิ ซักถามว่าเอาเฟรมมาจากไหน ใช้โมลด์ตัวเองมั้ยออกแบบเองหรือเปล่า ยุคนั้นเฟรม Nich ยังไม่มีการพัฒนาที่ดีเหมือนสมัยนี้ ด้วยข้อจำกัดทางต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งผลิต ผมเลยข้ามไป แต่ก็ยังติดตามพัฒนาการของแบรนด์มาเรื่อยๆ

ระหว่างเดินทางไปโรงงานผลิตจักรยาน Nich คุณชินเล่าให้ฟังว่า

“ความตั้งใจของแบรนด์ Nich คือการให้จักรยานและล้อของ Nich ไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลกให้ได้สักวันหนึ่ง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ สินค้าของเราต้องดีจริง ไม่ใช่แค่ของที่สั่งจากแคตตาล็อกโรงงาน ทั้งจักรยานและล้อมันต้องมาจากการออกแบบของเรา มีโมลด์ (แม่พิมพ์) ของเราเองที่คนอื่นเอาไปใช้ไม่ได้ และนั่นคือการสร้างแบรนด์ที่แท้จริง เราต้องไปให้ถึงผู้ผลิตที่ทำสินค้าให้แบรนด์จักรยานระดับโลก”

ถึง Nich จะยังไม่มีทีม R&D และทีมระดับโปรทัวร์เป็นของตัวเองเหมือนแบรนด์ระดับโลก แต่ก็ใช่ว่าในกรอบข้อจำกัดนี้จะทำจักรยานที่ดีไม่ได้ และนั่นคือเหตุผลที่ Nich Cycling ชวนเราไปชมขั้นตอนการผลิตเฟรมเสือหมอบ Nich Faith 2 ตั้งแต่ต้นจนจบถึงแหล่งผลิต และนี่คือเรื่องราวของทริปนี้ครับ


ตงก่วน โรงงานจักรยานโลก

โรงงานจักรยานที่ผลิตให้ Nich ที่ว่านี้ตั้งอยู่ที่เมืองตงก่วนในมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน ก่อนหน้านี้สัก 7-8 ปี โรงงานจักรยานที่ทันสมัยที่สุดในโลกมักอยู่ในไต้หวันที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในการผลิตจักรยาน

แต่ก็เริ่มมีความพยายามจากทั้งโรงงานผู้ผลิตจักรยานในไต้หวันเองและแบรนด์จักรยานชั้นนำจำนวนมากที่ย้ายฐานการผลิตออกนอกไต้หวันไม่ว่าจะเป็นจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนามด้วยค่าแรงและต้นทุนหลายๆ อย่างที่ประหยัดกว่า ซึ่งโรงงานจักรยานที่ผลิตให้แบรนด์ระดับโลกจำนวนมากก็อยู่ที่เมืองตงก่วนนี่เอง

ก่อนหน้านี้เมืองตงก่วนเป็นแค่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่มีพื้นที่ไม่ถึง 3 ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อจีนเปิดประเทศ ทำให้นักลงทุนไต้หวันเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ด้วยที่ตงก่วนมีค่าแรงและที่ดินถูก จึงเกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนและเทคโนโลยีการผลิตในเซกเมนต์อุตสาหกรรมครั้งใหญ่เข้าสู่งเมืองเล็กๆ นี้

มุมจากที่พักเรา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงงาน

จนปัจจุบันตงก่วนเป็นฐานการผลิตสินค้าของบริษัทข้ามชาติกว่า 10,000 บริษัทกับรายการสินค้ากว่า 60,000 ประเภท นอกจากชิ้นส่วนจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์แล้ว ก็ยังมีสินค้าสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้ากีฬากว่า 10% ที่จำหน่ายในโลกเราก็ผลิตจากเมืองนี้ ศุลกากรจีนระบุว่าขนาดเศรษฐกิจของตงก่วนนั้นคิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศไทย

โรงงานที่ผลิตจักรยานให้ Nich ชื่อ Composite Gear (แต่ล้อ Nich ผลิตที่โรงงานอื่น) แว่บแรกที่เราเดินเข้าไปในออฟฟิศเราก็เห็นแบรนด์รถจักรยานในโปรทัวร์ที่โรผงงานลิตให้ทันที 2-3 ราย แต่วิศวกรขอไว้ว่าอย่าลงชื่อแบรนด์ออกสื่อ

นอกจากจะเป็นการให้เกียรติคู่ค้าแล้ว อีกเหตุผลก็คือแบรนด์จักรยานไม่ค่อยอยากให้เราเห็นว่าเบื้องหลังการผลิตหน้าตาเป็นยังไง เพราะมันไม่ได้ดูสวยหรูเหมือนในภาพจากฝั่งมาร์เก็ตติ้ง 

แน่นอนเมื่อแบรนด์ต้องขายจักรยานในราคาหลักแสน ภาพลักษณ์คือทุกสิ่งทุกอย่าง


เริ่มต้นโปรเจ็ค Nich Faith 2

Nich Faith รุ่นแรกเป็นจักรยาน all round ที่เด่นมากคันหนึ่ง ทั้งด้านการตอบสนองแรงและความสบาย แต่ก็ยังมีจุดที่ปรับปรุงได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรองรับระบบดิสก์เบรก รองรับยางหน้ากว้าง ทำน้ำหนักเฟรมให้ต่ำลง รวมถึงการทำซีทสเตย์แบบดรอปให้ช่วยเรื่องแอโรไดนามิกและการซับแรงสะเทือน

Nich Faith Gen 1

ด้านแอโรไดนามิกหรือการเพิ่มความลู่ลมให้กับเฟรม Nich ยังไม่ได้มีเงินทุนมากพอจะทำการทดสอบวิจัยในระบบอุโมงค์ลม แต่อย่างน้อยถ้าสามารถทำเฟรม all round ที่ขี่และแข่งขันได้รอบด้านเท่าเทียมแบรนด์ระดับโลก ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเป็นเป้าหมายที่ดีพอ

เมื่อได้โจทย์ภาพรวมจักรยานที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคืออะไร? ลองดูแผนภูมิคร่าวๆ ข้างล่างนี้ครับ

คลิกเพื่อขยาย

Nich เริ่มร่างโจทย์ Faith 2 ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2017 และได้รับเฟรมรุ่นทดลอง #1 (Prototype) ในเดือนพฤศจิกายน

เมื่อได้เฟรมรุ่นทดลองมาแล้วก็ทำการทดสอบตลอดช่วงปลายปีและส่งฟีดแบคให้โรงงานแก้ไขอีกครั้งต้นปี 2018 จนได้เฟรมทดลอง #2 ก็ให้ทีม Nich ใช้ลงแข่งจริงในหลายๆ รายการตลอดทั้งปี

จากนั้นเมื่อกลางปี 2018 ก็ส่งฟีดแบคให้โรงงานอีกครั้งเพื่อลดน้ำหนักเฟรมให้ได้มากกว่าเดิม ก่อนจะได้รุ่นผลิตจริงมาวางจำหน่ายในเดือนตุลาคมปีนี้

กว่าจะมาเป็นจักรยานคาร์บอนหนึ่งคัน

การผลิตเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์นั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ถึงหน้าตาจักรยานจะไม่ค่อยต่างกันนัก จนบางครั้งเราคิดว่าทำไมต้องซื้อรุ่นที่แพงกว่าถ้ามาจากวัสดุเดียวกัน? แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ คำว่าคาร์บอนไฟเบอร์นั้นมีหลายระดับครับ เราจะทำให้มันซับซ้อน ใช้วัสดุหรูหราขนาดไหนก็ได้ หรือจะทำแบบถูกๆ ใช้คาร์บอนคุณภาพต่ำก็ได้เช่นกัน สุดท้ายหน้าตาก็อาจจะออกมาเหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพต่างกันโดยสิ้นเชิง

เปรียบได้กับการปรุงอาหาร ถ้าเชฟใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง ปรุงอย่างพิถีพิถัน เข้าใจถึงความชอบของคนทานก็ย่อมได้อาหารที่รสดีถึงจะเป็นเมนูพื้นฐานธรรมดาก็ตาม

Step 1 – จุดเริ่มต้นของเฟรมคาร์บอน

ก่อนที่คาร์บอนไฟเบอร์จะเปลี่ยนมาเป็นรูปทรงกลม รี เหมือนท่อต่างๆ ในเฟรมจักรยาน มันเริ่มมาจากคาร์บอนแบบแผ่นเหมือนกระดาษแบบนี้ครับ ภายในชีทคาร์บอนก็คือเส้นใยคาร์บอนที่ถักทอสานกันมาแล้ว มีหลายขนาด หลายทิศทาง หลายความหนาแน่นให้เลือก ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการใช้กับส่วนไหนของจักรยาน

ปกติแผ่นชีทคาร์บอนพวกนี้จะมาจากโรลคาร์บอนขนาดใหญ่ที่ม้วนเหมือนพรมไว้ แล้วนำมากางออกตัดด้วยมือหรือเครื่อง CNC ให้ได้ตามรูปทรงและขนาดที่ต้องการ


Step 2 – วางเรียงชั้นคาร์บอน

แล้วจากแผ่นแบนๆ เขาขึ้นรูปเป็นทรงท่อเฟรมยังไง? ก่อนจะมาถึงจุดนี้เราจะมีแผนลำดับการวางเรียงคาร์บอนประเภทต่างๆ ในท่อที่เรากำลังทำอยู่ แผนนี้เรียกในวงการว่า “Layup schedule” หรือสูตรการเรียงคาร์บอนนั่นเองครับ

ก่อนจะได้สูตรนี้มาก็ต้องผ่านการวิจัย ทดสอบต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าชิ้นส่วนไหนของจักรยานควรจะมีคาแรคเตอร์ยังไง เช่นบริเวณกระโหลกหรือท่อคอก็จะใช้คาร์บอนแบบ weave (เส้นสาน) จำนวนมากกว่าแบบทิศทางเดียว (unidirectional) ที่ใช้กับท่อส่วนอื่นๆ นั่นก็เพราะกระโหลกและท่อคอต้องเจอการออกแรงหนักๆ หลายทิศทาง ทั้งแรงเหยียบบันไดของเรา แรกกระชาก แรงโยกเป็นต้น

เฟรม Faith 2 ใช้คาร์บอนไฟเบอร์จากบริษัท Torayca (Toray) ผู้ผลิตคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากญี่ปุ่น โดยในตัวเฟรมจะใช้คาร์บอนแบบกไฮโมดูลัส ผสมกันระหว่าง T700 และ T800


Step 3 – Moulding

จากนั้นพนักงานก็จะใช้มือพันแผ่นชีทคาร์บอนเข้ากับโมลด์หรือแม่แบบ ซึ่งอาจจะเป็นไม้หรือพลาสติกแข็งก็ได้ โมลด์พวกนี้จะขึ้นมาเป็นรูปทรงของเฟรมแบบหลวมๆ อยู่แล้ว ก็จะพันเรียงชั้นคาร์บอนในมุมและองศาที่กำหนดไว้

ท่อคาร์บอนที่ทำการวางเลย์อัปเสร็จแล้ว

ถามว่าแล้วเราจะพันกี่ชั้น พันองศาไหน พันมุมไหน ถึงจะได้คาแรคเตอร์รถที่เราต้องการ? มันมาจากความรู้และประสบการณ์ของวิศวกรครับ ถ้าโรงงานมีประสบการณ์การทำรถดีๆ มาเยอะก็จะยิ่งทำรถได้ดีมากขึ้น


Step 4 – เข้าเครื่องอบ

จากที่เราเห็นในรูปข้างบนระหว่างการพันคาร์บอน เราจะเห็นว่าตัวคาร์บอนมันก็แค่แผ่นบางๆ ที่พันซ้อนทับกัน ไม่ได้มีความแข็งเหมือนจักรยานที่เราจับ แล้วทำยังไงมันถึงจะแข็งแรงขึ้น?

เราต้องเอาไปอบในเตาแรงดันครับ เราเรียกว่า monocoque construction นั่นเอง คำว่าโมโนคอกนั้นไม่ได้หมายความว่าเอาจักรยานที่ขึ้นโมลด์แล้วทั้งชิ้นเข้าไปอบในเตาจนออกมาเป็นเฟรมหนึ่งคันนะครับ

สังเกตว่าจะมีปลายเฟรมบางจุดจะมีท่อที่พันเทปสีแดงไว้และมีท่อใสๆ ข้างใน นั่นคือถุงลม ที่เวลาเราเอาเข้าเตาอบแล้วจะเป่าลมเข้าไปให้ท่อคาร์บอนมันเป่งออก ด้านในเฟรมเราจะมีถุงลม (bladder) ที่อัดแรงดันเข้าไปเพื่อให้ท่อคาร์บอนเต่งได้รูปตามแม่พิมพ์และลบรอยย่นต่างๆ ที่อาจจะเป็นจุดอ่อนและจุดที่ทำให้เฟรมไม่แข็งแรงเท่าที่ควรครับ

การผลิตจักรยานของโรงงานแทบทั้งหมดจะแยกสองส่วนคือ ส่วนสามเหลี่ยมหน้าและสามเหลี่ยมหลัง โดยขั้นแรกจะอบสามเหลี่ยมหน้าก่อน แล้วค่อยทำสามเหลี่ยมหลังมาเชื่อมอีกที

ที่เห็นในรูปคือเฟรม Faith 2 ที่กำลังเตรียมเอาลงแม่พิมพ์เหล็กที่จะเข้าตู้แอบแรงดัน ในตู้นี้เราจะเพิ่มความดันทีละ 2-10 bar ตลอดระยะเวลา 45 นาที ที่อุณหภูมิ 175 องศา เพื่อให้เรซิ่นกระจายได้ทั่วถึง ตัวเรซิ่นที่เคลือบแทรกอยู่ในเส้นใยคาร์บอนนี่แหละที่จะเริ่มทำปฏิกิริยาละลายออกมาให้คาร์บอนแข็งตัว

แม่พิมพ์เหล็กนี้คือตัวโมลด์หลักครับ เวลาบอกว่าแบรนด์มีโมลด์ของตัวเองก็หมายถึงเจ้าแม่พิมพ์ชิ้นนี้แหละ ถ้าแบรนด์งบไม่ถึงก็สามารถใช้โมลด์ร่วมกับลูกค้ารายอื่นได้ โรงงานส่วนใหญ่ก็จะมีแม่พิมพ์สำเร็จที่ออกแบบไว้ให้แล้ว เพราะว่าการซื้อโมลด์ของตัวเองนั้นใช้เงินหลายแสน และโมลด์แต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานจำกัด ข้อเสียของการใช้โมลด์ร่วมกับคนอื่นก็คือ จักรยานของเราจะหน้าตาเหมือนแบรนด์อื่นๆ ที่ใช้โมลด์ร่วมกันนั่นเอง

ส่วนเฟรม Faith 2 ตัวนี้ไม่ได้ใช้โมลด์ร่วมกับเจ้าไหนๆ

เมื่ออบเสร็จแล้วเราก็จะได้ท่อคาร์บอนกลมหรือรีตามรูปแม่พิมพ์ที่แข็งแรงยิ่งกว่าโลหะเสียอีก

พอออกมาจากตู้อบแล้วก็จะได้เฟรมแข็งๆ เป็นรูปแบบนี้ แต่หน้าตายังไม่ผ่าน ต้องเข้ากระบวนการดีเทลลิงเสียก่อน

(ขอข้ามขั้นตอนการเชื่อมสามเหลี่ยมหลังเพราะเราไม่มีเวลาบันทึกภาพครับ แต่ขั้นตอนคือเอาสามเหลี่ยมหลังมาเชื่อมกับสามเหลี่ยมหน้าด้วยกาวคาร์บอนแล้วเอาไปเข้าตู้อบอีกที)


Step 5 – ขัดสีฉวีวรรณ

เมื่ออบครบ 45 นาทีแล้ว เราก็จะปล่อยให้โมลด์เย็นลงประมาณเกือบๆ ชั่วโมงนึง แล้วช่างก็จะเก็บรายละเอียด เจีย ขัด ขูดส่วนเกินที่เกิดขึ้นระหว่างการอบ จนเรียบร้อยพร้อมเอาไปทำสี กระบวนการนี้ก็จะมีการดึงเอาถุงลม (bladder) ที่ใช้ตอนอบออกจากเฟรม กะเทาะและตะไบเรซิ่น (สีเหลืองๆ) และส่วนเกินต่างๆ ออกให้พร้อมสู้ขั้นตอนต่อไป


Step 6 – Machining

อีกขั้นตอนที่ข้ามไม่ได้เลยก็คือ machining การเจาะรูในตัวเฟรมหรือท่อก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้ครับ แน่นอนว่าต้องทำหลังอบเสร็จแล้ว เฟรมที่เก็บรายละเอียดส่วนนี้เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบต่อไป ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ส่งเข้าไทยไปที่ Nich Cycling เพื่อทำสีครับ


Step 7 – Testing

ถึงเราใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยออกแบบหามุมและลำดับชั้นและประเภทเนื้อคาร์บอนที่เหมาะกับแต่ละจุดที่สุด แต่เวลาลองใช้ปั่นจริง เฟรมมันอาจจะไม่ออกมาอย่างที่คอมพิวเตอร์คำนวณก็ได้ เช่นนั้นแล้ว

โรงงานก็ต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบสองประเภทคือ หนึ่ง – ใช้เครื่องจักรในการทดสอบทั้งความแข็งแรงและการตอบสนองแรง และสอง – ทดสอบด้วยการปั่นจริง

ขั้นแรกทดสอบความแข็งแรงและประสิทธิภาพเฟรมด้วยเครื่องจักร เครื่องทดสอบมาจาก Zedler Institute จากเยอรมันซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพจักรกลของจักรยานโดยเฉพาะ เป็นเครื่องเดียวกับที่นิตยสาร Tour Magazine ใช้ทดสอบประสิทธิภาพจักรยาน

แบรนด์ใหญ่ ๆ หลายรายก็ซื้อเจ้าเครื่องนี้ไปไว้ในแล็บตัวเองเลยไม่ว่าจะเป็น Specialized, Storck, Canyon เป็นต้น การมีเครื่องทดสอบมาตรฐานอยู่ในแล็บก็ช่วยลดระยะเวลาการ R&D ได้เยอะ เพราะไม่ต้องคอยส่งเฟรมไปแล็บข้างนอกแล้วต้องรอผลทดสอบ ถึงจะนำมาปรับปรุงเฟรมต้นแบบได้

ถามว่ามันเทสต์อะไรบ้าง ก็จะมีเรื่องความสติฟฟ์ วัดจาก frame deflection หรือทดสอบว่ากว่าเฟรมจะเริ่มให้ตัวได้ต้องใช้แรงเยอะขนาดไหน วัดเป็นหน่วยนิวตันต่อมิลลิเมตร ยิ่งต้องใช้แรงเยอะก็แสดงว่ายิ่งสติฟฟ์ จุดหลักๆ ที่เทสต์กันคือกระโหลกและท่อคอ

ส่วนเรื่องการทดสอบความแข็งแรงนั้น จะใช้อีกเครื่องเป็น load testing ดูว่าถ้าต้องรับน้ำหนักและแรงกระทำต่อเนื่องเป็นพัน หมื่น หรือแสนรอบนั้นเฟรมจะร้าว/แตก/หักหรือเปล่า ฉะนั้นเครื่อง load test จึงรันหลายวันติดต่อกันเพื่อบิดเฟรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขั้นที่สองเป็นการทดสอบใช้งานจริง เพื่อหาคาแรคเตอร์การปั่นที่ตอบโจทย์การออกแบบ แล้วนำไปแก้ไขการวางเรียงคาร์บอนอีกที

สำหรับเฟรม Faith 2 ก็มีการทดสอบใช้แข่งขันจริงเพื่อเก็บข้อมูลไปฟีดแบคโรงงานอยู่ประมาณหนึ่งปีเต็ม ผลงานก็มีโพเดี้ยมหลายรายการ ได้เจ้าภูเขาใน Master Tour of Chiangmai 2017, เป็นแชมป์ The Great Ride แม่โขง 2018 และตอนนี้นำเวลารวมใน Club Race 2018 ในรุ่นอายุ 35+


Step 8 – ทำสี

หลังจากระบวนการออกแบบและผลิตจบลง เฟรม Faith 2 ก็เริ่มผลิตจนพร้อมจำหน่ายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ สำหรับจักรยาน Nich นอกจากสีสต็อกแล้ว ลูกค้าสามารถเลือกทำสีคัสต้อมได้ด้วย

Photo: Anut Joe Pruksuwat

หวังว่าโพสต์นี้จะทำให้เราเข้าใจกระบวนการผลิตจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์ได้ดีขึ้นครับ ผมเองก็เพิ่งมีโอกาสได้ไปทัวร์โรงานจักรยานแบบถึงที่เห็นทุกขั้นตอนจริงๆ ทางโรงงานก็เปิดให้เราได้ชมแบบเต็มที่ แค่ห้ามไม่ให้ถ่ายรูปในส่วนที่ผลิตให้ลูกค้ารายอื่น แต่ไม่ได้ปิดบังเรื่องสภาพโรงงาน การทำงานต่างๆ ซึ่งมันไม่เหมือนภาพที่เราคิดกันว่าโรงงานจีนต้องดูอันตราย กดขี่แรงงานราคาถูกอะไรแบบนั้น

และที่สำคัญคือกว่าจะมาเป็นจักรยานคาร์บอนหนึ่งคันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งกระบวนการออกแบบ ทดสอบ การทำงานแบบแฮนด์เมดทุกขั้นตอน ที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความพิถีพิถัน

ลองนึกดูว่าถ้าพนักงานวางชั้นคาร์บอนผิดนิดเดียว คาแรคเตอร์รถก็เปลี่ยนไปแล้ว หน้าตาจักรยานคาร์บอนอาจจะดูจะคล้ายกัน ใช้วัสดุที่เรียกว่าคาร์บอนไฟเบอร์เหมือนกัน แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่จะทำให้รถออกมาต่างกันครับ

อย่างในเคสของ Nich ถ้าอยากจะลดต้นทุนกว่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำโมลด์เอง เลือกใช้เฟรมที่ออกแบบสำเร็จรูปไว้อยู่แล้ว และไม่ต้องนำมาทดสอบปั่นจริงและเปลี่ยนแปลงดีไซน์อีกหลายครั้งก็ได้ แต่ก็แน่นอนว่าจะได้จักรยานที่ประสิทธิภาพไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้

และท้ายที่สุดต้องขอบคุณ Nich Cycling ที่กล้าพาเราไปชมขั้นตอนการผลิตและให้นำมาเล่าต่อโดยไม่เซนเซอร์หรือชี้นำว่าเราจะต้องนำเสนอแบบไหน ครับ ◈

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.Nichcycling.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *