Allied Cycle: แบรนด์จักรยานที่ทำทุกอย่างใน USA

เราให้ความสำคัญกับประเทศที่ผลิตสินค้าขนาดไหน? 

โทรศัพท์มือถือเกือบทั้งโลกนี้ผลิตจากประเทศจีน จักรยานเกือบทั้งหมดก็ผลิตในไต้หวันและจีนเช่นกัน โดยเฉพาะจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์
มันมีเหตุผลที่ดีที่สินค้าสองอย่างนี้ผลิตในประเทศดังกล่าว สำหรับจักรยานแล้ว ไต้หวันและจีนเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตดีที่สุดและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก จักรยานเสือหมอบที่เราเห็นแทบทั้งหมดในตลาดก็ไม่ต่างอะไรจากโทรศัพท์มือถือ นั่นคือ ออกแบบในประเทศเจ้าของแบรนด์ อาจจะเป็นอเมริกา อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศสก็ดี แต่เมื่อถึงเวลาผลิตก็ต้องส่งไปผลิตในเอเชีย ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งค่าแรงที่ถูกกว่าและการผลิตจำนวนมากก็ลดต้นทุนหลายๆ อย่างได้เป็นจำนวนมาก ถ้าจักรยานส่วนใหญ่ยังผลิตในประเทศเจ้าของแบรนด์เราคงต้องซื้อจักรยานในราคาที่สูงขึ้นอีกมาก




ฟังดูก็น่าจะวิน-วินทุกคน? ผู้บริโภคได้ซื้อจักรยานราคาไม่แพง เจ้าของแบรนด์ผลิตได้เยอะและได้คุณภาพ สุดท้ายแล้วถ้าคุณภาพถึง ของดีจริง มันสำคัญหรือเปล่าว่าจะผลิตที่ไหน?

แต่ก็ใช้ว่าจะไม่มีข้อเสีย การจ้างโรงงานข้ามชาติผลิตนั้นก็ใช้เวลาเยอะกว่าจะผลิตจักรยานออกมาได้แต่ละรุ่น ระยะเวลาการวิจัย พัฒนาจนออกมาเป็นจักรยานรุ่นใหม่โดยเฉพาะจักรยานไฮเอนด์นั้นอาจจะนานได้ถึง 2–3 ปี ระหว่างนั้นก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกพัฒนาเข้ามาตลอด อย่างกรณีดิสก์เบรคในเสือหมอบที่มาตรฐานเบรคเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้ง จนคนที่เพิ่งซื้อเสือหมอบดิสก์เบรคเมื่อปีก่อนก็ตกรุ่นเสียแล้วและรุ่นใหม่ที่ออกมาก็ประสิทธิภาพดีขึ้นหลายเท่า แต่คนที่ซื้อรุ่นเก่าไม่สามารถอัปเกรดมาใช้อะไหล่ตัวใหม่ได้เพราะสเป็คอะไหล่ไม่ตรงกัน

ความล่าช้าตรงนี้ทำให้บริษัทเล็กๆ รายหนึ่งในอเมริกาอยากที่จะผลิตจักรยานแข่งขันไฮเอนด์โดยทุกขั้นตอนนั้นต้องทำในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ด้วยที่เชื่อว่าเราก็สามารถผลิตจักรยานคุณภาพดีกว่าในราคาที่สู้กับแบรนด์ระดับโลกได้ ในปริมาณมาก! มันคือเรื่องราวของบริษัท Allied Cycle Works (ภายใต้การดูแลของบริษัท HIA Velo (Handmade in America)) แบรนด์ startup เล็กๆ ที่คิดต่างแบบสุดขั้วและที่สำคัญ​ ทำจักรยานได้สวยมาก!

ก่อร่างสร้างทีม

แบรนด์จักรยานอเมริกันที่เรารู้จักส่วนใหญ่มักเป็นแบรนด์ขนาดเล็กสไตล์อินดี้ คือยังเชื่อมท่อเอง หรือนั่งจัดวางเรียงชั้นคาร์บอนกันในโรงงานห้องแถวเล็กๆ ชาร์จราคาสูงและต้องรอนาน แบรนด์ลักษะนี้ก็เช่น Seven, Speedvagen, Alchemy, Independent Fabrication แต่คนที่ใจถึงและเงินถึงก็จะได้จักรยานที่พิเศษกว่าจักรยานคันไหนๆ ในตลาด เพราะส่วนใหญ่เป็นจักรยานคัสต้อมสั่งทำพิเศษ ฟิตพอดีกับเจ้าของรถเหมือนสั่งตัดชุดสูทคุณภาพสูง และมีงานสีเป็นเอกลักษณ์ด้วย

จนถึงปี 2016 ไม่มีแบรนด์จักรยานอเมริกาไหนเลยที่สามารถผลิตเฟรมแบบ mass-production ในอเมริกาได้เอง แบรนด์ใหญ่ที่ผลิตจักรยานคาร์บอนไฮเอนด์ในอเมริกามีแค่ Trek ที่ทำจักรยานระดับ Project One และรุ่นสูงสุดในเมืองวอเตอร์ลู รัฐวิสคอนซิน

“ผมอยากจะปฏิวัติวงการจักรยาน”

คือคำพูดของโทนี คาคลินส์ (Tony Karklins) ผู้ก่อตั้ง Allied Cycle และเชื่อว่าเขาจะเป็นสตาร์ทอัปจักรยานรายแรกที่ผลิตเสือหมอบแข่งขันในสเกลเดียวแบรนด์อื่นๆ ได้ คาคลินส์เบื่อหน่ายกับอุตสาหกรรมจักรยานที่ใครๆ ก็ย้ายไปทำในเอเชียกันหมดจนมันขาดซึ่งแพสชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆ

Tony Karklins

Tony Karklins, Allied Cycle Works Managing Director

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมจักรยานของเราได้สูญเสียจิตวิญญาณไปแล้ว เราหาคนที่อยากจะผลิตจักรยานด้วยความใส่ใจแทบไม่ได้แล้ว ทุกคนส่งไปผลิตในเอเชียแลกกับความเชี่ยวชาญด้านวัสดุคอมโพสิทและแรงงานราคาถูก”

ต้นปี 2016 คาคลินส์ตัดสินใจลาออกจาก Orbea USA แล้วฟอร์มทีมวิศวกร ดีไซน์เนอร์ นักบัญชี นักการตลาดที่ยังหลงรักจักรยานแฮนด์เมด อยู่เพื่อก่อตั้ง Allied Cycle Works เขาเริ่มจากการระดมทุนไปประมูลซื้อบริษัท Guru — หนึ่งในผู้ผลิตจักรยานคัสต้อมที่ประสิทธิภาพดีที่สุดในโลกจากแคนาดา (DT เคยลอง 2–3 รุ่นและคิดว่ามันเป็นรถที่สมบูรณ์แบบมากครับ)​ ซึ่งปิดกิจการไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้มาทั้องค์ความรู้, วิศวกร และเครื่องมือในการผลิตจักรยานคาร์บอนระดับไฮเอนด์

จากนั้นคาคลินส์โยกย้ายทีมงานและเครื่องมือทั้งหมดไปที่รัฐอาร์คันซอ (Arkansas) เมืองที่ถูกทำร้ายจากการยกฐานการผลิตอุตสาหกรรมทั้งหลายทั้งแหล่ไปเอเชีย อาร์คันซอจึงกลายเป็นเมืองที่คนตกงาน ค่าจ้างราคาไม่แพง และตั้งอยู่ใจกลางประเทศซึ่งสะดวกต่อการตั้งโรงงานจักรยาน แถมทางรัฐเองก็พร้อมจะให้ทุนบริษัทใหม่ๆ ในการสร้างงานให้คนในท้องที่ด้วย

เครื่องมือก็มี โรงงานก็มี แรงงานก็มี แถมยังมีเทคโนโลยีการผลิตจักรยานจาก Guru แต่คาคลินส์ก็ยังตั้งบริษัทไม่ได้ เพราะยังขาดคนที่สำคัญที่สุดในจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ — คนที่แบรนด์จักรยานจะขาดเสียไม่ได้ถ้าอยากจะขึ้นหัวแถวในวงการ คนนั้นคือนักออกแบบจักรยานนั่นเองครับ

จาก Specialized สู่ Allied Cycle

ปี 2016 ที่คาคลินส์เริ่มกิจการ Allied Cycle แซม พิคแมน (Sam Pickman) อดีตสมาชิกทีม R&D และ Engineering อาวุโสจาก Specialized ที่เคยนำโปรเจ็คอย่าง Specialized S-Works Tarmac, S-Works Roubaix และระบบโช๊ค FutureShock ก็ลาออกจาก Specialized พอดีด้วยที่เบื่อหน่ายกับการเมืองภายในและความล่าช้าในการทำงานขององค์กรใหญ่ คาคลินส์ใช้เวลาจีบพิคแมนไม่นาน ทั้งคู่ก็เข้ามาทำงานในบ้านหลังเดียวกัน

Sam Pickman, Allied Cycle Works Director of Product & Engineering

Sam Pickman, Allied Cycle Works Director of Product & Engineering

พิคแมนกล่าวว่า

“ผมเชื่อว่าการจะทำสินค้าที่ดีที่สุดได้นั้นคุณต้องควบคุมสายการผลิตทั้งหมด แต่ Specialized ทำอย่างนั้นไม่ได้ครับ” (ผู้ถือหุ้น 49% ของ Specialized คือบริษัท Merida)

“ในฐานะวิศวกรและนักออกแบบจักรยาน ผมอยากจะมีโรงงานอยู่หลังบ้านเลยด้วยซ้ำ แบบว่าคืนนี้คิดว่าอยากจะปรับปรุงจุดนี้แหละ มันอาจจะเป็นตะเกียบ จุดรัดหลักอานหรืออะไรก็ดี แล้วก็เริ่มทำได้ในรุ่งเช้านั้นเลย ถ้าคุณอยากจะแก้อะไรกับโรงงานในเอเชีย แล้วที่โรงงานไม่มีเครื่องมือนะ คุณต้องส่งอีเมล์หรือโทรไปคุยเพื่อโน้มน้าวให้เขาลองกระบวนการใหม่ๆ ที่จะทำให้ได้โปรดักต์ที่ดีกว่าเดิม เขาต้องสร้าง tooling ใหม่ ทดสอบแล้วส่งมาให้เราทดสอบที่อเมริกา ทั้งหมดนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1–2 เดือน ถ้าเป็นที่หลังบ้าน Alliedเราใช้เวลาไม่เกินสองวัน”​

ความรวดเร็วนี้ทำให้ Allied สามารถผลิตจักรยานคันแรกของแบรนด์ได้ตั้งแต่เริ่มออกแบบจนถึงวางจำหน่ายในเวลาแค่ 11 เดือนเท่านั้น หรือเร็วกว่าการผลิตของแบรนด์ส่วนใหญ่ 2–3 เท่า มันทำให้ Allied สามารถรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการมาใช้ได้ก่อนเพื่อน

เมื่อต้นปีนี้ Enve และ Mavic เปิดตัวระบบ Thru-Axle SpeedRelease ซึ่งช่วยให้การเปลี่ยนล้อดิสก์เบรคทำได้ไวไม่แพ้แกนปลด Quick Release แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้ตะเกียบของ Enve เท่านั้น (แบรนด์อื่นสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันได้) ซึ่ง Allied ก็นำไปใช้ในดีไซน์เสือหมอบดิสก์เบรคทันที ปัจจุบันนี้นอกจาก Enve แล้วยังไม่มีผู้ผลิตจักรยานรายไหนใช้ระบบ SpeedRelease ในเสือหมอบดิสก์เบรค

Made in USA แต่ราคาสูสีกับ Made in Asia?

คำถามต่อไปคือทำยังไงให้จักรยานของ Allied ราคาสูสีกับแบรนด์อื่นๆ ทั้งๆ ที่ทุกกระบวนการทำในสหรัฐอเมริกา? คาคลินส์เชื่อว่าเขาเจอสูตรสำเร็จ ประเด็นแรก การผลิตในต่างประเทศนั้นจริงๆ แล้วก็ต้องใช้ทุนเยอะและมีค่าโสหุ้ยเต็มไปหมด ทั้งค่าเดินทางไปคุมกระบวนการผลิต ออฟฟิสท้องถิ่นที่ต้องมีพนักงานหลายคนดูแลหลายด้าน พิคแมนกล่าวว่าการผลิตจักรยานหนึ่งโมเดลนั้นต้องใช้เงินค่าเดินทางไป-กลับระหว่างฝ่ายวิจัยในอเมริกาและโรงงานที่ไต้หวัน/จีน โปรเจ็คละอย่างน้อย 3 ล้านบาท และตอนนี้ค่าจ้างแรงงานในเอเชียก็ไม่ได้ถูกเหมือนสมัยก่อนแล้ว

การที่มีโรงงานแบบ In House ทำให้ allied คุมขั้นตอนการผลิตได้ตั้งแต่ต้นจนจบลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นที่จะเปลืองเงินและเวลา และใช้วิธีการผลิตกึ่งๆ preorder ซึ่งลูกค้าเองก็รอไม่เกิน 3 สัปดาห์​เพราะทุกอย่างทำในโรงงานของ Allied และทางแบรนด์ก็มีเฟรมเซ็ตสต็อกไว้ระดับหนึ่งตลอดเวลาแล้ว

วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก แถมยังไม่ต้องสต็อกของค้างข้ามปีด้วย เมื่อบวกกับการขายออนไลน์ที่ลดชั้นดีลเลอร์ออกไปก็ไม่ต้องแบ่งกำไรหลายต่อ ทำให้ได้เฟรมคุณภาพสูงในราคาที่ไม่แพงแบบเดียวกับแบรดน์จักรยานออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้

ถึงกระนั้นก็ใช้ว่าจักรยานของ Alied จะมีราคาถูกระดับตลาดล่าง — Allied Alfa — เฟรมเซ็ตเสือหมอบแข่งขันทรงคลาสสิคของ Allied เริ่มสตาร์ทที่ 133,000 บาท กด ไปจนถึงจักรยานแบบคอมพลีทไบค์ที่ราคาราวๆ 250,000 บาท++ และผู้ซื้อสามารถเลือกทำสีพิเศษแบบเดียวกับ Trek Project One ได้ด้วย

เทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์ที่ไม่แพ้ใคร

จักรยานของ Allied Cycle ใช้คาร์บอนไฟเบอร์จากมิตซูบิชิ แต่นำมาทำกระบวนการ prepeg ในแคลิฟอร์เนียด้วยเรซิ่นจากบริษัท Newport จากนั้นนำมาผสมกับเส้นใย Innegra ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรง และช่วยให้เฟรมจักรยาน Allied ทนทานต่อแรงกระแทกมากกว่าเสือหมอบคาร์บอนทั่วๆ ไป

วิดีโอข้างบนนี้โชว์การทำงานของเส้นใย Innegra ครับ จะเห็นว่าคนสาธิตในวิดีโอฉีกให้แผ่นคาร์บอนแตกหรือหลุดออกจากกันไม่ได้ เพราะด้านในมีเส้นใย Innegra ช่วยประสานอยู่ ประโยชน์คือเวลาเราเกิดอุบัติเหตุระหว่างปั่นหรือขนย้ายแล้วมีการกระแทกตัวเฟรม แทนที่เฟรมจะหลุดเป็นเสี่ยงๆ (อันตรายต่อผู้ปั่น) เส้นใยนี้ก็จะช่วยรักษาสภาพเฟรมให้ยังเป็นชิ้นเดียวกันอยู่ และลดอาการร้าวของเฟรมแบบที่เราไม่รู้ตัว ไม่ทำให้รอยร้าวขยายใหญ่ขึ้นจากการใช้งานต่อเนื่องด้วย

Allied แทรกชั้น Innegra ไว้บริเวณที่เสี่ยงต่อการกระแทกเช่นตะเกียบโซ่, ท่อนอน, ท่อคอ และขาตะเกียบ นอกจากจะทำให้เฟรมแข็งแรงแล้วยังช่วยซับแรงสะเทือนไปในตัวเพราะเส้นใยมีความยืดหยุ่น และด้วยการที่มันเป็นเส้นใยแบบ high modulus ทำให้น้ำหนักเฟรมแค่ 25–30 กรัมเท่านั้น

ถ้าคุณทำจักรยาน Allied Cycle พัง จะแตกหรือร้าวก็ดีทางบริษัทก็มีนโยบาย Life Time Warranty (บริษัทจักรยานส่วนใหญ่มีประกันให้ไม่เกิน 3–5 ปี)​ และสามารถส่งกลับไปซ่อมที่โรงงานผลิตได้เลย เป็นอะไรที่คนใช้จักรยานที่ทำจากโรงงานเอเชียไม่สามารถทำได้ครับ

Paint it (not) black

การที่จักรยานคันนึงจะเป็นรถที่ดีได้ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว จักรยานเป็นส่วนผสมของเทคโลยีและศิลปะ นั่นหมายความว่าหน้าตา ดีไซน์ และงานสีก็ต้องโดดเด่นด้วยเช่นกัน Allied Cycle ภูมิใจกับงานสีที่มั่นใจว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ ถึง Allied Cycle จะเน้นทำจักรยานจำนวนมาก แต่ก็ยังอยากจะคงความพรีเมียมทั้ง paint และ finish ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจักรยานแฮนด์เมดอเมริกัน

แต่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำสีเป็นครับ Allied ต้องพึ่งช่างสีระดับพระกาฬที่ชื่อว่าจิม คันนิงแฮม เจ้าของธุรกิจทำสีจักรยาน CyclArt ที่มีลูกค้าอย่าง Cannondale, Kestrel, Klein และ Bridgestone ซึ่ง Allied เข้าซื้อกิจการและเทคโนโลยีทำสีมาใช้ in-house โดยเฉพาะ

Jim Cunningham, Allied Cyclw Works Paint Manager

Jim Cunningham, Allied Cycle Works Paint Manager

ไม่นานมานี้ทีมทำสี Trek Project One ทั้งชุดเพิ่งจะหมดสัญญากับบริษัท Trek ซึ่งจริงๆ แล้วทีมทำสีนี้ก็เป็นอดีตช่างทำสีของ Klein ที่ Trek เทคโอเวอร์กินการมาเมื่อหลายปีก่อน เป็นโอกาสให้ Allied กว้านซื้อทีมนี้ทั้งทีมมาช่วยเสริมทัพให้คันนิงแฮมอีกแรง

Allied ใช้วิธีการทำสีสามชั้น (tri-coat) ซึ่งทำให้ได้เนื้อสีที่ดูอิ่มและมีมิติกว่าจักรยานทั่วๆ ไป โดยจะมีชั้นเบสหนึ่งชั้นและสีแบบ transparent อีกสองชั้น เฟรมหนึ่งคันใช้เวลาทำสีอย่างน้อยสองวัน Allied จะไม่ทำสีค้างไว้ เฟรมที่สต็อกจะเป็น raw carbon และเริ่มทำสีเมื่อได้รับออเดอร์เท่านั้น

The Allied Alfa

จักรยานคันแรกของ Allied Cycle เป็นเป็นเฟรมเสือหมอบแข่งคันทรงคลาสสิคที่ออกแบบโดยแซม พิคแมน ในชื่อ Allied Alfa เป็นเสือหมอบคาร์บอนคันแรกที่ใช้เส้นใย Innegra

โจทย์ของ Alfa คือเป็นเฟรมแข่งขันที่ประสิทธิภาพดีไม่แพ้เสือหมอบไฮเอนด์ เฟรมน้ำหนัก 875 กรัม ในไซส์ 56cm รูปทรงท่อเป็นแบบคลาสสิค ใช้ท่อขนาดใหญ่แต่เรียวได้รูป กระโหลกเป็น BSA และหลักอานขนาด 27.2mm เฟรมรองรับยางหน้ากว้างสูงสุด 28c รองรับชุดขับเคลื่อนทุกรูปแบบและเดินสายเกียร์/เบรค ภายในทั้งหมด

ในด้านฟิตและ geometry ก็ออกมาในรูปแบบเสือหมอบแข่งขันด้วยระยะ Stack:Reach ที่ดุดันมาก เฟรม Alfa มีให้เลือกทั้งหมด 6 ไซส์ แต่ว่าแต่ละไซส์นั้นสามารถเลือกออปชันให้ท่อคอสูงขึ้นได้ 2 มิลลิเมตร รวมทั้งหมดมีให้เลือก 12 ไซส์

Allied Alfa Standard head tube มีระยะ stack:reach ที่ประมาณ​ 1.3–1.4 ส่วนไซส์ “+” (ท่อคอยาวขึ้น 2mm) ระยะ stack:reach ประมาณ​ 1.4 ขึ้นไป

เฟรมเซ็ตราคาเริ่มต้นที่ 133,000 บาท Allied มีออปชันในการสั่งทำสีพิเศษนอกเหนือจากสีสต็อกที่มีให้เลือกด้วย

[smartslider3 slider=9]

Made in USA สำคัญแค่ไหน?

ครั้งแรกที่ผมรู้จัก Allied Cycle มันทำให้นึกถึงสโลแกนโฆษณาของโดนัลด์​ ทรัมป์ที่บอกไว้ว่า “Make America Great Again!” (เรามาช่วยกันทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งเถอะ!) ความ “ยิ่งใหญ่” ที่ทรัมป์พูดถึงนั้นคือการนำอุตสาหกรรมการผลิตกลับมาที่อเมริกาอีกครั้งหลังจากที่แทบทุกอย่างในอเมริกาตั้งแต่โทรศัพท์มือถือยันรถยนต์ก็ส่งออกไปผลิตต่างประเทศหมดจนผู้คนตกงานและขาดทักษะในการผลิตไปจนหมดสิ้น นักวิจารณ์เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าจีนอยากจะโค่นอเมริกาก็ไม่เห็นต้องไปรบราฆ่าฟัน แค่เลิกผลิตของให้สหรัฐเท่านี้ประเทศก็พินาศแล้ว

จากตอนนั้นถึงตอนนี้รัฐบาลทรัมป์ก็ดูจะไม่สามารถทำได้ตามที่บอกไว้ แต่กลับเป็นคนที่มีแพสชันในอุตสาหกรรมของตัวเองจริงๆ อย่างคาคลินส์และพิคแมนที่เริ่มการปฏิวัติวงการในแบบที่ทุกคนบอกว่าพวกแก้บ้าแน่ๆ และคงเจ๊งในอีกไม่นาน

Allied Cycle Works มีปณิธานที่หาได้ยากในสังคมจักรยาน ทั้งการนำทักษะการผลิตจักรยานกลับมาปะทุใหม่ในประเทศตัวเอง และไม่ใช่ความฝันเล็กๆ แบบการโรงงานขนาดย่อมเยาว์ผลิตจักรยานปีละไม่กี่ร้อยคัน แต่เป็นการทำจักรยานคุณภาพดีในระดับ mass production ด้วยราคาที่ไม่ได้โดดไปกว่าแบรนด์คู่แข่ง ผู้ใช้ยังสามารถส่งเฟรม Allied ที่เสียหายกลับไปซ่อมได้ด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่สวนทางกับแนวทางการผลิตจักรยานสมัยนี้ครับที่กระตุ้นให้เจ้าของรถอัปเกรดบ่อยๆ เสียแล้วก็ซื้อใหม่เลย เพราะแบรนด์ไม่รับซ่อม

ถ้าเราสังเกตเทรนด์จักรยานใหม่ๆ จะเห็นว่ามันมักจะมาจากผู้ผลิตรายเล็กแบบอินดี้ก่อนที่จะมาสู่แบรนด์ใหญ่อย่างน้อย 2–3 ปีครับ นั่นก็เพราะว่าแบรนด์อินดี้มีความคล่องตัวในการออกแบบและผลิตมากกว่าแบรนด์ใหญ่ กระแสจักรยาน Gravel / Adventure จักรยานไฟฟ้า และกระบวนการทำสีล้ำๆ ก็มาจากกลุ่มคนตัวเล็กพวกนี้ เช่นเทรนด์สีเมทัลลิคในเสือหมอบแข่งขันก็เป็นที่นิยมในวงการเสือหมอบแฮนด์เมดมาหลายปีแล้ว

น่าสนใจว่า Allied Cycle จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาให้เราชม และแน่นอนครับ ถ้า DT ได้ Allied Alfa มาทดสอบเมื่อไรเรารีวิวกันแบบจัดเต็มเจาะลึกแน่นอน

บทความนี้เป็น Advertorial สนับสนุนโดย CycleBoutiqe ตัวแทนนำเข้า Allied Cycle Works ในไทยอย่างเป็นทางการครับ

www.alliedcycleworks.com

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *